การส่งออกสินค้าและบริการนั้น เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจไทย เพราะปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 5.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 2/3 ของจีดีพีไทย ดังนั้น เมื่อเราเห็นมูลค่าการส่งออกติดลบ 15-20% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ก็ทำให้สรุปว่าจีดีพีของไทยมีโอกาสสูงที่จะหดตัวลงในปีนี้ ดังที่ผู้เชี่ยวชาญเริ่มประเมินกันว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จีดีพีของไทยปีนี้จะหดตัวได้ถึง 4% หากการส่งออกของไทยลดลงถึง 20% และไม่มีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่ทันท่วงทีเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกและจีดีพีนั้นมีมากน้อยเพียงใด คำถามนี้อาจคิดว่าไม่เห็นจะต้องถาม เพราะการส่งออกนั้นเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ นอกจากนั้น ยังเป็นที่มาของเงินตราต่างประเทศที่เรานำไปซื้อสินค้านำเข้าที่จำเป็นและเราผลิตไม่ได้ อาทิเช่น น้ำมันและสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงต่างๆ อาทิเช่น เครื่องบิน ดังนั้น หากการส่งออกตกต่ำมากๆ ก็จะทำให้ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยอีกระลอกหนึ่ง
เหตุที่ผมตั้งคำถามนี้ก็เพราะว่าตัวเลขในอดีตสะท้อนว่าการขยายตัวของการส่งออกนั้น มิได้มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับการขยายตัวของจีดีพีมากนัก ตรงกันข้ามการขยายตัวของจีดีพีมีความสัมพันธ์กับตัวแปรอื่นๆ มากกว่าการส่งออกดังปรากฏในตาราง
จะเห็นว่าการขยายตัวที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อออก) ของจีดีพี การลงทุนเอกชน การส่งออกและการนำเข้าในปี 1980-2007 มีความสัมพันธ์มากน้อยต่างกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกนั้นผันผวนไปในทิศทางเดียวกับจีดีพีเพียง 47% เท่านั้น ตัวแปรอื่นๆ อาทิเช่น การนำเข้ายังมีความสัมพันธ์ทางสถิติสูงกว่ามาก คือ 72% แต่ที่น่าสนใจที่สุด คือ การลงทุนเอกชน ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสถิติกับจีดีพีมากถึง 90% และสัมพันธ์กับการนำเข้ามากถึง 81% ตัวแปรที่ผมไม่ได้นำมาเปรียบเทียบอีก 2 ตัวแปร คือ การบริโภคและการใช้จ่ายของรัฐบาล เหตุผล คือ การบริโภคนั้นปรับตัวไปกับจีดีพีอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว กล่าวคือ การบริโภคจะขยายตัวเมื่อจีดีพีขยายตัวและหดตัวเมื่อจีดีพีหดตัว โดยสัดส่วนของการบริโภคต่อจีดีพีเกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย
ที่สำคัญ คือ การบริโภคนั้นโดยหลักการแล้ว จะไม่ได้เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนจีดีพี แต่จีดีพีจะเป็นตัวขับเคลื่อนการบริโภค สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐนั้นอาจดูรายจ่ายทั้งหมดหรือรายจ่ายสุทธิ (หักรายได้ของรัฐบาล) คือ เมื่อรายจ่ายสุทธิเป็นลบ (รัฐบาลเกินดุลงบประมาณ) ก็จะเป็นความพยายามที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไม่ให้ขยายตัวมากจนเกินไป ดังนั้น หากรัฐบาลทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ก็จะพบว่าจีดีพีกับการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นมีความผันผวนในทางตรงกันข้าม คือ อยู่ระหว่าง 0 ถึง -1
แต่ที่น่าสนใจกว่า คือ ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกกับจีดีพีจึงไม่สูงดังที่เข้าใจกัน คำอธิบายหลักน่าจะเป็นเพราะว่าการส่งออกของไทยมีสัดส่วนของการนำเข้าค่อนข้างสูงมาก อาทิเช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์น่าจะมีชิ้นส่วนนำเข้าสูงถึง 70% ดังนั้น เมื่อการส่งออกลดลงการนำเข้าก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ผลกระทบจากการลดลงของการส่งออกต่อจีดีพีไม่สูงมากนัก อาทิเช่น หากมูลค่าส่งออกลดลง 20% โดยเป็นผลจากการลดลงของปริมาณส่งออก 10% (เพราะราคาได้ปรับขึ้นไป 10%) และใน 10% ดังกล่าวมีชิ้นส่วนนำเข้าครึ่งหนึ่ง แปลว่าปริมาณการส่งออกสุทธิที่ลดลงไปนั้น จะเท่ากับ 5% ซึ่ง 5% ดังกล่าวจะทำให้จีดีพีลดลง 3% กล่าวคือ จะมองว่าเมื่อส่งออกลดลง 20% แปลว่าจีดีพีลดลง 20 x 3/5 หรือ 12% ไม่ได้
ประการที่สอง การผลิตคงมีความยืดหยุ่นบ้าง อาทิเช่น หากส่งออกรถยนต์ได้น้อย ก็อาจสามารถกระตุ้นยอดขายในประเทศทดแทนได้ส่วนหนึ่ง แต่ข้อสรุปหลักน่าจะเป็นว่าการส่งออกนั้นมีความสำคัญมากต่อจีดีพี แต่อาจไม่ได้สำคัญเกินหน้าตัวแปรอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดว่ามีความสัมพันธ์กับจีดีพีอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนซึ่งในเชิงทฤษฎีนั้นน่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด เพราะการขยายตัวของจีดีพี ก็คือ ความสามารถของเศรษฐกิจที่จะผลิตสินค้าและบริการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุน ก็คือ การสร้างศักยภาพในการผลิต ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าประเทศใดที่มีการลงทุนมาก เศรษฐกิจก็จะขยายตัวมากและในทางตรงกันข้ามหากการลงทุนขยายตัวต่ำ เศรษฐกิจก็จะโตช้าลงตามไปด้วย ความสำคัญของการลงทุนเป็นสิ่งที่ควรนึกถึงตลอดเวลาในการผลักดันนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังที่ส่งเสริมให้การลงทุนเพิ่มขึ้น จะมีโอกาสสูงที่จะทำให้จีดีพีขยายตัวในอนาคต ในขณะที่นโยบายการคลังที่มีลักษณะเป็นประชานิยมย่อมจะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้
การนำเข้านั้นมีความสัมพันธ์กับจีดีพีมากถึง 72% (มากกว่าการส่งออกที่ 47%) ส่วนหนึ่งเพราะการนำเข้าจะสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศว่ามีอยู่มากน้อยและคึกคักเพียงใด ในทำนองเดียวกันก็เป็นที่น่าสังเกตว่าความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างการลงทุนและการนำเข้านั้นสูงถึง 81% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนของไทยนั้นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุน (เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ) อย่างมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนนั้น จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติเป็นหลัก
ดังนั้น ความพยายามที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศ จึงจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มองระยะยาว แต่ก็ต้องถามว่าความเชื่อมั่นดังกล่าวนั้น จะได้มาโดยการพูดบ่อยๆ หรือจะต้องทำมากกว่านั้น สำหรับผมความมั่นใจจะเห็นได้จากการที่รัฐบาล สร้างเงื่อนไข ให้เอกชนลงทุน อาทิเช่น รัฐบาลร่วมลงทุนกับเอกชนไทยและหรือต่างชาติ การผลักดันให้เกิดการลงทุนร่วมกันในโครงการขนาดใหญ่สัก 5-10 โครงการ จะเป็นการสะท้อนความมั่นใจของภาคเอกชน เพราะหากทั้งสองฝ่ายขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวแล้ว ข้อตกลงที่จะนำมาซึ่งการลงทุนร่วมย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ครับ