ท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก จีนกลายเป็นหนึ่งเดียวที่แทบไม่ได้รับผลกระทบทั้งยังทำท่าจะเติบโตต่อไป จู่ๆเศรษฐกิจระบบตลาดที่ควบคุมโดยรัฐแบบจีนก็กลับกลายเป็นเรื่องฉลาดสุดๆ
จีนเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงชาติเดียวในโลกที่ถูกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ (2009) ทั้งๆที่จีนเป็นชาติเดียวที่แหกกฎทุกกฎที่มีอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์อยู่เป็นประจำ
จีนไม่เคยมีตลาดเสรีที่แท้จริง เป็นประเทศที่รัฐบาลแต่งตัวเลขสถิติ ควบคุมตลาดหุ้น ตรึงราคาสินค้าในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ และยังเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมสำคัญๆหลายอย่างของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ยึดตำแหน่งสำคัญๆในธนาคารเอาไว้ให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังสามารถสั่งธนาคารได้ว่า ควรจะปล่อยกู้ให้ใครและควรจะลงทุนในเรื่องอะไร
ความจริงแล้ว สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของจีนไม่ชะลอตัวลงอย่างฮวบฮาบ เหมือนกับชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆอีก 5 ชาติ ก็คือ ความสามารถที่เคยถูกนักเศรษฐศาสตร์เยาะเย้ยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในสภาพปกติว่า เป็นการยุ่มย่ามของภาครัฐนั่นเอง ได้แก่ การจำกัดการลงทุนจากต่างชาติในภาคการธนาคาร และการไม่ยอมอ้าแขนรับนวัตกรรมทางการเงินแปลกๆ ซึ่งได้กลายมาเป็นสาเหตุหลักของวิกฤติสินเชื่อโลกในครั้งนี้
ทำไมระบบทุนนิยมแบบเผด็จการของจีนจึงใช้ได้ผล? คำถามนี้คาใจนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายมานมนานแล้ว นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปมักจะมองภาครัฐว่า โง่เง่าและสิ้นหวัง และมองตลาดว่าฉลาดโดยธรรมชาติ แต่มาบัดนี้ เมื่อทั้งสหรัฐฯ และ ยุโรป ต่างเริ่มเข้าไปควบคุมตลาดมากขึ้น ด้วยการเข้ายึดอุตสาหกรรมการธนาคารและรถยนต์ และยังตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ๆที่หนักหน่วงต่ออุตสาหกรรมการเงิน ทำให้คำถามข้างต้นยิ่งต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วน
เหตุใดจีนซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดและมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ยุ่งเหยิงที่สุด จึงดูเหมือนจะกลายเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีความพร้อมมากที่สุด ในการจะฝ่าคลื่นลมมรสุมเศรษฐกิจขาลงทั่วโลก ที่อาจจะนับเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 7 ทศวรรษ
ในยามวิกฤติเช่นนี้ ข้าราชการจีนสามารถจะเลือกหยิบเครื่องมือทางการตลาดมาใช้ได้เช่นเดียวกับชาติตะวันตกอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถนำเครื่องมือจากระบบทุนนิยมแบบออกคำสั่งของตนมาใช้ได้อีกด้วย
ช่วงต้นปีที่แล้ว เมื่อตลาดที่อยู่อาศัยของจีนร้อนแรงเกินไป รัฐบาลจีนก็เพียงแต่ออกคำสั่งให้ธนาคารต่างๆลดการปล่อยกู้ด้านที่อยู่อาศัย หลังจากนั้น เมื่อยอดขายบ้านเริ่มตกต่ำ รัฐบาลจีนก็เพียงแต่เสนอสิ่งจูงใจให้แก่ตลาด อย่างเช่น ลดภาษีในการซื้อบ้าน เดือนที่แล้ว จีนเพิ่งประกาศใช้มาตรการกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งไม่ต่างไปจากมาตรการกอบกู้เศรษฐกิจของชาติตะวันตก อันได้แก่มาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐมหาศาลถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน จีนก็ออกคำสั่งที่อาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมในสายตาของตะวันตก เช่น การสั่งให้อุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ อย่างเช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้าและการก่อสร้าง ให้เพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจด้วยการกว้านซื้อสินทรัพย์ใหม่ๆ ทั้งในและนอกจีน
การแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นนิสัยที่ไม่ดีของเศรษฐกิจที่ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะ แต่มาบัดนี้กลับถูกมองว่าเป็นป้อมปราการที่สามารถปกป้องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ นักเศรษฐศาสตร์จาก CLSA ถึง กับแสดงความมั่นใจในอนาคตของจีน เมื่อเห็นรัฐบาลจีนยื่นมือเข้าไปควบคุมภาคธุรกิจที่เน้นการลงทุนสูง เพราะว่ารัฐบาลจีนสามารถจะสั่งซ้ายหันขวาหันบริษัทเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะสั่งให้อย่าหยุดการใช้จ่าย อย่าเลื่อนแผนการลงทุน เป็นต้น
แม้ว่าตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดหลายแห่ง ของจีนและตลาดหุ้นของจีนเองจะตกต่ำลง แต่เศรษฐกิจจีนดูจะทำท่าว่าจะเติบโตมากกว่า 7% ในปีนี้ (2009) แม้จะลดลงจากที่เคยเติบโตเป็นตัวเลขถึง 2 หลัก แต่ก็ยังมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก อัตราการกู้ยืมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารของรัฐยังคงปล่อยสินเชื่อ ในประเทศ ซึ่งการลงทุนเป็น “กระดูกสันหลังของการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีสัดส่วนถึง 40% ของ GDP อย่างจีนนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จีนได้ใช้การเพิ่มการลงทุน เป็นวิธีต่อสู้กับภัยคุกคามร้ายแรงต่างๆ ซึ่งกำลังคุกคามการเติบโตของจีน ผู้บริหาร Morgan Stanley Asia ชี้ว่า สิ่งที่กำลังประจักษ์แก่สายตาเราคือ ในห้วงเวลาที่เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจนี้ ระบบสั่งการและควบคุมของจีนกลับใช้ได้ผลมากยิ่งกว่าระบบอื่นๆ ที่อิงตลาดเป็นพื้นฐาน
เมื่อ เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำสูงสุดของจีนผู้ล่วงลับและเป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน กล่าวคำพูดอันเป็นอมตะว่า “แมวจะมีสีขาวหรือสีดำก็ไม่สำคัญ ตราบใดที่มันยังจับหนูได้” นั้น เขาได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือกว่าอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว มาถึงวันนี้ บรรดาผู้นำจีนต่างอ้างคำของเติ้ง ในการปกป้องคำสัญญาพื้นฐานที่เติ้งได้ให้ไว้แก่ประชาชนชาวจีน นั่นคือ ทุนนิยมเผด็จการจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโต ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะรักษาอำนาจทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จเอาไว้ต่อไป
ขณะนี้บรรดาผู้นำของจีนต่างยืนยันว่า หากจีนเป็นประเทศประชาธิปไตย ก็คงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในยามที่เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างนี้ Fang Xinghai ผู้อำนวยการสำนักบริการการเงินเซี่ยงไฮ้ ข้าราชการระดับสูงของจีนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ยืนยันว่า จีนไม่พร้อมที่จะเป็นระบบตลาดเสรีประชาธิปไตย พร้อมกับชี้ให้เห็นความเป็นอัจฉริยะของเติ้ง ซึ่งเห็นได้จากเมื่อเขาเริ่มนำจีนเข้าสู่เส้นทางของเศรษฐกิจระบบตลาดเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น เขารู้ดีว่าจีนต้องการ ระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ เพื่อที่จะสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นผลมาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ไม่ว่าระบบของจีนจะเป็นอย่างไร แต่มันก็เหมาะสมกับจีนที่สุด
สาเหตุที่ระบบของจีนใช้ได้ผล เป็นเพราะระบบของจีนเน้นการปฏิบัติได้เป็นสำคัญ และเน้นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆทว่ามั่นคง ไปสู่ระบบตลาดที่เสรีขึ้น เติ้งเรียกการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ว่าเป็นการ “เดินลุยข้ามแม่น้ำอย่างรู้สึกได้ถึงหินทุกก้อน” (ที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า) รัฐบาลจีนยังคงปกครองจีนด้วยมือที่มั่นคงและเข้มแข็ง แต่ขณะเดียวกันก็ค่อยๆปลดปล่อยให้เกิดภาคเอกชนขึ้น
มาถึงขณะนี้ ภาคเอกชนของจีนครอบครองอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจจีน หรือมากถึง 70% ของเศรษฐกิจจีน หากจะนับรวมบรรดารัฐวิสาหกิจของจีนเข้าไปด้วย ซึ่งถึงแม้จะมีรัฐเป็นเจ้าของ แต่บรรดารัฐวิสาหกิจของจีนก็ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้เหมือนเป็นบริษัทเอกชน สัดส่วนของภาคเอกชนในเศรษฐกิจของจีนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากเพียง 17% เท่านั้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ขณะนี้ 60% ของการเติบโตของ GDP ของจีนและ 2 ใน 3 ของการสร้างงานใหม่ล้วนมาจากภาคเอกชน
ในปี 1995 จีนเริ่มปฏิวัติรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ ด้วยการลอยแพคนงานภาครัฐถึง 46 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเท่ากับแรงงานทั้งประเทศฝรั่งเศสหรืออิตาลีเลยทีเดียว โดยใช้เวลานานถึง 6 ปี จีนยังใช้เวลาอีกหลายปีหลังจากนั้น ในการลดขนาดรัฐวิสาหกิจ และทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถสร้างผลกำไรแบบพุ่งกระฉูดถึง 38% ในระหว่างปี 2004-2005 และภาคเอกชนของจีนก็ได้รับอนุญาตให้มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นักเศรษฐศาสตร์จาก CLSA เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่น ทว่าทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้ระยะเวลานาน
ในช่วงเวลานั้นมีการแปลหนังสือเกี่ยวกับรัสเซียที่เปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ทุนนิยมอย่างมากมายในจีน เหนืออื่นใด จีนต้องการจะหลีกเลี่ยงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในรัสเซีย ภายหลังจากที่รัสเซียปฏิรูปตัวเองอย่างถอนรากถอนโคนในช่วงต้นทศวรรษ 90 ได้ก่อให้เกิดคณาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ฉ้อฉล โดยได้รับการหนุนหลังจากทางการรัสเซีย ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ตามหลอกหลอนรัสเซียจนถึงวันนี้
การปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมืองอย่างรุนแรง กลายเป็นข่าวใหญ่ที่บดบังความหาญกล้าของจีนในการเสี่ยงที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจไปเสียสิ้นอย่างน่าเสียดาย จีนได้ตัดสินใจลองเปิดรับการลงทุนจากชาติตะวันตกนับตั้งแต่ช่วงต้นๆของการเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเร็วกว่าทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ คือตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 80 ซึ่งเป็นเวลาที่รายได้เฉลี่ยต่อปีของจีนอยู่ที่เพียง 760 หยวน หรือประมาณ 500 ดอลลาร์เท่านั้น เป็นเพราะเติ้งตระหนักดีว่า การค้ากับโลกเท่านั้นที่จะสามารถฉุดดึงจีนให้ขึ้นมาจากความยากจนได้ เติ้งยังปลดปล่อยชาวนาให้สามารถเข้าไปหางานทำในเมืองได้ ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงอย่างยิ่ง สำหรับประเทศซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการลุกฮือของกบฏชาวนา
แม้กระทั่งหลังจากการปราบปรามผู้ประท้วงเทียนอันเหมินอย่างนองเลือดในปี 1989 เติ้งก็ยังคงผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อ ในช่วงที่เอเชียเกิดวิกฤติการเงินครั้งล่าสุดเมื่อกว่า 10 ปีก่อนนั้น จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก และสัญญาจะเปิดตลาดภายในประเทศให้มากขึ้น ในเวลาเดียวกันนั้น รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้คนงานที่ถูกปลดออกจากงานสามารถเริ่มต้นธุรกิจและซื้อที่อยู่อาศัยของรัฐได้ กลายเป็นการวางรากฐานของการสร้างสังคมที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ ภายในชั่วเวลาเพียงข้ามคืน และยังเป็นการสร้างฐานสำหรับรองรับสังคมชนชั้นกลางในอนาคต อีกด้วย นักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “การถ่ายโอนความมั่งคั่งครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก”
