ปัจจัยของคุณภาพการศึกษา : วรากรณ์ สามโกเศศ

การปฏิรูปการศึกษาเป็นอันดับต้นๆของวาระแห่งชาติของเกือบทุกประเทศในโลก รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ทุ่มเงินรวมกันมหาศาลไม่ต่ำกว่า 2 ล้านๆเหรียญสหรัฐ สำหรับการศึกษาในปี 2006 นอกจากนี้ ยังพยายามยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ

.
แต่ก็น่าประหลาดใจที่คุณภาพการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ดีขึ้น แต่ละประเทศมีคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันมาก มันน่าจะมีปัจจัยแห่งความสำเร็จบางอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จ
.
ตัวอย่างของคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน ได้แก่สถิติที่ว่า ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของเด็กในแอฟริกาและตะวันออกกลาง มีสัมฤทธิผลทางการศึกษาในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าสัมฤทธิผลโดยเฉลี่ยของเด็กสิงคโปร์ ทั้งๆที่สิงคโปร์ใช้จ่ายเงินสำหรับการศึกษาในชั้นประถมศึกษาต่ำกว่า 27 ประเทศในสมาชิก 30 ประเทศ ของกลุ่ม OECD
.
Mckinsey & Company ได้ทำงานวิจัยระหว่างพฤษภาคม 2006 ถึงมีนาคม 2007 เพื่อค้นหาว่า เหตุใดบางระบบการศึกษาในโลกจึงประสบความสำเร็จอย่างอยู่เหนือระบบการศึกษาของประเทศอื่นๆอย่างไม่อาจเทียบกันได้
.
ข้อเขียนในวันนี้ ขอสรุปสิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้ค้นพบ
.
งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจากผลการสอบของเยาวชนวัย 15 ปี ในภาษาของตนเอง โดยทดสอบความสามารถในการอ่าน ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นการสอบที่จัดโดย OECD และมีประเทศอื่นๆเข้าร่วมสอบด้วย มีชื่อดังที่รู้จักกันว่า PISA (OECD”s Programme for International Student Assessment)
.
งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญกว่าร้อยคน อีกทั้งไปเยี่ยมชมโรงเรียนต่างๆจำนวนมากในทุกทวีป งานศึกษาพบว่า มีอยู่ 3 สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นระบบการศึกษาชั้นยอด ซึ่งได้แก่
.
(ก) หาคนที่เหมาะสมมาเป็นครู
.
(ข) พัฒนาครูเหล่านี้ให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ
.
(ค) สร้างระบบการศึกษาที่มั่นใจได้ว่า สามารถให้การสอนที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แก่เด็กทุกคน
.
ผู้ศึกษาพบว่า ทั้ง 3 สิ่งนี้เป็นจริงสำหรับทุกวัฒนธรรม สามารถช่วยให้เกิดพัฒนาการให้ด้านคุณภาพอย่างเห็นผลในระยะเวลาสั้น และสามารถช่วยแก้ไขระบบการศึกษาที่ล้มเหลวได้
.
ในประเด็นแรกคือ หาคนที่เหมาะสมมาเป็นครู นั้น รายงานระบุว่า “คุณภาพของระบบการศึกษาหนึ่งจะไม่มีวันสูงไปกว่าคุณภาพของครูของระบบการศึกษานั้นไปได้” (The quality of an education system cannot exceed the quality of its teachers)
.
“คุณภาพของครู” คือหัวใจของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ถ้าครูไม่มีคุณภาพการศึกษาก็ไม่มีคุณภาพ
.
ประเทศตัวอย่างที่รายงานนี้ระบุ และผู้เขียนเองเคยไปดูด้วยตาตนเองก็คือ ฟินแลนด์ เด็กในประเทศนี้จะไม่เรียนหนังสือจนกว่าอายุ 7 ขวบ เรียนหนังสือวันละ 4-5 ชั่วโมง ตลอด 2 ปีแรกที่เข้าโรงเรียน แต่พอถึงอายุ 15 ปี เด็กฟินแลนด์สอบ PISA ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดของโลก ในการสอบวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน และการคิดแก้ไขปัญหา
.
ใน ฟินแลนด์ ผู้ที่จะเป็นครูได้ ต้องสอบแข่งขันผ่านการคัดกรองมาอย่างดี ได้รับรายได้สูงกว่าหรือทัดเทียมวิศวกร ปีหนึ่งทำงาน 9 เดือน แต่ได้รับเงินเดือนเต็ม 12 เดือน แม้แต่ชั้นประถมศึกษา ครูทุกคนต้องจบการศึกษาอย่างน้อยปริญญาโท ห้องหนึ่งจะมีนักเรียนประมาณ 15-20 คน ในบางวิชาจะใช้ครู 2 คนช่วยกันดูแลการเขียนหรือทำแบบฝึกหัดของนักเรียน
.
ระบบการศึกษาชั้นยอดของโลก เช่น ฟินแลนด์ ได้คนที่มีคะแนนสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกของผู้เรียนจบมาเป็นครู, เกาหลีใต้ ได้คนจบ 5 เปอร์เซ็นต์แรก, สิงคโปร์และฮ่องกง ได้คนจบ 30 เปอร์เซ็นต์แรก ฯลฯ
.
ประเทศเหล่านี้ “หมายหัว” คนเรียนเก่งและมีความเหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น อุดมการณ์ อุปนิสัยใจคอ อารมณ์ จริยธรรม ฯลฯ รายงานอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งว่า “คนๆหนึ่งไม่สามารถให้(ความรู้) ในสิ่งที่เขาไม่มี(ความรู้)ได้” (One cannot give what one does not have.)
.
ประเด็นที่สอง “สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน” นั้น สำคัญที่สุดถ้าต้องการสร้างคุณภาพการศึกษา ถึงแม้จะได้คนที่เหมาะสมมาเป็นครูแล้ว ก็ต้องมีการฝึกฝนให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพด้วย
.
รายงานระบุว่า ไม่ว่าจะมีหลักสูตรที่เป็นเลิศ มีอาคารโรงเรียนหรือโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเลิศ หรือมีนโยบายการศึกษาที่เป็นเลิศเพียงใดก็ตามที หากไม่มีครูที่ทุ่มเทให้การสอน ไม่เป็นครูที่มีความสามารถในการถ่ายทอดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว คุณภาพการศึกษาไม่มีวันดีขึ้นได้เลย ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายอยู่ทั่วโลก
.
“สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน” เกิดขึ้นได้จากการทำให้ครูได้เป็นครูอย่างแท้จริง ครูได้รับผลตอบแทนเพียงพอ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทุ่มเทให้นักเรียน ครูมีเวลาเพียงพอต่อการเตรียมตัวสอน สอนอย่างมีคุณภาพ และได้รับรางวัลตอบแทนจากการเป็นครูผู้สอน ไม่ใช่จากการเป็นครูผู้บริหารเพียงอย่างเดียว
.
ประเด็นที่สาม สร้างระบบการศึกษาที่แน่ใจได้ว่า สามารถให้การสอนที่ดีที่สุดแก่เด็กทุกคนอย่างเสมอหน้า “ความทั่วถึงของคุณภาพการศึกษาแก่เด็กทุกคน” เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของระบบการศึกษา
.
ในสังคมประชาธิปไตย เด็กทุกคนต้องได้รับคุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้อย่างเท่าเทียมกัน ในบางประเทศเช่น ฟินแลนด์ กฎหมายห้ามมิให้แบ่งเด็กที่มีสัมฤทธิผลทางการศึกษาต่างกันไว้คนละห้อง ห้องเรียนจะต้องคละกันทั้งเด็กเก่งและไม่เก่ง
.
ทั้งนี้ เนื่องจากเด็กทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดีที่สุดอย่างเท่าเทียมกัน การแบ่งเด็กอาจทำให้เด็กห้องไม่เก่งถูกละเลยทอดทิ้งได้ ระบบการศึกษาที่ทำให้แน่ใจได้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเท่านั้น จึงจะเอื้อให้เกิดคุณภาพขึ้นได้กล่าว
.
โดยสรุป คุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสามสิ่งเกิดขึ้นด้วยกัน ทั้งสามสิ่งนี้แขวนอยู่กับการได้คนที่เหมาะสมมาเป็นครู การพัฒนาครู และเด็กทุกคนได้รับการสอนที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เสมอหน้ากัน
.
รายงาน Mckinsey ยืนยันว่า “คุณภาพของการศึกษาของโรงเรียนใดก็ตามโดยแท้จริงแล้วก็คือ ผลรวมของคุณภาพการสอนที่ครูทั้งหมดของโรงเรียนนั้นมอบให้แก่นักเรียน”
.
ปัจจัยของคุณภาพการศึกษา
.
วรากรณ์ สามโกเศศ
.
มติชนรายวัน
.
18 กันยายน พ.ศ.2551
.
ปีที่ 31 ฉบับที่ 11149
Author: admin

1 thought on “ปัจจัยของคุณภาพการศึกษา : วรากรณ์ สามโกเศศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.