ถ้าท่านศึกษาบทวิเคราะห์ หรือคำแนะนำของโบรกเกอร์ตาม นสพ.ต่างๆจะพบอยู่บ่อยๆ ว่า มักจะมีคำแนะนำของนักวิเคราะห์ให้ซื้อ ‘หุ้นพื้นฐานดี’ เก็บไว้ลงทุนระยะยาว บางแห่งก็จะบอกชื่อหุ้นให้ซื้อลงทุนเรียบร้อย โดยที่ท่านไม่ต้องไปปวดหัวกับการค้นหา ‘หุ้นพื้นฐานดี’ อย่างที่กล่าวไว้
ขณะที่นักลงทุนจำนวนมากซื้อหุ้นตามที่มีคนบอก จากนั้นจึงค่อยไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนั้นเพิ่มเติมตามหลัง หรือลงทุนโดยซื้อหุ้นตามที่มีคนแนะนำให้เราซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้ โดยที่เราไม่ได้เข้าใจ และศึกษาธุรกิจนั้นอย่างถ่องแท้ด้วยตัวเอง
วิธีการดังที่กล่าวมา จึงไม่ใช่วิธีที่ ‘นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า’ หรือ Value Investor ควรปฏิบัติ
สำหรับ ‘นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า’ ควรจะทำศึกษาหุ้นตัวนั้นและการบ้านอย่างหนักก่อนที่จะลงทุนซื้อหุ้นบริษัทไหนสักบริษัทหนึ่ง
การหา ‘หุ้นพื้นฐานดี’ นั้นไม่ยากเกินความสามารถและเราสามารถค้นหาได้ด้วยตัวเราเอง ยิ่งถ้าเราเข้าใจในธุรกิจที่เราลงทุนแล้ว เราก็ไม่ต้องไปกังวลกับสภาพของตลาดหุ้น ที่ราคาหุ้นอ่อนไหวไปตาม ‘ความโลภ’ และ ‘ความกลัว’ ของอารมณ์นักลงทุนทั้งหลายในตลาด
หุ้นพื้นฐานดีสามารถบอกได้โดยดูจากงบการเงินของบริษัทนั้น ก็คือ งบดุล งบการเงิน และงบกระแสเงินสด โดยดูย้อนหลังไปหลายๆ ปี เพื่อป้องกันการตกแต่งบัญชี และดูความสามารถของบริษัทว่าแข็งแกร่งจริงหรือไม่
วิธีดูหุ้นพื้นฐานดีที่จะกล่าวในที่นี้ จะพูดถึงเฉพาะหุ้นที่มีประวัติการดำเนินงานที่ดี โดยไม่ได้ครอบคลุมถึงหุ้นที่เพิ่งผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ (Turnaround) ที่ผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเวลาไม่นาน
ลักษณะที่ดี 9 ประการของ ‘หุ้นพื้นฐานดี’ ควรจะมีดังต่อไปนี้
1.มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หุ้นที่ดีควรจะมียอดขายที่เติบโตขึ้น ถ้าเติบโตเพิ่มขึ้นได้ทุกปีก็จะดีมาก แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจนั้นมีการขยายตัว และสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นได้ ส่วนหุ้นที่มียอดขายสาละวันเตี้ยลงทุกปีทุกปี น่าจะเป็นหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง หมายถึงว่า กิจการนั้นกำลังถูกคู่แข่งแย่งตลาดสินค้าไป หรือไม่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นก็อาจจะอยู่ในข่ายอุตสาหกรรมตะวันตกดิน (sunset industry) หรือผู้บริหารมีปัญหาในการดำเนินกิจการ แต่ยอดขายเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าหุ้นนั้นเป็นหุ้นพื้นฐานดีหรือไม่ ต้องใช้ปัจจัยอีกหลายอย่างในการวิเคราะห์ธุรกิจ ดังจะกล่าวต่อไป
2. มีการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่ดี
บริษัทที่มีการควบคุมการดำเนินงานที่ดี เราสามารถตรวจสอบดูได้จากงบกำไรขาดทุน โดยสังเกตจากต้นทุนสินค้าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ควรจะไปตามยอดขายของกิจการ ถ้ายอดขายสูงขึ้นค่าใช้จ่ายก็สามารถอนุโลมให้เพิ่มขึ้นได้ตามสัดส่วนยอดขายที่สูงขึ้น แต่ธุรกิจที่ยอดขายลดลงแต่ต้นทุน และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นักลงทุนควรจะระวังและถ้าเกิดขึ้นเป็นประจำควรตรวจสอบให้ดีก่อนลงทุนในบริษัทนั้น
3. ไม่ประสบปัญหาขาดทุน
บริษัทที่ดีควรจะมีความสามารถในการทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ บริษัทที่ประสบภาวะขาดทุน เป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพของผู้บริหาร ถ้าขาดทุนตลอดปีหรือไม่ ก็ขาดทุนปีเว้นปี นักลงทุนควรเอาเวลาไปศึกษาธุรกิจอื่นจะดีกว่า ยกเว้นท่านที่ชอบลงทุนใน ‘หุ้นฟื้นคืนชีพ’ (Turnaround) ที่ขาดทุนมาหลายปีอยู่ดีๆ ก็กลับมาทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ อันนี้ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน แต่สำหรับท่านที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการลงทุนมากนัก ควรหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีผลดำเนินงานขาดทุนจะปลอดภัยกว่า
4. เงินทุนหมุนเวียนเป็นบวก (Positive Working Capital)
ธุรกิจที่ดีควรมีทรัพย์สินหมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน เพราะธุรกิจควรมีการเตรียมความพร้อมของเงินทุนระยะสั้นให้เพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้สินระยะสั้น มิฉะนั้นธุรกิจอาจจะมีปัญหาการเงินเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการกู้ยืมระยะสั้นมาก อาจจะต้องสำรองเงินสดไว้พอสมควรทีเดียวสำหรับการจ่ายคืนหนี้ที่เรียกเก็บภายใน เวลาไม่นาน ยกเว้นธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจค้าปลีก หรือค้าส่ง ที่รับเงินจากการขายให้กับลูกค้าเป็นเงินสดแต่ได้เครดิตจากผู้ผลิตสินค้าเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะจ่ายเงิน ในกรณีนี้เงินทุนหมุนเวียนอาจจะติดลบได้ ซึ่งกลับกลายเป็นจุดแข็งสำหรับธุรกิจประเภทนี้เสียอีก เพราะแทนที่จะต้องมีเงินสำหรับของที่อยู่ในสต็อกกลับเป็นผู้ผลิตสินค้าที่จะต้องเป็นคนจ่ายเงินค่าสินค้าคงคลังแทน
