“สันติ สิงหวังชา” เสือหนุ่ม..ไฟแรง – Investor Station

056-1

จากดีกรีในการจัดการพอร์ตหุ้นที่ไม่ธรรมดาเพียงแค่ 6 ปีของการเข้าวงการ “สันติ สิงห์วังชา” สามารถสร้างผลตอบแทนได้แล้วกว่า 27 เท่าตัว ด้วยแนวคิดที่เรียบง่าย ลุ่มลึก สุขุมใจเย็น จนได้รับรางวัลผู้ถือหุ้นคุณภาพมาแล้ว เชิญพบกับทายาทสังกัดมวยชื่อดังผู้ได้รับชัยชนะบนสังเวียนหุ้นของ “สันติ สิงห์วังชา”

ความเคลื่อนไหวในรอบปี
ก็ปรับพอร์ตหุ้นตลอดเวลา โดยการขายออกและซื้อเข้าจำนวนเท่าๆ กัน เพราะโดยปกติแล้วผมจะไม่ถือเงินสด ซึ่งถ้าอยากจะซื้อหุ้นก็ต้องขายตัวอื่นเพื่อเอาเงินมาซื้อ ไม่มีแบบที่ว่าขายแล้วเก็บเงินสดๆ ไว้รอซื้อหุ้นอย่างนี้ไม่มี

ดัชนี 400 จุด ขายขาดทุน?
โดยปกติผมเล่นหุ้นจะไม่ดูต้นทุนตัวเอง ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีต้นทุนเท่าไหร่ จะวัดผลงานของตัวเองโดยจะดูว่าต้นปีมูลค่าสินทรัพย์รวมมีเท่าไหร่ และปัจจุบันมีเท่าไหร่ โดยจะแทร็คทุกๆ ปี พูดง่ายๆก็คือดูเป็นพอร์ตรวม ไม่ได้มานั่งดูต้นทุนราคาเป็นรายตัวว่าขายไปขาดทุนหรือกำไร แต่ถ้าหากไปมองตัวเลขจริงๆ ก็มีทั้งขาดทุนทั้งกำไรผสมกันแล้วแต่ช่วง

มองแค่ส่วนต่าง
ที่ไม่มาสนใจต้นทุนราคาเป็นรายตัวเพราะความสำคัญในการซื้อหุ้นมันอยู่ที่ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ราคาจะขึ้นได้อีกเท่าไหร่ แต่ราคาที่เราซื้อมาไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย ดังนั้นผมจึงไม่ได้ให้ความสนใจอะไรมาก ทั่วไปนักลงทุนอาจจะเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ตว่าเขามีหุ้นอะไรที่ราคาเท่าไหร่แต่ผมจะไม่เข้าไปดู จะใช้วิธีบันทึกว่ามีหุ้นนี้ จำนวนแค่นี้ และก็แยกทำต่างหากใส่ไว้ในโปรแกรมเอ็กเซลล์ ซึ่งมันจะเป็นการตัดอคติของตัวเอง นั่นหมายความว่าในพอร์ตผมจะแยกมองหุ้นในด้านคุณภาพและด้านราคา โดยไม่เอามาปนกัน

อย่างเช่นถ้าถือหุ้นอยู่ตัวหนึ่ง แล้วราคามันลงมาเยอะก็จะทำให้เราใจเสียได้ หรือ ถ้ามันขึ้นเยอะๆ ก็ทำให้เราอยากขายก็ได้ แต่ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า ณ ราคาปัจจุบันมันจะขึ้นได้อีกเท่าไหร่ อย่างเช่นผมมีหุ้นต้นทุนที่ 10 บาทแต่มันลงมาเยอะๆ และผมคำนวณแล้วว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปราคาเป้าหมายจะเป็น 5 บาท ต่อให้ทุนผม 20 บาทผมก็ต้องขาย บางคนอาจคิดว่ารอให้มันกลับไปที่ราคาทุนก่อนแล้วกันค่อยขายซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นผลตอบแทนมันก็จะแย่

เริ่มต้นก็โดนไก่จิก
หลังจากที่มีโอกาสเข้าโครงการอบรมนักลงทุนรุ่นใหม่ (New Investor Program: NIP) ทำให้รู้สึกว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing: VI) เป็นเส้นทางที่น่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องนักเพราะตอนนั้นจบวิศวกรมา จึงมาอ่านหนังสือศึกษาเพิ่มเติมหลายๆ เล่มประมาณครึ่งปี แล้วก็เริ่มเปิดพอร์ตประมาณปลายปี 2545

สำหรับหุ้นตัวแรกที่เล่นก็คือ GFPT ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับไก่ โดยตัดสินใจตามหนังสือที่บอกว่าหุ้นถูก ต้อง P/E ต่ำ, P/BV ต่ำ, ปันผลดี แต่ก็ขาดทุน หลังถือไว้ประมาณ 2-3 เดือนก็หายไปประมาณ 30% เลย ตัดสินใจคัทลอสออกมา เพราะว่าตอนที่ซื้อมาก็ไม่ได้ดูธุรกิจอะไรลึกมากแค่เห็นว่าหุ้นมันถูก แม้ว่าแรกๆ จะได้กำไรบ้าง แต่ก็ไม่ได้ขายออกเพราะจำมาว่า VI ต้องซื้อหุ้นถูกและถือยาวๆ แต่ก็ไม่รู้จะถือไปถึงเท่าไหร่เหมือนกัน พอไข้หวัดนกมาหุ้นไก่ก็เละตุ้มเป๊ะเลย

ล้มแล้วลุก
จากนั้นก็กลับไปเลียแผลใจ 1-2 อาทิตย์ ศึกษาใหม่ คราวนี้แค่ราคาถูกอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องดูตัวธุรกิจด้วยว่าจะมีทิศทางดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งตัวนี้ก็ได้กำไร 60-70% เลย ซึ่งระหว่างเล่นหุ้นนี้ก็ทำงานประจำควบคู่ไปด้วย โดยก็มีโอกาสไปเรียนปริญญาโท MBA ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เคยฝันว่าอยากจะเป็นนักลงทุนเต็มตัวเพียงแต่ว่าเวลานั้นไม่ได้คิดว่าจะเลิกทำงานและทำงานเต็มตัวเพียงแต่ตั้งเป้าไว้ว่า หากวันหนึ่งในอนาคต เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนมันเยอะเพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องทำงานก็จะลาออกมาลงทุนเต็มตัว แต่ปรากฏว่าตอนจบมาผลตอบแทนที่ได้จากพอร์ตมันดีมากโตทะลุเป้าที่เราเคยคิดเป็นเท่าตัวก็เลยรู้สึกว่าอย่างงี้ก็เล่นหุ้นเต็มตัวเลยละกัน

เก๋าเกมส์
สูตรการเลือกหุ้นหลักๆ ก็คือ เลือกถูกๆ เลือกดีๆ เพียงแต่ว่าปีแรกการมองธุรกิจของผมยังไม่ขาด เหมือนเป็นมือใหม่เพิ่งเรียนจบมา ก็เลยได้แต่นั่งคิดไปเองว่าธุรกิจนี้มันน่าจะดีมั้ง แต่โชคดีที่ปี 2546 ช่วงนั้นราคาหุ้นค่อนข้างถูกอยู่แล้วด้วย ดัชนีขึ้นจาก 300 ไปเป็น 700 จุด เป็นเท่าตัว บางทีแม้จะคิดพลาดธุรกิจที่ซื้อไม่ได้ดีอย่างที่คาดแต่หุ้นมันก็ขึ้น เลยกลายเป็นว่าปีแรกก็เป็นแบบสบายๆ และค่อยๆ สร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นได้ในช่วงหลังเพราะมองธุรกิจได้ขาดและมองจังหวะที่เข้าไปซื้อได้ถูกต้องขึ้น

สั่งสมความรู้
หัวใจของความสำเร็จหลักๆ ของผมคือ การเลือกลงทุนแนว VI ซึ่งถูกทางและเข้ากับนิสัยของตัวเองที่ใจเย็นไม่ได้รีบร้อนเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งการเริ่มต้นดีก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่ง นอกจากนั้นก็เป็นการสะสมความรู้ไปเรื่อยๆ แรกๆ อาจมีหุ้นที่รู้จักเพียง 10-20 ตัว หรือบางธุรกิจเราอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปการที่ศึกษาขอบเขตความเข้าใจในหุ้นมันเยอะขึ้นตัวเลือกเราก็เยอะขึ้น

อย่างแรกๆ ผมสนใจหุ้นอสังหาริมทรัพย์ตัวหนึ่งแต่ด้วยความที่ผมวิเคราะห์ธุรกิจอสังหาฯ ไม่เป็นก็เลยเสียโอกาสในการเล่นหุ้นตัวนั้นไป เพราะถ้าเราวิเคราะห์ไม่เป็นเราก็ไม่อยากจะยุ่งกับมัน แต่เวลาเมื่อผ่านๆ ไปก็เริ่มศึกษาเลยเริ่มเข้าใจเป็นเหมือนโอกาสที่เยอะขึ้นซึ่งก็ทำให้เราสร้างผลตอบแทนได้ดีขึ้น ส่วนเงื่อนไขในการเลือกหุ้น ผมจะใช้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ ต้องเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต ต้องเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน และต้องมีผู้บริหารที่ดี

มองให้รอบ
การวิเคราะห์อุตสาหกรรม ก็แล้วแต่อุตสาหกรรมด้วย อย่างเช่นช่วงนี้ผมเล่นหุ้นอสังหาฯ ก็อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ธรรมดา แต่ก็ต้องอ่านแบบฟังหูไว้หูด้วย เพราะถ้าช่วงไหนดัชนีลงข่าวร้ายก็จะลงกันทุกวัน ถ้าช่วงไหนดัชนีขึ้นข่าวดีก็จะลงทุกวัน ซึ่งก็ต้องอ่านโดยเอาตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นความเห็น นอกจากนี้ยังได้มาจากการคุยกับผู้บริหารด้วย อย่างไปคุยกับผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่งก็อาจจะถามเขาว่ากลัวคู่แข่งมั้ย เค้าทำแบบนี้ๆ เค้าก็อาจจะคอมเม้นท์ถึงอีกบริษัทว่าทำต้นทุนได้ต่ำและยอดขายดี กลายเป็นว่าแทนที่จะสนใจตัวนี้เราอาจกลายเป็นสนใจอีกตัวหนึ่งแทน

อ่านใจให้ขาด

ส่วนทักษะในการอ่านคนเป็นเรื่องจำเป็นเพราะต่อให้ธุรกิจดี แต่ผู้บริหารไม่ดีก็ไม่ไหวเหมือนกัน โดยคุณสมบัติของผู้บริหารก็คือต้องมีความความเก่ง ขยัน และซื่อสัตย์ โดยบางทีต้องอาศัย sense หรือไม่ก็สไตล์การพูดรวมถึงคำถามที่เขาตอบเรา อย่างผู้บริหารที่เก่งๆ ไม่ว่าเราจะถามอะไรอย่างเช่นว่าสถานการณ์ไม่ดีแบบโน้นแบบนี้จะจัดการยังไง คือเขาเตรียมทางแก้ไว้หมดแล้วและสามารถตอบเราได้เป็นฉากๆ แต่ถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่เก่งอย่างถามไปว่าถ้าค่าเงินมันแข็งขึ้นส่งออกไม่ดีจะทำไง ก็จะได้รับคำตอบประมาณว่า ค่าเงินมันคงไม่แข็งไปกว่านี้หรอก ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ได้มีการคิดแผนรองรับถ้ามันจะเกิดขึ้น ผู้บริหารบางคนจะมั่นใจเกินจริง บางคนจะชอบพูดแบบอนุรักษ์นิยมไว้ก่อน หรือชอบปิดบังสิ่งที่ไม่ดีเอาไว้ในใจไม่ยอมพูด บางคนก็เชื่อไม่ได้เลย จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจลักษณะของผู้บริหารแต่ละคน ซึ่งหากผมจะซื้อหุ้นตัวไหนในปริมาณเยอะๆ ก็มักจะต้องเข้าไปคุยกับผู้บริหารก่อน โดยเราก็ต้องตั้งคำถามให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ วิธีการแก้ปัญหา แผนการดำเนินการในอนาคตด้วย ถือได้ว่าการคุยกับผู้บริหารก็คือบ้านข้อสุดท้ายก่อนซื้อหุ้น

อย่าใช้อารมณ์
ขณะที่จิตวิทยาการลงทุนในความหมายของผมก็คือ จิตวิทยาในการวิเคราะห์ตัวเอง อย่างเช่นการเล่นหุ้นของผมจะไม่ดูต้นทุนของตัวเองเทียบกับราคาในตลาดปัจจุบัน เพราะคนเราจะมีอคติ ดังนั้นผมจะให้ดูว่าหุ้นจะขึ้นได้เท่าไหร่หรือจะลงได้เท่าไหร่นั่นคือคีย์ในการตัดสินใจ แต่สำหรับนักลงทุนโดยทั่วไปแล้วสิ่งที่เขาดูคือต้นทุน ตอนนี้ขาดทุนเลยไม่อยากขาย หรือกำไรเยอะก็เลยอยากขายแล้ว ตัวเลขต้นทุนซึ่งบางทีมันไม่มีผลต่อมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น แต่เรากลับนำมาใช้ซึ่งก็อาจทำให้เกิดอคติทำให้เราใช้อารมณ์ในการซื้อขายหุ้นหรืออย่าง Snake Bite Effect คือการที่คนเรามักจะกลัวในสิ่งที่ทำให้เราเจ็บตัวมาก่อน อย่างเคยเจ็บตัวจากหุ้นอสังหาฯ แล้วทำให้ไม่กล้าจะลงทุนหุ้นอสังหาฯ อีกเพราะนึกว่าไม่ถูกโฉลกแล้ว แต่ปีนี้ถ้าหุ้นมันเกิดดีขึ้นมาก็จะทำให้เราเสียโอกาส

เข้าเนื้อก็มี
ที่ผ่านมาหุ้นในพอร์ตของผมกำไรก็มีขาดทุนก็เยอะผสมกันไป แต่ถ้าคิดเป็นรายปีส่วนใหญ่จะมีกำไร โดยจะคิดต้นปีเทียบกับปลายปี แต่อย่างปีที่แล้วมันเละตุ้มเป๊ะขาดทุนไป 55% ได้ ขณะที่ช่วงวิกฤติอย่าง 19 กันยา หรือ 19 ธันวา ที่หุ้นจะดิ่งลงมาพร้อมๆ กัน ส่วนใหญ่ผมมักจะอยู่เฉยๆ เพราะตั้งแต่เล่นหุ้นมา 6 ปี ถือหุ้น100% ยังไม่เคย Hold Cash เลย แต่ถ้าผมมีหุ้นอยู่ 3 ตัว แล้วราคาลดลงไม่เท่ากัน ผมก็จะขายตัวที่ราคาลงน้อยแล้วเปลี่ยนมาซื้อตัวที่ลงเยอะ เพราะยิ่งมันลงมาเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันถ้าในภาวะปกติแล้วมีหุ้นอยู่ 3 ตัว ตัวแรกลง 5% ตัวที่สอง +10% ตัวที่สาม +50% ผมก็จะขายตัวที่สามบางส่วนเพื่อไปซื้อตัวแรกเพิ่ม ซึ่งโดยปกติการซื้อขายของผมก็มักจะเป็นลักษณะนี้ เพราะถ้าหุ้นขึ้นมากเท่าไหร่ความเสี่ยงก็จะเยอะขึ้นเท่านั้น

ผสานแนวคิด 2 VI ชื่อดัง

หลักคิด VI ของผมจะใช้แนวคิดของ วอร์เรนต์ บัฟเฟต์ และ ปีเตอร์ ลินช์ เป็นหลัก โดยการลงทุนของบัฟเฟต์จะคิดระยะยาวมากๆ คือถือหุ้นที่ดีต่อเนื่องกันเป็น 10-20 ปี แล้วไม่ค่อยขายเพราะฉะนั้นเขาจะเลือกหุ้นที่แบบเฟอร์เฟ็คยอดเยี่ยม และซื้อในช่วงที่ธุรกิจมีปัญหาในช่วงที่คนส่วนใหญ่จะเทขายออกมา แต่ลินช์จะมองหุ้นสั้นกว่าบัฟเฟต์โดยเฉลี่ยแล้ว 2-5 ปี โดยจะมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยกว่า คือถ้าหุ้นที่เขาถืออยู่มันเริ่มแพงแล้วเขาจะขายทิ้งและไปหาตัวที่ถูกกว่าแทนเป็นอย่างงี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งลินช์ก็ทำการบ้านหนักกว่าบัฟเฟต์ แต่สำหรับของผมเองแล้วก็กลางๆ ผสมกันคือช่วงไหนมีโอกาสซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยมในราคาถูกๆ ก็ซื้อแต่ช่วงไหนที่หุ้นแบบนั้นหาไม่ได้เลยก็จะเล่นหุ้นที่ไม่ต้องมองยาวมาก

ต้องเจาะลึก
ก่อนจะซื้อหุ้นแรกๆ ผมศึกษาแต่ละตัวเป็นเดือนเลยนะ แต่หลังๆ นี่บางทีผมอ่านแค่ครึ่งวันก็ซื้อแล้ว เพราะถ้าเป็นธุรกิจที่เราเข้าใจอยู่แล้วก็ไม่ต้องศึกษาอะไรมาก อย่างถ้าผมสนใจหุ้นอสังหาฯ ตัวนึงก็จะเข้าไปศึกษางบการเงินของบริษัทว่าเป็นยังไง ผลงานในอดีตเป็นยังไง แล้วภาวะปัจจุบันยอดขายโอเคมั้ย แล้วผมก็ซื้อได้เลย จากที่ในอดีตต้องไปเริ่มต้นดูว่าหุ้นอสังหาฯ เขาวิเคราะห์กันยังไง คู่แข่งเป็นยังไง ใครเป็นคู่แข่งในธุรกิจนี้ แล้วอดีตเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมาผมก็ศึกษาไปเรื่อยๆ ว่ารายนี้จุดเด่นด้านนี้ๆ ลูกค้าหลักคือใคร ดังนั้นเราจะมีข้อมูลมาก บางทีฟังผู้บริหารพูดปั๊บๆ เอาเครื่องคิดเลขจิ้มๆก็ซื้อได้เลย

หัวใจหลักงบการเงิน
หัวใจหลักๆ ที่ต้องดูและพลาดไม่ได้ก็คืองบการเงิน โดยก็ดูอัตราส่วนหลักๆ กำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เป็นยังไง เรียกได้ว่าดูทุกรายการในงบกำไรขาดทุนเลย แล้วก็ไปดูหนี้สินเทียบกับทุนว่าเป็นยังไง ถ้าหนี้เยอะก็เสี่ยง หนี้น้อยก็สบาย แล้วจากนั้นก็นำแต่ละบริษัทมาเปรียบเทียบกับคู่แข่งตัวอื่นๆ ในกลุ่ม อย่างเช่น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาฯ ไม่น่าจะดี สภาวะเศรษฐกิจมันแย่ แบงก์ก็ไม่ค่อยปล่อยกู้ แต่ในสภาวะที่แย่แบบนี้จะมีคนที่ได้ประโยชน์อยู่ บริษัทอสังหาฯ รายเล็กๆ กู้แบงก์ยากดังนั้นจึงเปิดโครงการใหม่ไม่ได้ หรือบริษัทที่มีหนี้เยอะขายของไม่ได้กู้ไม่ได้แทบจะต้องปิดตัวไปก็มีซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จะตกอยู่กับบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ที่มีงบดุลแข็งแกร่งมีหนี้น้อยๆ แม้ว่ายอดขายรวมจะลดลงแต่บริษัทพวกนี้จะสามารถไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดตัวอื่นๆ มาได้

เงี่ยหูฟัง
ผมก็อ่านบทวิเคราะห์ด้วย แต่ก็ต้องดูว่าที่มามันมาจากไหน หากมาจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารเราก็ต้องดูตัวผู้บริหารเพิ่ม ถ้าตัวเขาเชื่อถือได้เราก็เชื่อบทวิเคราะห์ง่ายหน่อย ซึ่งก็จะดูชื่อนักวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงประกอบแต่เอาเข้าจริงหุ้นที่ผมเล่นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีคนวิเคราะห์ซักเท่าไหร่ ขณะที่อีกอย่างที่ผมจะไม่ดูจากบทวิเคราะห์เลยคือราคาเป้าหมายแม้ว่าจะมีการคิดตามสูตร WACC, DCF หรืออะไรก็ตาม ผมไม่เชื่อเลยและผมก็ไม่ได้ใช้วิธีคิดแบบนั้นด้วย เพราะผมก็เคยลองทำแต่มันเป็นทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้ผลเลย ตอนนี้ผมเลยคิดง่ายๆโดยใช้ P/E Ratio และคาดการณ์ตัวเลขล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ส่วนหลังจากนั้นก็ดูว่ามันจะดีขึ้นอีกแค่นั้นก็พอ ถ้าให้นักวิเคราะห์มาแข่งคาดการณ์กำไร 1 ปีล่วงหน้ากับผมแล้วเค้าหรือผมก็คงไม่ได้มีใครเก่งไปกว่ากันหรอก พอเราดูแล้วเห็นว่าเทียบกับ P/E แล้วในปีหน้าราคามันถูกก็ซื้อได้เลย

กระจายความเสี่ยง

ในพอร์ตผมจะแบ่งถือหุ้นโดยเฉลี่ย 5-6 ตัว เพราะถ้าน้อยตัวไปก็จะรู้สึกว่าเสี่ยงแต่ก็เคยถือตัวเดียวเหมือนกันนะ เพราะรู้สึกมั่นใจมาก ซึ่งปรากฏว่าโชคดีถือถูกตัว แต่หลายๆ ครั้งหุ้นที่มั่นใจมากๆ แล้วเละไม่เป็นท่าขึ้นมาก็มีเหมือนกัน ทำให้หลังๆ รู้สึกว่าจะไม่เล่นหุ้นหนักๆ ตัวเดียวแล้วต้องมีการกระจาย แต่บางตัวอาจถือเยอะหน่อยเช่นซัก 30% ของพอร์ต ตามความมั่นใจ และตามเป้าหมายของมัน เช่นถ้ายังเหลืออัพไซด์เยอะก็จะถือมากหน่อย

เหตุปรับพอร์ต
สำหรับผมการที่ราคาลดลงไม่ใช่จุดคัทลอส แต่ผมจะคัทลอสก็ต่อเมื่อวิเคราะห์ผิดอย่างมองว่ากำไรน่าจะได้ 1 พันล้านบาท แต่ประกาศจริงได้แค่ 7 ร้อยล้าน ซึ่งก็ต้องมาดูเหตุผลประกอบด้วย ถ้าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวก็จะไปเข้าสูตรของ บัฟเฟต์ แทนที่คัทลอสก็อาจจะซื้อเพิ่มแทนถ้าราคาลดลง ส่วนเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่การคัทลอสแต่จะไม่เก็บหุ้นไว้ต่อก็คือ เห็นหุ้นตัวอื่นที่ดีกว่า แม้ว่าหุ้นตัวที่ถือนั้นจะได้กำไรอยู่ก็ตาม ส่วนปัจจัยทางเทคนิคผมไม่เคยดูเลย จะใช้แค่ P/E กับวิเคราะห์ธุรกิจเป็นหลัก ถ้าธุรกิจดีมากๆ ก็ควรที่จะมี P/E ที่สูงกว่าตัวอื่นหรือไม่ก็เป็นธุรกิจที่ดีมาก แต่คนอื่นยังไม่เห็นเราก็ต้องหาให้เจอก่อน

หุ้น 5 เด้ง
ตั้งแต่ผมเล่นหุ้นมา PSL เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด โดยซื้อตั้งแต่ราคา 8 บาทถึง 11 บาท แล้วก็เก็บประมาณ 1 ปีไปขายที่ราคา 40 บาท ซึ่งนี่คือหุ้นที่ถือตัวเดียวทั้งพอร์ต เพราะมองว่าค่าระวางเรือจะขึ้นเยอะ แต่พอขึ้นไปเยอะแล้วก็มองไม่ออกเหมือนกันว่าจะขายตรงไหน จนกระทั่งรู้สึกว่าถึงจุดหนึ่งไม่น่าจะขึ้นไปกว่านี้แล้วมั้งก็เลยขาย…ก็มั่วๆเหมือนกันนะ เพราะมันเคยขึ้นไปถึง 60 บาทด้วยนะ แล้วก็มีแตกพาร์อะไรด้วย แต่ที่ผมซื้อมา 8 บาทก็ต้องถือว่ามันขึ้นมาเยอะแล้วนะเพราะก่อนหน้านี้มันมาจาก 3 บาทด้วยซ้ำ ถ้าถามก็คงต้องบอกว่ามันก็ฟลุ๊คส่วนหนึ่งด้วยมั้ง

แสบสะท้านทรวง
ส่วนตัวที่เจ็บตัวมากที่สุดก็คือ SNC และเล่นหุ้นตัวนี้ก็ถือเยอะด้วยถือเต็มพอร์ตเลย ผมซื้อตั้งแต่ราคา 3 บาท ไปถึง 7 บาท 15 บาทก็ยังซื้อเพิ่ม จนขึ้นไป 17 บาท แล้วก็ลงมา 12 บาทซึ่งช่วงนั้นก็ยังมั่นใจนะซื้อหุ้นเพิ่มทุนเข้าไปอีกด้วย พอผ่านไปซักพักทีนี้ผลประกอบการมันผิดจากที่เราคาดไว้แม้ว่าผู้บริหารจะเป็นคนที่ทำงานเก่งแต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นมันก็เกินคาดการณ์ของผู้บริหารเหมือนกัน ให้โอกาสผู้บริหารไป 3 ไตรมาส แต่ก็ยังไม่ดีเลยตัดสินใจขายทิ้งไปที่สิบกว่าบาท แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าตัวนี้ผมขาดทุนหรือกำไรเพราะผมไม่รู้ว่าต้นทุนมันอยู่ที่ตรงไหน

มองให้ขาด
แนะนำให้นักลงทุนรุ่นใหม่ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้นแบบนี้จะต้องวิเคราะห์ธุรกิจให้เป็นว่าธุรกิจนี้มันดีหรือเปล่า เพราะการเล่นหุ้นมันไม่ใช่การวิเคราะห์หุ้นว่าจะขึ้นหรือลง แต่เป็นการดูว่าธุรกิจจะดีหรือไม่ อนาคตจะเป็นอย่างไร แล้วมูลค่าธุรกิจที่ขายอยู่ทุกวันนี้ถูกหรือแพง ถ้าเราเข้าใจมันดีพอก็จะรู้แนวโน้มมันได้ และถ้าเข้าใจลึกก็จะรู้ว่าธุรกิจนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ จากนั้นก็เอามูลค่ามาเทียบกับราคาในตลาด ถ้าถูกเราก็ซื้อ ถ้าแพงเราก็ขาย

หุ้นดี P/E ต้องสูง
ปกติแล้วธุรกิจที่ดีก็จะมี P/E ที่แพง ธุรกิจแย่ P/E ก็ควรจะต่ำ ซึ่งผมก็จะแบ่งหุ้นออกเป็น 5 เกรด ตามคุณภาพของบริษัท จากหุ้นเกรด A ไปจนถึงหุ้นเกรด F ซึ่งหุ้นเกรด A หรือ หุ้นสุดยอด จะเป็นบริษัทที่มีหนี้น้อยหรือไม่มี รายได้มั่นคงมากและโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ กำไรโตขึ้นในระดับ 20-30% ผู้บริหารเก่ง ขยัน ซื่อสัตย์ แนวโน้มธุรกิจดี มีอำนาจในการต่อรองสูง อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่แข่งขันกันเรื่องราคา ซึ่งมี P/E 12 เท่าขึ้นไป

หุ้นเกรด B หรือ หุ้นคุณภาพดี จะเป็นบริษัทที่มีหนี้น้อยหรือไม่มีเลย รายได้โตอย่างต่อเนื่อง กำไรในอนาคตคาดว่าจะโตในระดับ 15% ขึ้นไป โดยมี P/E ที่เหมาะสมประมาณ 9-12 เท่า ขณะที่หุ้นเกรด C หรือ หุ้นคุณภาพดีพอใช้ จะเป็นบริษัทที่มีหนี้ไม่มาก รายได้ไม่ผันผวน เติบโตอย่างสม่ำเสมอ กำไรในอนาคตเติบโตระดับ 5-15% ต่อปี โดยมี P/E ที่เหมาะสมประมาณ 6-9 เท่า

หุ้นเกรด D หรือ หุ้นที่มีคุณภาพกลางๆ จะเป็นบริษัทที่มีหนี้สินกลางๆ รายได้และกำไรไม่ค่อยเติบโต หรือเติบโตช้าไม่เกิน 5% ต่อปี โดยมี P/E ที่เหมาะสมประมาณ 5-6 เท่า และหุ้นเกรด F หรือหุ้นที่มีคุณภาพแย่ เป็นกิจการที่ขาดทุนหนี้สินมาก หรือกำไรไม่แน่นอน หรือผู้บริหารไว้ใจไม่ได้

สูตรคำนวณหุ้นแบบส่วนตัว

วิธีคิดง่ายๆ ก็อย่างเช่น PS ปีที่แล้วกำไรต่อหุ้น 1.10 บาท ส่วนผู้บริหารบอกว่าปีนี้จะโต 30% และอัตราการทำกำไรไม่ต่ำกว่าเดิม ดังนั้นผมก็จึงเอา 1.1x 1.3 ก็ได้ประมาณ 1.4 ซึ่งก็อาจจะเยอะไปหน่อยก็ให้ดิสเค้าท์ คิดว่าซัก 1.25 ก็แล้วกัน ซึ่งนี่คือกำไรต่อหุ้นสำหรับปีนี้ แล้วก็นำ PS มาเทียบความแข็งแกร่งกับคู่แข่งในวงการ ซึ่งในด้านคุณภาพก็ชนะทุกตัว ซึ่งคู่แข่งก็ P/E ประมาณ 10 เท่า ผมก็มาคิดลด P/E ด้วยว่าน่าจะ 8 เท่าละกัน แล้วนำ 1.25 x 8 ก็เท่ากับ 10 บาท ก็แค่นี้เองโดยสิ่งแรกที่ผมจะต้องทำก็คือตัดสินใจว่าจะเชื่อผู้บริหารได้หรือไม่ก่อนและค่อยคิดลดไปอีกซักหน่อย

กู้มาเล่นหุ้น
ที่เล่นมาร์จิ้นด้วยก็เพราะเล่นหุ้นแล้วได้ผลตอบแทนดี เลยคิดว่าถ้ากู้มาเล่นคงจะได้เยอะกว่านี้แน่เลย สำหรับครั้งแรกที่กู้มาเล่นดอกเบี้ยถูกมาก แค่ 4.5% เท่านั้นเอง ส่วนตอนนี้ก็ 5.5% แต่ก็ต้องเอาหุ้นมาวางเป็นหลักประกัน ซึ่งถ้าหุ้นลงก็จะทำให้สินทรัพย์ค้ำประกันมูลค่าต่ำลงก็จะทำให้ความเสี่ยงจากการถูกฟอซเซลจะเยอะขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องขายหุ้นบางส่วนออกไปต่อให้เรารู้ว่ามันถูกก็ตามเถอะ ก็ต้องยอมขายทิ้งเพราะต้องลดหนี้ ตรงข้ามกับหลักการที่ว่าหุ้นยิ่งถูกยิ่งต้องซื้อแต่นี่ยิ่งถูกเรากลับยิ่งขาย ซึ่งเป็นเหตุให้ปีที่แล้วผมขาดทุนเละก็เพราะมาร์จิ้นนี่แหละ ถ้าหากไม่ใช้มาร์จิ้นเลยพอร์ตผมจะลบเพียงแค่ 33% เท่านั้นเอง แต่เพราะมาร์จิ้นเลยทำให้ติดลบถึง 55 % การจะเล่นมาร์จิ้นต่อให้หุ้นถูกก็ตาม ถึงผมเชื่อว่าหุ้นจะเข้าใกล้มูลค่าเหมาะสมในระยะยาว แต่ในระยะสั้นมันอาจจะลงก็ได้ และมาลงมาเรื่อยๆจนกระทั่งถึงจุดที่เราเจ็บก็แย่แล้ว

ซื้อกองทุนอสังหาฯ ความเสี่ยงต่ำ

ตั้งแต่ต้นปีก็เลยทำให้ผมเข็ดไม่อยากใช้มาร์จิ้นอีกแต่มาเห็นหุ้นมันถูกมากเลยต้องใช้ แต่ผมก็เลยเลือกใช้ในการซื้อกองทุนรวมอสังหาฯ แทนโดยผมจะดูที่เงินปันผล อย่างเช่น 15% ถ้าผมกู้มา5% ผมก็กำไร 10%แล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดจะถือยาวถึง 30 ปี แค่ปีสองปีก็พอ หลักการดูพื้นฐานก็เหมือนหุ้นเลย อย่างกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุยเขาก็มีการันตีจ่าย 60 สตางค์/ปี ซึ่งถ้าเทียบกับราคา 4 บาทที่เคยลงไป ก็หมายความว่าปันผล 15%แล้ว ยังไม่รวมกับราคาหน่วยลงทุนที่สามารถสูงขึ้นได้อีกดังนั้นมันจึงมีความเสี่ยงน้อยมากผมจึงกล้ากู้มาเล่น แต่ก็ต้องเลือกเหมือนกัน เพราะบางกองอสังหาฯ ก็แย่เหมือนกัน

