หลักสังเกต “Global Funds Flow”

การเข้าใจสภาพคล่อง (Liquidity) ในตลาดโลก (Global) สามารถช่วยให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ถึงกระแสเงินที่ไหลเข้าตลาดทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในบางสถานการณ์ การที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือปรับตัวลดลงไม่ใช่เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน หรือผลการประกอบการอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากแรงขับเคลื่อนของพลังเม็ดเงิน (Global Funds Flow) ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งสามารถเกิดจากปัจจัย ดังต่อไปนี้

ปัจจัยที่ 1 การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งในโลก มีนโยบายดอกเบี้ยต่ำมากเป็นพิเศษ ทำให้ประเทศอื่นๆ พากันมากู้เงินเพื่อไปลงทุนและเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) และสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Assets) เช่น น้ำมัน และแร่ธาตุต่างๆ

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีนโยบายดอกเบี้ย 0% มาประมาณ 7-8 ปี โดยเป็นนโยบาย Zero-Interest-Rate Policy การที่ญี่ปุ่นมีดอกเบี้ย 0% นี้ ทำให้หลายประเทศในโลกรวมทั้งกองทุนในญี่ปุ่นกู้เงินญี่ปุ่นมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก (เราเรียกว่า Yen Currency Trade)

เพราะฉะนั้น การที่ตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์หรือตลาดหุ้นในหลายประเทศได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนกระทั่งแตะ New High (ทำสถิติสูงสุด)เป็นผลมาจาก Yen Carry Trade ค่อนข้างมาก ถ้าอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นมาก จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องด้วยเช่นกัน เนื่องจากกองทุนต่างๆ ต้องคืนเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยง และอาจนำไปสู่การขายทรัพย์สิน (Unwinding Position)

ปัจจัยที่ 2 การที่มีเงินออมในกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่งมาก เช่น ประเทศที่มีอัตราการออม (Gross Domestic Savings) มากกว่าอัตราการลงทุน (Gross Fixed Investment Ratio) ค่อนข้างมาก จะทำให้เกิดเงินออมส่วนเกิน (Excess Saving) ขึ้น และเงินออมส่วนนี้ จะไม่ได้นำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทผลิต แต่จะทำให้เกิดมีสภาพคล่องมาลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่ 3 การที่มีกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง มีการเพิ่มขึ้นของดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ที่เป็นสัดสัดที่สูงของผลิตภัณฑ์ในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งการเพิ่มขึ้นของดุลบัญชีเดินสะพัดมากๆ จะนำไปสู่ความมั่งคั่งของกลุ่มประเทศนั้น เช่น ประเทศจีน ได้มีดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในปี พ.ศ.2544 มาเป็น 7% ของจีดีพี ในปัจจุบัน หรือการที่ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง (Middle East) ได้กำไรและเม็ดเงินจากการที่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ทำให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่ 4 การที่กลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่งมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น (Forex Reserve) อย่างรวดเร็ว เช่น เงินทุนสำรองของกลุ่มประเทศในเอเชีย (ยกเว้น ประเทศญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2543 มาสู่ปัจจุบันที่มากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯส่วนใหญ่มาจากการสั่งสมความมั่งคั่งของประเทศจีน ถ้ารวมญี่ปุ่นด้วยแล้ว เงินทุนสำรองของเอเชีย จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว การที่ Forex Reserve เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ฐานเงินที่กว้างขึ้น (Money Supply) และนำไปสู่การเพิ่มการลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น

ปัจจัยที่ 5 ตัวเลขอัตราการเติบโตของอุปทานเงิน (Money Supply) หารด้วยการเติบโตของผลิตภัณฑ์ในประเทศ หรือสามารถเขียนได้ด้วยสูตร M2 Growth หารด้วยจีดีพี Growth

ถ้าอัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า มีสภาพคล่องในระบบที่สูงมาก แต่ไม่ได้ถูกนำมาลงทุนในเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets)

(M1 คือปริมาณเงินอย่างแคบ ซึ่งประกอบด้วยเงินตราในประเทศ (Non-residence Baht account) + เงินสด + เงินในบัญชีกระแสรายวัน

ในขณะที่ M2 คือประมาณเงินอย่างกว้าง ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวเลขใน M1 รวมกับเงินออมในบัญชีออมทรัพย์ และบัญชีเงินฝากประจำ)

ตัวเลขอัตราส่วนนี้จึงเป็นปัจจัยชี้นำล่วงหน้า (Leading Indicator) พอสมควร ซึ่งอยู่ในระหว่าง 6 เดือน ถึง 2 ปี ล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในประเทศนั้น ซึ่งถ้านักลงทุนสามารถทราบถึงปัจจัยที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุปทานเงิน เช่น การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ การโยกย้ายเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ต่างๆ เหล่านี้เป็นการเพิ่ม M2 ทั้งสิ้น การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้ จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของขนาดตลาดทุนในเวลาต่อมา

ปัจจัยที่ 6 การที่เป็น High Yield Currency ของประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ถ้ามีประเทศใดประเทศหนึ่งใช้นโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางในอัตราที่สูง ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ (ไม่หวือหวา หรือ Volatile) เกินไปนัก ประเทศนั้นจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากเลยทีเดียว เช่น สกุลเงินบาทของไทยมีความเสถียรภาพมากกว่าเงินรูเปียะของอินโดนีเซีย

ปัจจัยที่ 7 Printing Money หรือการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลใช้นโยบายการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในตลาดเงิน โดยการเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียน เนื่องจากค่าเงิน ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นค่าเงินสกุลกลางของหลายประเทศได้ นอกจากนี้ ยังมีการก่อหนี้โดยการเพิ่มปริมาณสินเชื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดจากการมีโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่( Infrastructure Project) เพิ่มขึ้น หรืออุตสาหกรรมขยายตัว

ปัจจัยที่ 8 การโยกย้ายเงินระหว่างชั้นของสินทรัพย์ ซึ่ง Funds Flow ในลักษณะนี้จะเป็นการเคลื่อนย้ายตามวงจร และวัฏจักรของเศรษฐกิจ เช่นใน ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มพื้นตัวใหม่ๆ จะมีเม็ดเงินโยกมาจากตลาดพันธบัตรมาลงทุนในหุ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาหุ้นในช่วงเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะมีราคาค่อนข้างถูก และราคาหุ้นจะสะท้อนราคาในอนาคตค่อนข้างเร็ว

เพราะฉะนั้น ราคาหุ้นในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จะเป็นรูปแบบกระทิงเต็มตัว จากนั้น เม็ดเงินจะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) หลังจากนั้น เมื่อเม็ดเงินที่เข้าไปเก็งกำไรในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ถูกขายทำกำไรออกมา เม็ดเงินก็อาจจะถูกนำไปเก็งกำไรในหุ้นอีกครั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยจนกระทั่งอาจนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ย ในช่วงนั้นเองที่หุ้นจะเป็นขาขึ้นแบบแรงๆ อีกครั้งหนึ่ง ที่เราเรียกว่า Late Cycle Bull ก่อนถดถอยลงอีกครั้งอย่างรวด

ข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ

Author: admin

1 thought on “หลักสังเกต “Global Funds Flow”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.