‘นวัตกรรมทางการเงิน’ กับ ‘โศกนาฏกรรมร่วมสมัย’ : ดร.ไสว บุญมา

โศกนาฏกรรมเป็นศิลปะการแสดงรูปแบบหนึ่งซึ่งมีประวัติยาวนานจากสมัยอาณากรีกโบราณยังรุ่งเรือง ศิลปะแนวนี้ชี้ให้เห็นธาตุแท้อย่างหนึ่งของมนุษย์เรา นั่นคือ ผู้ชมได้รับความบันเทิงจากการดูความทุกข์ร้อนและเศร้าโศกของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอันเป็นแกนของเรื่อง ชาวโรมันนำไปเผยแพร่ทั่วอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลหลังอาณาจักรนั้นรุ่งเรืองขึ้นมาแทนอาณาจักรกรีก

แม้อาณาจักรทั้งสองจะล่มสลายไปนับพันปี แต่ศิลปะแนวนี้ยังคงอยู่และเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในนามของ “โศกนาฏกรรมกรีก” (Greek Tragedy) ในช่วงหลายเดือนมานี้ มีรายงานในสื่อต่างๆ ซึ่งอ้างถึงโศกนาฏกรรมกรีกบ่อยๆ แต่รายงานเหล่านั้นไม่ได้หมายถึงศิลปะการแสดงแนวดังกล่าว หากอ้างถึงวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศกรีซ ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางของอาณาจักรกรีกโบราณ

คงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า กรีซเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปและได้เปลี่ยนไปใช้เงินสกุลยูโรแทนเงินดรักม่ามาเกือบทศวรรษแล้ว อย่างไรก็ดี อาจไม่เป็นที่ทราบกันมากนักว่า ก่อนเปลี่ยนไปใช้เงินสกุลยูโร เศรษฐกิจของกรีซค่อนข้างอ่อนแอและมักประสบกับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดรักม่าลดค่าลงมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดความอ่อนแอได้แก่ การขาดดุลงบประมาณอันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเกินรายได้ของฝ่ายรัฐบาล ในการนำเงินยูโรมาใช้ กรีซจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหลายอย่าง รวมทั้งการดำเนินนโยบายการคลังซึ่งจะขาดดุลงบประมาณได้ไม่เกิน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี

กรีซ พยายามทำตามกฎเกณฑ์ข้อนี้มาชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งให้ผลดีมาก เนื่องจากเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและขยายตัวได้ในอัตราสูงเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเดียวกัน อนึ่ง คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ มีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ผลพวงหนึ่งของนวัตกรรมใหม่ได้แก่ ความสลับซับซ้อน ซึ่งเอื้อให้ง่ายต่อการซุกซ่อนความเสี่ยงและการตกแต่งบัญชี

การซุกซ่อนความเสี่ยงและการตกแต่งบัญชี มีผลร้ายแรงมาก ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆได้แก่ ความล่มสลายของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น เอนรอน และ เลห์แมน

หากมองให้ลึกลงไปจริงๆจะเห็นว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดนี้ ก็มีที่มาจากนวัตกรรมทางการเงินที่ขับเคลื่อนให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของหลายประเทศ

โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา การซื้อสัญญากู้เงินซื้อบ้านของชาวอเมริกันจำนวนมากมายำขายในรูปของอนุพันธ์ให้สถาบันการเงิน และนักลงทุนทั่วโลก โดยวานิชธนกิจขนาดใหญ่ในศูนย์การเงิน เช่น มหานครนิวยอร์ก

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว อนุพันธ์เหล่านั้นเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งไม่มีใครรู้แน่นอนว่ามีความเสี่ยงอย่างไร เนื่องจากสัญญาหนี้ที่นำมายำมีความแตกต่างกันสูงและจำนวนมาก การกระทำนั้นดูจะมีผลดีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ มันสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ ผู้บริหาร และพนักงานของวานิชธนกิจที่ทำขาย

ปัญหาของกรีซ ก็มีที่มาจากการใช้นวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งวานิชธนกิจใหญ่ในสหรัฐชื่อ โกลด์แมนแซคส์ เป็นผู้คิดให้ นวัตกรรมใหม่นั้นมีส่วนประกอบสำคัญหลายอย่างที่มีความสลับซับซ้อนค่อนข้างสูงซึ่งคนทั่วไปตามไม่ทัน จุดมุ่งหมายของมันคือ การช่วยกรีซตกแต่งบัญชีงบประมาณให้ดูเสมือนว่าขาดดุลในระดับ 3% ของจีดีพี ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วมันขาดดุลเกือบ 13% ของจีดีพี

การขาดดุลงบประมาณสูงขนาดนั้น อาจทำได้ในชั่วระยะหนึ่งหากประเทศสามารถหาเงินกู้มาปิดได้ในเวลาอันสั้น แล้วต่อจากนั้นสามารถเก็บภาษีมาใช้หนี้ได้ แต่เมื่อการขาดดุลยืดยาวออกไป หรือรัฐบาลไม่สามารถกู้เงินได้อย่างเพียงพอ รัฐบาลจะปิดงบไม่ได้และไม่มีเงินชำระหนี้ และจ่ายให้พนักงานของรัฐ

วิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้กรีซเก็บภาษีได้น้อยและกู้เงินใหม่ได้ไม่พอ กรีซจึงปกปิดการขาดดุลขนาดนั้นต่อไปอีกไม่ได้ วิกฤติในกรีซจะมีผลกระทบต่อระบบการเงินของโลก โดยเฉพาะเกี่ยวกับเงินสกุลยูโรที่ใช้กันอยู่ใน 16 ประเทศ

ในขณะที่เขียนบทความนี้ (เมษายน 2553) เพิ่งมีข้อตกลงกันว่าจะหาทางออกให้กรีซ โดยประเทศที่ใช้เงินยูโรและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะยื่นมือเข้าช่วยหาก กรีซ ไม่สามารถกู้เงินจากตลาดเพิ่มขึ้นได้จริงๆ อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงหลักการที่ประกาศออกมา ส่วนเรื่องกรอบเวลาและรายละเอียดอย่างอื่นยังไม่ปรากฏดังที่อ้างถึงข้างต้น

โศกนาฏกรรมกรีกนั้น ชาวโรมันได้สัมผัสและนำไปสานต่อ ปัญหาของกรีซครั้งนี้ลูกหลานของชาวโรมันก็มีโอกาสสัมผัสโดยตรง ดังจะเห็นว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2553 อัยการของเมืองมิลานอันเป็นศูนย์แฟชั่นอันก้องโลกของอิตาลี ได้ยื่นฟ้องธนาคารใหญ่ 4 แห่ง ผู้บริหารและพนักงานธนาคาร 11 คน และอดีตพนักงานของเมืองนั้น 2 คน ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า ร่วมมือกันสร้างอนุพันธ์การเงินขึ้นจากพันธบัตรของมิลานยังผลให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง เพราะไม่ได้บอกความจริงแก่รัฐบาลเกี่ยวกับ ความเสี่ยง และค่าบริการ ซึ่งสูงถึง 100 ล้านยูโร

ธนาคารใหญ่ได้แก่ ยูบีเอสของสวิสเซอร์แลนด์ เจพีมอร์แกนเชสของสหรัฐ ดอยช์และไฮโปของเยอรมนี ศาลนัดไต่สวนในเดือนพฤษภาคม 2553 ถึงคดีจะมีผลออกมาอย่างไรเป็นที่สนใจของรัฐบาลท้องถิ่นทั่วโลก โดยเฉพาะในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้บริการของธนาคารต่างๆสร้างอนุพันธ์การเงิน

ธนาคารกลางของอิตาลีรายงานว่า เฉพาะในอิตาลีประเทศเดียว รัฐบาลท้องถิ่นถืออนุพันธ์การเงินไว้ถึง 25,000 ล้านยูโร และมีโอกาสสูญเงินสูงถึง 8,000 ล้านยูโร คำตัดสินของศาลในเมืองมิลานจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นทั้งหลายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง

ที่เล่ามานี้คงชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกจะมีต่อไป ตราบใดที่โลกยังขาดความสามารถที่จะควบคุมสถาบันการเงินให้อยู่ในกรอบของผู้ให้บริการแก่ภาคอื่นของเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสียเองด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งไม่มีค่าอะไรนอกเหนือไปจากการใช้ผีโม่แป้งสร้างความร่ำรวยให้กับผู้บริหารและพนักงานของตน

การควบคุมสถาบันการเงินในยุคนี้มีความยากลำบากยิ่ง เพราะกระบวนการโลกาภิวัตน์ได้หลอมรวมตลาดเงินของโลกให้เป็นตลาดเดียวกัน ในขณะที่ธนาคารกลางต่างๆราว 200 แห่งยังไม่ร่วมมือกันทำงาน หรือยังไม่มีธนาคารกลางของโลก สภาพเช่นนี้จึงมีลักษณะของ โศกนาฏกรรมกรีก ซึ่งผู้บริหารและพนักงานของสถาบันการเงินใหญ่ๆได้รับความบันเทิง จากการทำรายได้มหาศาลบนฐานของความทุกข์ร้อนและเศร้าโศกของเพื่อนมนุษย์

ด้วยเหตุผลที่เล่ามานี้ จึงใคร่จะชี้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมองเห็นอันตรายของความต้องการให้เกิดความทันสมัยทางด้านการเงิน โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆในรูปของอนุพันธ์ต่างๆ ซึ่งมีความสลับซับซ้อนสูงมากจนยากแก่การประเมินความเสี่ยง เราไม่ควรลืมบทเรียนที่ได้จากการเปิดตลาดการเงินเมื่อตอนก่อนเกิดวิกฤติปี 2540 ในเมืองไทย และที่ได้จากส่วนต่างๆของโลก ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ในปัจจุบัน

อาจยังไม่เป็นที่ทราบกันดีว่า ตอนนี้ แม้แต่เอ็มเอฟเองซึ่งครั้งหนึ่งพยายามผลักดันให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุนอย่างเสรีก็มีความเห็นว่า ควรมีมาตรการควบคุมให้เข้มงวดขึ้นแล้ว

นวัตกรรมทางการเงินกับโศกนาฏกรรมร่วมสมัย

ดร.ไสว บุญมา

ตีพิมพ์ใน ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5 เมษายน 2553

http://sawaiboonma.com

Author: admin

1 thought on “‘นวัตกรรมทางการเงิน’ กับ ‘โศกนาฏกรรมร่วมสมัย’ : ดร.ไสว บุญมา

  1. Pingback: crai | Pearltrees

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.