อันเนื่องมาจาก ฟิลิป คอตเลอร์ : วิโรจน์ เฉลิมรัตนา

ผมมีโอกาสได้ไปฟังการบรรยายของ Professor Phillip Kotler ที่เขาใช้ชื่อหัวข้อว่า Marketing Moves วันนี้เลยมีเกร็ดมาเล่าให้ฟังว่า แม้แต่ปรมาจารย์ทางการตลาดของโลกก็ยังกล่าวกับผู้เข้าฟังการบรรยาย ซึ่งผมคิดว่าส่วนใหญ่เป็นนักการตลาดและนักธุรกิจว่า ให้ “Go back to your finance course” ด้วยเหตุผลทำนองว่า หากคุณรู้ว่าคุณขายสินค้าได้จำนวนมากน้อยเท่าไรแล้ว ก็ไม่ทำให้คุณสามารถตัดสินใจทางการตลาดได้ดีกว่าการที่คุณรู้ว่าสินค้าชนิดใดที่คุณขายออกไปแล้ว ทำกำไรให้กับคุณมากที่สุด

ซึ่ง Kotler ใช้คำว่าให้ “Maximize Profitability Not the Sales Volume” และคุณควรมุ่งขายสินค้าที่มีลักษณะเป็น Opportunity Product มากกว่า Trouble Product แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า สินค้าอะไรเป็น Trouble Product หากเราไม่มีระบบ Marketing Information System ที่ดีพอ รวมทั้งหากนักการตลาดเองไม่มีความเข้าใจในการอ่าน หรือวิเคราะห์ตัวเลขทางบัญชี และการเงิน

วันนี้ ผมจึงหนีไม่พ้นต้องถือโอกาสพูดถึงเรื่อง การอ่านหรือวิเคราะห์งบการเงิน ซึ่งความจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าจะอยู่ในความสนใจของทั้งผู้ที่เป็นนักบัญชี นักการเงิน นักการตลาด หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจ กันพอสมควร

การอ่าน และวิเคราะห์งบการเงินนั้น ผมมองว่าหัวใจสำคัญที่จะทำให้อ่านหรือวิเคราะห์อย่างได้ประเด็น ต้องแยกออกมาให้ชัดว่า ผู้ที่กำลังอ่านหรือวิเคราะห์นั้น อ่านหรือวิเคราะห์งบการเงินในฐานะที่ตัวเองเป็นใคร อยู่ในบทบาทอะไร

ผู้อ่านงบการเงินมักหมายถึงบุคคลสามคน คือ นักลงทุน เจ้าหนี้ และผู้บริหารของกิจการครับ

เวลาที่เราอ่านงบการเงิน เราจึงต้องสวมวิญญาณบุคคลทั้งสามนี้ให้ได้ครับ คิดให้ได้ว่า ถ้าเราเป็นนักลงทุน เราคงต้องการจะรู้ว่าบริษัทที่เราลงทุนมีอนาคตในแง่ความสามารถในการทำกำไรดีหรือไม่ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า บริษัทมี Profitability ดีหรือไม่ครับ

ต้องคิดให้ได้ว่า ถ้าเราเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้บริษัทกู้ หรือ เป็นเจ้าหนี้การค้าของบริษัทแล้ว เราคงต้องการจะรู้ว่าบริษัทจะมีความสามารถในการชำระเงินให้แก่เราในอนาคตหรือไม่ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า บริษัทมี Liquidity ดีหรือไม่ครับ

ต้องคิดให้ได้ว่า ถ้าเราเป็นผู้บริหารของกิจการ เราคงต้องการจะรู้ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทดีหรือไม่ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง รวมทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายสูงขึ้นหรือลดลงอย่างไรบ้าง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Activity และ Performance ครับ

เพื่อที่จะทราบประเด็นต่างๆข้างต้น เราใช้เครื่องมือที่สำคัญคือ อัตราส่วนทางการเงิน หรือที่เรียกว่า Financial Ratio ครับ

อัตราส่วนทางการเงินนั้น เป็นการนำตัวเลขที่ปรากฏในงบการเงินมา บวก ลบ คูณ หาร ใส่สูตร เพื่อให้ได้ตัวเลขตัวใหม่ออกมา แล้วเรานำตัวเลขเหล่านี้มาแปลความหมายต่อครับ

ประเภทของอัตราส่วนทางการเงินก็ใช้ตามสิ่งที่อยากทราบนั่นเอง ซึ่งประกอบด้วย

– Liquidity Ratio

– Profitability Ratio

– Activity Ratio

แถมเพิ่มมาอีกตัวครับ คือ Leverage Ratio

Liquidity Ratio คือ อัตราส่วนที่บอกถึงความสามารถของกิจการในการชำระหนี้ระยะสั้น เป็นตัวบอกสภาพคล่องของกิจการว่ามีเงินหมุนเวียนที่คล่องตัวสามารถใช้จ่ายได้อย่างเพียงพอหรือไม่

Profitability Ratio คือ อัตราส่วนที่ใช้ประเมินผลตอบแทนจากการขายสินค้า และผลตอบแทนการลงทุน

Activity Ratio คือ อัตราส่วนที่ใช้บอกว่ากิจการสามารถใช้ทรัพยากร หรือสินทรัพย์ เพื่อก่อให้เกิดผลการดำเนินงานที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพียงใด

ส่วน Leverage Ratio นั้น ตามเนื้อศัพท์แล้ว Leverage แปลว่า คานงัด คานโยก หรือกำลังงัด ดังนั้น Leverage Ratio ก็คือ น้ำหนักของสิ่งของสองสิ่งเมื่อเปรียบเทียบกัน และหากของด้านหนึ่งหนักมากขึ้นแล้วกำลังที่จะยกจะลดน้อยลง เปรียบเทียบเหมือนกับ อัตราส่วนของหนี้สินต่อสินทรัพย์ของกิจการหากมีมากเกินไป กำลังของกิจการในการใช้สินทรัพย์ เพื่อหาเงินมาชำระหนี้ก็จะด้อยลงไป อัตราส่วนตัวนี้ส่วนใหญ่ธนาคารชอบใช้เพื่อที่จะดูว่า กิจการหนึ่งๆมีการก่อหนี้สินไว้แล้วมากน้อยแค่ไหน

ถ้าคุณเห็นภาพความอยากรู้ของบุคคลที่ผมกล่าวถึงทั้งสามชัดเจนอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่าคุณก็จะจับประเด็นที่จะต้องพิจารณาในงบการเงินได้ง่ายขึ้น

ผมจะไม่กังวลหรือให้ความสนใจมากนักว่า อัตราส่วนทางการเงินที่ผมมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือสนองความอยากรู้ดังกล่าว จะมีอัตราส่วนอะไรบ้าง สูตรเป็นอย่างไร ผมคิดว่าคุณสามารถหาได้จากหนังสือที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์งบการเงินโดยทั่วไปได้ไม่ยากนัก

แต่ที่อยากกล่าวถึงต่อไปก็คือ การอ่านหรือวิเคราะห์งบการเงินไม่ได้จบลงที่อัตราส่วนทางการเงินเท่านั้น กล่าวคือ อัตราส่วนทางการเงินไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะเป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างครับ

ผมจึงอยากจะให้ตระหนักถึงคำว่า ใช้เป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ อย่างหนึ่งเท่านั้น ยังมีประเด็น หรือ แง่มุมอื่นๆอีกมากมาย เช่น

การนำเอาอัตราส่วนทางการเงินที่หามาได้ไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆที่อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียกว่า Norm ของอุตสาหกรรม ครับ แต่วิธีนี้คุณจะตีความในทันทีที่เห็นว่าตัวเลขของคุณแย่กว่าไม่ได้ครับ ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุ และปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขเป็นเช่นนั้นด้วย ซึ่งโดยปกติต้องใช้วิธีเจาะตัวเลขลงไปในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

– การวิเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อให้มองเห็นถึงแนวโน้ม คุณลองนำตัวเลขหลายๆปี หลายๆงวดมาวางเรียงกันเป็นคอลัมน์ดูสิครับ คุณจะมองเห็นแนวโน้ม ทิศทาง และภาพรวมของกิจการได้อย่างไม่น่าเชื่อ

– ตัวเลขที่นำมาหาอัตราส่วนทางการเงิน ต้องมีความเที่ยงตรง ถูกต้อง พอสมควร บางครั้งตัวเลขที่เรานำมาใช้เป็นตัวเลขที่เราอาจต้องแตกยอดออก เพื่อแสดงให้ส่วนประกอบสำคัญของตัวเลขนั้นด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลข รายได้จากการขาย ต้นทุนสินค้าที่ขาย และค่าใช้จ่าย ตัวเลขสามตัวนี้อาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากเราไม่ทราบว่า รายได้จากการขาย และต้นทุนสินค้าที่ขาย ประกอบด้วยยอดขาย และต้นทุนของผลิตภัณฑ์หลักๆอะไรบ้าง และแต่ละผลิตภัณฑ์มีกำไรขั้นต้นมากหรือน้อยต่างกันอย่างไร ค่าใช้จ่ายอะไรเป็นค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนเงินสูงที่สุดในค่าใช้จ่ายทุกประเภท เป็นต้น

ขอวกกลับมาที่ Kotler อีกครั้ง ในตอนหนึ่ง Kotler ได้กล่าวไว้ว่า “A Company’s Balance Sheet is a Lie” จุดประสงค์หลักของข้อความดังกล่าวผมเข้าใจว่า Kotler อยากจะเน้นให้เห็นว่า ตัวเลขในงบการเงินนั้น บอกอะไรเราบางอย่าง แต่ไม่ได้บอกอะไรเราอีกหลายอย่างด้วย

กล่าวให้ชัดก็คือ ที่แน่นอนที่สุดคือ งบการเงิน บอกเราเกี่ยวกับ สินทรัพย์ถาวร สินค้าคงเหลือ หนี้สินที่มีอยู่ ทุนของบริษัท แต่ไม่เคยบอกถึง สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนหลายๆประเภท ซึ่ง Kotler ได้ยกตัวอย่างในแง่การตลาดเอาไว้คือ Brand Value, Employee value, value of customer base และ Trade relationship

ซึ่งแนวความคิดของ Kotler ดังกล่าวนั้น ตรงกับหลักการวิเคราะห์งบการเงินข้อหนึ่งที่ว่า ให้คำนึงถึงข้อมูลอื่นที่เป็นข้อมูลในเชิงที่บอกให้เราทราบถึง คุณลักษณะเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย

นอกจากนี้ สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะละเลย และไม่ค่อยให้ความสนใจ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว ผมคิดว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวเลขในงบการเงิน จนถึงขนาดบางกรณีมีความสำคัญกว่าตัวเลขในงบการเงินด้วยซ้ำ นั่นก็คือ การอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงิน และนโยบายการบัญชีที่สำคัญ

ในบางครั้งคุณจะพบว่า สินทรัพย์บางตัวมีข้อจำกัดในการนำมาใช้ เช่น ที่ดินของกิจการ ซึ่งแสดงตัวเลขค่อนข้างสูงในงบการเงิน นายธนาคารผู้พิจารณาว่าจะให้สินเชื่อแก่บริษัทหรือไม่ จะไม่มีวันลืมอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินในหัวข้อ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ว่า สินทรัพย์เหล่านี้ได้ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินกู้ยืมหรือไม่

หรือแม้แต่ในกรณีที่เราคำนวณกำไรขั้นต้นของบริษัท เพื่อเปรียบเทียบกันสองปี พบว่า ปีแรกมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าปีที่สอง แต่ปรากฎว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้น เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีเกี่ยวกับการตีราคาสินค้าคงเหลือ

หากเราไม่ได้อ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินแล้ว เราอาจวิเคราะห์ว่า ปีที่สองบริษัทมีผลการดำเนินงานดีกว่าปีแรก โดยที่ไม่ทราบว่า แท้ที่จริงเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการตีราคาสินค้าคงเหลือ ซึ่งทั้งสองวิธีอาจไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยปกติ

อันเนื่องมาจาก ฟิลลิป คอตเลอร์

วิโรจน์  เฉลิมรัตนา

25 ต.ค. 2544
http://www.bkkonline.com/accounting/25-oct-44.shtml

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.