ถ้าพูดถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จะพบว่าปัจจุบันจำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย มีประมาณ 3 แสนบัญชี ถ้าเปรียบเทียบกับประชากรทั้งประเทศ 60 ล้านคนแล้ว มีไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นเอง ที่ทำการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยตรงด้วยตนเอง
ขณะที่บัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์มีมากกว่า 10 ล้านบัญชี ทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังคงฝากเงินไว้กับธนาคารมากกว่าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งๆที่ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้มูลค่าเงินฝากที่แท้จริงมีค่าลดลงไปตามเวลา
เหตุผลหนึ่งก็คือ มุมมองของผู้คนส่วนใหญ่จะมองว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเหมือน “การพนัน” อย่างหนึ่ง ซึ่งมีได้มีเสีย และต้องเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว สามารถเข้าออกซื้อขายหุ้นได้ทันตลอดเวลา รวมถึงต้องคอยเฝ้าดูหน้าจอดูราคาหุ้นตลอดวัน ซึ่งคนทำงานประจำ หรือ ผู้ที่มีกิจการต้องดูแลไม่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้ทันท่วงที
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ คนส่วนใหญ่กลัวที่จะ “ขาดทุน” ถึงแม้ว่า การขาดทุนนั้นจะเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราวก็ตาม การลงทุนแล้วขาดทุนแม้เพียงน้อยนิด ก็สามารถทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกสูญเสียมากมายใหญ่หลวงกว่าความรู้สึกยินดีที่ได้กำไรมากๆซะอีก เพราะการขาดทุนทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้แพ้
ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงรู้สึก “ปลอดภัย” ที่จะฝากเงินกับธนาคาร เพราะการฝากธนาคารไม่เคยทำให้ตัวเลขเงินต้นลดลง จึงรู้สึกว่าไม่มีวันขาดทุน ทั้งๆที่มูลค่าเงินที่แท้จริงลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เป็นเหมือนการเล่นการพนันเสมอไป ลองนึกถึงเวลาที่เราจะทำการซื้อ “บ้าน” สักหลังหนึ่งเพื่ออยู่อาศัย เราจะต้องทำอะไรบ้าง
เราคงไม่เดินเข้าไปที่สำนักงานขายหมู่บ้านแห่งแรกที่เราขับรถผ่าน แล้ววางเงินจองซื้อบ้านที่หมู่บ้านนั้นทันทีแน่นอน อย่างน้อยที่สุดเราคงต้องทำการเปรียบเทียบหมู่บ้านหลายๆแห่งในแต่ละทำเลที่เราสนใจ จากนั้นก็จะหาข้อมูลเกี่ยวกับหมู่บ้านนั้น ดูถึงคุณภาพของบ้าน ความน่าเชื่อถือของเจ้าของโครงการ ดูถนนหนทาง ความสะดวก มีโรงเรียนที่ดีสำหรับลูกๆไหม มีสวนให้วิ่งออกกำลังกายหรือเปล่า และอื่นๆ ฯลฯ
เราคงต้องเลือก “บ้าน” ที่ดีที่สุด ทั้งคุณภาพบ้าน ทำเล และสาธารณูปโภคในงบประมาณที่ี่เราจำกัดกำหนดไว้ เราคงต้องพิจารณาอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจวางเงินจองทำสัญญาซื้อบ้านหลังนั้น เพราะบ้านคือการลงทุนระยะยาว และถ้ามีการกู้เงินมาซื้อก็จะเป็นภาระผูกผันไปอีกหลายสิบปี ทำให้เราต้องคิดหนักก่อนตัดสินใจ
กลับมาที่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ บางครั้งเราพบว่า เราลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งๆ เป็นจำนวนเงินเป็นแสนเป็นล้านบาทโดยใช้เวลาในการตัดสินใจที่จะซื้อหุ้นบริษัทนั้นเพียงแค่ไม่กี่นาที โดยที่ไม่ได้ศึกษาหุ้นตัวนั้นดีเพียงพอ ส่วนใหญ่จะซื้อตามที่มีคนบอกว่าหุ้นตัวนั้นดี ยิ่งราคากำลังขึ้นยิ่งน่าสนใจ
ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึง “ขาดทุน” จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เหตุผลหนึ่งก็คือ เราไม่ได้ศึกษาบริษัทที่เราลงทุนดีเพียงพอ เราซื้อเพราะ “ราคา” กำลังสูงขึ้นๆ และเมื่อ “ราคา” หุ้นตกต่ำลง เราก็มาหาสาเหตุว่า ทำไมราคาหุ้นถึงลดลง เราทำอะไรผิดพลาดไปหรือ มีอะไรกำลังเกิดขึ้นกับตลาด หรือ มีอะไรเกิดขึ้นบริษัทที่เราลงทุนไป
ซึ่งคำถามเหล่านั้น น่าจะมาจากนักลงทุนก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้น มากกว่าหลังจากซื้อไปแล้ว
ถ้าเราลองคิดใหม่ทำใหม่ โดยคิดว่า ถ้าเราจะลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สักบริษัทหนึ่ง ให้เหมือนกับเรากำลังจะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยสักหลังหนึ่ง เราจะมีวิธีการในการลงทุนเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร เราจะทำอย่างที่เรากำลังลงทุนอย่างในปัจจุบันนี้หรือไม่
อย่างน้อย ถ้าเราคิดว่าเรากำลังซื้อหุ้นเหมือนซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง เราคงไม่ตัดสินใจซื้อหุ้นบริษัทนั้นในเวลาเพียงไม่กี่นาที เราคงไม่ซื้อเพียงเพราะมีคนบอกว่าบริษัทนี้ดี โดยที่ไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด และเมื่อซื้อบ้านมาแล้ว เราคงไม่ประกาศขายบ้านที่เราอยู่ทันที เมื่อบ้านข้างๆเราประกาศขายบ้านลดราคา
จะเห็นว่า ถ้าเราคิดว่า เราลงทุนในหุ้นสักบริษัทหนึ่งเหมือนซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยสักหลังหนึ่ง การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้เป็นเหมือนการพนันอีกต่อไป นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investing ทางหนึ่ง
ลองเปลี่ยนมุมมองดูสักนิด แล้วท่านจะพบว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เสี่ยงมากเสมอไป
ทำไมไม่กล้าซื้อหุ้น
Value Way
วิบูลย์ พึงประเสริฐ