นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบเข้ามาลงทุนหรือเล่นหุ้นในช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นกำลังวิ่งขึ้นอย่างแรงและเร็วเพราะเขาเชื่อว่าหุ้นมี “โมเมนตัม” คือเมื่อหุ้นกำลังวิ่งขึ้นแรงไม่มีอะไรสามารถที่จะหยุดมันได้ทันที โอกาสที่หุ้นจะขึ้นต่อมีสูง ดังนั้นเขาจะรู้สึกสบายใจและมั่นใจในการลงทุน บางคนเรียกนักลงทุนแบบนี้ว่า “ชาวไล่(ไร่)”
คนกลุ่มน้อยอีกส่วนหนึ่งชอบลงทุนในภาวะที่ตลาดตกลงมาอย่างหนักภายในเวลาสั้นๆ พวกเขาเชื่อว่าเมื่อหุ้นตกลงมามากจนราคาต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นหรือตกลงมาจนถึงจุดที่ราคาหุ้นต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่เคยเห็นเมื่อไม่นานมานี้ ในที่สุดก็จะมีนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นที่ถูกขายออกมาด้วยความ “ตกใจ” ซึ่งจะทำให้ราคาปรับตัวสูงกลับขึ้นมาไม่มากก็น้อย และนั่นคือโอกาสที่จะทำกำไร ขอเพียงแต่กล้าที่จะซื้อเมื่อทุกคนหวั่นไหว บางคนเรียกนักลงทุนแบบนี้ว่า “ชาวสวน”
ผมเองไม่เป็นทั้งชาวสวนและชาวไล่ โดยส่วนใหญ่แล้วในภาวะที่ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นแรง หรือตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว หรือมีภาวะความผันผวนสูงมากนั้น ผมจะรู้สึกมึนงง ทำอะไรไม่ใคร่ถูก และผมก็มักจะไม่ทำอะไร แต่จะนั่งมองดูราคาหุ้นที่ขึ้นลงรุนแรง บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ “เม็ดเงินในตลาด” ที่ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นหรือลงอย่างไม่มีเหตุผล เพราะในแง่ของบริษัทจดทะเบียนแล้ว มูลค่าของกิจการไม่ได้เปลี่ยนได้รวดเร็วขนาดนั้น แต่เมื่อยังหาเหตุผลไม่ได้และมีความไม่แน่นอนสูงผมก็เลือกที่จะอยู่เฉยๆ คล้ายกับ “ชาวประมง” ที่หลบเข้าที่กำบังในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง และจะ “ออกหาปลา” ในยามที่คลื่นลมเป็นปกติ
บรรยากาศของการลงทุนที่ผมชอบก็คือช่วงที่ภาวการณ์ซื้อขายหุ้นเงียบเหงาวัดโดยปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันไม่ควรเกิน 15,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนต่ำ และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ ประมาณปีละ 10 – 15% โดยที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตปานกลางประมาณปีละ 5 – 6% และอัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำและยังมีแนวโน้มอย่างนั้นต่อไปอีกนานพอสมควร
เหตุที่ผมชอบภาวการณ์ซื้อขายหุ้นที่เงียบเหงานั้นเป็นเพราะในภาวะอย่างนั้นมักจะมี “หุ้นดีราคาถูก” มากกว่าปกติ การซื้อหุ้นก็ง่าย หลายครั้งเราเป็นคนที่เสนอซื้ออยู่คนเดียว การรวบรวมหุ้นที่ดีเยี่ยมให้ได้จำนวนมากทำได้ง่ายกว่าในช่วงที่ตลาดคึกคักซึ่งมักจะมีคนมา “แย่งซื้อ” ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นไปซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนในอนาคตของเราต่ำลง
เรื่องของดัชนีตลาดนั้น นักลงทุนกว่าร้อยละ 90 คงชอบที่จะลงทุนในบรรยากาศที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไปสูงมากๆ ยิ่งได้แบบปีที่แล้วที่ดัชนีเติบโตกว่า 100% ยิ่งดี แต่ผมเองกลับไม่ชอบภาวะแบบนั้น เพราะการที่ดัชนีปรับตัวสูงเกินกว่าระดับปกติไปมากนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น “ชั่วคราว” ในระยะยาวแล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยคงไม่สามารถให้ผลตอบแทนเกินปีละ 10 – 15% ได้ ในขณะที่อดีตที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี ตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนเพียงประมาณ 7 – 8% ต่อปีโดยเฉลี่ยเท่านั้น
