‘บูรพาภิวัตน์’ เอเชีย ผงาด!! เมื่อ ‘แกนอำนาจ’ สลับขั้ว : ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

วิกฤติศก.ในสหรัฐ-ยุโรป สวนทางกับการเติบโตของภูมิภาคเอเซีย ‘แกนอำนาจ’ ของโลก กำลังเปลี่ยนมาเป็นซีกโลกตะวันออก ทำอย่างไรไทยจะไม่ตกขบวนรถไฟ

หนึ่งใน “เมกะเทรนด์” ที่พูดถึงกันมากในช่วงที่ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มยูโรโซน ต้องเจ็บหนักจากการเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถึงตอนนี้ก็ยังไม่ฟื้น สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย โดยมี “จีน” และ “อินเดีย” เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน

กลายเป็นแนวโน้มการสลับขั้วอำนาจ จากแกนโลกเศรษฐกิจที่เริ่มเอียง ทิ้งเทน้ำหนักจาก “ซีกโลกตะวันตก” มายัง “ซีกโลกตะวันออก” มากขึ้นเรื่อยๆ

“Asia ‘s rise !!!” นักธุรกิจ – นักวิชาการ ทั้งไทยและเทศ ให้นิยามอนาคตเอเชียไว้เช่นนั้น

ขณะที่วาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลกอย่าง “โกลด์แมน แซคส์” คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2032 หรือในอีก 2 ทศวรรษจากนี้ พี่เบิ้มอย่างสหรัฐฯจะตกชั้นจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก หล่นมาอยู่ในอันดับ 2 โดยมีมังกร “จีน” เบียดเท้าขึ้นมายืนเป็นที่ 1 ได้สำเร็จ

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2032 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับถัดลงมา ยังเป็นประเทศในเอเชียโซน อย่าง อินเดีย ที่ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 และอันดับ 4 อย่าง ญี่ปุ่น ที่ยังคงติด 1 ใน 5 ของประเทศของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก (แม้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นตอนนี้จะยังอยู่ในอาการซบเซา) ขณะที่ประเทศในฟากฝั่งตะวันตก อย่างเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ล้วนแล้วแต่มีขนาดเศรษฐกิจที่หล่นชั้นลงมา

“บูรพาภิวัตน์” เป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้น เพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์ -นักรวบยอดความคิด และนักเขียน เขาน่าจะเป็นบุคคลแรกๆ ที่หยิบศัพท์คำนี้มาใช้ ปรากฏเป็นชื่อหนังสือ “บูรพาภิวัตน์ : ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่” ผลงานเล่มล่าสุดของเขา ที่พยายามจะอธิบายถึงขั้วความเปลี่ยนแปลงของโลกโดยมีงานวิจัยหนุนหลัง

ก่อนจะบอกว่า แล้วประเทศไทยจะตั้งรับโอกาสนี้อย่างไร ?

เมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ดร.เอนก ผู้นี้ คือผู้เขียนหนังสือชื่อ “สองนคราประชาธิปไตย” เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล แต่คนเมืองล้มรัฐบาล” ตามบทสรุปของงานวิจัยที่ยังคง “ร่วมสมัย” กับปรากฏการณ์ทางการเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นทฤษฎี ไปแล้ว

ดร.เอนก มองการพลิกขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่มายังซีกโลกตะวันออกว่า สิ่งนี้จะส่งผลให้คนในซีกโลกตะวันตกเริ่มหันกลับมามองวิทยาการและภูมิปัญญาของคนในซีกโลกตะวันออก ที่สั่งสมอารยธรรมสำคัญของโลกนับเป็นเวลากว่า 5,000 ปี ว่าไม่ได้ด้อยกว่าชาติตะวันตก สะท้อนจากภาพความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ที่มาจากทุนมนุษย์

“เราเคยเชื่อว่าโลกตะวันตกเป็นใหญ่ ชาวตะวันออกมักมองเห็นฝรั่งหัวทองว่า เหนือกว่า มีอำนาจมากกว่า และเดินตามเชื่อนั้น ทั้งวิชาการความรู้ มองว่าเทคโนโลยีจากตะวันตกเหนือกว่าเรา มองว่าคนจบการศึกษาจากตะวันตกต้องเก่งกว่า ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน” ดร.เอนก ให้ทัศนะ

เขายังให้ข้อมูลว่า ประเทศในโลกตะวันตกเข้ามามีบทบาทในช่วงศตวรรษที่ 16 ก่อนจะก้าวขึ้นมากุมอำนาจทางเศรษฐกิจโลกในช่วงศตวรรษที่ 18-20 แต่เมื่อเริ่มก้าวขึ้นสู่ศตวรรษที่ 21 ประเทศโลกตะวันออกเริ่มกลายกลับมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของโลก เมื่อศูนย์กลางการค้าการลงทุน รวมถึงการพัฒนาเริ่มหัน “หัวขบวน” มายังบูรพาทิศ

“ในยุคบูรพาภิวัตน์ เอเชียกำลังทะยานขึ้น โลกกำลังสลับขั้ว ระหว่างที่สหรัฐและประเทศในยูโรโซน กำลังเพลี่ยงพล้ำ อ่อนแรง โรยรา ล้มละลายทางเศรษฐกิจ ยังไม่มีทีท่าฟื้นตัวใน 5 ปีข้างหน้า ทำให้สหรัฐ กลายสถานะจากเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก มาเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของโลกแทน”

ไม่ใช่เพียง “จีน อินเดีย” ที่ขึ้นมาเป็นดาวเด่นทางเศรษฐกิจโลก แต่ยังมีประเทศดาวรุ่งใหม่ๆ บางประเทศที่กำลังจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น บราซิล เม็กซิโก อิหร่าน ตุรกี รัสเซีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อาเซียน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ตลอดจนทวีปอื่นๆ อย่างแอฟริกา

กลุ่มประเทศเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะเติบโตและกุมหัวใจการค้าของโลกอย่างค่อนข้างรวดเร็ว เขาบอก

สิ่งที่ ดร.เอนก ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมจากข้อมูลที่มีอยู่ คือ ในยุคที่ตะวันตกเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีสหรัฐ และอังกฤษ เป็นหัวหอก เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% ไม่มากเท่าประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชีย ที่มีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึงปีละ 7-10% โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย

นั่นคือเหตุผลว่ าทำไม? จีนจึงก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน โดยใช้เวลาเพียงกว่า 30 ปี หลังเปิดประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ.ที่ 1980 (พ.ศ.2523)

การกลับมายิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของเอเชีย จะว่าไปแล้วถือเป็นการกลับมาทวงแชมป์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อราว 2,000 ปี ในยุครุ่งเรืองของเอเชียที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็น 80% ของโลก

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปในปี ค.ศ.1820 (พ.ศ.2363) เศรษฐกิจของยุโรป ขยับขนาดมาอยู่ที่ 24% ของโลก ขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียลดลงมาเหลือ 59% ของโลก

จนถึงปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจตะวันตกรวมทั้งหมดมีสัดส่วน “เกินครึ่ง” ของโลก ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียรวมกันคิดเป็น 37.2% ของโลก แต่กำลังจะค่อยๆ ไต่ระดับนั้นขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 ดังกล่าว

เมื่อโลกสลับขั้ว ทำให้หลายประเทศต้องปรับกลยุทธ์หันมามองโอกาสในเอเชีย และโลกตะวันออกมากขึ้น แม้แต่ประเทศที่เคยพึ่งพาค้าขายกับสหรัฐเป็นหลักอย่าง แคนาดา และกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ อย่าง เม็กซิโก และชิลี รวมไปถึง ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด กลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างหาทางรุกเข้ามาทางการค้าและการลงทุนในตะวันออก ผ่านการรวมกลุ่มเขตเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย เป็นหัวหอกในการสร้างกลุ่มประเทศริมฝั่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association for Regional Cooperation-IOR-ARC) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน เคนยา มาดากัสการ์ มาเลเซีย มอริเชียส เป็นต้น

การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกตะวันออก ยังมีผลต่อการ “ถ่วงดุลอำนาจ” ทางเศรษฐกิจ การเมือง กำลังทางทหาร รวมถึงส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ ที่จะปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯต้องตามแก้เกม

ดร.เอนก ให้มุมมองว่า โมเดลการก้าวสู่ขั้วเศรษฐกิจใหม่ของทั้งจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง อิหร่าน ตุรกี และรัสเซีย รวมถึงบราซิล เกิดจากความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง โดยการหันเหจากแนวทาง “ทุนนิยมเสรี” ไปสู่แนวทาง “ทุนนิยมโดยรัฐ” (State Capitalism) โดยให้น้ำหนักกับบทบาทของรัฐในการเป็นผู้นำการลงทุนมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในยุคนั้น ระบบทุนนิยมเฟื่องฟู ส่งผลทำให้รัสเซียไร้กฎเกณฑ์ คนเป็นมหาเศรษฐีในชั่วข้ามคืน แต่คนส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจเสื่อมถอย

รัฐบาลรัสเซีย จึงหันมายึดกิจการพลังงานสำคัญ เช่น น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเคยอยู่ในมือบริษัทเอกชน และต่างชาติให้กลับคืนมา กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีการพัฒนาแนวทางทุนนิยมโดยรัฐ

นั่นทำให้ จีน เรียนรู้จากความลำบากของรัสเซียว่า พรรคคอมมิวนิสต์จะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลสามารถสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนจริงจังอย่างรวดเร็ว เขายกตัวอย่าง

จีน ยังถือเป็นต้นแบบของการดำเนินนโยบายที่เน้นความร่วมมือความมั่นคง และไม่นำตัวเองไปเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายใด ทำให้ในระยะเวลาเพียง 10 ปี จีน สามารถรุกด้านการต่างประเทศ เข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ จนมีอิทธิพลในแทบทุกหนแห่งของโลก เช่น รัสเซีย อเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน

ทำให้ประเทศในโลกตะวันออก ทั้งอินเดีย รัสเซีย ตุรกี อินโดนีเซีย และบราซิล ล้วนปรับนโยบายต่างประเทศหันมาเน้นเศรษฐกิจหรือธุรกิจคล้ายจีน เป็นท่าที่อ่อนน้อมไม่แสดงความยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามวัฒนธรรมตะวันออก ทำให้ประเทศตะวันออกโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ

เขายังระบุว่า ขณะนี้จีนกำลังรุกทำโครงการ “สุดยอดหนึ่งพันคน (One Thousand Talent Scheme)” เพื่อดึงคนจีน และคนชาติอื่นที่เก่งๆ ให้เข้ามาทำงานในจีน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม ทางลัดของการสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจ

เมื่อกลับไปดูข้อมูลเกี่ยวกับงบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ยังพบว่า 10 ประเทศของโลกที่ใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนามากที่สุด ในจำนวนนี้เป็นประเทศในกลุ่มตะวันออกถึง 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และรัสเซีย ที่เหลือ ได้แก่ สหรัฐ เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และแคนาดา

ดร.เอนก ให้ข้อมูลว่า ขบวนแถวของประเทศตะวันออกที่กำลังพลิกเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ นอกจากหัวหอกที่มีจีนและอินเดียแล้ว ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีเพียง 3 ประเทศที่โดดเด่น สามารถเกาะขบวนรถไฟไปได้ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ แต่กลับไม่มี “ไทย”

ตามรายงานของโกลด์แมนแซคส์ คาดการณ์ว่า ปีค.ศ. 2025 ในบรรดา 20 ประเทศ ที่จะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก จะมีอินโดนีเซียขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก และเวียดนามอยู่อันดับ 17 ส่วนฟิลิปปินส์จะอยู่อันดับ 19 ของโลก

อินโดนีเซียยังแรงไม่หยุด โดยจะขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 7 ของโลกในปี ค.ศ.2050 ส่วนเวียดนามขยับขึ้นไปอยู่อันดับ 15 แซงหน้าแคนาดา ส่วนฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 17 แซงหน้าอิตาลี

ไทยกลับไม่สามารถเกาะขบวนรถไฟนี้ไปได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวสวนทางกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่คาดการณ์ว่าไทยจะติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เป็นจักรกลสำคัญของเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทยและมาเลเซีย

ดร.เอนก บอกว่าในทัศนะของเขา สิ่งที่ไทยควรจะพัฒนาคือการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งจากตะวันตกมาสู่ตะวันออก เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานจากจีน เช่น ถนน ทางรถไฟ รวมถึงท่าเรือ รองรับยุทธศาสตร์เส้นทางการค้าของจีน ที่วางให้ไทยเป็น “ชุมทาง”อาเซียน

ในทางภูมิศาสตร์ไทยถือเป็นจุดเชื่อมสองฟากฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก อยู่กึ่งกลางระหว่างอินโดจีนและคาบสมุทรมาเลย์ เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดียที่จะเป็นศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก

โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อจีน เพราะเป็นเส้นทางเป้าหมายในการขนส่งน้ำมัน จากตะวันออกกลางสู่จีน ล้วนผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม

“เราต้องฉลาดใช้บูรพาภิวัฒน์ให้ประโยชน์ หากไม่ตื่นตัวใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ได้น้อย จึงต้องเกาะขบวนบูรพาภิวัฒน์ ด้วยการศึกษาแผนที่โลกใหม่ ว่าจะเกิดการเชื่อมโยงกลุ่มการค้าใด ในภูมิภาคใด บนโลกนี้”

โดยการที่จีนและอินเดีย รวมถึงตะวันออกกลางมีเศรษฐกิจที่เติบโต โอกาสจึงเดินมาถึงไทย ขึ้นอยู่กับว่าจะ “บริหารจัดการ” อย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด

หนึ่งในหลายแนวทาง ดร.เอนก เห็นว่า ไทยควรวาง Positioning ตัวเองใหม่ เพื่อเกาะขบวนรถด่วนบูรพาภิวัตน์ เปิดมุมมองและโลกทัศน์หันมาหาความร่วมมือในอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้าน อย่างใกล้ชิด

“เลิกมองว่าพม่าเป็นเผด็จการ ลาว กัมพูชาล้าหลังกว่าเรา เวียดนามกำลังรุกไล่ตามติดไทย ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นคู่แข่ง การคิดเช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์ แต่ควรมองถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ต้องใช้ปัจจัยภูมิ-เศรษฐศาสตร์ และภูมิ-รัฐศาสตร์มาปรับกระบวนทัศน์พัฒนาเศรษฐกิจ”

ดร.เอนก ยังบอกว่า ภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้คือการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งถนน รถไฟ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟความเร็วสูง อาทิ ลอนดอน-ปักกิ่ง ลงมาถึงไทยต่อไปยังสิงคโปร์ และการกลับมาของ “เส้นทางสายไหม” สายการค้าอันยิ่งใหญ่ในอดีต กำลังถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่ ไทยจะต้องกางแผนที่โลกใหม่หาจุดเชื่อมต่อเส้นทางการค้าจีนก่อนตกขบวนรถไฟ

ที่เห็น “หัวจักรรูปมังกร” อยู่เบื้องหน้าแล้ว

####

‘บูรพาภิวัตน์’ เอเชีย ผงาด!! เมื่อ ‘แกนอำนาจ’ สลับขั้ว

โดย ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

กรุงเทพธุรกิจ 23 มกราคม 2555

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.