ในวงการการศึกษาไทยมักมีเรื่องยากประหลาดและพิลึกเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลงทุน 3-4 แสนล้านบาทสูงมาก 4-5% ของจีดีพี ได้ผลสัมฤทธิ์แต่ละวิชา 30-40% ต่ำสุดเราก็ยังคงให้เงินมากขึ้น ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการสูญเปล่ามากมาย แต่ละปีทุกฝ่ายที่รับผิดชอบ ได้ดิบได้ดี ขยับฐานะ ตำแหน่ง เงินเดือน ค่าวิทยฐานะ จิปาถะจนมากเกินพบ แต่เด็กประมาณ 12 ล้านคนได้อะไรไม่มีคำตอบจริงๆ
ยิ่งภาวะเรื่องแอดมิสชั่นส์ปีนี้ยิ่งสับสนและวุ่นวายหนัก โลกของกระทรวงศึกษาธิการที่จัดการศึกษามายาวนานกว่า 100 ปีเศษ คุณภาพถูกปล่อยปละละเลยด้อยคุณภาพ กลวงความคิด สอนแบบท่องจำ ทำข้อสอบแต่ปรนัย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี เรียนแบบยัดเยียดเนื้อหา 8 กลุ่มสาระ 67 มาตรฐาน ไม่มีการส่งเสริมกระบวนการคิด กิจกรรมโครงการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติมากนัก เป็นสุดขั้วของการด้อยคุณภาพ ทักษะการคิดวิเคราะห์ไม่มี ฝึกฝนการทำข้อสอบปรนัยเป็น และสุดท้าย คือทิ้งห้องเรียนเข้าสู่สถาบันกวดวิชาเพื่อฝึกฝนเทคนิคการทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ในโลกอีกขั้วหนึ่งที่สุดของมาตรฐานเข้มข้นสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นวิชาการด้านการวัดและประเมินผลข้อสอบต้องยากเพื่อคัดเลือกเด็กได้ตามต้องการ เด็กต้องรู้จริง ห้ามกาส่งเดช ทิ้งดิ่งติดลบ ติดคะแนน เราจะไม่วัดเนื้อหาแต่เราจะวัดการวิเคราะห์ การเชื่อมโยง ต้องอ่านแบบแยกแยะได้ การโต้ตอบทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยการเขียนเชิงอัตนัย ตัวเลือกมากกว่า 4 ตัว มีการพัฒนาข้อสอบจนเที่ยงตรง เชื่อถือได้
นี่คือโลกการศึกษา 2 ฝ่าย อ่อนและแข็ง ที่จัดการศึกษาและการทดสอบคนละเรื่องเดียวกันที่แตกต่างสุดขั้วและคนละแนวทางกัน กระทรวงศึกษาฯเน้นเนื้อหา สอบปรนัย 4 ตัวเลือก ด้อยคุณภาพ สทศ.วัดวิเคราะห์เชื่อมโยง เน้นอัตนัย การเขียน ต้องรู้จริง ห้ามทิ้งดิ่งติดลบ
นี่คือโจทย์มหัศจรรย์การศึกษาของไทย เรียนหนักแทบเป็นแทบตายแต่ต้องสอบอีกแบบหนึ่งซึ่งแทบไม่เคยฝึกมาเลย
เด็กไทยจึงทั้งเครียด เรียนหนัก กวดวิชามากยิ่งขึ้น เคียดแค้น เบื่อหน่าย มองสังคมเป็นลบ ระอาและเซ็งในอารมณ์ บ่อยครั้งสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ยิ่งเรียนมากเข้าทดสอบมากทำไมคะแนนกลับลดลง สิทธิของเด็กถูกลิดรอน ถูกทำลาย และละเมิดจนคล้ายเป็นหนูตะเภาทางการศึกษาทุกๆ 3 ปีต่อการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ใหญ่ชอบให้เหตุผล คือ ช่วยให้เด็กเรียนมีความสุข เครียดน้อยลง ไม่ต้องกวดวิชา ทำให้เกิดคุณภาพมากยิ่งขึ้น คอขวดการศึกษาจะลดน้อยลง เป็นต้น
20 ปีที่ติดตามเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาต่อเนื่อง ความสุขของการเรียนรู้ของเด็กไทยลดน้อยลงจนแทบไม่มี โรงเรียนกวดวิชาขยายไปทั่วประเทศ ผู้ปกครองเสียเงินเป็นหมื่นแสนต่อปีเรียนเสริมเพิ่มเติม เครื่องมือแบบทดสอบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
จนเป็นภาระที่ต้องหาที่เรียนจนไม่มีเวลาไปทำงานอื่นตามแต่ละคนสนใจได้
ทำไมสังคมไทยจึงชอบสร้างองค์ประกอบการสอบด้วยการผูกทุกเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องการเข้ากับระบบแอดมิสชั่นส์ บังคับเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ต้องเรียนหนักตลอดเวลา เด็กไม่เรียนในห้องเรียนก็บังคับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดเวลาหลักสูตร ม.ปลาย GPAX 3 ปี ถึง 20% เด็กก็ต้องตั้งใจเรียน สอบคะแนนโอเน็ตอีกครั้งบังคับ 30% เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื้อหาสาระ 8 กลุ่มสาระเหมือนเดิม สอบแบบทดสอบความถนัดทั่วไป GAT แบบทดสอบวิชาชีพ/วิชาการ และ PAT อีกตามความต้องการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกเรื่อง จะต้องกวดวิชาทั้งสิ้นเพื่อการแข่งขัน โอกาสที่ดีกว่าและการเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และอื่นๆ
ตัวอย่างที่เห็นชัดในประการต่อมาสำหรับเรื่องนี้คือ แปลกมากเด็กเรียนสายวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เข้มข้นเป็นวิชาหลัก แต่เวลาสอบกลับรวม 3 วิชาสอบเป็นวิชาเดียว วิทยาศาสตร์ 100 คะแนน วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ถูกลดความสำคัญเหลือเพียง 30 คะแนน
ตรงกันข้ามกับวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ กลับสอบ 100 คะแนน
การสอบแบบนี้ไม่ทราบเอาเหตุผลตรรกะอะไรรวมลดความสำคัญลงจนสุดท้ายต้องปรับให้มีการสอบทั้งรวมวิชาและรายวิชาที่ปรับปรุงแก้ไขแล้ว
เด็กไทยนอกจากต้องเผชิญชะตากรรมเรียนไม่ได้สอบแล้ว ยังตกหนักในเรื่องที่ผู้ใหญ่ คณบดี อธิการบดีบางท่านบังคับในเรื่อง สอบไม่ได้เรียนที่ใส่ให้ กระหน่ำอย่างเต็มที่ ตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดเจน กรณีให้แต่ละคณะวิชา สถาบันต่างๆ จัดสอบในวิชาความถนัดในวิชาชีพที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมข้อสอบเดิมมีเพียง 7 PAT เพิ่มเป็น 25 PAT บางสาขาวิชาสอบย่อยถึง 12 กลุ่มรายวิชาย่อย
ข้อสอบวัดแวววิชาชีพครูเพียงวิชาเดียวก็แยกย่อย รายละเอียดลงลึกเป็น 6 ด้าน
ผู้เขียนพบว่าวิชาที่เพิ่มขึ้นมากมายและเด็กต้องสอบซ้ำไปซ้ำมา เวียนสอบเมื่อพิจารณาจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี เด็กแทบไม่ได้เรียนมาเลย เรียนน้อยมากแค่เป็นพื้นฐานแต่กลับสอบพอๆ กับวิชาของนิสิตนักศึกษาปี 1-2
