มาตรการระยะสั้น : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

ทุกวันนี้ ศก. มีความผันผวนสูง เมื่อใดก็ตามที่ ศก.ชะลอตัวเพราะมีปัจจัยบางอย่างมากระทบ เรามักคิดถึงการนำมาตรการกระตุ้น ศก. ในระยะสั้นต่างๆมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบ ตัวอย่างเช่น การลดดอกเบี้ย ลดภาษี การจัดทำงบประมาณขาดดุล ตรึงราคาสินค้า เป็นต้น

มีข้อถกเถียงกันว่า ที่จริงแล้ว มาตรการเหล่านี้ช่วย “กระตุ้น” เศรษฐกิจได้มากหรือน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับต้นทุนของมัน ตัวทวีคูณมีอยู่จริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีใครเถียงว่า มาตรการเหล่านี้ช่วย “พยุง” ตัวเลขทางเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่มีใครสักคนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหนึ่งบาท ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ย่อมทำให้ตัวเลขจีดีพีในช่วงเวลานั้น เพิ่มขึ้นได้อย่างน้อยหนึ่งบาทเสมอ ดังนั้น การนำมาตรการเหล่านี้มาใช้เพื่อช่วยพยุงตัวเลขทางเศรษฐกิจในระยะสั้นบ้างในบางเวลาที่มีความจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ได้ถึงกับเป็นเรื่องที่คอขาดบาดตาย

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ เมื่อมีการนำมาตรการระยะสั้นเหล่านี้มาใช้ครั้งหนึ่ง โดยบอกว่าจะเป็นการใช้ชั่วคราวเท่านั้น สังคมมักเกิดอาการเสพติด ทำให้มีการเรียกร้องให้นำมาตรการเหล่านี้กลับมาใช้อยู่เรื่อยๆ เมื่อใดที่เศรษฐกิจชะลอตัว ในที่สุด ก็ถึงขั้นที่สังคมคาดหวังว่ารัฐมีหน้าที่ที่จะต้องคอยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่ทรัพยากรส่วนใหญ่จะได้ใช้ไปกับการพัฒนาประเทศในระยะยาวจริงๆ กลับกลายเป็นว่า เราต้องนำทรัพยากรส่วนใหญ่มาใช้อุดหนุนมาตรการระยะสั้นเหล่านี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น กลายเป็นตัวการสำคัญที่คอยถ่วงการพัฒนาประเทศในระยะยาวให้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ตัวอย่างเช่น การตรึงราคาน้ำมัน หรือการให้ใช้น้ำไฟฟรี แม้จะกำหนดว่า จะนำมาใช้โดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่เมื่อถึงเส้นตาย เหตุผลทางการเมืองก็มักบังคับให้จำเป็นต้องมีการยืดอายุมาตรการออกไปเรื่อยๆ ไม่มีรัฐบาลไหนอยากได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่ยกเลิกมาตรการเหล่านี้หากไม่จำเป็น กลายเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังให้กับประเทศมากเกินความจำเป็น

มาตรการลดดอกเบี้ย หากนำมาใช้ชั่วคราว ก็สามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้ภาคธุรกิจที่เป็นหนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีได้ แต่เมื่อนโยบายดอกเบี้ยต่ำถูกนำมาใช้ติดต่อเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มักเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ในเวลาต่อมา กลายเป็นปัญหาฟองสบู่แตก ซึ่งส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

การใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เช่นเดียวกัน ในระยะสั้นหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอาจจะยังไม่ส่งผลเสียอะไร เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี สภาพคล่องในตลาดเงินมักจะเหลือล้น แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นตามวัฏจักรปกติของมันแล้ว หนี้สาธารณะที่สูงขึ้นเหล่านี้ จะกลับกลายเป็นตัวที่มาแย่งชิงสภาพคล่องในตลาดเงินไปจากภาคธุรกิจ ทำให้ภาคธุรกิจลงทุนได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้

หรือแม้แต่ การทำค่าเงินให้อ่อน เพื่อกระตุ้นภาคส่งออก ในระยะสั้น ค่าเงินอ่อน อาจช่วยทำให้สินค้าส่งออกมีราคาถูกลง เมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์ ทำให้ภาคส่งออกขายสินค้าได้มากขึ้นได้ แต่ในระยะยาวแล้ว การพึ่งพาค่าเงินในการกระตุ้นการส่งออกอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ภาคส่งออกมีแรงจูงใจน้อยลงที่จะดิ้นรนหาวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะการเรียกร้องให้รัฐช่วยทำค่าเงินให้อ่อนเป็นหนทางที่ทำได้ง่าย และรวดเร็วกว่ามาก คนเราเมื่อที่มีทางเลือกที่เร็วกว่า และง่ายกว่า คนเราก็ย่อมเลือกต้องเลือกทางเลือกนั้นก่อนเป็นธรรมดา การทำค่าเงินให้อ่อนจึงเป็นการกระตุ้นการส่งออกในระยะสั้น แต่ส่งผลร้ายต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของภาคส่งออก

หากถามว่า ที่จริงแล้ว ทุกวันนี้ ปัญหาสำคัญที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยคืออะไรบ้าง จะพบว่า มันไม่ใช่เรื่องปัญหาดอกเบี้ยแพง หรือค่าเงินแข็ง แต่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างเป็นส่วนใหญ่ เช่น ต้นทุนค่าขนส่งที่ยังสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกมาก เพราะโครงสร้างพื้นฐานของเรายังไม่ดีพอ หรือการที่ธุรกิจไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อย เพราะไม่ค่อยมีใครคิดทำสิ่งใหม่ๆมากเท่าที่ควร หรือการที่สถาบันการศึกษา ผลิตบุคลากรออกมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจมากเท่าที่ควร ตลอดจน การที่ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสทางธุรกิจน้อยลง เป็นต้น การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จำเป็นต้องมีการหาสาเหตุของปัญหา แล้วแก้ไขเป็นเรื่องๆไป เนื่องจากปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน การใช้มาตรการระยะสั้นต่างๆ จะไม่มีทางแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ได้เลย

ทุกวันนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องการจริงๆ จึงได้แก่ โครงการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้ประเทศสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่มาตรการระยะสั้นแบบธรรมดาๆ เราต้องลดการเสพติดมาตรการระยะสั้นลงก่อนที่ประเทศจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างถาวร

มาตรการระยะสั้น
กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
วันที่ 18 พฤษภาคม 2553 16:04

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.