การที่ผมไม่ชอบดัชนีที่วิ่งแรงเกินไปนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าหุ้น Value ที่ผมลงทุนนั้น หลายๆ ตัวมักจะไม่วิ่งตามตลาด บ่อยครั้งที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นไปมากแต่หุ้นในพอร์ตหลายตัวของผมกลับอยู่เฉยๆ หรือบางทีปรับตัวลงด้วยซ้ำ ผมเองอดคิดไม่ได้ว่าในยามที่หุ้นกำลังวิ่ง คนอาจจะขายหุ้น Value เพื่อเอาเงินไปซื้อหุ้นที่ “กำลังวิ่ง” ตรงกันข้ามในยามที่ตลาดหุ้นเงียบเหงา คนอาจจะกลับมามองหา “Value” ในบริษัทที่มักจะมีกำไรและจ่ายปันผลดี เมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่จะต้องจ่าย
ภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมกังวล เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยมอาจทำให้ธุรกิจสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น มีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้น แต่การที่เศรษฐกิจร้อนแรงมากอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับตัวขึ้น ซึ่งเป็นภัยต่อตลาดหุ้น แต่สิ่งที่ผมกลัวไม่น้อยไปกว่าอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาวะเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมที่ “ดีเกินไป” จะชักชวนให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือผู้เล่นเดิมที่เข้ามาขายสินค้ามากขึ้น เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดของกิจการเดิมโดยเฉพาะบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่
ภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายหรือเติบโตน้อยเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี ว่าที่จริงคงจะแย่กว่าภาวะเศรษฐกิจที่ดีเกินไป เพราะในยามที่ยอดขายตกต่ำ บริษัทต่างๆ มักจะต้องแข่งขันกันโดยการตัดราคาเพื่อความอยู่รอดซึ่งทำให้ทุกคนขาดทุนกันหมด ซึ่งในภาวะแบบนี้หุ้นก็มีแต่ถดถอยแต่เพียงอย่างเดียว
เรื่องสุดท้ายคืออัตราดอกเบี้ยในตลาดซึ่งมักจะมีผลต่อตลาดหุ้นสูงมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยนั้นเปรียบเสมือนแรงดึงดูด หรือแรงโน้มถ่วงที่ “ดึงดูด” หุ้นลงมาที่ศูนย์กลางของมัน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็เหมือนกับแรงดึงดูดที่น้อย หุ้นจึงลอยตัวได้สูง ยิ่งดอกเบี้ยสูงเท่าไรหุ้นก็จะถูกดึงให้ต่ำลงมาเท่านั้น เพราะฉะนั้นภาวการณ์ลงทุนที่ดีก็คือในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในภาวะที่ต่ำ
แต่ภาวะดอกเบี้ยต่ำอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะถ้าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในภาวะที่ต่ำแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเวลาอันสั้น หุ้นที่เคย “เบาตัว” ก็จะ “หนัก” ขึ้น การที่หุ้นจะปรับตัวขึ้นต่อไปตามผลกำไรของบริษัทก็จะช้าลง และถ้าดอกเบี้ยยังคงปรับตัวขึ้นไปเรื่อยจนถึงจุดหนึ่งหุ้นก็จะไปไม่ไหวแม้ว่ากำไรของกิจการจะยังดีอยู่ อัตราดอกเบี้ยที่น่าจะเริ่มเป็นอันตรายต่อหุ้นนั้นผมคิดว่าน่าจะเป็นอัตราเงินฝากของธนาคารตั้งแต่ 5% ต่อปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยไม่วาจะมากหรือน้อยเพียงใดก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อภาวการณ์ลงทุน
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนขององค์ประกอบที่สำคัญของบรรยากาศในการลงทุนของผมซึ่งคงจะแตกต่างจากความคิดของนักลงทุนทั่วๆไป ที่เน้นการลงทุนระยะสั้นหรือเก็งกำไร รวมทั้งนักลงทุนที่เน้นการเจริญเติบโตและมีเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนในระยะเวลาอันจำกัด เช่น สถาบันการลงทุนต่างๆ เพราะนักลงทุนแบบ Value Investment นั้น มองการลงทุนในแง่ของการเข้าเป็นเจ้าของธุรกิจและหวังผลระยะยาวมาก ดังนั้นอะไรก็ตามที่ไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนย่อมมีคุณค่าน้อย ขณะที่ผลเสียของสิ่งที่แปรปรวนนั้นกลับมีมากกว่า
บรรยากาศแห่งการลงทุน
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร