ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข : ดร.ไสว บุญมา

เนื่องจากความสุขกายสบายใจเป็นเป้าหมายสำคัญของชีวิต เราทุกคนจึงมักกระเสือกกระสนแสวงหากันอย่างทั่วถึง ส่วนนักวิชาการก็พยายามค้นหาว่าอะไรเป็นปัจจัยหลัก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา การวิจัยของมูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ในอังกฤษสรุปว่า หลังจากมีปัจจัยเบื้องต้นเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว การใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหาสรรพสิ่งมาเพิ่มจะไม่ทำให้เกิดความสุขกายสบายใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขหลังจากร่างกายมีทุกอย่างเพียงพอแล้วประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจแยกออกได้เป็น ๕ หมวดหมู่ด้วยกันคือ

การมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่อยู่รอบข้างและการมีเพื่อน ความสัมพันธ์เป็นฐานของการมีชีวิตอันอบอุ่นและมั่นคง รวมทั้งความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว ญาติ เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานและเพื่อนทั่วไปในชุมชน นอกจากจะสร้างความสุขกายสบายใจแล้ว ความสัมพันธ์อันแนบแน่นยังเป็นเกราะกำบังมิให้เกิดปัญหาที่มาจากโรคจำพวกการซึมเศร้าเหงาหงอยอีกด้วย

การมีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจ ความเคลื่อนไหวมีหลายชนิด จากการออกกำลังกายอย่างเข้มข้นไปจนถึงการเคลื่อนไหวจำพวกเดิน เต้นรำ และทำสวนครัว นอกจากจะสร้างความสุขกายสบายใจแล้ว การเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจยังมีความสำคัญต่อการลดความกระสับกระส่าย ช่วยเสริมสร้างพลังทางสมองของเด็ก และป้องกันการถดถอยของมันสมองในผู้สูงวัยอีกด้วย

การมีความช่างสังเกต การสังเกต รวมทั้งการมองเห็นความเป็นไปภายนอก จำพวกสภาพของท้องถนน การแต่งกายของฝูงชนตามศูนย์การค้า สีหน้าของผู้ที่อยู่ใกล้ๆ และการตระหนักถึงความรู้สึกภายในจิตใจของตนเอง เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการศึกษาในสังคมตะวันตกตรงกับการปฏิบัติจำพวกการวิปัสสนาของพุทธศาสนาที่ ฝึกให้ผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นปัจจัยของการทำให้เกิดความสุขกายสบายใจเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้น การมีสติสัมปชัญญะยังเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลเลือกกระทำในสิ่งที่ตรงกับหลักคุณธรรม หรือฐานในการดำเนินชีวิตมากขึ้นอีกด้วย

การเรียนรู้อยู่เป็นนิจ การเรียนรู้มีความสำคัญต่อการมีความสุขสำหรับคนทุกรุ่นทุกวัย ในวัยเด็ก การเรียนรู้มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านมันสมองและด้านการเข้าสังคม ในวัยผู้ใหญ่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น การเรียนรู้อาจทำได้หลากหลายวิธี รวมทั้งการรื้อฟื้นสิ่งที่เราเคยมีความสนใจในอดีต การลงทะเบียนเรียนวิชาใหม่ๆ ทั้งในและนอกสถานศึกษา การฝึกเล่นเครื่องดนตรีที่ไม่เคยเล่นมาก่อน การทำอาหารจานแปลกๆ การหัดทำตุ๊กตาและการตัดเย็บเสื้อผ้าเอง การอาสาทำงานใหม่ๆในสำนักงานก็เป็นการเรียนรู้อยู่เป็นนิจ

