เบื้องหลัง 3 ทศวรรษความสำเร็จเศรษฐกิจจีน : กมล กมลตระกูล

ในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้เจอพายุร้ายวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายรอบ บางประเทศจนถึงทุกวันนี้เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น เช่น อาร์เจนตินา เม็กซิโก แม้แต่ประเทศไทย

หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจที่เป็นฐานของความมั่งคั่ง ความมั่นคง และการพัฒนาประเทศ เช่น ภาคการเงิน ภาคการประกันภัย ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคพลังงาน ภาคโทรคมนาคม และภาคค้าปลีก ได้ตกไปอยู่ในกำมือของทุนต่างชาติในสัดส่วนที่ไม่อาจจะกล่าวได้ว่า ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีและการส่งออกนั้นสามารถอ้างได้ว่า “ประโยชน์ตกกับประชาชนไทย” ได้อีก

ประเทศจีนให้บทเรียนที่น่าศึกษาสำหรับผู้บริหารประเทศและนักวิชาการในกะลาครอบว่า เบื้องหลังที่จีนไม่ถูกกระทบจากพายุร้ายวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ผู้นำจีนมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์อย่างไรที่ยังคงอัตราการเติบโตของจีดีพีในปี 2009 สูงถึงร้อยละ 8.7 ในช่วงเกิดวิกฤต subprime crisis ที่เกิดผลกระทบไปทั่วโลก

นาย Hu Angang ผู้อำนวยการของ Center for China Studies of Tsinghua University ได้ไขความลับเบื้องหลังความสำเร็จของจีนไว้อย่างน่าสนใจในนิตยสาร Beijing Review, NO. 29, JULY 22, 2010

นาย Hu Angang เผยเคล็ดลับความสำเร็จของจีนดังนี้ว่า

1. ยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวใจในการพัฒนาเศรษฐกิจวางไว้ที่การลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจภายในให้เติบโตเป็นด้านหลัก ส่วนการลงทุนจากต่างชาติและการส่งออกเป็นด้านรอง ดังนั้นเมื่อโลกเผชิญพายุร้ายของวิกฤตเศรษฐกิจ ผลกระทบที่มีต่อจีนจึงมีไม่มากนัก ยุทธศาสตร์นี้ตรงกันข้ามกับที่ประเทศไทยใช้ในปัจจุบัน

จากยุทธศาสตร์นี้ ผู้นำส่วนกลางกำหนดเป้าหมายให้องค์การปกครองท้องถิ่น ผู้ว่าการมณฑลต่างๆ ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนของจีนในด้านต่างๆ 10 ด้าน ดังนี้ คือ สิ่งทอ เหล็ก ยานยนต์ การต่อเรือ เครื่องมือช่าง อิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลข่าวสาร อุตสาหกรรมเบา เพโทรเคมิคอล โลจิสติกส์ วัสดุใช้ทดแทนโลหะ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้านการคิดค้นวิธีการประหยัดพลังงาน และการปกป้องรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยา และป้องกันการเกิดมลพิษ

นโยบายการส่งเสริมการลงทุนภายในถึงระดับมณฑล ระดับท้องถิ่น เป็นการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ทำให้เกิดการจ้างงานและเกิดกำลังซื้อภายในจากชนบท กลายเป็นกันชนเศรษฐกิจที่สำคัญ จีนจึงมีสินค้าเกือบทุกประเภทที่มีฐานการผลิตจากชนบทส่งออกในราคาถูกไปตีตลาดทั่วโลก

2. การขยายบทบาทการลงทุนของภาครัฐ ในด้านการลงทุนของภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 8 ของการลงทุนทั้งหมด ได้ทำคู่ขนานกันไป รัฐวิสาหกิจของจีน (state-owned enterprises) ได้เติบโตจากร้อยละ 2 ใน ปี 1998 มาเป็นร้อยละ 7 หรือกว่า 3 เท่า

การลงทุนของรัฐเน้นไปที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งมวลชนและการคมนาคม เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั้งในด้านการเดินทางและการขนส่งในราคาถูก การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การประปา โรงเรียน โรงพยาบาล การพัฒนาแหล่งน้ำของภาคการเกษตร การสร้างอพาร์ตเมนต์สำหรับคนจนและผู้สูงอายุ การลงทุนด้านการศึกษา รวมทั้งการลงทุนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการทหารเพื่อการพึ่งตนเองและเป็นหลักประกันความมั่นคง ของชาติ

นาย Hu Angang กล่าวว่า การขยายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ไม่ขัดแย้ง และไม่ใช่การแข่งขันกับการลงทุนของเอกชน แต่เป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน เหมือนรถไฟรางคู่ (dual track) โดยเฉพาะด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่ง การสื่อสารโทรคมนาคมที่เอกชนได้ประโยชน์ และเป็นการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพ ทั้งของนักลงทุนและคนงาน เพราะรัฐเป็นผู้ลงทุนและไม่ได้คิดค้ากำไรอย่างเอกชน

ดังนั้น จีนจึงมีขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศสูงกว่าชาติอื่นๆทุกชาติในโลก สามารถขายสินค้าได้ถูกกว่าชาติอื่นๆ เพราะว่าเมื่อค่าครองชีพถูก ค่าเดินทางถูก ค่าน้ำค่าไฟถูก ค่าเช่าบ้านถูก คนงานก็ไม่จำเป็นต้องจ้างแพง เป็นยุทธศาสตร์ win-win

ยุทธศาสตร์นี้ตรงกันข้ามกับของไทย ที่ด้านหนึ่ง รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานคิดค้ากำไรกับประชาชน หรือขายสัมปทานให้เอกชนมาค้ากำไรเกินควรกับประชาชนอีกที เช่น กฟผ. ปตท. กรมทางหลวง การทางพิเศษ และระบบทางด่วน เมื่อค่าใช้จ่ายด้านขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าเชื้อเพลิงสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตทุกด้านสูง ค่าครองชีพจึงสูง ค่าแรงก็ต้องสูงไปด้วย ขีดความสามารถในการแข่งขันจึงลดลงเมื่อเทียบกับประเทศจีนหรือประเทศอื่นๆ รวมทั้งสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมตามมา อีกด้านหนึ่งพยายามแปรรูป ออกนอกระบบ หรือขายสัมปทานให้เอกชนในกิจการที่เป็นพันธกิจของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยทั่วไป และมหาวิทยาลัยการแพทย์

3. การพัฒนาประสิทธิภาพภาคการเงินของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคการเงินและการธนาคาร ซึ่งเคยเจอปัญหาเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 1997-1998 โดยมีสัดส่วน NPL ร้อยละ 40 ได้ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2-3 มีกำไรจากทรัพย์สินหรือทุนร้อยละ 17 ในปี 2008 คิดเป็นร้อยละ 30.6 ก่อนหักภาษี

4. การดำเนินนโยบายเพิ่มเงินคงคลังอย่างเข้มงวด เงินคงคลังสำรองระหว่างประเทศ (foreign exchange) มีจำนวน 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ($2 trillion) เมื่อสิ้นปี 2008 คิดเป็น 13 เท่าของปี 1998 การสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศให้สูงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญและเป็นโล่ป้องกันผลกระทบจากพายุวิกฤตเศรษฐกิจจากภายนอก เช่น การโจมตีค่าเงินจากบรรดา กองทุนปีศาจได้อย่างชะงัดที่สุด

5. การบริหารรายรับอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลมีรายรับ 6.1 ล้านหยวน หรือ $900 billion และขาดดุลงบประมาณในปี 2008 เพียงร้อยละ 0.4 ของจีดีพี จึงมีศักยภาพในการออกพันธบัตรขายเพื่อนำเงินมาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานประเภทเมกะโปรเจ็กต์ หรือ แก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากพายุวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากภายนอก

เบื้องหลังความสำเร็จของจีนนั้นมิใช่เรื่องมหัศจรรย์ แต่เป็นเรื่องวิสัยทัศน์และการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่นำไข่ทั้งหมดใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว คือการไม่พึ่งแต่การส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติเป็นด้านหลักเหมือนกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จีนพัฒนาปรับปรุงรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และโปร่งใสมากขึ้น ด้วยการมีบทลงโทษข้ารัฐการที่คอร์รัปชั่นอย่างรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต

จีนมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสูง เช่น การตั้งเงื่อนไขการลงทุนจากต่างประเทศ การทำสัญญาเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ การให้อำนาจมณฑลต่างๆสามารถตั้งระเบียบพิธีการศุลกากร ระเบียบการลงทุน เพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมท้องถิ่น ผู้ประกอบการท้องถิ่น ชุมชน หรือเกษตรกร ไม่ให้ถูกกระทบจากสัญญาเอฟทีเอ และการลงทุนจากต่างชาติ

ประเทศไทยทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะนำไข่ทั้งหมดใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว โดยพึ่งแต่การส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติเป็นด้านหลัก ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นสวรรค์ของอุตสาหกรรมหนักที่ดาหน้าเข้ามาขอสิทธิพิเศษด้านการลงทุนจากบีโอไอ แล้วสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในทุกชุมชน ทุกชายฝั่งทะเลที่อุตสาหกรรมเหล่านี้รุกเข้าไปสร้างปัญหามลพิษ ทำลายระบบนิเวศวิทยา ทำลายวิถีชีวิตและอาชีพชุมชน ถ้าหากว่าชายฝั่งเหล่านี้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะสร้างอาชีพ สร้างรายได้ได้มากกว่าและยั่งยืนกว่า

ถึงเวลาที่รัฐบาล นักวิชาการ ข้าราชการ จะต้องทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การเงินการคลังของชาติ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนารัฐวิสาหกิจให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไร้คอร์รัปชั่น เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ แทนการคิดหากำไร(เกินควร) โดยศึกษาระบบ dual track จากจีนแล้วกระมัง

เบื้องหลัง 3 ทศวรรษความสำเร็จเศรษฐกิจจีน

คอลัมน์ เดินคนละฟาก

โดย กมล กมลตระกูล [email protected]

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4238

Author: admin

3 thoughts on “เบื้องหลัง 3 ทศวรรษความสำเร็จเศรษฐกิจจีน : กมล กมลตระกูล

  1. มันก็ไม่จริงซะทั้งหมดนะครับ จะเปรียบเทียบประเทศไทยกับจีนมันก็ยาก ส่วนหลักๆเลยก็คือ ระบบการปกครองจีนยังเป็นแบบเผด็จการพรรคเดียวอยู่ จะทำอะไรก็ไม่มีใครห้ามได้ จึงไม่มีความต้องการผลประโยชน์ระยะสั้นอย่างประเทศที่มีประชาธิปไตย (political business cycle) ทำให้เค้าคิดถึงระยะยาวมากกว่า แต่ครั้นจะให้เราเปลี่ยนเป็นเผด็จการ ใครจะเอาครับ?
    1.)เรื่องการที่บอกว่าเรื่องการลงทุนและส่งออกของจีนเป็นเรื่องรองนั้น ผมไม่เห็นด้วยครับ ประเทศจีนพึ่งพาส่งออกมากกว่าไทยเยอะ แล้วการแก้ปัญหาของจีนในช่วง Subprime ก็มีแต่พยายามที่จะคงที่หรือเพิ่มการส่งออกด้วยซ้ำไป อย่างเช่นการประกาศใช้นโยบายอัตราแลกเปลียนแบบคงที่หลังจากใช้ลอยตัวมาไม่กี่ปี เพื่อที่จะกระตุ้นการส่งออกในยามที่เงิน dollar ของคู่ค้าหลักตกไป
    ยิ่งไปกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำที่จีนต้องการขจัดมีอยู่ ก็เพราะนโยบายส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาตินั้นแล…
    อีกนโยบายที่น่าเป็นห่วง ก็คือ นโยบายที่ให้ธนาคารรัฐออกดอกเบี้ยต่ำเกินความเป็นจริงทั้งๆที่เศรษฐกิจดี ทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และเงินเฟ้อ ดูง่ายๆเซี่ยงไฮ้มีตึกเยอะแยะ แต่ทำไมไม่มีคนอยู่? แล้วถ้ายิ่งได้อ่านบทความใน Time ไม่กี่อาทิตย์ก่อน คุณจะรู้ว่า ในเซี่งไฮ้แม้แต่คนขับ Taxi ก็มีคอนโดบนตึกระฟ้าได้สามห้อง บ้านเดี่ยวอีกหลังสองหลัง ทั้งหมดนี้เพื่อการเก็งกำไรอสังหา
    2.)เงินสำรองระหว่างประเทศที่มากขึ้น เป็นอีกหลักฐานที่จีนพึ่งพาการส่งออกสูงมาก และเนื่องจากส่วนมากเป็น dollar assets ทำให้มูลค่าตกตามสภาพการเงินของสหรัฐได้ง่ายมาก
    3.) เรื่องมลพิษ อย่าเอาไทยไปเปรียบกับจีนเลยครับ ถ้าจำไม่ผิด 21 เมืองใหญ่ของจีน ติดอันดับแรกๆของเมืองที่มีมลภาวะเป็นพิษมากที่สุดในโลก แม้แต่ช่วงโอลิมปิก จีนยังต้องสั่งให้โรงงานที่อยู่รอบๆปักกิ่งหยุดการผลิตนะครับ…
    4.)การลงทุนของรัฐบาลจีน เป็นหนึ่งในปัญหาที่รัฐบาลเองก็พยายามจะลดอยู่ เพราะเป็นอุปสรรคตัวสำคัญที่ทำให้ธุรกิจภาคเอกชนของจีนไม่สามารถอยู่ได้ เพราะไม่สามารถสู้ SOEs ที่ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่า แถมที่ SOEs จะล้ม รัฐก็เข้าไปอุ้มทุกที

    ที่ผมพูดไม่ใช่เพราะว่าต้องการป้องกันประเทศไทย ประเทศเรามีอะไรอีกเยอะที่ไม่ดีเทียบกับประเทศจีน และจริงอยู่ที่ประเทศจีนทำเรื่องมหัศจรรย์มากมายใน 30 ปีมานี้ แต่ประเด็นที่เปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับจีนเฉพาะในบทความนี้ โดยความเห็นส่วนตัวแล้วผมคิดว่าไม่ถูกต้องครับ จริงครับที่ประเทศจีนพยายามจะแก้ปัญหาในระยะยาว แต่การกระทำของจีนที่พยายามจะรักษาการเจริญเติบโตในระยะสั้นไว้ที่ 8% นี่แหละ ทำให้จีนต้องออกนอกลู่นอกทางไปมากทีเดียว

  2. เราว่าจีนเป็นประเทศที่ยังต้องพึ่งการส่งออกเยอะอยุ่นะคะ

    ในส่วนการลงทุนของรัฐบาลจีนที่เน้นไปที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งมวลชนและการคมนาคม เราว่าน่าเอาอย่าง และเห็นด้วยเรื่องรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของไทยคิดค้ากำไรกับประชาชนเกินควร!!

    เราว่าฝั่งยุโรปยังมีหลานด้านที่น่าเอาอย่างกว่าจีนอีกค่ะ แต่อย่างว่าคนเค้าก็ต้องจ่ายภาษีเยอะและมีหลายด้านที่แตกต่างจากบ้านเรา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.