ครั้งนี้ผมจะไม่เขียนเกี่ยวกับสภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลกอย่างที่เคย แต่จะเขียนเกี่ยวกับแนวคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้างครับ
1. เศรษฐศาสตร์กับศาสนาพุทธ
มีการเปรียบเทียบว่า “เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก” นั้นเน้นวัตถุ คือสอนให้คนอยากได้สิ่งของ อยากบริโภค อยากทำกำไร อยากร่ำรวย ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ขัดกับหลักของพุทธศาสนา ที่สอนให้อย่าโลภ โกรธ หลง และปล่อยวางเพื่อพ้นจากความทุกข์ ตรงนี้ต้องยอมรับในหลักการว่า เศรษฐศาสตร์กับศาสนาพุทธ มองปัญหาของมนุษย์แตกต่างกัน เศรษฐศาสตร์มีสมมติฐานหลักว่า โลกของเรามีความขาดแคลน (scarcity) ขณะที่มนุษย์มีความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด และจะต้องลงทุนค้นคว้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะจะเพิ่มการผลิตมากเพียงใดก็จะไม่เพียงพอกับความต้องการของมนุษย์
ขณะที่ ศาสนาพุทธ สอนให้มนุษย์ควบคุมความต้องการเพื่อเป็นหนทางไปสู่ความสุขที่แท้จริง ความพึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่นั้นจะช่วยดับทุกข์ได้จริงสำหรับคนที่มีความเป็นอยู่ที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว คือสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของการดำรงชีวิตได้แล้ว แต่ในโลกปัจจุบันนั้นมีประชากรประมาณ 6 พันล้านคน มีรายได้ต่อหัว 1,000 เหรียญ หรือ 35,000 บาท คือประมาณ 100 บาทต่อคนต่อวัน แต่เมื่อคำนึงว่าการกระจายรายได้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน ก็หมายความว่าคนที่มีรายได้ไม่พอยังชีพนั้นมีอยู่หลายร้อยล้านคน สรุปได้ว่า สมมติฐานหลักของเศรษฐศาสตร์ว่าโลกของเรายังมีความขาดแคลนอย่างมากน่าจะถูกต้อง
2. ปัญหาน่าจะอยู่ที่การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม
ดังที่กล่าวข้างต้น หากนำเอารายได้ทั้งโลกมาแบ่งปันเท่าๆกัน มนุษย์ทุกคนจะมีรายได้ประมาณ 100 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งไม่ใช่เงินที่มากเพียงพอ ดังนั้น เรื่องของการ “แบ่งเค้ก” จึงไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สิ่งที่ควรมุ่งมั่นทำคือความพยายามทำให้ “เค้กใหญ่ขึ้น” ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมขาดความเป็นธรรม ทั้งนี้โดยทั่วไปนั้นมักจะพบว่า คนรวยที่สุด 20% นั้น จะมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่คนที่ยากจนที่สุด 20% จะมีรายได้เพียง 5-10% ของรายได้ทั้งหมด จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า คนที่รวยที่สุด 20% นั้นจะต้องจ่ายภาษีเงินได้ในอัตรา 20-50% เพื่อให้รัฐบาลนำภาษีดังกล่าวมากระจายให้กับคนจน แต่การใช้นโยบายภาษีก็มีข้อต้องคำนึงว่าหากเก็บภาษีในอัตราที่สูงเกินไปจะมีผลเสีย คือ
2.1 สร้างแรงจูงใจให้เลี่ยงภาษี (เช่น การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกันโดยไม่ใช้เงินเป็นตัวกลางเพื่อมิให้เกิดการลงบัญชีเพื่อเสียภาษี)
2.2 คนรวยจะย้ายไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า
2.3 ทำให้ความมุ่งมั่นทำงานลดลงเพราะมีรายได้มากก็ถูกเก็บภาษีมาก นอกจากนั้น ในบางกรณีที่ระบบประกันสังคมมั่นคงเกินไป ก็ทำให้เกิดปัญหาคือคนไม่ต้องการทำงาน เพราะเงินที่ได้รับจากรัฐบาลในระหว่างว่างงานนั้นมีจำนวนที่เพียงพอและใกล้เคียงกับรายได้จากการทำงาน (ปัญหานี้เกิดขึ้นในยุโรป)
3. ระบบทุนนิยมทำให้เศรษฐกิจขยายตัวจริง แต่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้น
