ผลตอบแทนเป็นรายปีของ Berkshire Hathaway พาหนะในการลงทุนของ Warren Buffett เป็นดังนี้
Year Yearly Return (%)
1965 23.8
1966 20.3
1967 11.0
1968 19.0
1969 16.2
1970 12.0
1971 16.4
1972 21.7
1973 4.7
1974 5.5
1975 21.9
1976 59.3
1977 31.9
1978 24.0
1979 35.7
1980 19.3
1981 31.4
1982 40.0
1983 32.3
1984 13.6
1985 48.2
1986 26.1
1987 19.5
1988 20.1
1989 44.4
1990 7.4
1991 39.6
1992 20.3
1993 14.3
1994 13.9
1995 43.1
1996 31.8
1997 34.1
1998 48.3
1999 .5
2000 6.5
2001 (6.2)
2002 10.0
2003 21.0
2004 10.5
ผลตอบแทนเฉลี่ย (40 ปี) อยู่ที่ 21.9% ต่อปี
ผลตอบแทนเป็นรายปีของ Warren Buffett มีอะไรที่น่าสนใจหลายอย่าง จะเห็นได้ว่าการจะเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกได้นั้นต้องการผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงแค่ 21.9% ต่อปีเท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตอีกด้วยว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีปีไหนเลยแม้แต่ปีที่เดียวที่ บัฟเฟตทำผลตอบแทนได้เกิน 50% ในหนึ่งปี ดังนั้นผลตอบแทนต่อปีของบัฟเฟตจึงอยู่ในระดับธรรมดามากๆ ฉะนั้นการจะรวยที่สุดในโลกนั้น ไม่จำเป็นต้องทำผลตอบแทนต่อปีให้ได้เป็นตัวเลขที่สูงๆ อีกด้วย
นักลงทุนบางคนมีความเชื่อว่าถ้าไม่ได้ผลตอบแทนปีละ 100% ขึ้นไปก็ไม่มีทางจะรวยได้ บางคนแอบสงสัยว่าบัฟเฟตแอบซื้อๆ ขายๆ หุ้นบ่อยๆ อยู่ตรงไหนหรือเปล่า มิเช่นนั้นจะรวยขึ้นมาเป็นหมื่นๆ ล้านได้อย่างไร?
ที่แปลกกว่านั้น ถ้าถามคนทั่วไปว่า การทำผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยให้ได้ 20% ต่อปีนั้นยากหรือไม่ ทุกคนจะตอบว่า “20% เองหรือ ทำไมหวังน้อยจัง หมูๆ” แต่ถ้าถามว่าให้เอาวิธีการลงทุนแบบบัฟเฟตมาใช้กับตลาดหุ้นไทยจะรวยได้มั้ย ทุกคนกลับตอบว่า “เป็นไปไม่ได้ ประเทศไทยไม่ใช่อเมริกา ประเทศไทยไม่มี super growth stock ขนาดนั้น” ทุกคนเชื่อว่าการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนปีละ 20% นั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนใน super growth stock ก็ได้ แต่ทุกคนกลับไม่เชื่อว่าการลงทุนแบบบัฟเฟตจะทำให้รวยในตลาดที่ไม่มี super growth stock อย่างตลาดหุ้นไทยได้
คนส่วนใหญ่เข้าใจไปอย่างนั้นเพราะพวกเขาไม่คุ้นเคยกับคณิตศาสตร์ของเลขยกกำลัง พวกเขาไม่รู้ว่าตัวเลข (1 + 0.219) นั้น ถ้าหากยกกำลังถึง 40 จะมีค่ามากถึง 2,755 หรือแปลว่าเงิน 1 ล้านบาท ถ้าได้ผลตอบแทน 22% ติดต่อกัน 40 ปี จะกลายเป็น 2,755 ล้านบาทเลยทีเดียว
(ยังไม่รวมเงินปันผลที่กลับเข้าไปลงทุนเพิ่มระหว่างทาง)
ความมหัศจรรย์ของบัฟเฟตไม่ได้อยู่ที่การทำผลตอบแทนต่อปีให้ได้สูงๆ แต่ความมหัศจรรย์ของบัฟเฟตคือการทำผลตอบแทนต่อปีในระดับธรรมดาๆ ได้เป็นเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานมากโดยที่ไม่เคยขาดทุนหนักๆ เลย นี่ต่างหากที่เป็นสิ่งที่คนทั่วไปทำไม่ได้ คนที่เคยได้ผลตอบแทนหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในปีเดียวนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากในตลาดหุ้น แต่พวกเขาก็ยังไม่อาจรวยเท่าบัฟเฟตได้ เพราะการเสี่ยงหนักๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าคนอื่นนั้นทำให้พวกเขาหนีไม่พ้นที่จะต้องขาดทุนหนักๆ เข้าสักวันหนึ่ง (fat tail effect) และการขาดทุนหนักๆ แค่ครั้งเดียวก็มากพอที่จะทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวของเขาตกต่ำลงอย่างมาก บางคนถึงขั้นคืนกำไรทั้งหมดที่เคยได้มาให้ตลาดหุ้นไปหมดพร้อมเงินต้นด้วย บางคนกลับมีหนี้เพิ่มมากด้วยอีกต่างหาก
