ปัญหาค่าเงินดอลลาร์ : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

US_Dollar

สหรัฐอเมริกานั้น มักจะเน้นความมุ่งมั่นในการผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า (strong dollar policy) ซึ่งคนไทยอาจเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะเมื่อใดที่เงินบาทแข็งค่า ทั้งผู้ส่งออกและรัฐบาลไทยก็จะเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย “ดูแลค่าเงินบาท” เพื่อ “รักษาเสถียรภาพ” และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แปลว่า อยากให้เงินบาทอ่อนมากกว่าอยากให้เงินบาทแข็ง
 
ทำไมสหรัฐจึงอยากให้เงินดอลลาร์แข็ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าค่าเงินที่แข็งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับชาวอเมริกัน เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อของเขา อาทิเช่น รายได้ต่อหัวของคนไทยนั้นเฉลี่ยเท่ากับ 12,300 บาทต่อเดือน ดังนั้น เมื่ออัตราแลกเปลี่ยน คือ 33.50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ก็แปลว่าคนไทยมีรายได้เท่ากับ 367 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอที่คนไทยจะไปเที่ยวพักผ่อนที่ประเทศสหรัฐ แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 5 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ รายได้ของคนไทย ก็จะกลายเป็น 2,460 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งจะทำให้คนไทยร่ำรวยไม่แตกต่างจากคนอเมริกันมากนัก ดังนั้น การแข็งค่าของเงิน จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการยกระดับความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและความเชี่ยวชาญของแรงงาน ความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจและเงินทุน ตลอดจนระบบการบริหารประเทศที่ส่งเสริมประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศ ฯลฯ

แต่สาเหตุหลักที่สหรัฐเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ของการรักษาเสถียรภาพของเงินดอลลาร์ คือ ประโยชน์ที่ได้จากการที่เงินดอลลาร์เป็นเงินที่ได้รับความนิยม และถูกใช้ในการซื้อ-ขายสินค้าและบริการทั่วโลก ความต้องการเงินดอลลาร์ ทำให้ประเทศสหรัฐได้เปรียบประเทศอื่นๆ อย่างมาก โดยความได้เปรียบดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะ seniorage หรือสภาวะที่สหรัฐสามารถกู้เงินได้ โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งอธิบายได้ว่า หากบริษัทมีความต้องการกู้เงิน ก็จะออกพันธบัตรหรือตราสารหนี้ ซึ่งเป็นสัญญากู้เงินให้กับผู้ถือพันธบัตรดังกล่าวว่าจะคืนเงินกู้เต็มจำนวนพร้อมกับดอกเบี้ยที่เหมาะสม แต่ในกรณีของสหรัฐนั้นสามารถพิมพ์เงินออกมาใช้เมื่อต้องการ (ซึ่งอาจเปรียบเทียบว่าเป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่งก็ได้) แต่เมื่อมีการยอมรับเงินดอลลาร์โดยทั่วไป และมีผู้ต้องถือเงินดอลลาร์ดังกล่าวในจำนวนที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องการขายคืนก็เสมือนว่าสหรัฐออกตราสารหนี้ที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และไม่มีวันที่จะต้องคืนเงินต้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐได้ “ของฟรี” จากผู้ที่พร้อมจะถือเงินดอลลาร์ทุกคนในโลกมาเป็นเวลาหลายสิบปี หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แน่นอนว่า ความพร้อมที่จะถือเงินดอลลาร์ ย่อมจะต้อง มาจากปัจจัยหลักๆ 2 ปัจจัย คือ หนึ่ง ประเทศสหรัฐต้องเป็นประเทศใหญ่ที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแรง และมีความสมดุล สอง นโยบายการเงินของสหรัฐจะต้องมีวินัย คือ สหรัฐจะต้องไม่พิมพ์เงินออกมามากเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าประเทศสหรัฐอาจไม่อยู่ในสถานะที่จะมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ คือ เศรษฐกิจอ่อนแอลงมาก และภาครัฐก็ยังมีปัญหาสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของธนาคารกลางของสหรัฐนั้น แม้ไม่ได้พิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่ม แต่ได้เข้าไปซื้อตราสารหนี้ในระบบคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าปริมาณดอลลาร์ในระบบที่มีอยู่ 8 แสนล้านดอลลาร์ แปลว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจต้องพิมพ์เงินออกมาอีกมากหากตราสารหนี้ที่ธนาคารกลางถืออยู่ในขณะนี้กลายเป็นหนี้เสีย