การให้ การให้ในที่นี้มีขอบเขตกว้างมาก จากกิจกรรมง่ายๆจำพวกการส่งยิ้มให้คนอยู่ใกล้ๆ และการกล่าวคำขอบคุณ การแบ่งปัน การช่วยเหลือผู้อยู่รอบข้างไปจนถึงการสละเวลาออกไปอาสาช่วยงานในชุมชน และการทดแทนคุณแผ่นดิน กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ผู้ทำรู้สึกว่า ตนเองมีค่าและชีวิตมีความหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจในตัวเอง ในวัยเด็ก การให้ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการร่วมมือกับผู้อื่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการเข้าสังคม ในวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทอง การแบ่งปันและการให้ในรูปแบบต่างๆดังกล่าวเหล่านี้ ทำให้ชีวิตมีความหมายยังผลให้อายุยืนยาวขึ้น

นอกจากปัจจัยที่แยกได้เป็น ๕ หมวดหมู่นั้นแล้ว การศึกษายังพบปัจจัยที่ควรได้รับการพิจารณาอีก ๓ ด้านด้วยกันคือ

ด้านอาหาร ซึ่งควรประกอบด้วยอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและในปริมาณที่มีความสมดุล ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการศึกษาพบว่าผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมีความสุขกายสบายใจมากกว่าผู้ที่อยู่ไกลธรรมชาติ และด้านงาน ซึ่งการศึกษาพบว่า การทำงานที่มีความพึงพอใจทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้น การเรียนรู้อยู่เป็นนิจและการสร้างเครือข่าย เพิ่มโอกาสในการได้งานที่พอใจมากขึ้นด้วย

การวิจัยชิ้นนี้เป็นงานชิ้นล่าสุดที่ยืนยันว่า เมื่อคนเรามีปัจจัยเบื้องต้นที่ร่างกายต้องการเพียงพอแล้ว การมีเงินสำหรับซื้อหาสรรพสิ่งมาเพิ่มขึ้นไม่ทำให้มีความสุขกายสบายใจเพิ่มขึ้น ก่อนการศึกษาชิ้นนี้ มีหนังสือหลายเล่มที่มีข้อสรุปในแนวเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นบางเล่มมีข้อมูลที่ยืนยันว่า การมีเงินจนเกินไปอาจทำให้ความสุขลดลง สองเล่มเขียนโดยชาวอเมริกันชื่อ Gregg Easterbrook ซึ่งตั้งชื่อเรื่องว่า The Progress Paradox : How Life Gets Better While People Feel Worse และ Barry Schwartz ซึ่งตั้งชื่อเรื่องว่า The Paradox of Choice : Why More Is Less อีกเล่มหนึ่งเขียนโดยชาวอังกฤษชื่อ Richard Layard ซึ่งตั้งชื่อเรื่องว่า Happiness : Lessons from a New Science เล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว

ข้อมูลต่างๆที่อ้างถึงเหล่านี้ ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีอีกครั้งหนึ่งว่า แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีฐานทางวิทยาศาสตร์อันแข็งแกร่งรองรับอยู่ และการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จะนำไปสู่ความสุขกายสบายใจ การดำเนินชีวิตในแนวดังกล่าวมีโอกาสนำสังคมไปสู่ความยั่งยืนสูงกว่าการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจกระแสหลัก ซึ่งใช้การบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นหัวจักรขับเคลื่อน การดำเนินชีวิตแบบนี้มีความโลภเป็นฐานจึงนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างเข้มข้น จนก่อให้เกิดการละเมิดกฎหมายและการทำลายจรรยาบรรณ

เหตุการณ์ต่างๆที่เราเห็นอยู่ ณ วันนี้ ล้วนมีที่มาจากการแย่งชิงทรัพยากรกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเมืองในไทย สงครามกลางเมืองในหลายประเทศในแอฟริกา สงครามระหว่างประเทศในอิรักและอัฟกานิสถาน หรือวิกฤติเศรษฐกิจโลก วิกฤติเหล่านี้มีแต่ผลร้ายซึ่งบ่อนทำลายความสุข แต่มันจะเกิดขึ้นต่อไปตราบใดที่เรายังไม่รู้จัก “พอ”

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข

ดร.ไสว บุญมา

คอลัมน์ บ้านเขาเมืองเรา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.