บทเรียน “กอบกู้” วิกฤตการเงิน จากสวีเดนและญี่ปุ่นถึง “อเมริกา”

       

การ ปะทุของวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดของสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2551 ซึ่งจนถึงขณะนี้มาตรการแก้ไขปัญหาชะงักลง จนสร้างความตื่นตระหนกและช็อคให้กับทั่วโลก เพราะในวันที่ 29 กันยายน 2551 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ลงมติผิดไปจากคาด นั่นก็คือลงมติไม่เห็นชอบร่างกฏหมายแก้ไขวิกฤตการเงินที่กระทรวงการคลังเสนอ

ปัญหา ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา น่าจะได้ย้อนไปดูมาตรการกอบกู้วิกฤตการเงินของสวีเดนและญี่ปุ่นในอดีต ว่ามีจุดเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรบ้างกับแนวทางที่สหรัฐอเมริกากำลังดำเนิน อยู่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 3 ประเทศก็คือต้นเหตุของวิกฤตล้วนเกิดจากการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์มาก เกินไป

กรณีของสวีเดน หลังจากรัฐบาลเปิดเสรีในกลางทศวรรษ 1980 ก็ทำให้สถาบันการเงินมีการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์จนร้อนแรง กระทั่งฟองสบู่แตกใน ค.ศ.1991 จนทำให้จีดีพีของสวีเดนหายไป 4.4% บริษัทเกือบ 60,000 แห่งยื่นล้มละลาย ราคาบ้านดิ่งลง 19%

แนว ทางแก้ปัญหาของสวีเดนคือการใช้เงินของรัฐเข้าไปแก้ปัญหา ด้วยการค้ำประกันเงินฝากในลักษณะครอบคลุมทั้งหมดหรือ blanket guarantee แก่เจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน และเข้าซื้อธนาคาร 2 แห่ง ก่อนจัดตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารจัดการหนี้เสียและหลักประกันหนี้ รวมแล้วรัฐบาลต้องใช้เงินราว 6.5 หมื่นล้านโครเนอร์ หรือเทียบเท่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในขณะนั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้รับเงินชดเชยคืนเป็นส่วนใหญ่หลังจากขายทรัพย์สินของ สถาบันการเงินที่รัฐซื้อมาออกไป

บทเรียนสำหรับสหรัฐในกรณีของสวีเดน ก็คือ รัฐบาลสวีเดนเข้าแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและเฉียบขาด ที่สำคัญคือฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมมือกันเป็นอย่างดี ที่สำคัญอีกประการก็คือมีกระบวนการที่โปร่งใสทำให้ได้รับการสนับสนุนจาก ประชาชน

ในรายของญี่ปุ่นนั้น ช่วงทศวรรษ 1990 สถาบันการเงินปล่อยกู้สินเชื่ออสังหาฯอย่างไม่บันยะบันยัง เพราะคาดว่าราคาจะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ผิดคาด ราคากลับดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ลูกค้าที่กู้เงินไปไม่สามารถชำระหนี้คืน ส่งผลให้บริษัทโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ 4 แห่งล้มละลาย แต่การที่สถาบันการเงินไม่โปร่งใสมีการซุกหนี้เสียทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า และทำให้ปัญหาขยายวงกว้าง

บรรดาธนาคารได้เริ่มต้นตัดหนี้เสียออกจาก บัญชีในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มเข้าไปอุ้มอย่างจริงจังใน ค.ศ.1997 ด้วยการตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาบริหารจัดการหนี้เสีย โดยประเมินว่ารัฐบาลต้องใช้เงินประมาณ 18 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5.7 ล้านล้านบาท) ในการจัดการหนี้เสียออกจากระบบ

รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถได้ รับเงินคืนจำนวนมากด้วยการขายหลักทรัพย์ค้ำประกันของสถาบันการเงินที่รัฐ เข้าไปซื้อหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ เหตุการณ์ในช่วงนั้นของญี่ปุ่นถูกเรียกว่าเป็น lost decade ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะดีขึ้น แต่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ไม่สามารถกลับมาขึ้นถึงจุดสูงสุดอย่างที่เคยเป็นในช่วง ก่อนวิกฤต ขณะเดียวกันยังมีทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ที่ยึดมาจากสถาบันการเงิน) มูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่รัฐบาลถือเอาไว้อยู่เพื่อรอการขาย

บทเรียน สำหรับอเมริกาในกรณีของญี่ปุ่นก็คือ รัฐบาลญี่ปุ่นรอนานเกินไปก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปแก้ปัญหาด้วยการใช้งบ ประมาณของรัฐเพื่อซื้อหนี้เสียออกจากระบบ

วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11163 มติชนรายวัน

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.