เมื่อเรียนน้อยตามมาตรฐานขั้นต่ำ แต่สอบลึกมาตรฐานขั้นสูง เงื่อนไขแบบนี้เด็กก็ต้องเรียนเพิ่มเติมจากโรงเรียนกวดวิชาที่ดาษดื่นเต็มไปหมด
คณะวิชาต่างๆ ที่ขอเพิ่มเคยคิดหรือไม่ทำไมต้องสอบ สอบเพื่ออะไรนำไปใช้เพื่อดูผู้เรียนเป็นหลักในเรื่องใด หรือเพียงตามกระแสเพื่อความสำคัญของคณะ สาขาวิชาและรายได้ของกลุ่มคนบางคนให้เพิ่มขึ้นจากการติวล่วงหน้าให้
ผู้เขียนสอนหนังสือมา 32 ปีเต็มแล้ว ก็ไม่เคยถามหรือรู้มาก่อนเลยว่า เด็กสอบวัดแวววิชาชีพครูได้มากน้อยเพียงใดไม่สอบถามเรื่องนี้ สอบเข้ามาแล้วก็เรียนผ่านมีคุณภาพแทบทุกคน
การกำหนดสอบวิชาที่ไม่ได้เรียนเชื่อมโยงอะไรพิกลมากขึ้นดีเสียว่าที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการสอบเพิ่มจาก PAT 7 เป็น 25 มากนัก หลายวิชาจึงตกไป แต่ก็ยังมีความพยายามจะขอเพิ่มในหลายสายวิชาอยู่ในปัจจุบัน
ความจริงเรื่องการปรับปรุงปฏิรูประบบคอขวดการศึกษา ระบบแอดมิสชั่นส์ใหม่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเป็นประเด็นหลักหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ในขณะนี้ต้องกำหนดคุณลักษณะเด็กไทยให้ชัดเจน เปลี่ยนแปลงระบบหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ออกแบบการศึกษาให้เด็กวิเคราะห์เป็น อ่านรวบรวมข้อมูลหาแหล่งความรู้จากแหล่งต่างๆ ได้ วิเคราะห์สังเคราะห์จากบทความอย่างเฉียดคม ค้นหาและสรุปคำตอบจากองค์ความรู้ที่หลากหลาย ครูเป็นผู้ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำกำหนดโจทย์ประเด็นปัญหา และช่วยนำการเรียนรู้อย่างมีกระบวนการฝึกหัดเด็กให้สอบแบบอัตนัย วิพากษ์วิจารณ์บนความคิดที่มีหลักการ ไม่เชื่อคนง่าย การวัดและประเมินผลจึงเป็นขั้นตอนติดตามมา เพื่อดูผลสัมฤทธิ์ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่
แต่ในขณะนี้ตรงกันข้าม เอาเรื่องท้ายสุดมาเป็นต้นเรื่อง การสอบและการวัดผลเป็นตัวตั้ง บังคับและมีบทบาทกดดัน กำหนดเงื่อนไขให้เด็กต้องจำยอม ปฏิบัติตามมาตรฐานและเงื่อนไข สทศ.คณะสาขาวิชากำหนดให้และอาจคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นถูกต้องและทำให้เป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น
ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยถ้าเรามีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบแล้ว ได้เรียนในเรื่องที่จะทดสอบสอดคล้องกัน ผู้เขียนอยากให้ผู้เกี่ยวข้องมองโลกของเด็ก การให้ความเป็นธรรมแก่เด็กอย่างเหมาะสม อย่ามองแต่ความต้องการวิชาการสุดขั้ว บังคับเด็กได้ หรือมองแต่มาตรฐานมุมมองของหน่วยงาน สถาบัน องค์กร คณะวิชา มหาวิทยาลัยของตัวเองเป็นหลักจนลืมโลกของเด็กไทยที่ถูกการศึกษาทารุณกรรมมายาวนานจนเป็นชะตากรรมร่วมสมัยที่เด็กไทยต้องปรับตัวให้ได้
