“ไทม์” นิตยสารการเมืองเศรษฐกิจชั้นนำของสหรัฐ เผยแพร่การจัดอันดับสุดยอดประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) ชื่ออื้อฉาว 10 อันดับแรกของโลก ผ่านเว็บไซต์ไทม์ดอทคอมกลางสัปดาห์นี้ มอบให้ “เคนเนธ เลย์” อดีตซีอีโอของ เอนรอน ผู้ล่วงลับแล้ว เป็นแชมป์และเป็นตำนานสร้างความอื้อฉาวอย่างที่สุด จนทำให้เอนรอนอดีตบริษัทค้าพลังงานใหญ่สุดของโลกมีอายุกว่า 20 ปี เคยติด 10 อันดับแรกบริษัทใหญ่จากการอันดับของ “ฟอร์จูน” นิตยสารเศรษฐกิจชื่อดังของสหรัฐ ต้องล้มละลายในเวลาเพียงปีเดียว
เลย์เป็นผู้สร้างเอนรอนขึ้นมาในปี 2523 จากนั้น 20 ปีต่อมาคือในปี 2543 เขาได้ผลักดันให้บริษัทค้าแก๊สธรรมชาติเล็กๆธรรมดาอย่าง เอนรอน ผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทค้าพลังงานยักษ์ใหญ่มีมูลค่า 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เงินหมุนเวียนในบริษัทส่วนใหญ่เกิดจากการตกแต่งบัญชีให้คลุมเครือ เมื่อขาดทุนมหาศาลก็ไม่ได้บันทึกไว้ในงบบัญชี
ต่อมาในเดือนมี.ค.2544 นักวิเคราะห์เริ่มสงสัยการขยายธุรกิจของเอนรอน จากนั้นในเดือนต.ค.ปีเดียวกัน คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ สั่งสอบงบบัญชีบริษัทและพบความจริงว่า เลย์ กับ เจฟฟรีย์ สกิลลิ่ง อดีตผู้บริหารเอนรอนเช่นกัน ร่วมกันฉ้อฉลยักยอกเงินมหาศาลของบริษัท
ผลสอบสวนทำให้เพียงปีเดียว ราคาหุ้นเอนรอนซึ่งเคยเป็นหุ้นชั้นดีในตลาด ร่วงลงต่อเนื่องจาก 90 ดอลลาร์ต่อหุ้นเหลือไม่ถึง 1 ดอลลาร์หุ้น ทำให้ผู้ถือหุ้นต้องสูญเสียเงินลงทุนมากมายถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนหัวโจกอย่างเลย์เกิดอาการหัวใจวายเสียชีวิตระหว่างขั้นตอนพิจารณาคดี แต่สกิลลิ่งขณะนี้ยังคงรับโทษจำคุก
มาที่อันดับ 2 ไทม์ มอบให้ “เบอร์นีย์ เอบเบอร์ส” อดีตซีอีโอ เวิลด์ คอม บริษัทสื่อสารใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐขณะนั้น เป็นผู้ก่อชื่อเสียให้วงการสื่อสารโลกมากที่สุด ทั้งๆที่เอบเบอร์สเป็นผู้มีชื่อจารึกในหอเกียรติยศนักธุรกิจของมลรัฐมิสซิสซิปปี และโชว์ความสามารถก้าวขึ้นเป็นซีอีโอเวิลด์คอมได้ในปี 2538
เอบเบอร์ส ปลุกปั้นเวิลด์คอมที่เป็นเพียงบริษัทเล็กให้ใหญ่ขึ้น ด้วยการเข้าไปซื้อกิจการคู่แข่งหลายราย จนที่สุดทำให้เวิลด์คอมติดกลุ่มบริษัทสื่อสารใหญ่สุดของโลกได้ และในปี 2543 เวิลด์คอมรุ่งเรืองอย่างที่สุด ขณะที่สินทรัพย์ส่วนตัวของเอบเบอร์สช่วงนั้นมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์
ต่อมาในปี 2545 ทางการสหรัฐสั่งสอบงบบัญชีคลุมเครือของเวิลด์คอม และพบความจริงซึ่งเป็นที่มาของข้อกล่าวหาฉ้อฉลปกปิดและตกแต่งบัญชีครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งมูลค่าบริษัทขณะนั้นมากกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับเอบเบอร์สถูกกล่าวหานำเงินบริษัทไปใช้ส่วนตัว 366 ล้านดอลลาร์
และช่วงที่เกิดข่าวราคาหุ้นเวิลด์คอมดิ่งลงอย่างหนักจาก 64 ดอลลาร์ต่อหุ้น เหลือแค่ 1 ดอลลาร์กว่าๆ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายของผู้ถือหุ้นมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ปัจจุบันเอบเบอร์สยังคงรับโทษจำคุกเป็นเวลา 25 ปี และมีกำหนดพ้นโทษในปี 2571
ส่วนอันดับ 3 อดีตซีอีโอของ ฮิวเลตต์-แพคการ์ด บริษัทไอทีชั้นนำระดับโลก มาร์ค เฮิร์ด เพิ่งเป็นข่าวสดๆร้อนๆ เพราะผลจากการทำผิดศีลธรรมเล็กน้อยไม่ถึงขั้นเลวร้ายอย่างที่สุด แต่ผลลัพธ์เลวร้ายที่สุดที่เขาได้รับคือ ถูกไล่ออกจากตำแหน่งซีอีโอ เมื่อ วันที่ 6 ส.ค.ปีนี้ เพราะบิดเบือนรายงานค่าใช้จ่ายเพียง 2 หมื่นดอลลาร์ หวังช่วยผู้จัดงานอีเวนท์หญิงเป็นดาราทีวีดังจัดรายการเรียลลิตี้ “โจดี้ ฟิชเชอร์” เพื่อแลกกับสัมพันธ์สวาท แต่ฝ่ายหญิงไม่เล่นด้วยและเปิดโปงให้โลกรับรู้เสียก่อน
สำหรับ อันดับ 4 ไทม์ยก ให้ “เจมส์ แมคเดอร์มอตต์” เคยทำงานให้ คีฟฟี บูแยตต์ แอนด์ วูดส์ วาณิชธนกิจชั้นนำระดับประเทศของสหรัฐ เผลอให้ข้อมูลดีลควบรวมกับดาราหนังโป๊ “แมริลีน สตาร์” ซึ่งเขามีสัมพันธ์สวาทด้วย และสตาร์ได้เล่าข้อมูลนี้ให้ “แอนโธนี่ ปอมโพนิโอ” คู่นอนอีกคนหนึ่งฟัง
ทั้ง สตาร์ และ ปอมโพนิโอ ใช้ข้อมูลของแมคดอร์มอตต์ ทำเงินจากการซื้อขายในตลาดหุ้นมากกว่า 8 หมื่นดอลลาร์ ต่อมาสตาร์ถูกจับและส่งตัวกลับสหรัฐรับโทษจำคุกไม่กี่เดือน ส่วนแมคเดอร์มอตต์ถูกไล่ออกโดนปรับเป็นเงิน 2.3 แสนดอลลาร์พร้อมโทษจำคุก
มาถึง อันดับ 5 เป็นของ “มาร์ธา สจ๊วต” ซีอีโอผู้สามารถลบชื่อเสียของตัวเอง กลับมาบริหาร มาร์ธา สจ๊วต ลีฟวิ่ง ออมนิมีเดีย ของตัวเองอีกครั้ง แม้เป็นหญิงเก่งก่อตั้งบริษัทจัดเลี้ยงอาหารในปี 2519 มีหนังสือทำอาหารเล่มแรกในปี 2525 ออกนิตยสารได้ในปี 2536 ก่อนขึ้นเป็นประธานและซีอีโอของมาร์ธา สจ๊วต ลีฟวิ่ง ออมนิมีเดียในปี 2540
แต่ในปี 2547 สจ๊วตถูกลงโทษในข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมบิดเบือนข้อมูลการใช้ข้อมูลภายใน(อินไซเดอร์) ซื้อขายหุ้นอิมโคลน ซิสเทมส์ แต่โทษที่ได้รับคือถูกกักกันในเรือนจำเพียง 5 เดือน และถูกปล่อยตัวกลับมานั่งบริหารบริษัทขยายธุรกิจใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
อันดับ 6 ตกเป็นของ “จอห์น บราวนี่” อดีตซีอีโอ บีพี บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ถูกไล่ออกเพราะโกหกเรื่องส่วนตัว เป็นสัมพันธ์สวาทกับเพื่อนชายชาวแคนาดา เมื่อต้องขึ้นศาลในข้อพิพาทกับสื่อที่ตีพิมพ์ภาพของเขากับเพื่อนชาย โดยบราวนี่โกหกว่า เขาพบเพื่อนชายระหว่างวิ่งออกกำลังสวนแห่งหนึ่ง แต่แท้จริงเขาสานสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์บริษัทจัดหาคู่
สำหรับ อันดับ 7 “ซันเจย์ กุมาร” อดีตซีอีโอของ คอมพิวเตอร์ แอสโซซิเอตส์ ถูกสอบสวนในปี 2547 พบความผิดตกแต่งตัวเลขในบัญชี 2.2 พันล้านดอลลาร์ หลังลาออกและศาลตัดสินรับโทษจำคุก 12 ปีในปี 2549 ระหว่างอยู่ในคุกยังเขียนหนังสือแฉผู้ร่วมทำผิดทั้งอดีตเพื่อนร่วมงานและนักการเมืองดัง
มาถึง อันดับ 8 “เดวิด เอดมอนด์ซัน” อดีตซีอีโอของ เรดิโอแชค บริษัทค้าปลีกเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของสหรัฐ ถูกไล่ออกเพราะปลอมประวัติการศึกษาได้ปริญญา 2 ใบ สาขาจิตวิทยากับศาสนศาสตร์ จากแปซิฟิก โคสต์ แบบติสท์ คอลเลจ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่แท้จริงเป็นนักศึกษาปี 2 เรียนไม่จบแต่เขาสามารถใช้ประวัติการศึกษาปลอมทำงานในบริษัทนี้นานเกือบ 11 ปี
ส่วน “แฮร์รี่ สโตนไซเฟอร์” อดีตซีอีโอของ โบอิง ทำเรื่องอื้อฉาวสุด อันดับ 9 ต้องหลุดจากตำแหน่งเพราะความผิดรับสินบนจากแอร์ฟรานซ์แล้ว ยังโดนอีเมลลึกลับเปิดโปงสัมพันธ์สวาทระหว่างเขากับ “เดบรา พีบอดี้” ผู้บริหารหญิงของบริษัท หลังสอบสวนพบมูลความผิดจึงต้องลาออกในปี 2546
ท้ายสุด อันดับ 10 “ชุง มอง คู” อดีตประธาน ฮุนได มอเตอร์ ถูกสอบสวนพบความผิดฐานฉ้อโกงเงินประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ จากเงินทั้งหมดที่ใช้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ทางการ
การตัดสินคดีครั้งนั้นถือเป็นชัยชนะของกระบวนการยุติธรรม ที่สามารถบังคับใช้กฎหมายสร้างความโปร่งใสให้วงการธุรกิจเกาหลีใต้ แต่ ชุง มอง คู รับโทษเพียงรองลงอาญาจำคุก 3 ปี ก่อนที่ปี 2551 ได้รับอภัยโทษจากผู้นำเกาหลีใต้ขณะนั้น
10 ซีอีโอโลกสุดอื้อฉาว คุมอุตฯสื่อสาร – พลังงาน
อุไรวรรณ ภู่วิจิตรสุทิน
วันที่ 13 สิงหาคม 2553