แมงเม่า : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

“พี่ๆ ถ้าต้องการซื้อหุ้นถือ 1 ปี  ซื้อตอนนี้ทันมั้ย ตัวไหนดีคะ ตอนนี้ยังขาดทุนจากหวัดนกอยู่ 20% มีความรู้สึกว่ากลัวตลาดหุ้นมากๆเลยค่ะ แต่ก็อยากได้ส่วนที่ขาดทุนไปคืน พี่ๆช่วยหน่อยนะคะ ว่าถ้าซื้อหุ้นตอนนี้ จะราคาสูงไปมั้ย ถ้าต้องการซื้อแล้วถือ 6 เดือนถึง 1 ปี แล้วขอ 20% คืนจะเป็นไปได้มั้ยคะ หรือว่ามีวิธีอื่นมั้ย ตอนนี้หนูขอแค่ส่วนนี้คืนเท่านั้น แล้วหนูจะเลิกเล่นหุ้นไปเลย จะเป็นไปได้มั้ยคะ

ตอนนี้ขาดทุนไปแล้วหลายแสนบาทควรจะทำยังไง เล่นหุ้นลักษณะไหนดีและหุ้นตัวไหนที่ถือแล้วสามารถมั่นใจได้ ไม่ต้องดูกระดานไปเลย 6 เดือนถึง 1 ปี แม้ SET จะขึ้นจะลงก็ไม่ต้องกังวลหวั่นไหว จะมีหุ้นแบบนี้มั้ยคะ

ความคิดของหนูแบบนี้จะเป็นไปได้มั้ย เพราะตอนนี้ชีวิตอยู่ไม่เป็นสุขเลย กังวล กลัว หวั่นไหว ฯลฯ ต้องคอยจ้องคอมฯเรียลไทม์ตลอดเวลาเลย แล้วอนาคตก็คงประสาทกินแน่ๆ ทนไม่ไหวแล้วค่ะกับชีวิตแบบนี้ พี่ๆช่วยคิดหน่อยนะคะ หนูอยากกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุข อย่าว่านะคะ ถ้าหนูคิดอะไรไม่ถูกต้อง แนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้หนูนะคะ”

ข้อความข้างต้นนั้นถูกตั้งเป็นกระทู้อยู่ในเวปไซต์เกี่ยวกับการลงทุนแห่งหนึ่ง ซึ่งผมอ่านแล้วก็รู้สึกเห็นใจ ขณะเดียวกันก็คิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนหน้าใหม่รายนี้ ก็คงจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนหน้าใหม่จำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ที่แห่กันเข้ามาลงทุนในช่วงที่ราคาหุ้นวิ่งเป็นกระทิงเปลี่ยวในช่วงปลายปีก่อน แล้วก็ประสบกับการขาดทุนเมื่อหุ้นเกิดการปรับตัวลงมา

ลักษณะของนักลงทุนหน้าใหม่ที่มักเข้าตลาดหุ้นในยามที่หุ้นกำลังบูมสุดๆนั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่จะคล้ายๆกัน ดังต่อไปนี้

ประการแรก ก็คือ พวกเขาเข้ามาลงทุนหรือเล่นหุ้นเพราะคิดว่าหุ้นสามารถทำกำไรให้เขาได้ง่ายและเร็ว เนื่องจากเขาเห็นดัชนีตลาดวิ่งขึ้นไปทุกวัน สื่อมวลชนทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ เต็มไปด้วยรายการหุ้นและผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ความเห็นชี้แนะว่า หุ้นยังจะดีต่อไป

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เขาเห็นและได้ฟังจากเพื่อนที่ “ประสบความสำเร็จ” ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับเขาว่าการเล่นหุ้นไม่ใช่เรื่องยาก โอกาสขาดทุนมีเหมือนกัน แต่โอกาสกำไรมหาศาลในระดับ 10 – 20% ต่อเดือนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้สูง เพราะฉะนั้นการกันเงินบางส่วนมาเล่นหุ้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่มีเหตุผลในยามที่หุ้น “กำลังบูม” ขณะที่เงินฝากธนาคารให้ผลตอบแทนเพียง 1% ต่อปี

ประการที่สอง ก็คือ นักลงทุนหน้าใหม่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น และก็มักจะไม่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนก่อนที่จะเข้าตลาด เหตุผลอาจจะเป็นเพราะเขารู้สึกว่า การศึกษาและวิเคราะห์หุ้นนั้นยากเกินความรู้และความสามารถของเขา

แต่เหตุผลที่น่าจะสำคัญกว่าก็คือ เขาสามารถถามเพื่อนหรือติดตามจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ได้ ลึกๆแล้วเขาคิดว่า การลงทุนแบบวิเคราะห์เจาะลึกและเข้าใจพื้นฐานของกิจการเป็นเรื่องของนักลงทุนระยะยาวที่หวังเงินปันผลซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ

ลักษณะที่สามของนักลงทุนกลุ่มนี้ ก็คือ พวกเขาต้องการเล่นหุ้นทำกำไรในระยะสั้นๆ แบบวันต่อวันหรือเดือนต่อเดือน ต้องเห็นตัวเลขเป็นเม็ดเงินซึ่งสามารถเอาไปใช้จ่ายหรือเอาไปเล่นหุ้นต่อได้ ความคิดที่จะซื้อหุ้นแล้วถือไว้เพื่อรอให้หุ้นเติบโตไปเรื่อยๆ ตามผลประกอบการของบริษัทดูเหมือนจะช้าเกินไป

เขาต้องการซื้อหุ้นในราคาต่ำแล้วขายในราคาที่สูงขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆ แต่ถ้าหุ้นที่ซื้อกลับตกลงมา เขาก็มักจะกลัวและจะรีบขายออกไปเช่นกัน

ลักษณะที่สี่ที่มักจะเกิดขึ้น ก็คือ เมื่อสามารถทำกำไรได้รวดเร็ว พวกเขาก็มักจะดีใจและคิดว่าตนเองมีความสามารถในการลงทุนหรือซื้อขายหุ้น แต่เมื่อเกิดการขาดทุนอย่าง “ไม่คาดคิด” ก็จะโศกเศร้ากังวลใจเสียดายและอยากจะได้เงินคืน โดยอาจจะตั้งใจว่าจะเลิกเล่นหุ้นเมื่อได้เงินคืนมาแล้ว แต่ถ้าได้เงินคืนมาจริงเขาก็มักจะเล่นต่อไปตราบเท่าที่ตลาดหุ้นยังคึกคัก และหุ้นยังวิ่งขึ้นลงแรงอย่างรวดเร็ว

โอกาสที่นักลงทุนกลุ่มนี้จะเลิกเล่นหุ้นจริงๆ ก็คือ เมื่อดัชนีตลาดตกต่ำลงต่อเนื่องยาวนาน และคนหมดหวังกับตลาดหุ้น ซึ่งก็มักจะเป็นเวลาที่คนกลุ่มนี้ขาดทุนอย่างหนักและ “เข็ด” กับตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าในกรณีใด ในระยะยาวแล้วคนกลุ่มนี้ก็มักจะขาดทุน

พฤติกรรมของนักลงทุนที่เข้ามาเล่นหุ้นในตลาดในช่วงที่หุ้นได้ให้ผลตอบแทนสูงมาก โดยหวังว่าจะทำกำไรได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว และมีความคาดหวังที่สูงเกินความเป็นจริง ขณะที่ลืมคิดถึงความเสี่ยงนี้ ในที่สุดก็มักจะลงเอยด้วยความเสียหาย และผมคงไม่ต้องบอกว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า “แมงเม่า” ที่ถูกดึงดูดด้วยผลตอบแทนที่ “คาด” ว่าจะสูงลิ่ว แต่กลับพบกับกองไฟ

น้องที่ต้องการแก้ตัวโดยพยายามที่จะเปลี่ยนเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อขอเงิน 20% คืนนั้น ผมดูแล้วก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะการหวังเอาคืนด้วยวิธีการลงทุน “ระยะยาว” โดยไม่ได้ศึกษาเรื่องการลงทุนอย่างรอบคอบ สุดท้ายอาจจะไม่ต่างกับวิธีการลงทุนระยะสั้นก็ได้

ทางที่ดีก็คือต้องคิดว่า เงินที่เสียไปคือค่าเรียนของการลงทุนในตลาดหุ้น แม้ว่าบทเรียนนี้จะแพงเป็นแสนๆบาท สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่อื่นๆ คำแนะนำของผมก็คือ การลงทุนในช่วงแรกนั้นอย่าลงทุนมาก และต้องคิดว่าเงินก้อนนั้นถ้าต้องเสียไปสักครึ่งหนึ่งก็ไม่ทำให้เรารู้สึกเสียใจมากมายจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

แมงเม่า

โลกในมุมมอง Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Author: admin

2 thoughts on “แมงเม่า : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.