มาในวันนี้ เมื่อวิกฤติที่เลวร้ายยิ่งกว่ากำลังเกิดขึ้น จีนก็ยังคงผลักดันการปฏิรูประบบตลาดในภาคธุรกิจสำคัญๆ แม้จะยังคงควบคุมภาคธุรกิจอื่นๆไว้ต่อไป ธนาคารเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะต้องปฏิรูป Fang ผู้อำนวยการสำนักบริการการเงินเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า ตลาดทุนของจีนยังคงมีสินเชื่อจากธนาคารเป็นผลิตภัณฑ์หลัก และจีนยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินน้อยเกินไป และต้องการดึงดูดนักลงทุนสถาบันให้เข้าสู่ตลาดของจีนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จีนจึงกำลังสนใจหลักทรัพย์ชนิดใหม่ๆที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไปกว่าหุ้น เช่น กองทุนดัชนีหุ้น หุ้นกู้และตราสารหนี้อื่นๆ แม้กระทั่ง option และตลาดล่วงหน้า แต่เป็นชนิดง่ายๆ เช่น ตลาดน้ำมันล่วงหน้า และจีนไม่สนใจตราสารอนุพันธ์ที่ซับซ้อนเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดตะวันตกล่มสลายอยู่ในขณะนี้
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ในขณะที่กำลังเกิดวิกฤติสินเชื่ออยู่นี้ แต่ผู้นำจีนยังสามารถเข้าใจได้ว่า หลักทรัพย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นสามารถจะนำมาใช้สร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดได้ ซึ่งสะท้อนว่าจีนรู้จักคิดในเชิงกลยุทธ์ และยังมีทักษะสูงมากในการเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น
เมื่อถามว่า ชอบอะไรมากที่สุดในธนาคารของชาติตะวันตก Jiang Jianqing ประธานธนาคาร ICBC ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลจีนตอบทันทีว่า นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์การเงิน “สหรัฐฯดูจะหลงใหลในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆอย่างไม่มีวันหมดสิ้น ส่วนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นตอนนี้ อาจเป็นเพียงปัญหาการควบคุมดูแลที่ไม่ดีพอ แต่นวัตกรรมใหม่ๆด้านการเงินเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่ง ในการผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป” Jiang กล่าว
สิ่งที่แสดงว่าจีนมองการณ์ไกลยิ่งกว่านั้นอีก คือโครงการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งทำให้ชาวนาจีนสามารถจะเช่าหรือให้เช่าที่ดินของตนแก่คนนอกได้ (รวมทั้งบริษัทต่างชาติ) เพียงแค่การจัดสรรที่ดินให้แก่ชาวนาแต่ละคน ก็เป็นงานใหญ่ขนาดงานช้างแล้วสำหรับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ดังนั้น โครงการปฏิรูปที่ดินของจีนนี้คงจะต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ แต่ความคิดนี้ก็ได้สร้างความตื่นเต้นไปเรียบร้อยแล้ว ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Jones Lang LaSalle (JLL) บริษัทที่ปรึกษา อสังหาริมทรัพย์ประเมินว่า การปฏิรูปที่ดินในจีน จะปลดล็อกที่ดินในชนบทได้เป็นมูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ และโครงการปฏิรูปที่ดินนี้จะเป็นสิ่งที่ Hu Jintao ผู้นำจีนทิ้งไว้เป็นมรดกตลอดไป การเปลี่ยนชาวนาให้กลายเป็นผู้บริโภคที่มีที่ดินในครอบครอง อาจนำไปสู่การสร้างสังคมบริโภคในระยะยาว และช่วยให้จีนลดการพึ่งพาการส่งออก และช่วยปรับสมดุลให้แก่เศรษฐกิจโลก
เมื่อใดที่ผู้นำจีนส่งสัญญาณเปลี่ยนทิศทางใหม่ พวกเขาจะไม่มีการวอกแวก ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการต่อสู้ทางการเมืองของจีน จากการที่ถูกสหรัฐฯกล่าวหาว่า จีนจงใจกดค่าเงินหยวนให้ต่ำเพื่อส่งเสริมการส่งออก ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ละเลยความจริงที่ว่า ค่าเงินหยวนของจีนค่อยๆแข็งค่าขึ้นทั้งหมด 21.5% แล้วระหว่างปี 2005-2008 เมื่อค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงไม่กี่เดือนก่อน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า จีนจะยังคงปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นอีกต่อไป และปรับสมดุลระหว่างความต้องการแข่งขันได้ในการส่งออกกับความต้องการของโลก ที่อยากเห็นการค้าที่สมดุล
