สหรัฐพลิกจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยม? – ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

278_cartoon_global_economicsmall

เมอร์ริล ลินช์ ได้วิเคราะห์เอกสารนำเสนองบประมาณประจำปีของประธานาธิบดีโอบามาได้เอาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผมได้นำมาแปรสรุปข้างล่างนี้

เอกสาร งบประมาณของประธานาธิบดีโอบามา ไม่ใช่การนำเสนอเพียงแต่ตัวเลขรายจ่าย/รายรับของรัฐบาล แต่เป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่จะปรับเปลี่ยนปรัชญาการดำเนินนโยบายจากทุนนิยม ที่เริ่มโดยประธานาธิบดีเรแกนเมื่อ 30 ปีก่อนมาเป็นนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ซึ่งฝ่ายซ้ายในพรรคเดโมแครตรู้สึกปีติยินดีอย่างมาก โดยคอลัมนิสต์ของสหรัฐคนหนึ่ง กล่าวสรุปว่าเป็น “the boldest social democratic manifesto ever issued by a US President” ส่วนนักวิเคราะห์ฝ่ายทุนนิยมแปลความว่า เป็นการกล่าวโทษคนรวยว่าเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้ง นี้ และจะต้องถูกเก็บภาษี เพื่อชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

หากมองกลับไปเมื่อประธานาธิบดีเรแกนเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 1980 ก็จะจำได้ว่าประธานาธิบดีเรแกนประกาศนโยบาย 4 ประการ คือ

1. ลดขนาดของภาครัฐบาล (เพราะเชื่อว่ารัฐเข้ามาแทรกแซงภาคเอกชนยิ่งน้อยยิ่งดี)

2. ลดภาษี

3. พัฒนาแสนยานุภาพทางการทหารของสหรัฐ

4. ลดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ประกอบธุรกิจได้เสรียิ่งขึ้น

ประธานาธิบดี เรแกนสามารถผลักดันนโยบายทั้ง 4 ประการได้เป็นผลสำเร็จ ประธานาธิบดีคลินตันที่รับตำแหน่งต่อมาก็มิได้ปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการผลักดันต่อเนื่องโดยประธานาธิบดีบุชทั้งบุชคน พ่อและบุชคนลูก

แต่นโยบายของประธานาธิบดีโอบามานั้นก็มีอยู่ 4 ประการ คือ

1. ปฏิรูประบบสาธารณสุขให้ประชาชนทุกคนมีประกันสุขภาพ โดยเพิ่มรายจ่ายของรัฐและลดราคายา

2. ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและให้มีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

3. ผลักดันพลังงานทดแทนและเศรษฐกิจ “สีเขียว” ที่มีรัฐบาลควบคุมและหนุนหลัง

4. ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนโดยการเก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ใน 4 ปีข้างหน้า

นโยบาย ดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการใช้จ่ายก่อนแล้วหาเงินมาใช้คืนทีหลัง เช่นปีนี้รัฐบาลอเมริกันจะใช้เงินทั้งสิ้น 3.75 ล้านล้านดอลลาร์จากเดิมที่รัฐบาลเคยใช้จ่ายไม่ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ทำให้สัดส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 2007 เป็น 27.7% ในปีนี้ โดยจะมีการขาดดุลสูงถึง 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ และคาดหวังว่าจะลดการขาดดุลลงมาเหลือ 581,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2012 (คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 3.5% ของจีดีพี) ทั้งนี้ ประเด็นที่น่ากังวล คือ การลดการขาดดุลดังกล่าวมาจากการเพิ่มรายได้ภาษี ซึ่งเมอร์ริล ลินช์ มีข้อสังเกตว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะการคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่เป็นสมมติฐานว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วและ สามารถขยายตัวปีละ 4% (ปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะหดตัว 2-5%) และรัฐบาลจะเพิ่มการเก็บภาษีคนรวยที่สุด 1% ของประเทศที่มีรายได้เกินกว่า 200,000 ดอลลาร์ต่อปี

เมอร์ริล ลินช์ มองว่าสิ่งที่น่าจะขยายตัวไม่ใช่เศรษฐกิจ แต่คงจะเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐและหนี้สาธารณะมากกว่า โดยคาดว่าหนี้สาธารณะน่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 67.2% ของจีดีพีใน 10 ปีข้างหน้า (ปัจจุบันเท่ากับ 58.7% ของจีดีพี) ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลโอบามาจะมุ่งเน้นการเก็บภาษีคนร่ำรวยเพิ่มนำมาใช้จ่ายให้คนจน แต่คนรวยนั้นมิได้ร่ำรวยเช่นแต่ก่อน เพราะแม้รายได้อาจจะยังสูงอยู่แต่ทรัพย์สินต่างๆ ได้เสื่อมราคาลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นราคาบ้าน ราคาหุ้น และราคาตราสารต่างๆ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงจะถูกซ้ำเติมโดยการเก็บภาษีเพิ่ม ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงพร้อมๆ กับการลดรายจ่ายของคนจน ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเสี่ยงต่อการตกต่ำลงไปอีก เพราะแทนที่รัฐบาลโอบามาจะมุ่งเน้นการฟื้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการ ฟื้นฟูธนาคารและระบบสินเชื่อ แต่กลับเน้นการลดส่วนต่างของรายได้ กล่าวโดยสรุปคือรัฐบาลเน้นการกระจายรายได้ แต่ไม่ได้เน้นการสร้างรายได้ของประชาชน

จึงสรุปได้ว่านโยบาย เศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามานั้น ทำทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีเรแกน ซึ่งนักลงทุนจะต้องย้อนกลับไปดูว่าสมัยที่ประธานาธิบดีพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ แล้วนั้น เศรษฐกิจสหรัฐประสบความรุ่งเรืองอย่างมาก คือ

1. เงินดอลลาร์แข็งค่ามากโดยเฉลี่ยปีละ 5% (ประเทศพัฒนาแล้วชอบให้เงินของประเทศแข็งค่าเพราะทำให้ประชาชนของเขามีกำลัง ซื้อสินค้าและบริการของโลกมากขึ้น ผิดกับประเทศเอเชียที่มักชอบให้เงินของตนอ่อนค่าเพราะนิยมการส่งออก)

2. ราคาทองลดลง 28% เพราะไม่มีปัญหาเงินเฟ้อและเกิดความมั่นใจในเศรษฐกิจ

3. ดอกเบี้ยลดลงโดยเฉพาะผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลง 7.3% เนื่องจากเงินเฟ้อลดลงและหนี้ภาครัฐก็ปรับลดลงด้วย

4. การค้าเสรียิ่งขึ้นและมีการลดกฎเกณฑ์การทำธุรกิจ ทำให้เกิดความคล่องตัวทางธุรกิจและเปิดลู่ทางในการทำธุรกิจมากขึ้น

เนื่อง จากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยปรับลดลงพร้อมกับความเฟื่องฟูของภาคธุรกิจ จึงไม่แปลกที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 120% ในยุคของเรแกน ทั้งนี้ ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นเพราะกำไรของธุรกิจเพิ่มขึ้นและพีอีของหุ้นเพิ่มขึ้น ด้วย เพราะนักลงทุนเชื่อว่ากำไรในอนาคตของบริษัทจะเพิ่มขึ้น กล่าวโดยสรุป คือ จีดีพีของสหรัฐขยายตัวเฉลี่ย 3.5% ต่อปี ในขณะที่การว่างงานลดลง 2%

เมอร์ริ ล ลินช์ แนะนำว่าในเมื่อนโยบายของประธานาธิบดีโอบามานั้นตรงกันข้ามกับนโยบายของ ประธานาธิบดีเรแกน แนวโน้มตลาดหุ้น ค่าเงินดอลลาร์ จีดีพี ฯลฯ ก็น่าจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามเช่นกัน กล่าวคือ อย่านึกว่าเศรษฐกิจและการจ้างงานจะฟื้นตัวแรงและฟื้นตัวเร็วดังที่กำลังคาด การณ์กันในขณะนี้

ผมนำเสนอแนวคิดนี้เพื่อเป็นการมองต่างมุม จากกระแสปัจจุบันที่กล่าวโทษความเกินเลยของระบบทุนนิยมและนายธนาคารที่สร้าง ปัญหาทางการเงินที่นำความเดือดร้อนมาสู่เศรษฐกิจโลก ซึ่งแนวทางในการเยียวยา คือ ให้ลงโทษนายธนาคารและให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมระบบทุนนิยมอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกัน ก็ให้รัฐบาลรีบใช้เงินจำนวนมากๆ มาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบการฟื้นฟู เศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะภาคเอกชนนั้นขาดความน่าเชื่อถือไปแล้ว และแม้ว่ารัฐบาลจะต้องขาดดุลงบประมาณมากๆ (สร้างหนี้สินมากๆ) ก็ไม่เป็นไร และหากจะต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากคนร่ำรวยก็ไม่เป็นไร เพราะในอดีตคนที่ร่ำรวยก็เป็นผู้ที่เคยได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ เกิดขึ้น

หากพิจารณาจากตัวเลขประมาณการรายได้และหนี้สาธารณะของ รัฐบาลโอบามาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต ทำให้น่าเป็นกังวลว่าสหรัฐอาจเผชิญกับปัญหาวินัยการคลังใน 5 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวดังที่ประธานาธิบดีโอบามาคาดการณ์เอาไว้ครับ

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.