กรุณามองเด็กไทยเป็นเป้าหมายสูงสุด สมดุล และเชื่อมั่นในศักยภาพที่พัฒนาตนเองได้ เลิกเสียทีครับ สำหรับเรื่องเรียนมามากมายแต่ไม่ได้สอบ และต้องสอบมากมายในเรื่องที่ไม่ได้เรียน
สุดท้ายฝาก ทปอ.ช่วยจัดการระบบแอดมิสชั่นส์ให้เป็นระบบ เที่ยงธรรม มีเครื่องมือมาทดสอบจำนวนน้อยแต่เชื่อถือได้ ถ่วงคะแนน GPAX ที่ปล่อยเกรดเฟ้อด้วยคะแนนโอเน็ต สอบในเรื่องที่เรียนสัมพันธ์กับหลักสูตร อย่าเปลี่ยนการสอบบ่อย ต้องนิ่งได้แล้ว เป็นระบบที่ยอมรับและใช้ต่อเนื่อง จัดระเบียบรับตรงให้สอบตรงกัน อย่าลูบหน้าปะจมูก แย่งเด็ก แข่งกันสอบ หารายได้จากการขายใบสมัคร เงินจำนวนมากจากการสอบ เด็กมีที่เรียนซ้ำซ้อน ค่าใช้จ่ายผู้ปกครองสูงมากเกิดความไม่เป็นธรรมของโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาอุดมศึกษาอย่างมากมาย
ผู้เขียนดูงานการศึกษามาเกือบทั่วโลกไม่เคยเจอประเทศไหนจัดการศึกษาได้ย่ำแย่ขนาดนี้
ยิ่งปฏิรูปการศึกษา คุณภาพยิ่งแย่ลง
ยิ่งปรับเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ภาระและกรรมยิ่งตกหนักแก่เด็กนักเรียนมากขึ้นเท่านั้น
“เรียนไม่ได้สอบ สอบไม่ได้เรียน”
สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11532 มติชนรายวัน
####
“ทุกข์จากการศึกษาเป็นทุกข์ของแผ่นดิน”
ใกล้เวลาปิดเทอมกลางแล้ว
ที่เชียงใหม่ ศูนย์รวมสถาบันกวดวิชาอยู่รวมกันใกล้วัดพระสิงห์ เด็กนักเรียนมัธยมปลายทั่วภาคเหนือจะไปรวมตัวกันที่นั่น ถ้าเป็นเด็กเชียงใหม่ก็ไม่สู้จะเป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นเด็กจากเชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ หรือแม่ฮ่องสอน ที่ไม่มีปัญญาไปกรุงเทพฯ หรือไม่มีญาติอาศัยในเขตจังหวัดเชียงใหม่ พวกเขาต้องหาหอพักอยู่
ถ้าเป็นปิดเทอมตุลาคม พวกเขาต้องอยู่กันหนึ่งเดือนเพื่อเรียนกวดวิชาทุกวัน ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ ถ้าเป็นปิดเทอมฤดูร้อน พวกเขาต้องอยู่กันนานสองเดือน
ก่อนถึงวันปิดเทอม พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ต้องไปธนาคารเพื่อชำระเงินลงทะเบียนเรียนตามหลักสูตรที่ลูกต้องการ การไปลงทะเบียนต้องไปแต่เช้า เพื่อรอธนาคารเปิดทำการเนื่องจากบางคอร์สจะเต็มทันทีที่ธนาคารเปิดประตู
บางธนาคารซื่อตรงให้คุณพ่อคุณแม่เข้าประตูหน้าแล้วแย่งกันเอาบัตรคิวเพื่อลงทะเบียน แต่บางครั้งเราก็จะพบใครบางคนกำลังลงทะเบียนอยู่ก่อนแล้วทั้งๆ ที่ประตูเพิ่งเปิด นั่นแปลว่าเขาเข้าทางประตูอื่น ใครๆ ก็รักลูกอยากให้ลูกตนเองได้เรียนทั้งนั้น กวดวิชากับอาจารย์ชั้นยอดส่งผลต่อคะแนนสอบอย่างแน่นอน