นอกจากความเสี่ยงของประเทศสหรัฐที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของสหรัฐก็ยังเป็นเงื่อนไข ทำให้ผู้ประกอบการของสหรัฐเริ่มต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า เพราะเมื่อตลาดภายในตกต่ำ บริษัทสหรัฐก็ต้องการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยอาศัยการอ่อนตัวของค่าเงิน ดังนั้น เราจึงเห็นการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ตามความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ที่สำคัญ คือ ในช่วงหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของกลุ่มจี 20 ในเดือนกันยายน หรือการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลกที่ตุรกีในเดือนตุลาคม ไม่ได้มีกล่าวถึงเรื่องของค่าเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำสหรัฐไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเหมือนแต่ก่อนว่า สหรัฐมุ่งมั่นที่จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า

ทั้งนี้ เพราะสหรัฐเริ่มมีความขัดแย้งในตัว คือ ส่วนหนึ่งต้องสร้างภาพว่าเงินดอลลาร์จะมีเสถียรภาพและแข็งตัว เพราะยังต้องการได้ประโยชน์จาก seniorage (พิมพ์กระดาษออกมา แลกกับสินค้าและบริการ) และยังจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมากในอนาคต เพราะรัฐบาลกำลังสร้างหนี้สินเพื่ออุ้มเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เห็นถึงประโยชน์ของการอ่อนของค่าเงินดอลลาร์ในการช่วยผู้ประกอบการให้มีทางเลือกในการขายสินค้าและบริการ เพื่อช่วยลดการปลดคนงาน ซึ่งได้มีการปลดคนงานกว่า 8 ล้านคนแล้วตั้งแต่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเข้าสู่สภาวะถดถอยในเดือนธันวาคม 2007 เป็นต้นมา

จึงสรุปได้ว่าการประกาศของรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ ในวันที่ 5 ตุลาคม ระหว่างการประชุมไอเอ็มเอฟ/ธนาคารโลกที่ยืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐ ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้เงินดอลลาร์มั่นคงนั้น เป็นความต้องการให้ประเทศเจ้าหนี้ (โดยเฉพาะเอเชีย) มั่นใจ และถือเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนซื้อตราสารหนี้ของรัฐบาลมากขึ้น (เพราะจะมีตราสารหนี้ออกมาอีกมาก) แต่ในขณะเดียวกัน ก็คงจะขอร้องให้เอเชียปล่อยให้ค่าเงินของตนแข็งขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยผู้ส่งออกของสหรัฐ และช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่หากการแข็งค่าของเงินเอเชียเกิดขึ้นจริง ก็จะพยายามบอกว่าเรื่องนี้แตกต่างกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์

จึงเห็นได้ว่า ความต้องการที่ขัดแย้งกันของสหรัฐนั้น น่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แกว่งตัวได้อย่างมากในอนาคต แต่เงินดอลลาร์ก็น่าจะยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงในระยะยาวตามสภาวการณ์ และความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ สำหรับเงินยูโรนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจของยุโรปไม่น่าจะมีความแข็งแกร่งมากกว่าเศรษฐกิจสหรัฐมากนัก จึงไม่น่าจะแข็งขึ้นมากจากนี้ แต่เงินสกุลต่างๆ ของเอเชียนั้น อาจสามารถแข็งค่าขึ้นได้อีกมาก เพราะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และที่ผ่านมา ธนาคารกลางของเอเชียก็เข้ามาแทรกแซง กดค่าเงินของตนมิให้แข็งค่าขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมาครับ

“ปัญหาค่าเงินดอลลาร์”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
กรุงเทพธุรกิจ 9 ตุลาคม 2552
Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.