เศรษฐศาสตร์ของการปรับตัว ต่อภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง : สฤณี อาชวานันทกุล

ปัจจุบัน ข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์จนสิ้นสงสัยแล้วว่า ภาวะโลกร้อน (global warming) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ขีดความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ และจะส่งผลกระทบร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะต่อผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลกใบนี้

ในเมื่อผู้มีรายได้น้อยมีส่วนในการก่อภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด แต่กลับต้องเผชิญกับความเดือดร้อนมากที่สุด ภาวะโลกร้อนจึงไม่ใช่ประเด็นสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว หากยังเป็นประเด็น ‘ความยุติธรรมทางสังคม’ ที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21

องค์การอนามัยโลกประเมินว่าทั่วโลกมีคนตาย 150,000 ต่อปีจากภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ตัวเลขนี้ประเมินปี 2000 นานเกือบค่อนทศวรรษก่อนที่จะเกิดภัยธรรมชาติระดับรุนแรงถี่ขึ้นอย่างชัดเจน เริ่มจากพายุแคทรินา สึนามิในทะเลอันดามัน ฯลฯ

แท้ที่จริง คำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ (global warming) ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิดถึงลักษณะของปัญหา เพราะคำคำนี้สื่อนัยว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องของอุณหภูมิที่ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และเสมอกัน (uniform) ทั่วโลก แต่ในความเป็นจริง อุณหภูมิเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่กำลังเปลี่ยนแปลง เป็นเพียง ‘ดัชนีหลัก’ ตัวหนึ่งที่ใช้วัดสถานการณ์สภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกระแสลม กระแสคลื่นในมหาสมุทร แบบแผนการเกิดพายุ ขอบเขตการกระจายของโรคระบาด คลื่นความร้อน การก่อตัวและละลายของหิมะบนยอดเขา ไฟป่า อุทกภัย และภัยแล้ง

อุณหภูมิเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของปรากฎการณ์ทั้งหมดนี้เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ คำว่า ‘ภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง’ (climate change) จึงอธิบายปรากฎการณ์ได้ดีกว่าและเอื้อต่อการเข้าใจผิดน้อยกว่าคำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ (global warming)

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเสมอกันทั่วโลก ทวีปอาร์กติกทางเหนือสุดของโลกและทวีปแอนตาร์กติกทางใต้สุดของโลกประสบความ เปลี่ยนแปลงมากที่สุด และการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ด้วย ถ้าหากเปรียบเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงกับสมรรถภาพในการปรับตัวของระบบนิเวศ และของระบบต่างๆ ที่มนุษย์สร้าง

ในเมื่อภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกิน สมรรถภาพของมนุษย์ที่จะรองรับ และกำลังก่อความเสียหายรุนแรงต่อธุรกิจและเศรษฐกิจทั่วโลก ยิ่งนานวัน ปรากฏการณ์นี้ก็จะยิ่งพิสูจน์ให้เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ขึ้นเรื่อยๆ ว่า ไม่ได้เป็นแค่ประเด็นสิ่งแวดล้อมและประเด็นความยุติธรรมทางสังคม หากยังเป็นประเด็นเศรษฐกิจด้วย

ในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ภัยธรรมชาติ 7 ใน 10 ครั้งที่ก่อมูลค่าความเสียหายสูงสุดในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ ถึง 5 ปีหลังศตวรรษที่ 21 เปิดฉาก พายุเฮอร์ริเคนที่ก่อความเสียหายสูงสุดในประวัติศาสตร์ 6 ใน 10 ลูกเกิดขึ้นในช่วงปี 2004 และ 2005 และเกิดไฟป่าธรรมชาติในรอบ 30 ปีที่ผ่านมามากกว่าก่อนหน้านั้น 4 เท่า

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ความรุนแรงของปรากฏการณ์ดังกล่าวคือแนว โน้มที่ว่า ผลพวงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหลายประการอาจเลยเถิดจนมนุษย์ไม่สามารถ ยับยั้งได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ปลายเดือนกันยายน 2552 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย สเตฟาน ราห์มสตอร์ฟ (Stefan Rahmstof) ผู้เชี่ยวชาญด้านระดับน้ำทะเลชั้นนำจาก Potsdam Institute ในเยอรมนี กล่าวในงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดว่า ระดับน้ำทะเลทั่วโลกน่าจะเพิ่มสูงขึ้น 1 เมตรในศตวรรษนี้ และ 5 เมตร ในระยะเวลา 300 ปี และเขาไม่คิดว่าปรากฏการณ์นี้จะหยุดได้ “ถึงแม้ว่าเราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจนเหลือศูนย์” เพราะวิธีเดียวที่หยุดได้คือจะต้องดูดซับก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งมนุษย์ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทำได้ในระดับที่จำเป็นต้องใช้