นี่คือความจริงที่ใครๆ มักปฏิเสธ
ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อแม่เสียงานเสียการของตนเองไปลงทะเบียนให้ลูก น้อยครั้งที่จะมีนักเรียนไปลงทะเบียนด้วยตนเอง เพราะถ้าไปทำเองแปลว่าต้องขาดเรียนมา
ค่าเล่าเรียนประมาณคอร์สละ 2,000-5,000 บาท เด็กหนึ่งคนมักลงทะเบียนเรียนวันละ 2-3 คอร์ส แล้วแต่การจัดตารางวิ่งรอกเรียนและขึ้นกับพลังอึดของสมองด้วย เด็กบางคนสามารถเรียนติดต่อกันได้นานเจ็ดชั่วโมงโดยไม่กินข้าวกลางวัน (ซื้อขนมร้านสะดวกซื้อไปกินในห้องเรียนได้) เด็กบางคนทำไม่ได้ต้องเรียนไปฟุบหลับไป
ค่าหอพักประมาณเดือนละ 2,000-10,000 บาท ขึ้นกับว่าพักได้กี่คนและมีเครื่องปรับอากาศหรือเปล่า บริเวณรอบวัดพระสิงห์มีหอพักมากมายให้เลือก ทั้งแบบสะอาดปลอดภัยหรือมืดทึมน่ากลัวมีทั้งนั้น
เด็กส่วนใหญ่ยืนยันว่า แม้จะเป็นการเรียนจากวิดีโอ แต่ครูที่มาสอนกวดวิชาทุกท่านเป็นคนใจดี มีเมตตา สอนเก่ง มีมุข และฟังเข้าใจง่าย เฉพาะความใจดีมีเมตตานั้นสามารถส่งผ่านจอโทรทัศน์ออกมาได้ด้วย ห้องเรียนส่วนใหญ่มีเจ้าหน้าที่คอยเดินตรวจตราให้เด็กตั้งใจเรียน หรืออย่างน้อยก็ห้ามส่งเสียงพูดคุยรบกวนคนที่เรียน มิเช่นนั้นจะถูกเชิญออกนอกห้องทันที เด็กส่วนใหญ่ร้ายกาจที่โรงเรียนแต่ว่านอนสอนง่าย เมื่อมาที่โรงเรียนกวดวิชา ทำไม?
การเรียนคอร์สที่หนึ่งมักจะเริ่มตอน 7 นาฬิกา หรืออย่างช้า 7 โมงครึ่ง ดังนั้น เด็กที่ลงเรียนคอร์สแรกต้องตื่นกันตั้งแต่หกโมงเช้า และหาข้าวมันไก่ข้าวขาหมูแถววัดพระสิงห์นั้นกินให้อิ่ม เพราะต้องใช้พลังเรียนติดต่อกันไปถึงบ่ายสามโมง บางคนอาจจะเลือกพักเที่ยง แต่หลายคนไม่พักหรืออาจจะมีเวลาพักเพียงสิบนาทีไม่พอแย่งข้าวกิน เวลาเปลี่ยนห้องเรียนครั้งหนึ่งโกลาหลกันไปทั้งบริเวณ
เด็กๆ ที่เชียงใหม่มีสามประเภท ประเภทแรกไม่ทบทวนบทเรียนของเมื่อวานก่อนมาเรียนและมาถึงก็หลับต่อ
ประเภทที่สองไม่ทบทวนบทเรียนมา แต่มาถึงก็ตั้งใจเรียน
ประเภทที่สามทบทวนบทเรียนมาและตั้งใจเรียนด้วย อันที่จริงยังมีประเภทที่สี่คือ ไม่มาเลยหรือมาเฉพาะชั่วโมงสุดท้าย เพื่อจะได้เดินออกมาให้ผู้ปกครองเห็นตอนเลิกชั้นในวันที่ผู้ปกครองมารอรับ
มีบ้างตั้งครรภ์กลับไปโรงเรียนเมื่อเปิดเทอม
เมื่อถึงเวลาเย็นหรือค่ำ เด็กๆ ยังคงแบ่งเป็นสามประเภท ประเภทที่หนึ่งไม่ไปไหนเข้าหอพักทบทวนบทเรียน ทำการบ้านที่อาจารย์สั่งรายวันเพราะวิดีโอของวันพรุ่งนี้จะไม่รอ ประเภทที่สองเลิกเรียนแล้วไปช็อปทั่วเชียงใหม่ยันไนท์บาซาร์ ประเภทที่สามต่อโบว์ลิ่งถึงเที่ยงคืน เมืองเชียงใหม่มีถนนคนเดินทุกวันอาทิตย์ตอนเย็น
บริเวณนั้นจึงเป็นช่วงพักผ่อนสุดสัปดาห์ของเด็กๆ นักกวดทั้งหลาย
ทําไมต้องกวดวิชา?
