หลังจากเขียนเรื่อง “คิดเหมือนเจ้าสัว ทำแบบเจ้าสัว รวยเป็น…เจ้าสัว” ไปเมื่อเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ก็มีคนมากระซิบว่า ถ้าจะให้พูดถึงความร่ำรวยแล้ว ชนชาติที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในโลกน่าจะเป็น “ยิว” เพราะชนชาติยิวมี “เคล็ดลับ” สร้างความร่ำรวยที่น่าเอาอย่าง
.
แต่ต้องยอมรับตามตรงว่า แทบจะไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับชนชาติยิวสักเท่าไร โอกาสที่จะรู้จักมักจี่กับชนชาติยิวยิ่งไม่ต้องพูดถึง
.
นอกจากนี้ ถ้าได้ยินคำว่า “ยิว” ก็ต้องยอมรับอีกครั้งว่า ออกจะมีความรู้สึกไปในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่ (ทั้งๆที่ไม่ได้เคยรู้จัก) และอีกความรู้สึกคือ สงสารและเห็นใจ เพราะครั้งแรกที่รู้จักคำว่า “ยิว” ก็จากหนังสือเรื่อง “บันทึกลับ ของ แอนน์ แฟรงค์” หนังสือที่สร้างจากสมุดบันทึกประจำวันของ “อันเนอ ฟรังค์” ที่ต้องผ่านชีวิตที่ยากลำบากในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
.
โดยที่ไม่รู้เลยว่า ชนชาติยิวที่มีอยู่ราวๆ 0.25% ของประชากรโลก แต่ในคนจำนวนเพียงเล็กน้อยนี้ มีคน 20% เป็นมหาเศรษฐี และ 40% เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของเศรษฐีอเมริกันเป็นชาวยิว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง เพราะคนจำนวนเพียงเล็กน้อย กลับกุมทรัพย์สินจำนวนมากมายมหาศาลเอาไว้ในมือ
.
จนกระทั่งมีคำกล่าวกันว่า “เงินทั้งโลกอยู่ในกระเป๋าของชาวอเมริกัน แต่เงินของชาวอเมริกันอยู่ในกระเป๋าชาวยิว”
.
เพราะฉะนั้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงต้องออกเดินทางตามหา “ยิว” ที่แทบจะเรียกได้ว่า “งมเข็มในมหาสมุทร” เลยก็ว่าได้ สุดท้ายไปเจอหนังสือเรื่อง “คัมภีร์การค้าของชาวยิว” ที่แปลและเรียบเรียงโดย ไอรีน เป จากร้าน Kinokuniya
.
บวกกับอีกสองเล่มที่ค้นเจอจากห้องสมุดมารวย ได้แก่ “สุดป่วนก๊วนกระเป๋าตุง ตอน รวยง่ายๆ สไตล์ยิว” ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค และ “สู่ความเป็นอัจฉริยะ ด้วยการพัฒนาพลังสมอง” สำนักพิมพ์อินสปายร์ ซึ่งเป็นการไขความลับความอัจฉริยะระดับไอน์สไตน์ (ที่เป็นชาวยิว) ของชนชาติยิวที่ได้ชื่อว่า ฉลาดสุดๆ และในแทบทุกวงการจะต้องมีชนชาติยิวอยู่ในอันดับต้นๆเสมอ ซึ่งหากจะให้ไล่เรียงรายชื่อคงจะล้นเกินพื้นที่ที่มีอยู่แน่ๆ
.
นอกจากนี้ ยังมีบทความจากโลกไซเบอร์อีก 2-3 เรื่อง ที่มีการกล่าวอ้างถึงมันสมองระดับอัจฉริยะและลักษณะนิสัยที่ทำให้ชนชาติยิวมั่งคั่งเหนือกว่าชนชาติอื่นๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องบอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นการประมวลมาจากทุกๆแหล่งที่กล่าวมา
.
เงิน เงิน และเงิน
.