ความสมดุลระหว่างตลาดเสรีกับตลาดแบบมีการควบคุมในจีน ยังเห็นได้จากการที่จีนตรึงราคาสินค้าและให้รัฐเข้าควบคุม ภาคธุรกิจสำคัญๆอย่าง การเงิน โทรคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมให้มีการแปรรูปบางส่วน
อย่างในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมเปิดกว้างสำหรับชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดเงินทุนและความชำนาญจากต่างชาติเข้ามาในจีน ซึ่งในที่สุด ก็จะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อไปยังบริษัทของจีน เหมือนอย่างที่ทำให้ Huawei ของจีนกลายเป็นบริษัทที่แข่งขันได้ในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้า ภาคบริการที่สร้างผลกำไรมากกว่ายังคงอยู่ในมือของทางการจีน ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาค่าโทรศัพท์มือถือ
จีนได้เริ่มลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง เป้าหมายคือเพื่อทำให้ระดับราคาเชื้อเพลิงจีนใกล้เคียงกับราคาในตลาดโลกมากขึ้น แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะใช้เวลาถึง 15 ปี โดยมีเป้าหมายในการทำให้สัดส่วนของราคาผู้บริโภคทั้งหมดที่รัฐตรึงอยู่ลดลงจาก 95% เหลือเพียง 5% ภายใน 15 ปี
การค่อยๆลดเงินอุดหนุนดังกล่าว เป็นแผนการที่จีนวางไว้อย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพุ่งกระฉูดของเงินเฟ้อถึง 1,000% อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับรัสเซียในช่วงระหว่างปี 1991-1992 หลังจากที่รัสเซียเริ่มผ่อนคลายการตรึงราคา นักวิชาการจาก Brooking Institute ชี้ว่า จีนไม่ต้องการวิธีการแบบ shock therapy เพราะได้เห็นกันแล้วว่า ผลที่ได้มักมีแต่ความตื่นตระหนกและความวุ่นวาย หรือ shock เท่านั้น แต่แทบจะมองไม่เห็นผลดีเลย
การที่ผู้นำจีนเชื่อมั่นในตัวเองว่าสามารถที่จะปั้นตลาดได้ อาจจะมาจากภูมิหลังของผู้นำจีนแต่ละคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิศวกร และจะต้องมีการวางแผนการทำงานเสมอ เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน 8 ใน 9 คนล้วนเป็นวิศวกร
ความเป็นนักปฏิบัติโดยอาชีพของบรรดาผู้นำจีนนี้ อาจช่วยอธิบายด้วยว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่ยอมเสี่ยงกับนวัตกรรมทางการเงินของตะวันตก ในการประชุมทางธุรกิจของจีนที่เมือง Barcelona ในสเปน Su Kuangdi รองประธานคณะที่ปรึกษารัฐสภาจีน และประธานวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ของจีน กล่าวเยาะเย้ยผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ขายกันตลอดทศวรรษที่แล้วโดยสถาบันการเงินของตะวันตก ว่า สถาบันการเงินตะวันตกนับว่าได้ปริญญาเอก ด้านฟิสิกส์ ที่สามารถเล่นแร่แปรธาตุประดิษฐ์เครื่องมือการเงิน ที่แม้แต่สถาบันการเงินเองก็ไม่เข้าใจหรือควบคุมไม่ได้ ส่วนนักลงทุนในชาติตะวันตกก็ชอบฟังนิทานหลอกเด็กที่ว่า เครื่องมือเหล่านั้นดีกว่าการผลิตสินค้าจริงๆมากมายเพียงใด แต่หารู้ตัวไม่ว่าพวกเขาต่างกำลังฝันเฟื่อง
ระบบสั่งการและควบคุมที่ดำเนินการโดยเทคโนแครตที่เก่งกาจของจีน ทำให้จีนสามารถทำงานต่างๆสำเร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว David Murphy หัวหน้าฝ่ายวิจัย China Reality ของ CLSA กล่าวในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนว่า รู้สึกทึ่งกับความสามารถของรัฐบาลจีนที่สามารถทำงานได้อย่างสอดคล้องประสานกันและระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังคนและทรัพยากรเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ ตรงข้ามกับรัสเซีย ที่ความเป็นเผด็จการกลับก่อให้เกิดสภาพที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทำให้ทั้งนักลงทุนและเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ของรัสเซีย ต่างไม่เคยคาดคิดคำนวณว่าอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้และต่อไป
จีนยังมีระบบการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีระเบียบและมีประสิทธิภาพสูง ทูต Wu Jianmin ของจีนยังจำได้ดีถึงการพบปะครั้งหนึ่งกับรองนายกเทศมนตรีเมือง Wuxi ผู้ซึ่งสามารถเปรียบเทียบรายละเอียดของสภาพเศรษฐกิจในเมืองของเขา กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 70 ได้ รองนายกเทศมนตรีผู้นั้นวิตกว่า เหตุใดธุรกิจภาคบริการในเมืองของเขา จึงไม่สามารถเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อดูจากการเติบโตของ รายได้ต่อหัว (หลังจากนั้นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองดังกล่าวก็ถูกส่งไปสหรัฐฯ เพื่อไปเสาะแสวงหาคนเก่งด้านภาคบริการ)
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนที่ไม่สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานประสิทธิภาพของจีน จะต้องรับผิดชอบกับความผิดพลาดและถูกปลดจากตำแหน่ง ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ชาติกำลังพัฒนาโดยทั่วไปไม่ค่อยจะกล้าทำ เรื่องอื้อฉาวนมปนเปื้อนเมลามีนซึ่งทำให้เด็กจีนเสียชีวิตอย่างน้อย 6 คนและอีก 3 แสนคนล้มป่วยเพราะดื่มนมปนเปื้อนดังกล่าว ทำให้จีนสั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 6 คน รวมถึงนายกเทศมนตรี และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองอันเป็นที่ตั้งของ Sanlu บริษัทผู้ผลิตนมที่มีปัญหานั้น แม้แต่ผู้ตรวจสอบสูงสุดความปลอดภัยด้านอาหารของจีนก็ต้องลาออก และประธานบริษัท Sanlu ซึ่งเป็นผู้หญิงต้องถูกดำเนินคดี แม้ว่าการลงโทษดังกล่าวแทบไม่อาจคลายความโกรธแค้นของชาวจีนต่อเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวได้ แต่สร้างความหวาดกลัวให้แก่เจ้าหน้าที่จีนได้
การกำหนดเป้าหมายด้านประสิทธิภาพการทำงานที่ชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งของประสิทธิภาพที่จีนชื่นชมในตัวชาวอเมริกัน ดังนั้น จีนจึงส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง 4 ใน 5 คนไปรับการฝึกอบรมในเรื่องดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในสหรัฐฯ จนทำให้มหาวิทยาลัย Kennedy School ของ Harvard ถูกเรียกเล่นๆในจีนว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 4 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สิ่งที่จีนต้องการในขณะนี้ยังคงเป็นความมั่งคั่งร่ำรวยและเสถียรภาพในประเทศ ความทะยานอยากในการใช้ทุนนิยมเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความร่ำรวยของจีนตอนนี้ ดูเหมือนจะแซงหน้าสหรัฐฯไปเสียอีกด้วย
แน่นอนที่ความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งของจีนย่อมเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นมากขึ้นด้วย แต่จีนก็มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีมานี้ อันดับของจีนในการจัดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดในโลก ลดลงจากอันดับที่ 52 ไปอยู่ที่อันดับ 72 ซึ่งแสดงว่าการคอร์รัปชั่นน้อยลง นักธุรกิจจีน และตะวันตกดูเหมือนจะเห็นพ้องกันว่า คอร์รัปชั่นในจีนเป็นแบบนุ่มนวลที่เรียกว่ากินตามน้ำหรือหยอดน้ำมันเท่านั้น ไม่ใช่แบบข่มขู่คุกคาม
ประธานบริษัทใหญ่ของยุโรปแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยทำงานในชาติกำลังพัฒนามาแล้วหลายชาติ เปรียบเทียบคอร์รัปชั่นในจีนกับรัสเซียว่า ใน รัสเซีย ถ้าค่าก่อสร้างสะพานเท่ากับ 100 ดอลลาร์ เจ้าหน้าที่จะชักไป 90 แต่ในจีน เจ้าหน้าที่จะชักไป 30 และอย่างน้อยสะพานก็ถูกสร้างขึ้นจริงๆ