ตรงนี้หลักฐานและข้อมูลไม่ชัดเจน โดยพบว่าในบางกรณีช่วงแรกที่เศรษฐกิจพัฒนาอย่างรวดเร็วนั้น จะมีคนกลุ่มน้อยที่มีความสามารถสูงสามารถฉกฉวยโอกาสได้ดีกว่าคนอื่นๆ ทำให้ร่ำรวยขึ้นอย่างมากและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ในระยะยาวความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลงได้หากรัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีจากคนรวย และนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสังคม เฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยเฉพาะการศึกษาซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นการลงทุนในมนุษย์ (human capital) ที่จะช่วยให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสที่ทัดเทียมกันมากขึ้น (equality of opportunity)ในการแสวงหาความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเก็บภาษีที่มีผลน้อยมากในการบิดเบือนประสิทธิภาพของกลไกตลาด คือ ภาษีมรดก แต่ก็แน่นอนว่า คนที่ร่ำรวยจะไม่เห็นด้วยและรู้สึกว่า เขาน่าจะมีสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่สร้างขึ้นด้วยความมุ่งมั่นอย่างถูกต้องตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ของสังคม ซึ่งรวมถึงการส่งต่อทรัพย์สินให้ทายาท
4. ควรเก็บภาษีคนรวยมากน้อยเพียงใดจึงจะเหมาะสม
ตรงนี้หาคำตอบในเชิงทฤษฎีได้ยากมาก หากเราสมมติว่า มนุษย์ทุกคนมีความคล้ายคลึงกันมากในเชิงของความพึงพอใจจากการบริโภค คือมีความชอบสินค้าและบริการเหมือนๆกัน เช่น หากคนรวยชอบดื่มไวน์ คนจนซึ่งปัจจุบันดื่มเหล้าโรงก็จะหันมาดื่มไวน์เช่นกันหากรายได้สูงพอ นอกจากนั้น ก็ยังมีลักษณะเหมือนกัน คือ เมื่อบริโภคมากขึ้น ความพึงพอใจในการบริโภคหน่วยต่อๆไปจะลดลง (เช่นเมื่อกระหายน้ำ การดื่มน้ำแก้วแรกจะให้ความพึงพอใจ 100 หน่วย แต่เมื่อดื่มถึงแก้วที่ 5 ความพึงพอใจในการดื่มน้ำแก้วที่ 5 จะเหลือเพียง 10 หน่วย) หรือเรียกว่า diminishing marginal utility
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะนำมาสู่ข้อสรุปว่า จะต้องกระจายรายได้ให้เท่ากันทุกคน เพราะทุกคนได้รับความพึงพอใจเหมือนกัน เปรียบเสมือนการตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์ถูกโคลน (clone) ออกมาจากแม่แบบเดียวกัน แต่เนื่องจากในความเป็นจริงนั้นมนุษย์มีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกันจะทำให้ความเป็นสุขของสังคมอยู่ที่ระดับสูงสุด
อีกทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ “ทฤษฎีของความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ” ของ John Rawls แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ 35 ปีมาแล้ว โดยตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์ทุกคนไม่ชอบความเสี่ยง (risk aversion) และหากมนุษย์อยู่บนสวรรค์ก่อนจะเกิดมาอยู่ในโลกมนุษย์ ต้องมาประชุมกันเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในโลกมนุษย์ การกำหนดกฎเกณฑ์จะเน้นความเท่าเทียมกันตราบใดที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ได้ก่อนว่าตนจะเกิดมาแล้วจะโชคดีเกิดเป็นคนรวยหรือโชคร้ายเกิดเป็นคนจน ทั้งนี้ Rawls เชื่อว่า มนุษย์จะยอมให้มีความเหลื่อมล้ำกันได้บ้างก็ในกรณีที่ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวทำให้ทุกคนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น ให้นายบิลล์ เกตส์ ร่ำรวยได้มากกว่าคนอื่นๆ เพราะบริษัทไมโครซอฟท์ทำประโยชน์ให้เศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนทุคนกล่าวคือ ความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้นได้หากทำให้คนที่มีรายได้น้อยมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น (maximize the minimum)