6 ปี 27 เด้ง

ผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มเล่นหุ้นวันแรกจนถึงปัจจุบันพอร์ตของผมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 27 เท่าแล้ว ผมลงทุนหุ้น 100% ไม่ว่าหุ้นเล็กหุ้นใหญ่หุ้นตลาดเอ็มเอไอเล่นหมด ส่วนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ผมไม่ได้ลงทุนอะไรเลย ส่วนหุ้นไอพีโอผมก็ไม่เล่นด้วยเพราะ หุ้นที่ดีราคาไม่แพงมันก็มักจะไม่มาถึงเรา ส่วนที่มาถึงเรามันก็เป็นหุ้นอะไรก็ไม่รู้ เพราะปกติที่ปรึกษาทางการเงินเขาต้องตั้งราคาให้หุ้นไอพีโอแพงที่สุดแต่ต้องขายได้เพราะฉะนั้นมูลค่าหุ้นไอพีโอจึงไม่ค่อยถูกกว่าที่ควรจะเป็นซักเท่าไหร่

พร้อมโกอินเตอร์

การติดตามข่าวก็เป็นการดูทีวีขณะที่หนังสือพิมพ์ก็จะใช้เวลาอ่านตอนเย็นซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นโพสต์ทูเดย์ กับ ทันหุ้น ส่วนบลูมเบิร์กหรือซีเอ็มบีซีก็ไม่เคยดูเลย แต่ต่อไปอาจจะต้องดูแล้วเพราะเพื่อนๆ เขาชวนไปเปิดพอร์ตซื้อขายต่างประเทศไว้ รวมถึงต้องดูพวกอัตราแลกเปลี่ยนด้วย แต่ตอนนี้ก็แค่เปิดไว้เฉยๆ ก่อนยังไม่ได้เล่นหรอกเพราะกว่าจะเปิดพอร์ตได้ก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในบรรดาก๊วนของผมที่สนิทมากๆ มีซักประมาณ 10 คน ก็เป็นรุ่นเด็กเสียส่วนมาก มีการบอกกันว่าหุ้นตัวไหนดี มีการพุดคุยและแนะนำกันให้ไปศึกษาต่อ ก็แล้วแต่ต่างคนต่างไปคิด แต่บางทีคิดเหมือนกันก็มี เป็นการแลกไอเดียหรืออัพเดทช่วยกันมากกว่า

ผลตอบแทน 40% จิ๊บๆ
สำหรับชีวิตของนักลงทุนมันก็สบายเหมือนกัน ผมเลยตั้งใจว่าเวลาที่สว่างก็จะใช้เวลาทำกิจกรรมที่มีสาระก็มีอ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุน และธุรกิจระดับโลกอย่าง โตโยต้า กูเกิ้ล อีเบย์ ฯลฯ รวมถึงมาตลาดหลักทรัพย์เพื่อฟัง Opportunity day ส่วนนิยายอย่างแฮรี่พอร์ตเตอร์ ผมก็จะอ่านช่วงกลางคืนแทน ส่วนเป้าหมายในการลงทุนก็จะไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดครับเพราะก็ยังสนุกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าถึง 100 ล้านแล้วก็หยุด มันเหมือนแข่งกันเล่นเกมกับเพื่อน อย่างปีนี้ก็คุยกันว่าได้มากี่เปอร์เซ็นแล้ว…..40% เองหรอ จิ๊บๆ (หัวเราะ)

“สันติ สิงหวังชา” บอกว่าการลงทุนคืออาชีพที่ชอบ แต่ก็ต้องมีวินัยให้มากกับตัวเอง และพยายามใฝ่หาความรู้ใส่ตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งสำคัญสิ่งแรกก่อนตัดสินใจลงทุน คือการมองแนวโน้มธุรกิจ ต้องมองให้ขาดว่าจะเป็นไปในลักษณะใด จากนั้นก็ไปคัดเลือกหุ้นที่ดีที่สุด โดยหลักที่ให้น้ำหนักความสำคัญคือการวิเคราะห์จากงบการเงินเพื่อตัดสินใจลงทุนในที่สุด และอย่าลืมเกาะติดการเคลื่อนไหวในทุกระยะ และหากเป็นไปได้ต้องหาโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารเพื่อพิจารณาถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารกิจการด้วยเพื่อจะได้ผิดพลาดน้อยที่สุด

จาก Investor Station ฉบับที่ 137-145 ประจำวันที่ 1-11 มิถุนายน 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.