ลักษณะเฉพาะของหลักทรัพย์ที่เรียกว่าหุ้นนั้นก็คือ ผลตอบแทนของมันจะเป็น fat tail การที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนสูงๆ ติดต่อกันหลายปี ไม่ได้หมายความว่า มันจะเป็นเช่นนั้นต่อไป ความชะล่าใจทำให้เราคิดว่าเสือที่ร้ายคือแมวเชื่องๆ และนั้นก็จะทำให้เราพลาดในวันที่ fat tail effect ทำงาน ผมชอบคำพูดของ จอร์จ โซรอส ที่บอกว่า เขาเชื่อว่าวิธีการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีได้นั้นจะต้องเป็นวิธีที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้นเป็นสำคัญ แล้วระหว่างทางจะมี home-runs มาช่วยทำให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเอง วอเรน บัฟเฟต ไม่ต้องการผลตอบแทนต่อปีสูงๆ เขาจึงรอดพ้นจาก fat tail effect และทำให้ผลตอบแทนต่อปีที่ไม่มากแต่ต่อเนื่องของเขาได้แสดงพลังแห่งการทบต้นของมันออกมา
ผลตอบแทนปีละน้อยๆ เช่น 10-20% ต่อปีนั้น ในช่วง 10 ปีแรกจะดูต่ำต้อยมาก มันจะแสดงความมหัศจรรย์ของมันออกมาได้ ก็ต่อเมื่อผ่านสักปีที่ 15 ของมันไปแล้ว เพราะว่า
1.15^5 = 2 เท่า
1.15^10 = 4 เท่า
1.15^15 = 8 เท่า
1.15^20 = 16 เท่า
…
ดังนั้นการจะประสบอิสรภาพทางการเงินด้วยการลาออกจากงานเพื่อมาเล่นหุ้นอย่างเดียวนั้น ควรจะต้องรอให้พอร์ตมีขนาดใหญ่ระดับหนึ่งเสียก่อน เพราะการลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลานาน (วิธีลงทุนที่ทำให้รวยได้เร็วๆ มักจะไม่ยั่งยืน) ถ้าหากพอร์ตไม่ใหญ่พอ ผ่านไป 15 ปี แม้จะโตได้ 8 เท่า แต่พอร์ตก็อาจจะยังไม่ขึ้นมากพอที่จะทำให้พบอิสรภาพทางการเงินได้ ผมคิดว่าอย่างน้อยควรจะอดทนทำงานไปเรื่อยๆ จนว่าพอร์ตจะใหญ่พอที่ทำให้เงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปีมากกว่าค่าใช้จ่ายประจำปีแล้วค่อยลาออกมาเล่นหุ้นอย่างเดียว
การประสบอิสรภาพทางการเงินโดยอาศัยตลาดหุ้นจึงจะเป็นเป้าหมายที่ไม่ยากเกินความเป็นจริง คนที่รวยด้วยหุ้นอย่างเดียวนั้น ผมยอมรับว่ามีอยู่จริง แต่เป็นจำนวนที่น้อยมากๆ มีคนแค่ไม่กี่คนเท่านั้นสามารถยึดอาชีพทำธุรกิจส่วนตัวได้ฉันใด ก็มีคนแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถยึดอาชีพเป็นนักลงทุนจริงๆ ได้ฉันนั้นครับ
สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มองการลงทุนเป็นอาชีพ (เช่น ผมเอง เป็นต้น) ตลาดหุ้นก็ยังเป็นทางเลือกในการออมเงินที่ดีเลิศสำหรับพวกเขา เพราะในระยะยาวแล้ว จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการเก็บเงินไว้ในธนาคารมาก เมื่อมีรายได้จากอาชีพหลักแล้วมีเงินเหลือก็ควรแบ่งส่วนหนึ่งมาออมไว้ในหุ้น เมื่อถึงวัยเกษียณโอกาสที่จะเงินเหล่านั้นจะพอกพูนมีมากทีเดียว ตลาดหุ้นเป็นทางเลือกในการออมเงินที่ดีสำหรับทุกๆคนครับ
ผลตอบแทนของ Warren Buffett
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
Wednesday, 14 January 2009
i am so appreciated in your paper, can i have your email to exchange ideas
Sorry, this is not my paper. I just save it from the author “Narin Olankijanan” .
Contact the author : http://dekisugi.net/ , http://twitter.com/1001ii