การเก็บภาษีคนรวยนั้น สามารถอ้างเหตุผลได้ว่าช่วยให้การกระจายความมั่งคั่งมีความเท่าเทียมมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของสังคม เพราะจะทำให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความปรองดองและสงบสุข จึงเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ให้ (ผู้จ่ายภาษี) และผู้รับ แต่หากรัฐบาลไม่เป็นผู้เก็บภาษีและให้คนรวยบริจาคให้คนยากจนตามความสมัครใจ จะเกิดปัญหาว่าคนรวยจะเกี่ยงกันโดยรอให้คนอื่นบริจาค เพราะความเท่าเทียมกันทางสังคมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ “บริโภค” ร่วมกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่บริจาคเงินมากหรือน้อย หรือไม่ได้บริจาคเลย ดังนั้น แรงจูงใจที่จะ “ขอพ่วงไปด้วยโดยไม่ยอมจ่าย” (free rider) จะทำให้กลไกตลาดเสรี (การบริจาคเงินให้คนจนโดยสมัครใจ) “ผลิต” ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจน้อยเกินไป จึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาเก็บภาษีคนรวยเพื่อ “ผลิต” ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจให้เพียงพอกับความต้องการที่แท้จริง จึงต้องสรุปว่าการเก็บภาษีคนรวยนั้นมีเหตุมีผล โดยเฉพาะการเก็บภาษีมรดก แต่เศรษฐศาสตร์ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอัตราภาษีที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่ระดับเท่าไร
5. จะจัดการกับทุนสามานย์อย่างไร
คำนี้ดูเหมือนกับเป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นในเมืองไทย ไม่ได้แปลจากศัพท์ฝรั่ง แต่หากพิจารณาจากอดีตก็จะมีการกล่าวถึงความชั่วร้ายของทุนนิยมมาโดยตลอด ตั้งแต่ทฤษฎีของมาร์กซ์ที่มองว่าระบบนายทุนนั้นต้องกดขี่ผู้ใช้แรงงานเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรสูงสุด (ทั้งนี้เพราะมีสมมติฐานว่าแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตปัจจัยเดียวที่สร้างมูลค่า (labour theory of value) แม้แต่เครื่องจักรก็ต้องสร้างด้วยผู้ใช้แรงงาน) และจะกดขี่ผู้ใช้แรงงานจนกระทั่งระบบนายทุนล่มสลายลงโดยจะมีระบอบคอมมิวนิสต์มาแทนที่ ซึ่งปัจจัยการผลิตทุกอย่างจะเป็นของรัฐเพื่อยุติการเอารัดเอาเปรียบในสังคม ในทำนองเดียวกัน ก็มีการกล่าวหาทุนนิยมว่าเป็นสาเหตุหลักของจักรวรรดินิยมที่นายทุนต้องแสวงหาทรัพยากรและแรงงานราคาถูกทั่วโลกมาหล่อเลี้ยงระบบนายทุน ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการกล่าวหาว่าทุนนิยมสกัดกั้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาผ่านบรรษัทข้ามชาติที่เอาเปรียบและกีดกันมิให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสร้างอุตสาหกรรมของตน (จำกัดให้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก) และกล่าวหาว่า ทุนนิยมและการพัฒนาของประเทศอุตสาหกรรมนั้นต้องพึ่งพาการทหารและสงครามเพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (military-industry complex)
สำหรับประเทศไทยนั้น ทุนสามานย์ดูเสมือนจะหมายความถึงทุนที่ไม่มีคุณธรรม และต้องการครอบงำอำนาจทางการเมืองให้อยู่ในมือของกลุ่มนายทุนกลุ่มเล็กๆ สำหรับผมนั้นประสบการณ์ในช่วง 250 ปีที่ผ่านมาสะท้อนว่า ระบบทุนนิยมและวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีสามารถนำความเจริญมาสู่เศรษฐกิจโลกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติของโลกช่วง 2-3 พันปีที่ผ่านมา จึงสรุปได้ว่าระบบทุนนิยมมีข้อดีมากกว่าข้อเสียอย่างเห็นได้ชัด การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนตั้งแต่เปิดรับระบบทุนนิยมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่พิสูจน์ประโยชน์ของทุนนิยม
แต่หากจะพูดถึงทุนนิยมที่เป็นอันตรายต่อสังคมก็น่าจะเป็นการผูกขาดของทุนที่อิงการเมือง ซึ่งแก้ไขได้โดยสนับสนุนให้มีการแข่งขัน ไม่มีสัมปทานผูกขาด เช่นรัฐบาลต้องการเก็บภาษีจากโทรศัพท์มือถือจึงให้สัมปทานผูกขาดกับผู้ประกอบการไม่กี่ราย และมีเงื่อนไขให้แบ่งรายได้ให้รัฐเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลมีผลประโยชน์ร่วมกับเอกชนที่จะสร้างกำไรให้กับธุรกิจ ตรงกันข้าม รัฐบาลสามารถเสนอเงื่อนไขให้มีความโปร่งใสและมีการแข่งขันกันให้บริโภคได้รับบริการที่ดีคุ้มค่าที่สุด โดยให้ผู้ประกอบการทำกำไรในระดับปกติ ซึ่งจะช่วยไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของทุนที่มีอำนาจทางการเมืองครับ
คิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
1 thought on “คิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ”