ความมั่งคั่ง ความร่ำรวย หรือการเป็นเศรษฐี สำหรับคนที่ไม่ได้มีพ่อแม่ร่ำรวยมาก่อนนั้น สำหรับคนจำนวนมากดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก บางคนอ่านหนังสือเกี่ยวกับการออมก็มักได้รับคำแนะนำที่ทำได้ยาก เช่น บอกว่าให้กันเงินจากเงินเดือนหรือรายได้ 10-20% เก็บไว้ก่อน ไม่ใช่ใช้ก่อนเหลือแล้วค่อยเก็บ ปัญหาก็คือ รายได้นั้นไม่ค่อยพอใช้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้ใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพราะค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดไม่ค่อยได้ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งผมเองเห็นด้วย วิธีการที่จะทำให้เรามั่งคั่งนั้น ถ้าจะให้ปฏิบัติได้จริง ต้องไม่ทำให้เรารู้สึกลำบาก หรือรู้สึกว่าความสุขหายไปมากและเป็นเวลานาน เหนือสิ่งอื่นใด ความอยากรวยนั้นก็เพื่อที่จะทำให้มีความสุข ดังนั้น การเสียสละความสุข เพราะต้องลดค่าใช้จ่ายเป็นเวลานานนั้นจึงไม่มีเหตุผล
ต่อไปนี้ เป็นแนวทางหรือจะเรียกให้เท่ก็คือ เป็นสูตรที่จะช่วยให้เรามีความมั่งคั่ง ร่ำรวย หรือแม้แต่เป็นเศรษฐีโดยเราไม่จำเป็นต้องรู้สึก “อดอยาก” และเป็นสูตรที่เหมาะมาก โดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานหลังจากที่จบการศึกษาใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม คนที่มีอายุมากขึ้นแล้วก็สามารถประยุกต์ใช้ได้เท่าที่จะทำได้
ข้อแรกก็คือ ถ้าคิดว่าเรายังไม่รวย อย่าซื้อรถ การซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้นั้น เท่ากับเรากำลังสร้างรายจ่ายที่ลดได้ยากมาก และทุกเดือนเราจะมีรายจ่ายเป็นหมื่นหรือหลายหมื่นเป็นค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าซ่อม และอื่นๆ บางทีรายจ่ายนั้นอาจจะไม่เป็นตัวเงินจริง เนื่องจากเราซื้อรถด้วยเงินสด เราไม่เสียค่าผ่อนรถ แต่จริงๆแล้วเราก็มี “ค่าเสื่อม” ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ต่างกับค่าผ่อนรถนัก หลายคนอาจจะเถียงว่า เขาสามารถประหยัดค่ารถเมล์ ค่ารถไฟฟ้า หรือค่าแท็กซี่ลง แต่ถ้าคิดคำนวณค่าใช้จ่ายทุกด้านของการมีรถยนต์ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการใช้รถสาธารณะนั้นประหยัดกว่ามาก และจะทำให้เรามีเงินเหลือเก็บและลงทุนได้มากกว่า
ข้อสอง อย่าซื้อบ้านถ้าไม่จำเป็น และถ้าจำเป็นก็ซื้อบ้านที่เล็กที่สุดที่จะเพียงพออยู่ สำหรับตนเองและคู่ครองและลูกที่มีอยู่ หรือที่วางแผนที่จะมีในอนาคต ทำเลของบ้านควรอยู่ในที่ที่การเดินทางไปทำงาน หรือไปเรียนสะดวกและไม่ต้องต่อรถหลายๆต่อ ซึ่งจะทำให้ “ค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยและเดินทาง” ต่ำที่สุด คำว่าค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยนั้น บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่ามีเพราะเขาไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่จริงๆแล้ว การมีบ้านที่ใหญ่จะทำให้ค่าบ้านสูง ซึ่งทำให้ต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านแต่ละเดือนมากขึ้น ไม่นับรายจ่ายอื่นๆ ที่ตามมาจากการมีบ้านที่ใหญ่ขึ้น นี่เป็นความคิดที่อาจจะแย้งกับอีกหลายคนที่บอกว่าควรซื้อบ้านใหญ่ที่สุดที่ สามารถผ่อนได้ เพราะบ้านนั้นเป็นเหมือน “การลงทุน” และการอยู่บ้านใหญ่นั้น “มีความสุข” มากกว่า แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวผมเองนั้นพบว่า บ้านอยู่อาศัยนั้นราคามักจะไม่ค่อยขึ้น เช่นเดียวกันบ้านที่ใหญ่เกินความจำเป็นนั้น ถ้าจะเพิ่มความสุขได้ก็น่าจะน้อยและไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ข้อสาม มีลูกให้น้อย อย่าเกินสองคนก็ดี เพราะลูกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการเลี้ยงดู และให้การศึกษา คำสมัยก่อนก็คือ มีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปี แต่สมัยนี้ผมคิดว่ายาวกว่านั้น คนในสมัยก่อนมีลูกเพราะคิดว่าเป็น “การลงทุน” นั่นคือ หลังจากที่ลูกโตเขาก็กลับมาเลี้ยงเรา ดังนั้น เขาจึงมีลูกมากแต่ในปัจจุบันความคิดนี้ก็ใกล้หรือกำลังหมดไป เราไม่หวังให้ลูกมาเลี้ยงเราแล้ว ดังนั้น ถ้าอยากรวย อย่ามีลูกมาก
ข้อสี่ รายจ่ายค่าสมาชิกทั้งหลาย เช่น สมาชิกสถานออกกำลังกาย สมาชิกเคเบิลทีวีราคาแพง สมาชิกที่สามารถพักตามเครือข่ายโรงแรมตากอากาศหลายแห่ง เหล่านี้เป็นความบันเทิงหรือการดูแลสุขภาพ ที่เราสามารถหาซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก เช่น แทนที่จะเข้าฟิตเนส เราสามารถไปสวนสาธารณะที่มีการเต้นแอโรบิกที่สนุกสนานทุกวันโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เคเบิลทีวีราคาถูกเดี๋ยวนี้บางแห่งมีรายการดีมากเกือบเท่าแบบที่มีราคาแพง แต่เสียค่าใช้จ่ายแค่เดือนละ 200 บาทก็มี พูดถึงเรื่องการพักผ่อนต่างจังหวัดแล้วก็ทำให้ผมมีข้อแนะนำอีกว่า “อย่าซื้อคอนโดหรือบ้านพักในสถานที่ท่องเที่ยว” เพราะนี่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เทียบกับการที่เราไปเช่าโรงแรมอยู่ คนอาจคิดว่านี่เป็น “การลงทุน” แต่จริงๆแล้ว ราคาก็มักจะไม่ค่อยขึ้นหรือถึงขึ้นเราก็มักจะไม่ขาย ในระหว่างนั้น เราก็ต้องผ่อนส่งรายเดือนหรือต้องเสีย “ค่าเสื่อม” ไปเรื่อยๆ เหนือสิ่งอื่นใด การพักโรงแรมนั้นเราไม่ต้องดูแลทำความสะอาด และเราจะไปพักสถานที่ไหนก็ได้ ซึ่งทำให้เรามีความสุขมากกว่า
ข้อห้า ถ้าอยากรวย นอกจากปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นแล้ว จะต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และเก็บออมเงินให้มากที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องประหยัดเกินความจำเป็นจนทำให้เรารู้สึกไม่สบาย สิ่งนี้ทำไม่ยากถ้าเรารู้จักซื้อของแบบเน้น “คุณค่า” นั่นคือ ใช้เงินน้อยแต่สามารถตอบสนองความต้องการเกิน 90% ตัวอย่างง่ายที่สุด ก็คือ การซื้อของไม่มียี่ห้อที่มีคุณภาพดี หรือซื้อของมียี่ห้อในช่วงที่มีการลดราคามากๆ เป็นต้น
สุดท้าย ก็คือ ถ้าคุณต้องการแค่ว่าคุณจะสามารถอยู่อย่างสบายมีเงินพอสมควร แต่ไม่ต้องการความผันผวนของความมั่งคั่ง คุณจะต้องบริหารเงิน โดยการจัดสรรทรัพย์สินให้อยู่ในหลักทรัพย์หลายๆอย่าง รวมถึงพันธบัตรและหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าจะบริหารเอง หรือมอบให้ “มืออาชีพ” ซึ่งก็คือบริษัทจัดการการลงทุนทำ แต่ถ้าคุณอยากรวยหรือเป็นเศรษฐีละก็ คุณควรลงทุนเงินที่เหลือเก็บไว้ในหุ้นเพียงอย่างเดียว การลงทุนในหุ้น ในระยะยาวมากๆนั้น ความเสี่ยงจะไม่สูงและผลตอบแทนจะสูงกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่นมาก ดังนั้น ถ้าคุณมีเวลาในการเก็บเงินและลงทุนยาวเป็น 20-30 ปี ผมแนะนำว่าให้ลงทุนเงินทุกบาททุกสตางค์ในหุ้น ไม่ว่าจะลงเองหรือใช้มืออาชีพลงให้ นอกจากนั้น ในการลงทุนถ้าได้ผลประโยชน์ทางภาษีด้วย เช่น การลงทุนใน LTF หรือ RMF ก็ควรใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่
และเช่นเคย สิ่งที่แนะนำมาทั้งหมดนั้น ไม่รับประกันว่าคุณต้องรวยแน่นอน แต่ผมคิดว่ามันเพิ่มโอกาสการเป็นเศรษฐีให้คนที่ปฏิบัติขึ้นมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าไม่ได้เป็นเศรษฐี คุณก็คงไม่จน และมีความสุขเพิ่มขึ้นแน่นอน
สูตรเศรษฐี
โลกในมุมมอง Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วันที่ 9 ธ้นวาคม พ.ศ. 2552