สำหรับชาวยิวแล้วไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะยอมรับว่า “เงินคือพระเจ้า” และเงินคือร่างจำแลงของพระเจ้า นั่นเพราะความยากลำบากและการร่อนเร่ ทำให้เงินคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต นอกจากนี้เงินยังเป็น “หลักประกันความปลอดภัย” เพราะหากวันใดที่พวกเขาถูกขับไล่ เงินจะถูกแลกเปลี่ยนเป็นความคุ้มครองและที่อยู่อาศัย
.
ในคัมภีร์ทัลมุด (Talmud) ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณของชาวยิวสอนเอาไว้ว่า คนต้องรักษาทรัพย์สินที่ตัวเองมีใน 3 รูปแบบ คือ
.
(1) เงินสด-เงินฝาก
.
(2) สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของมีค่า
.
(3) อสังหาริมทรัพย์
.
แต่เป็นเพราะยิวไม่มีแผ่นดินของตัวเอง ทำให้ในภาวะสงครามชาวยิวเลือกที่จะเก็บสินทรัพย์ที่ติดตัวไปได้ง่าย นั่นคือ เงินสดและสังหาริมทรัพย์ เช่น เพชร ทำให้ในทุกวันนี้ยิวยังถือเป็นเจ้าตลาดเพชรอีกด้วย
.
ในหนังสือเรื่อง “คัมภีร์การค้าของชาวยิว” เขียนเอาไว้ว่า “ชีวิตที่ต้องเร่ร่อนไปยังสถานที่ต่างๆมายาวนาน ทำให้ชาวยิวไม่อาจดูถูกเงินได้ เพราะทุกครั้งที่พวกเขาจำเป็นจะต้องเริ่มต้นการเดินทางอีกครั้ง เงินเป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถนำติดตัวไปได้โดยสะดวกที่สุด และเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตลอดการเดินทางอันยาวนาน”
.
เพราะฉะนั้น “หากชาวยิวไม่มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเหนือกว่าผู้อื่น ชาวยิวคงจะต้องถูกทำลายล้างจนหมดสิ้นไปนานแล้ว”
.
และจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวยิวจะขึ้นชื่อว่า เป็นชนชาติที่มี ความมัธยัสถ์ จนกระทั่งอาจจะเลยไปถึงความตระหนี่ถี่เหนียวในบางกรณี แต่นั่นเป็นเพราะชาวยิวเห็นคุณค่าของเงิน ซึ่งไม่เฉพาะเงินแสนเงินล้านเท่านั้น แม้กระทั่งเงิน 1 บาทก็มีคุณค่า นั่นเพราะชาวยิวได้รับการปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นว่า “เงินล้านก็เริ่มต้นจากเงิน 1 บาท”
.
ดังคำกล่าวที่ชาวยิวมักพูดกันเสมอๆ คือ “ถ้าค้าขายไม่ได้เงิน จงฝากธนาคารกินดอกเบี้ย” ที่แม้ว่าจะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่วันหนึ่งผลของการอดออมจะงอกเงยขึ้นมาได้ ทำให้ชาวยิวติดนิสัยในการออมเงินมาตั้งแต่เด็กๆ
.
นอกจากนี้ สำหรับชาวยิวแล้ว “คำมั่นสัญญา” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะเรื่องเงินๆทองๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเล็กน้อยแค่ไหน เพราะยิวมีสำนวนที่ว่า “คนที่ยืมเงินแล้วไม่คืนก็ไม่ต่างอะไรกับขโมย”
.
เปิดประตูแห่งโอกาส
.
น่าจะเป็น “บุคลิกพิเศษ” ของชนชาติยิวที่จะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ช่างสงสัย ชอบใช้ความคิด และให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะถือว่าความรู้เป็นทรัพย์สินที่มีค่า ไม่เช่นนั้นคงไม่มีนักคิดเจ้าทฤษฎี โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ออกมาบนโลกนี้มากนัก เพราะคนที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของโลกนี้จำนวนมาก “มีเชื้อสายยิว”
.
“ชาวยิวชอบตั้งคำถาม เพราะพวกเขาเชื่อว่าการคิดเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา ผู้ที่ไม่รู้จักคิด คือ ผู้ที่ไม่รู้จักการเรียนรู้” หนังสือเรื่อง “คัมภีร์การค้าของชาวยิว” ระบุไว้ นั่นเพราะ “คุณค่าของคนอยู่ที่มันสมองไม่ใช่มือหรือเท้า”
.
