วิวาทะขึ้นภาษีบนทางแพร่ง ‘เศรษฐกิจพัง’ กับ ‘การเมืองล้ม’ : Posttoday

ที่เมืองไทยกำลังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างถึงข้อเสนอให้ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)

แม้ว่า กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จะยืนยันแล้วว่าจะคงภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ต่อไปอีก 2 ปี แต่วิวาทะนี้มีวี่แววที่จะกลายเป็นประเด็นร้อนต่อไป อย่างน้อยก็ในรัฐบาลชุดต่อไป ที่จะต้องรับภาระการจัดเก็บภาษีต่อจากรัฐบาลชุดนี้ที่ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลมหาศาล

และอย่างน้อยวิวาทะการขึ้นแวตจะไม่เป็นแค่ประเด็นร้อนสำหรับภาครัฐเท่านั้น แต่ในช่วงเวลาที่มีการกล่าวถึงปัญหาช่องว่างความมั่งคั่งของประเทศในวงกว้าง สาธารณชนอาจรู้สึกไม่พอใจหากรัฐจะแก้ปัญหาการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติม ด้วยการโยนภาระภาษีอย่างเท่าเทียมกันผ่านแวต แทนที่จะใช้ระบบภาษีก้าวหน้า หรือปัดภาระด้านภาษีไปให้ผู้ที่มีรายได้สูงแบกรับมากกว่า แทนที่จะเกลี่ยให้คนรายได้น้อยอย่างเท่าๆกัน

ปัญหาการขึ้นแวตและการโยนภาระภาษี มิใช่เพียงวิวาทะร้อนแรงสำหรับไทยเท่านั้น แต่เป็นประเด็นปัญหาที่สาธารณชนในประเทศชั้นนำทั่วโลกต่างประสบเช่นเดียวกัน

ที่สหรัฐ มีการยกประเด็นการขึ้นแวตเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลมหาศาลมาตั้งแต่ต้นปี แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน เพราะเกิดการโต้เถียงเรื่องภาระภาษีที่ไม่เป็นธรรมกับคนรายได้ต่ำ

ที่กรีซ ชูนโยบายจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมครั้งใหญ่เพื่อแก้วิกฤตหนี้สาธารณะ ซึ่งตามมาด้วยกระแสความไม่พอใจในวงกว้าง จนยังผลให้เกิดการนัดหยุดงานประท้วงอย่างต่อเนื่อง

ที่ญี่ปุ่น รัฐบาลพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น(ดีพีเจ) มีแผนการที่จะขึ้นภาษีเช่นกัน ด้วยเหตุผลเดียวกับสหรัฐและกรีซ ทว่าล่าสุด นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง กลับยืนยันว่าจะยังไม่มีการขึ้นภาษีในเร็วๆนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเพราะกังวลกับผลร้ายทางการเมืองที่จะติดตามมานั่นเอง

จากที่ไล่เรียงสถานการณ์การขึ้นภาษีในแต่ละประเทศ สามารถแจกแจงประเด็นปัญหาได้ 2 ข้อ คือ

ข้อแรก ปัญหาจากความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันของผู้มีรายได้ต่างกัน แต่ต้องแบกรับภาษีอย่างเท่าเทียมกัน

ข้อสอง ปัญหาในเชิงการเมือง จากความลักลั่นของรัฐบาลที่ต้องการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขาดดุล แต่ก็เกรงว่าอาจต้องสูญเสียฐานะรัฐบาล เพราะประชาชนไม่พอใจกับการขึ้นภาษี

สำหรับปัญหาแรกนั้น กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในสหรัฐและในอีกหลายประเทศที่มีช่องว่างความมั่งคั่งค่อนข้างกว้าง

ขณะนี้ที่สหรัฐ กำลังเผชิญกับประเด็นปัญหา 2 ระดับ

ประเด็นระดับแรก คือ ความพยายามที่จะขึ้นแวต ซึ่งเป็นท่าทีที่ถูกมองว่าเป็นไปในเชิงรุกเกินไป และสุ่มเสี่ยงกับความพ่ายแพ้ทางการเมือง เพราะประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีพอ อีกทั้งการขึ้นแวตอาจทำให้การฟื้นตัวสะดุดลง เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการใช้จ่าย

ประเด็นปัญหาอีกระดับ คือ การประนีประนอม ด้วยการยกเลิกนโยบายลดภาษีของรัฐบาลชุดที่แล้วเฉพาะกับผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้น แต่คนที่มีรายได้ลำดับลงมายังอยู่ภายใต้มาตรการลดภาษีเช่นเดิม ทว่า พรรครีพับลิกันแย้งว่าการทำเช่นนั้นจะกระทบเจ้าของธุรกิจขนาดย่อม อันเป็นแรงขับสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐ

เหตุใดการยกเลิกมาตรการลดภาษีคนที่มีรายได้สูง หรือมีรายได้กว่า 2.5 แสนเหรียญสหรัฐต่อปี ตามข้อเสนอของพรรคเดโมแครตจึงกระทบต่อธุรกิจขนาดย่อม?