“ครูที่โรงเรียนไม่สอน” เป็นคำตอบที่หนึ่ง “ต้องกวดให้หมดก่อนเริ่มสอบตรง” เป็นคำตอบที่สอง “ต้องกวดให้หมดก่อนเริ่มสอบโควต้า” เป็นคำตอบที่สาม “ต้องกวดให้มากที่สุดก่อนการสอบ GATPAT แต่ละครั้ง” เป็นคำตอบที่สี่ ยังมีอีกหลายคำตอบแต่พอเท่านี้ก่อน
ถ้าเป็นที่กรุงเทพฯ ให้ไปยืนดูที่สี่แยกศรีอยุธยาหน้าอาคารวรรณสรณ์ ตึกสูงระฟ้าแหล่งรวมสถาบันกวดวิชาเกือบทุกสำนัก ภายในมีร้านอาหารทั้งที่มีประโยชน์และฟาสต์ฟู้ด ร้านหนังสือและร้านสะดวกซื้อ ธนาคารอำนวยความสะดวกให้ลงทะเบียนเรียนโดยง่าย ลิฟต์ที่มีกล้องวงจรปิดป้องกันมิให้นักเรียนจูบกันประเจิดประเจ้อ แต่มิวายอาจารย์อุ๊ต้องคอยเตือนนักเรียนเสมอว่า อย่ามากนักนะจ๊ะมี รปภ.ดูโทรทัศน์วงจรปิดอยู่ นอกจากนี้ยังมีบันไดเลื่อนทุกชั้นตั้งแต่ล่างถึงบน
เช้าวันเสาร์อาทิตย์ และเช้าๆ ของทุกวันปิดเทอมตลอดสองเดือน นักเรียนจำนวนเป็นร้อยๆ เดินทางจากทุกทิศเข้าไปในอาคารสูงแห่งนี้ เวลาข้ามไฟแดงครั้งหนึ่งแห่ข้ามถนนกันรอบละร้อยสองร้อยคนน่าตื่นตาตื่นใจ เยาวชนของชาติและศูนย์การการศึกษาของชาติอยู่ที่นี่ ตอนหัวค่ำเวลาใกล้ปิดตึก จะมีพ่อแม่ชนชั้นกลางจำนวนมากไปนั่งรอรับลูกกลับบ้าน ส่วนเด็กต่างจังหวัดที่มีปัญญามากวดกรุงเทพฯ ก็กระจายอยู่หอพักกันตั้งแต่สยามสแควร์ พญาไท อนุสาวรีย์ ยันสะพานควาย
ที่ใกล้ๆ บันไดขึ้นสถานีรถไฟฟ้าพญาไทนั้นเอง เราจะพบเด็กนักเรียนในเครื่องแบบยืนขายแซนวิชเสมอๆ ไฟแดงรอบละสองร้อยคนที่ข้ามถนนไปนั้นมีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนคอร์สละสองสามพันบาททีละหลายๆ คอร์ส ไม่นับค่าหอพักเฉพาะบริเวณหลังพญาไทพลาซา สนนราคาเดือนละ 8,000-20,000 บาท นักเรียนคนนี้ต้องขายแซนวิชกี่ก้อนจึงจะได้เรียนกวดวิชาบ้าง
การศึกษากลายเป็นสมบัติและบันไดไต่ระดับของชนชั้นกลาง มิใช่เรื่องของคนไม่มีเงิน และเป็นทุกข์ของแผ่นดิน
“ทุกข์จากการศึกษาเป็นทุกข์ของแผ่นดิน”
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) www.thaissf.org
วันที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11532 มติชนรายวัน