นอกจากนี้ ชาวยิวยังเป็นคนที่ชอบตัวเลขเป็นชีวิตจิตใจ เวลาที่มีการตั้งวงสนทนาก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องตัวเลข จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ชาวยิวแม้จะทักทายกันด้วยเรื่องทั่วๆไปอย่างเรื่องดินฟ้าอากาศ ก็ยังสามารถโยงเรื่องตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ เพราะชาวยิวจะไม่ทักทายกันแค่ว่า “วันนี้อากาศร้อน” แต่จะบอกว่า “วันนี้อุณหภูมิ 30 องศา”
.
ขณะที่ชาวยิวจะมองเห็นอุปสรรคและความยากลำบากเป็นประตูสู่โอกาส ไม่เชื่อลองมองไปที่ประเทศอิสราเอลที่มีภูมิประเทศที่โหดร้าย โดย 80-90% ของพื้นที่เป็นทะเลทรายและพื้นที่แห้งแล้ง แต่ประเทศอิสราเอลมีประชากรชาวยิวอยู่ถึง 83% พวกเขาใช้เวลา 40 ปีสร้างประเทศ เปลี่ยนอิสราเอลที่น่าสงสารให้กลายเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์
.
นั่นเพราะชาวยิวจะยืนหยัดเผชิญหน้ากับอุปสรรคด้วยความเข้มแข็งและอดทน เพื่อเฝ้ารอโอกาสด้วยความหวัง
.
ชาวยิวมีสุภาษิตที่ว่า “ประตูในชีวิตของคนเราไม่ใช่ประตูอัตโนมัติ หากเราไม่ลงมือเปิดประตูเอง ประตูนั้นจะปิดตายไปตลอด ดังนั้น หากเราต้องการให้ประตูแห่งความสำเร็จเปิดออก เราก็ต้องลงมือผลัก หรือดึงประตูนั้นด้วยตัวเอง”
.
พร้อมกับบอกอีกว่า หากไม่กล้าเสี่ยงตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อถึงเวลาที่แก่ชราเราก็จะเป็นได้แค่คนที่ล้มเหลว เพราะหากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย ทุกอย่างก็มีแต่จะแย่ลง และความลังเลจะทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจ
.
และหากจะบอกว่า ชาวยิวเป็นนักฉวยโอกาสก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธ แต่คำว่าฉวยโอกาสก็คือการบริหารความเสี่ยง โดยที่ชาวยิวส่วนใหญ่มักจะกล้าเสี่ยงและประสบความสำเร็จจากการเสี่ยงของเขาอยู่เสมอ นั่นไม่ใช่เพราะโชคดี แต่เป็นเพราะเขามีความรู้และเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงนั้นอย่างดี
.
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์เชื้อสายยิวเคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ควรคิดเรื่องราวใหม่ๆอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเครื่องจักร” เพราะเรามักเคยชินกับความเป็นอยู่แบบสบายๆในปัจจุบันโดยไม่รู้ตัว จนในที่สุดก็กลายเป็นความเคยชินและเฉยชา แต่คนที่ประสบความสำเร็จมักจะกล้าทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถอยู่เสมอๆ
.
นอกจากนี้ ชาวยิวยังเชื่อว่าความยากลำบากในชีวิตเป็นสันปันน้ำสำหรับความมั่งคั่ง ที่อาจจะทำให้คนบางคนล้มหายตายไป แต่คนบางคนกลับยืนหยัดเอาชีวิตรอดและนำไปสู่ความมั่งคั่งได้ในที่สุด
.
เพราะฉะนั้น อย่าดูแคลนอุปสรรคและความยากลำบากนอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่ดีที่จะไม่ใช้ชีวิตที่สุขสบายเกินไป เพราะมันจะทำให้สมองฝ่อและไม่มีความคิดความก้าวหน้าในชีวิต
.
ถูกที่ ถูกเวลา และถูกวิธี
.
เพราะสำหรับชาวยิวแล้ว “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” เสมอ ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องคิดอยู่เสมอว่า ต้องใช้เวลาไปกับเรื่องที่มีประโยชน์และจำเป็น โดยยกตัวอย่างนิทานสุภาษิตจากคัมภีร์ทัลมุด เรื่อง ผึ้งกับแมลงวัน
.
ผึ้งและแมลงวันตกลงไปในขวดพร้อมกัน เจ้าผึ้งพยายามหาทางออกโดยการบินวนไปมาอยู่ที่ก้นขวดและพยายามออกแรงต่อยขวดอย่างแรง เพราะเชื่อว่า ขวดจะแตก แต่ไม่นานมันก็หมดแรงตายอยู่ที่ก้นขวด
.
ขณะที่แมลงวันบินวนอยู่หลายรอบ ก็พบว่ารอบๆเป็นกำแพงหนา มันจึงเลือกที่จะบินขึ้นไปด้านบน จนพบกับทางออกที่ปากขวด
.
“นิทานสุภาษิตเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การค้นหาทิศทางการต่อสู้ที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ อย่าทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดไปกับทางเลือกที่ผิด เพราะไม่ว่าพยายามมากเพียงใดก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ” หนังสือเรื่อง “คัมภีร์การค้าของชาวยิว” ระบุ
.
และในขณะที่ นักธุรกิจจีนอาจจะกำลังสนใจกับการทำให้สินค้ามีราคาถูก เพื่อขายให้ได้จำนวนมากๆ แต่สำหรับชาวยิวแล้วลูกค้าของเขาคือคนที่เป็น “ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง” ที่ลอยอยู่เหนือน้ำ ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีฐานะดี
.
ชาวยิวจะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เกี่ยวกับ “ปาก” และ “ผู้หญิง” โดยธุรกิจที่เกี่ยวกับปาก คืออาหารการกินที่คนเราต้องกินต้องใช้ และธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้หญิง เพราะเชื่อว่า “ผู้หญิงเป็นคนกุมกระเป๋าเงินของครอบครัว”
.
เพาะพันธุ์ความรวย
.
พ่อแม่ชาวยิวจะให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาด้านการเงินตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ โดยของขวัญครบรอบ 1 ปีที่พวกเขาจะมอบให้เด็กๆ ไม่ใช่ของขวัญมูลค่าสูง แต่จะเป็น “หุ้น” โดยเฉพาะชาวยิวในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการมอบหุ้นให้เป็นของขวัญในวาระต่างๆ จากนั้นจะมีการพูดคุยกันถึงผลการลงทุนอยู่เป็นประจำ
.
และเมื่อลูกอายุมากขึ้น พวกเขาจะค่อยๆได้เรียนรู้ วิชาการบริหารเงินส่วนบุคคล จากพ่อและแม่
.
พ่อแม่ชาวยิวสอนการจัดการเงินส่วนบุคคล ด้วยวิธีการให้ค่าขนม โดยลูกๆจะต้องจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินล่วงหน้าอย่างละเอียดมานำเสนอให้พ่อแม่ และพ่อแม่จะให้ค่าขนมต่อเมื่อลูกๆช่วยงานบ้านเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งงานบ้านแต่ละอย่างจะแลกเปลี่ยนเป็นเงินค่าขนมได้แตกต่างกันไป
.
ในวันเกิดอายุครบ 13 ปี ชาวยิวจะมีพิธีบาร์มิตซวาห์ (Barmitzvah) หรือพิธีบรรลุนิติภาวะ ซึ่งคนที่ไปร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นญาติๆ ลุง ป้า น้า อา พ่อ แม่ และแขกที่มาร่วมงานจะมอบเงินอวยพรให้คนละประมาณ 200 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นเงินขวัญถุงให้กับเด็กคนนั้น
.
เงินที่ได้รับจากพิธีจะถูกนำไปฝากเอาไว้ในธนาคาร ไปซื้อพันธบัตร หรือนำไปลงทุน จนกระทั่งเมื่อถึงวันที่เด็กคนนี้เรียนจบ หรือต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง เงินก้อนนี้ก็จะงอกเงยจากเงินขวัญถุงไปเป็น “ทุนตั้งตัว”
.
ในเทศกาลฮานุกกาห์ (Hanukkah) หรือเทศกาลแห่งดวงประทีป ซึ่งเป็นเทศกาลส่งท้ายปลายปีของครอบครัวชาวยิว พ่อแม่ชาวยิวจะให้เงินรางวัลแก่ลูก โดยประเมินจากพฤติกรรมตลอดทั้งปี
.
นอกจากนี้ พวกเด็กๆชาวยิวยังต้องเรียนรู้เรื่องการค้าตั้งแต่เด็ก โดยลูกๆจะต้องช่วยเหลือกิจการของพ่อแม่เพื่อเป็นการปลูกฝังทักษะในการทำธุรกิจ เพราะชาวยิวมีภาษิตที่ว่า “ถ้าไม่สอนอาชีพให้ลูก ก็เหมือนสอนลูกให้เป็นโจร” โดยลูกๆจะได้เงินค่าจ้างจากการทำงาน
.
ในเทศกาลซุกโกต (Sukkot) หรือเทศกาลอยู่เพิง ที่ตรงกับวันที่ 15 ก.ย. ของทุกปี ชาวยิวมีธรรมเนียมว่าจะต้องอาศัยอยู่ในเพิงพักที่สร้างขึ้นบริเวณสนามหญ้าหน้าบ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และในช่วงเวลานี้เอง ที่เด็กๆจะสามารถหารายได้พิเศษจากการขายวัสดุสร้างเพิงพัก
.
อย่างไรก็ตาม ชาวยิวให้ความสำคัญกับการใช้เงินมากกว่าการหาเงิน และไม่ว่าลูกจะอยากทำอาชีพอะไร ในสายตาพ่อแม่ชาวยิวจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย ถ้าอาชีพนั้นสามารถทำเงินได้อย่างสุจริต
.
เพื่อนคือคนสำคัญ
.
ชาวยิวจะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยที่คนรวยจะช่วยเหลือคนยากจนอย่างเต็มที่ โดยเด็กๆชาวยิวจะมีเงินออมจำนวนหนึ่งเก็บเอาไว้ในบัญชีที่ชื่อว่า Tzedakah ที่มีไว้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ โดยที่คำว่า Tzedakah หมายถึงความยุติธรรมของทุกคนในสังคม
.
และชาวยิวถือว่าเพื่อนคือคนสำคัญ เพราะถ้าไม่มีเพื่อนก็เหมือนเสียแขนไปข้างหนึ่ง โดยชาวยิวแบ่งเพื่อนออกเป็น 3 ประเภท คือ เพื่อนเหมือนขนมปัง เป็นเพื่อนที่ต้องการบ่อยที่สุด เพื่อนเหมือนข้าว ที่ต้องการบางครั้ง เพื่อนแบบที่สาม คือ เพื่อนเหมือนโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องหลีกเลี่ยง
.
สำหรับคนไทยเพื่อนแบบแรก คงจะเป็นเหมือนข้าวเพราะต้องกินทุกวัน เพื่อนแบบที่สอง เหมือนขนมปังที่กินบ้างบางครั้ง ซึ่งเพื่อนทั้งสองแบบต่างมีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ โดยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
.
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ถ้ามีใครพูดถึง “ยิว” ให้มองพวกเขาให้ครบทุกมุม เพราะเป็นธรรมดาที่คนเรามีทั้งดีและไม่ดี สิ่งใดที่ดีก็นำมาเป็นแบบอย่าง สิ่งใดที่ไหนที่เห็นว่าไม่เหมาะไม่ควรก็ไม่ควรนำมาปฏิบัติ แล้วเราจะรวยแบบยิวได้ โดยที่ไม่สร้าง “ความรู้สึกไปในทางลบ” ให้กับคนอื่นๆ
.
คิดแบบยิว ทำแบบยิว รวยเหมือน…ยิว
.
สวลี ตันกุลรัตน์
.
Posttoday 20 กุมภาพันธ์ 2554
ขอบคุณน่ะครับ เดียวจะอ่านแล้วเอาไปปรับใช่ทั้งหมดทุกบทความเลยน่ะครับ