5. มีหนี้ไม่มากหรือมีหนี้อยู่ในฐานะที่เหมาะสม
ตัวเลขคร่าวๆ ที่ใช้กันส่วนใหญ่ในการตรวจสอบสภาพหนี้สินของธุรกิจก็คือ ‘อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน’ (Debt/Equity Ratio) ธุรกิจที่มีหนี้สินต่อทุนสูง แสดงว่า มีการกู้ยืมหนี้ระยะยาวมาก และทำให้ธุรกิจนั้นมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจสูง อัตราหนี้สินต่อทุนที่พอเหมาะที่ใช้กันทั่วไปคือ น้อยกว่าหนึ่งเท่า หรือไม่เกินสองเท่า
6. มีกำไรสะสม (Retain Earning) เพิ่มขึ้นทุกปี
ธุรกิจที่ดีควรมีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และสามารถนำกำไรสะสมนั้นไปลงทุนต่อให้งอกเงยเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ธุรกิจที่มีกำไรสะสมลดลง นักลงทุนควรตั้งคำถามก่อนที่จะลงทุนในบริษัทนั้นว่า บริษัทนำกำไรสะสมนั้นไปใช้ ทำอะไรและมีประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นหรือไม่
7. มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder Equity) เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ
บริษัทที่สามารถเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอนับว่า เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้บริหารในการนำเงินของบริษัทไปลงทุนในกิจการที่มีประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ควรหลีกเลี่ยงบริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นลดลงหรือติดลบ แสดงว่า ธุรกิจนั้นที่ผ่านมามีการขาดทุนเกิดขึ้น
8. กำไรต่อยอดขาย (Profit Margin) มากพอสมควร
ธุรกิจที่มีกำไรต่อยอดขายสูง แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุนของกิจการในระดับที่ดี แต่กำไรต่อยอดขายสูง อาจจะดึงดูดให้คู่แข่งหน้าใหม่ๆเข้ามาในอุตสาหกรรมนั้นมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีการแข่งขันสูงส่วนมากจะมีกำไรต่อยอดขายต่ำ เพราะมีการตัดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าและบริการของตน ทำให้กำไรของทั้งอุตสาหกรรมลดลง ดังนั้น ธุรกิจที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงก็คือ ธุรกิจที่มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำ (Cost Leadership)
9. ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Return on Equity) สูง
ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น คำนวณจาก กำไรหารด้วยส่วนผู้ถือหุ้น (Net Profit/ Equity) ธุรกิจที่มีผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นสูงแสดงว่า ผู้บริหารสามารถบริหารเงินทุนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางธุรกิจที่มีเงินกู้ยืมสูงก็อาจจะทำให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นสูงขึ้นได้ เพราะเงินลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของหนี้สินระยะยาวมากกว่าส่วนผู้ถือหุ้น ดังนั้น ในบางกรณีอาจจะจำเป็นต้องใช้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return on Total Capital) ในการตรวจสอบความสามารถในการดำเนินงานของธุรกิจนั้น จะเหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากได้รวมส่วนหนี้สินระยะยาวในการคำนวณไว้ด้วย
ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน หาได้จากกำไรหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นและหนี้สินระยะยาว (Net Profit/(Longterm Liability+Equity)) บริษัทที่มีผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง จะน่าสนใจกว่าบริษัทที่มีอัตราส่วนนี้ต่ำ
การค้นหาลักษณะที่ดี 9 ประการข้างต้นของหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะช่วยให้ท่านมีความรู้ความเข้าใจในหุ้นที่ท่านลงทุนมากขึ้น แทนที่จะรอให้คนอื่นหรือนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ตามโบรกเกอร์ต่างๆ มาแนะนำ ‘หุ้นพื้นฐานดี’ ให้กับท่าน
ท่านสามารถที่จะเริ่มศึกษาและค้นหา ‘หุ้นพื้นฐานดี’ ได้ด้วยตัวท่านเอง ซึ่งนับว่าเป็นหนทางในการเป็น ‘นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า’ หรือ Value Investor ที่ดีทางหนึ่ง
LoL, lady you really laid out that research. Well while I’m here, if you need any type of online marketing visit http://nbsincorp.com Business Coach
Thanks for this nice article. Assist in making my research a lot.