ราห์มสตอร์ฟประเมินว่าถ้ามนุษย์สามารถระงับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลก็จะยังเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เมตรในช่วงเวลาไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า ส่งผลให้ประเทศหมู่เกาะบางแห่งต้องจมอยู่ใต้น้ำ

นี่คือเหตุผลที่ โมฮาเมด นาชีด (Mohamed Nasheed) ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ ประเทศหมู่เกาะที่มีจุดสูงสุดเพียง 2.3 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ประกาศว่าจะต้องหาซื้อที่อยู่ใหม่ ให้กับประชากร 300,000 คน

และนี่คือเหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักพัฒนา และเอ็นจีโอที่มีวิสัยทัศน์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มศึกษาวิธี ‘ปรับตัว’ ให้เข้ากับภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับการ ‘บรรเทา’ เลิกมองภาวะนี้ว่าเป็นสิ่งที่ ‘กำจัด’ ได้อย่างถาวร

คณะทำงานอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ประเมินว่าทั่วโลกจะมีต้นทุนในการปรับตัวต่อภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 40-170 พันล้านเหรียญต่อปีก่อนปี 2030 อย่างไรก็ตาม รายงานเดือนสิงหาคม 2009 ของ International Institute for Environment and Development (IIED) ตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม 2009 ระบุว่า ตัวเลขของสหประชาชาตินั้นต่ำเกินไป 2-3 เท่า เนื่องจากจัดทำเร็วเกินไปและไม่ได้รวมผลกระทบต่อภาคส่วนที่สำคัญ เช่น พลังงาน การผลิต การค้าปลีก เหมืองแร่ การท่องเที่ยว และระบบนิเวศ

IIED ประเมินว่าโลกจะมีต้นทุนในการปรับตัว 80-510 พันล้านเหรียญต่อปี (ขอบข่ายตัวเลขนี้กว้างมากเนื่องจากความไม่แน่นอนของสมมุติฐานที่ใช้ในการ ประเมิน) โดยสรุปประเด็นที่แตกต่างจากรายงานของ UNFCCC ได้ดังต่อไปนี้

น้ำ: UNFCCC ประเมินว่ามีต้นทุน 11,000 ล้านเหรียญ แต่ตัวเลขนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายทรัพยากรน้ำภายในประเทศ จากพื้นที่ที่มีน้ำเหลือใช้ไปยังพื้นที่ที่ขาดน้ำ

สุขภาพ: ตัวเลขต้นทุน 5,000 ล้านเหรียญของ UNFCCC ในด้านนี้รวมเฉพาะโรคมาเลเรีย ท้องร่วง และภาวะขาดสารอาหาร และไม่รวมต้นทุนใดๆ ที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องรับภาระ เท่ากับประเมินภาระต้นทุนจากโรคภัยไข้เจ็บต่ำเกินไปร้อยละ 30-50

โครงสร้างพื้นฐาน: UNFCCCC ประเมินว่ามีต้นทุน 8,000-130,000 ล้านเหรียญ แต่ตัวเลขนี้รวมเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในทวีปแอฟริกาและบริเวณยากจนอื่นๆ ที่ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาความยากจน ยังไม่นับค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่จำเป็นต่อการขจัดความเปราะบางต่อภาวะสภาพ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ถ้ารวม ตัวเลขต้นทุนน่าจะสูงกว่านี้ 8 เท่า

เขตชายฝั่งทะเล: ต้นทุนที่น่าจะเกิดในการคุ้มครองเขตชายฝั่งทะเลจากพายุและระดับน้ำทะเลที่ สูงขึ้นน่าจะมีมูลค่า 3 เท่าของตัวเลขที่ UNFCCC ประเมินไว้ที่ 11,000 ล้านเหรียญ เนื่องจากตัวเลขของ UNFCCC ใช้ตัวเลขระดับน้ำทะเลชุดเก่าที่ต่ำเกินไป ไม่ได้ใช้ตัวเลขล่าสุดในรายงานปี 2007 ของ IPCC

ระบบนิเวศ: รายงานของ UNFCCC ไม่รวมต้นทุนของการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศแต่อย่างใด IIED ประเมินว่าต้นทุนในด้านนี้อาจสูงถึง 350,000 ล้านเหรียญ

ในเมื่อบริษัทแรกๆ ในภาคธุรกิจที่จะต้องแบกรับ ‘ต้นทุนทางเศรษฐกิจ’ ของภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงคือผู้เล่นในธุรกิจประกัน โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่รับประกัน และรับประกันภัยต่อ (reinsurance) จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของโลกหลายรายจะเร่งประเมินต้น ทุนออกมาเป็นตัวเลข เสนอแนวนโยบายให้กับภาครัฐ และเสนอแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจทั้งระบบ

ยกตัวอย่างเช่น ในด้านประกันสุขภาพ พอล เอ็พสตีน (Paul Epstein) จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวยืนยันหลายครั้งว่า “ภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะส่งผลให้เกิดการอุบัติขึ้นและแพร่กระจายของ โรคระบาดในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่ศตวรรษที่ 19”

ด้านประกันทรัพย์สิน สวิส รี (Swiss Re) บริษัทรับประกันภัยต่อที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาและใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นบริษัทแรกในธุรกิจประกันที่ก่อตั้งฝ่าย ‘ความเสี่ยงจากก๊าซเรือนกระจก’ ทำวิจัยและตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 1994 ประเมินในรายงาน “Opportunities and Risks of Climate Change” ตีพิมพ์ปี 2002 ว่า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติที่ถูกขับดันด้วยภาวะสภาพภูมิ อากาศเปลี่ยนแปลงทวีคูณเป็นสองเท่าทุกๆ 10 ปี มีมูลค่ารวมกันถึง 1 ล้านล้านเหรียญในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา และจะก่อความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านเหรียญต่อปีในทศวรรษ 2010-2020

สวิส รี เตือนว่า บริษัทต่างๆ ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นอย่างมาก อาทิ จากราคาเชื้อเพลิงและพลังงานที่แพงขึ้น และผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกต่อคู่ค้า และด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารจึงต้องมองสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงว่าเป็น ‘วาระเร่งด่วน’ และ ‘ความเสี่ยง’ ที่ทุกบริษัทควรหาวิธีวัด บริหารจัดการ และรายงาน เช่น ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มผลกระทบต่อธุรกิจจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ ‘เป็นสาระสำคัญและไม่แน่นอน’ เข้าไปในรายงานประจำปี ในฐานะปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ

รายงาน “Shaping Climate-Resilient Development” ของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์ของการปรับตัวต่อภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Economics of Climate Adaptation Working Group: ECA) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย Global Environment Facility, McKinsey & Company, Swiss Re, มูลนิธิ Rockefeller Foundation, มูลนิธิ ClimateWorks, สหภาพยุโรป และธนาคาร Standard Chartered ประเมินว่าความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ถึงร้อยละ 19 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2030 โดยประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ECA ก็ระบุด้วยว่า ปัจจุบันโลกมีมาตรการปรับตัวที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่ามากเพียงพอที่จะ ป้องกันร้อยละ 40-68 ของความเสียหายทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ มาตรการปรับตัวเหล่านี้โดยเฉลี่ยมีต้นทุนไม่ถึงร้อยละ 50 ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มันช่วยป้องกัน และมาตรการที่มีประสิทธิผลสูงมากหลายอย่างก็คุ้มค่ามากและมีราคาไม่แพงเมื่อ เทียบกับรายได้ของประเทศกำลังพัฒนา เช่น การปรับปรุงระบบการระบายน้ำ และปรับปรุงกฏระเบียบการก่อสร้างอาคารให้ประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่าง มีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าผู้บริหารบริษัทจะมีท่าทีและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ เพียงใด นักลงทุนที่ซื้อหุ้นของบริษัทย่อมไม่อยู่เฉยถ้าเล็งเห็นว่าผลตอบแทนจากการลง ทุนในอนาคตสุ่มเสี่ยงที่จะลดลงจากการไม่ยอมปรับตัวของบริษัท ตัวอย่างที่เห็นชัดได้แก่ Carbon Disclosure Project (CDP) เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักลงทุนสถาบันชั้นนำ 475 แห่ง บริหารเงินลงทุนรวมกัน 55 ล้านล้านเหรียญ เขียนจดหมายเปิดผนึกและรณรงค์ให้ผู้ถือหุ้นลงมติผลักดันให้บริษัทขนาดใหญ่ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเกณฑ์ที่ CDP กำหนด ประกอบกับ Greenhouse Gas Protocol โครงการร่วมระหว่าง World Business Council for Sustainable Development กับ World Resources Institute และมาตรฐาน ISO 14006

ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2003 ปัจจุบันมีองค์กรทั่วโลกกว่า 2,200 แห่งที่เปิดเผยข้อมูลตามคำขอของ CDP โดยตรง และ 5,000 แห่งที่เปิดเผยทั้งทางตรงและทางอ้อม CDP ตีพิมพ์รายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์รวมของบริษัทที่รายงาน รวมถึงทัศนคติของบริษัทเกี่ยวกับผลกระทบและโอกาสที่ภาวะสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนแปลงมีต่อธุรกิจของตัวเอง.

เศรษฐศาสตร์ของการปรับตัวต่อภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
(economics of climate change adaptation)
สฤณี อาชวานันทกุล
October 15th, 2009

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.