หลายคนยกตัวอย่างคดีค้าหุ้นโดยใช้ข้อมูลวงใน ซึ่งนำไปสู่การจับกุมมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในจีนคือ Huang Guangyu ผู้ก่อตั้งร้านค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ Gome เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ารัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังกับคดีคอร์รัปชั่นมากขึ้น อดีตนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งจาก Morgan Stanley ชี้ว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ Gome จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าชะตากรรมของเจ้าของมันจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าตลาดจีนมีวุฒิภาวะมากขึ้น
จีนยังเพิ่งแก้กฎหมายความเป็นเจ้าของหุ้น ทำให้ตลาดมีความคล่องตัวมากขึ้น และอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่น้อยลง อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความพยายามของทางการจีนตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ที่พยายามจะฟื้นตลาดหุ้นด้วยการยกเลิกอากรแสตมป์สำหรับการซื้อหุ้นแต่กลับไร้ผล นั่นเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นจีนมีความเสรีเกินกว่าที่รัฐจะควบคุมได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องสงสัยว่า รัฐบาลจีนจะยังคงยื่นมือเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนส่วนใหญ่จะใช้กับภาคธุรกิจที่อยู่ในความควบคุมของรัฐอย่างเช่น คมนาคม ไฟฟ้า และก่อสร้าง ซึ่งรับประกันได้ว่าจะใช้จ่ายเงินอย่างรวดเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลจีนต้องการ จีนยังได้เลือกที่จะออกใบอนุญาตสำหรับโทรศัพท์มือถือ 3G รุ่นใหม่ในเวลานี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้มีเงินไหลเข้าไปในภาคโทรคมนาคมที่อยู่ในความควบคุมของรัฐมากขึ้น และในฮ่องกง นักลงทุนกำลังย้ายเงินจากธนาคารพาณิชย์ไปยังธนาคารของรัฐ เพราะรู้ว่ารัฐบาลจีนจะไม่ทอดทิ้งธนาคารของรัฐแน่
แต่วิวัฒนาการที่น่าทึ่งที่สุดสำหรับตลาดที่มีหลายรูปแบบผสมกันของจีน อาจเป็นวิธีที่ผู้นำจีนใช้ในการติดตามความรู้สึกของประชาชน รวมถึงความรู้สึกทางการเมือง รัฐบาลกลางจีนได้ส่งที่ปรึกษาไปสอนเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ถึงเทคนิคการประชาสัมพันธ์ในแบบอเมริกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ครั้งใหม่ของจีนที่เรียกว่า “การเปิดกว้าง” ซึ่งจีนคิดขึ้นมาเพื่อใช้ป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงของประชาชน เนื่องจากความไม่พอใจวิกฤติเศรษฐกิจ
เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่ Chongqing ซึ่งเป็นเขตเทศบาลที่ใหญ่ที่สุดของจีน Bo Xilai เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถึงกับลงทุนไปพบกับกลุ่มคนขับแท็กซี่หลายพันคนที่กำลังประท้วงด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นการกระทำที่เกือบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของจีน Bo สามารถทำให้เกิดการจัดประชุมระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้ประท้วง และตัวแทนประชาชน จนได้ข้อตกลงที่รวมถึงการลดค่าธรรมเนียม เพิ่มเงินอุดหนุนเชื้อเพลิง และอนุญาตให้คนขับแท็กซี่ตั้งสหภาพได้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตของตัวเอง ซึ่งเคยเกิดความไม่สงบทางสังคมหลายครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และจีนก็ทำได้ดีขึ้น ไม่มีการนองเลือด ไม่มีผลกระทบ ผู้นำจีนเข้าใจว่า ปัญหาของผู้ประท้วงมีความสำคัญ เพราะเป็นปัญหาความเป็นความตายของคนที่เดือดร้อน
ความสามารถในการบริหารความเห็นของประชาชนอาจยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ในยามที่สภาพเศรษฐกิจกำลังดิ่งลงเช่นนี้ คนจีนเป็นคนที่ชอบมีทางเลือก รายการทีวีประเภท reality show จึงกลายเป็นรายการฮิตติดลมบน เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถลงคะแนนเลือกผู้ชนะได้ แม้ว่าชาวจีนจะไม่มีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้นำ แต่ขณะนี้คนจีนสามารถจะเขียนต่อว่ารัฐบาลท้องถิ่นในเมืองของตนลงบนเว็บไซต์ของทางการจีนได้ และเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นจะต้องตอบข้อร้องเรียนของประชาชนภายใน 3 วัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดอันดับหน่วยงานท้องถิ่นของจีน ด้วยการตัดสินจากจำนวนความเห็นทั้งด้านบวกและด้านลบที่เขียนเข้ามาบนเว็บไซต์ดังกล่าว
นี่คือกลยุทธ์ของรัฐบาลกลางจีนในการใช้อินเทอร์เน็ต และความคิดเห็นของสาธารณชนมากดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น รวมทั้งกดดันการตัดสินใจด้านนโยบายด้วย Horizon บริษัทวิจัยตลาดในกรุงปักกิ่ง เคยทำโพลสำรวจความคิดเห็นของชาวจีน เพื่อช่วยรัฐบาลจีนกำหนดราคาค่าตั๋วเข้าชมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จีนเป็นเจ้าภาพเมื่อปีกลาย รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณราคาปรับปรุงการติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ห่างไกลของจีน เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่พอใจของประชาชนหากตั้งราคาสูงเกินไป
ในปีหน้าบริษัทวิจัยดังกล่าวจะทำโพลจัดอันดับเจ้าหน้าที่ระดับกลางและระดับสูงของจีน 10,000 อันดับ และต่อไปในอนาคต อาจจะมีการขยายการจัดอันดับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของจีนด้วย อาจจะเป็นภายในปี 2014 Horizon ชี้ว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างสูง และต้องการจะเข้าใจความต้องการของประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่พอใจของประชาชน นับตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิงเป็นต้นมา ผู้นำจีนก็ไม่ใช่ซูเปอร์แมนอีกต่อไป แต่พวกเขาต้องแสวงหาความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชน
กระนั้นก็ตาม ผู้นำจีนก็ยังคงพบว่า การจะสนองความต้องการของประชาชนตามอย่างเติ้งยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ … 30 ปีก่อน จีนมีประชากร 963 ล้านคน และ 30% ยังหิวโหย มาบัดนี้ประชากรจีนเพิ่มเป็น 1.3 พันล้านคน และ 97% ท้องอิ่ม แต่การเลื่อนชั้นขึ้นเป็นชนชั้นกลาง (ขณะนี้ชนชั้นกลางของจีนมีเพียง 6%) กลับยากขึ้น Morgan Stanley ชี้ว่า GDP ต่อหัวของจีนขณะนี้ อยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเคยทำได้ ก่อนที่เศรษฐกิจที่มหัศจรรย์ไม่แพ้จีนของญี่ปุ่น จะเริ่มชะลอตัวลงสู่การเติบโตที่ช้าลงเนื่องจากเริ่มถึงจุดอิ่มตัว
แม้ว่าความสำเร็จในระบบทุนนิยมแบบสั่งการของจีนจะให้บทเรียนเพียงจำกัดต่อสหรัฐฯ หรือยุโรป เพราะง่ายมากกว่าที่จะกระตุ้นการเติบโตด้วยการออกคำสั่งให้วิศวกรทำงานสร้างถนนหนทางหากคุณใช้ระบบเผด็จการ ในขณะที่ชาติพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยากที่จะกระตุ้นการเติบโตด้วยการออกคำสั่งเช่นนั้นได้
อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ว่า จีนซึ่งร่ำรวยเพิ่มขึ้นแล้วแต่ยังคงเติบโตต่อไปได้อย่างดี ก็มีค่าควรแก่การศึกษา ไม่ใช่เพียงเพราะว่า วิกฤติสินเชื่อได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวางต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดเสรีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะการที่จีนเป็นประเทศใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ยังไม่เคยเกิดวิกฤติสินเชื่อหรือวิกฤติความเชื่อมั่นเลย ไม่มีใครเลยที่ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลจีนในการทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จลุล่วง เหมือนอย่างที่ Wen Jiabao ผู้นำจีนได้กล่าวไว้ว่า “ความเชื่อมั่นมีค่าเกินทอง” และคนจีนยังคงเชื่อในระบบของตนเอง
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 19 มกราคม
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2552
1 thought on “เหตุใดจีนรอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลก : นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2552”