นั่นก็เพราะเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมในสหรัฐล้วนแต่เป็นผู้ที่มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ธุรกิจขนาดย่อมเป็นภาคที่มีการจ้างงานในสัดส่วนสูงถึง 52% ของการจ้างงานทั้งหมด

ความลักลั่นลักษณะนี้ กำลังเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้รัฐบาลสหรัฐพบกับความคืบหน้ามากนักในความพยายามจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มเติม โดยมิให้กระทบต่อเศรษฐกิจและฐานะทางการเมือง

ขณะที่สหรัฐกำลังคำนวณผลได้ผลเสียจากการขึ้นภาษี ประเทศที่ขึ้นภาษีไปเรียบร้อยแล้วอย่างกรีซกำลังเป็นตัวอย่างที่ไม่น่าพิสมัยจากการขึ้นภาษีในแทบทุกมิติของการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ เพราะแม้แต่สื่อโฆษณายังตกเป็นเหยื่อของการขึ้นภาษี

มาตรการขึ้นภาษีของรัฐบาลกรีซ นำมาซึ่งการนัดหยุดงานประท้วงอย่างไม่หยุดหย่อน และเกิดขึ้นทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่สรรพากรและศุลกากรยังร่วมนัดหยุดงานประท้วงมาแล้ว

ยิ่งกรณีขึ้นภาษีโฆษณาของกรีซ ไม่เพียงสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนที่รู้สึกว่ารัฐบาลกำลังขึ้นภาษีอย่างมันมือเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นกระแสไม่พอใจไปทั่วยุโรปที่เห็นว่าการขึ้นภาษีสื่อโฆษณาเป็นเรื่องที่ “เกินกว่าเหตุ” และถือเป็นการแทรกแซงสื่อ

จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดกรีซจึงต้องเผชิญกับการนัดหยุดงานประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า แม้กระทั่งย่างเข้าเดือน ส.ค. ก็ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม หากยังละล้าละลังกับการเก็บภาษีในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา รัฐบาลนั้นก็เสี่ยงที่จะมีชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ต้องคอยกังวลว่าการขึ้นภาษีจะสร้างความเสียหายทางการเมือง ขณะเดียวกันถ้าไม่รีบขึ้นภาษีเศรษฐกิจของประเทศอาจถึงขั้นล่มจม

ประเทศที่ประสบกับภาวะเช่นนี้ คือ ญี่ปุ่น เพราะหลังจากที่พรรครัฐบาลดีพีเจประกาศแผนขึ้นภาษีบริโภค 5% เพื่อป้องกันมิให้ญี่ปุ่นประสบกับวิกฤตหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับกรีซ แต่หลังจากที่รัฐบาลพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการเลือกตั้งสภาล่างเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. รัฐบาลญี่ปุ่นพับแผนในทันที

แต่การพับแผนหมายถึงความเสี่ยงทางการคลังที่เพิ่มขึ้น และหากระบบการเงินการคลังของประเทศล้มเหลวในฉับพลัน พรรครัฐบาลดีพีเจต้องพบกับหายนะอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เรียกได้ว่าถึงจะขึ้นหรือไม่ขึ้นภาษีก็มีโอกาสพ่ายแพ้อย่างยับเยินทั้งขึ้นทั้งล่อง

การขึ้นภาษีอาจเป็นช่องทางกอบโกยงบประมาณเข้ารัฐ หรือเป็นวิธีแก้ปัญหาทางการคลังที่ง่ายที่สุดก็จริง แต่ก็อาจเป็นหนทางที่บ่อนทำลายรัฐบาล และก่อให้เกิดความโกลาหลในสังคมได้ง่ายที่สุดเช่นกัน

วิวาทะขึ้นภาษีบนทางแพร่งเศรษฐกิจพังกับการเมืองล้ม

โดย Posttoday

9 สิงหาคม 2553

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.