ความเหลื่อมล้ำ ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องทางการเมือง แม้หลายฝ่ายจะยังมีความเห็นต่างกันว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนั้น มีเหตุผลมาจากความไม่ลงตัวทางการเมือง หรือเหตุอื่นกันแน่ แต่เราต้องยอมรับว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นมีจริงในสังคมไทย และมีมานานแล้ว
ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจน เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม การสำรวจโดยหน่วยงานของรัฐในปี 2552 พบว่า ร้อยละ 40 ของคนกรุงเทพ และร้อยละ 36 ของคนอีสาน มีความเห็นว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นสูงมากถึงขั้นยอมรับไม่ได้ ในภาพรวม ร้อยละ 32 ของคนทั้งประเทศเห็นว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้น สูงมากถึงขั้นยอมรับไม่ได้ และร้อยละ 47 ของคนทั้งประเทศเห็นว่า ช่องว่างสูงมากแต่ยังพอรับได้ เรียกได้ว่า เกือบร้อยละ 80 ของคนไทยยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำของรายได้
ความเหลื่อมล้ำ อาจเกิดจากการขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดทรัพยากร หรือธรรมชาติไม่เข้าข้าง โดยคนไทยร้อยละ 42 บอกว่า คนจนนั้นจนเพราะเกิดมาจน ร้อยละ 57 บอกว่าคนรวยนั้นรวยเพราะเกิดมารวย นั่นคือเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของธรรมชาติไม่เข้าข้าง หรืออาจจะเลยเถิดไปถึงเรื่องบุญกรรมแต่ชาติปางก่อน
ถ้าคนไทยเชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดเพราะเหตุธรรมชาติไม่เข้าข้างหรือกรรมเก่า ถ้าเช่นนั้นจะมาใช้ความเหลื่อมล้ำเป็นข้ออ้างในการเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐไปใยเล่า ต้องตอบว่า เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมนั่นเอง
เราลองมาดูตัวอย่างของกลุ่มคนที่เล็กที่สุดในสังคมซึ่งคือ ครอบครัว ถ้าพ่อแม่ครอบครัวหนึ่งมีลูก 10 คน สมมติว่าด้วยเหตุทางธรรมชาติ ทำให้ลูก 5 คนแรกที่เป็นหญิงมีความเก่งกาจน้อยกว่าลูก 5 คนหลังที่เป็นชายหมด ที่แย่กว่านั้นคือ ลูกคนแรกก็พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่มีความเป็นธรรม รักลูกที่เป็นชายและเก่งกว่าเพราะว่าช่วยเชิดชูหน้าตาให้แก่ตน ความสุขสงบ ความกลมเกลียวในครอบครัวก็จะไม่เกิดขึ้น พ่อแม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้แก่คนในครอบครัวเพื่อลบล้างผลของธรรมชาติได้ ด้วยการให้โอกาสทางการศึกษา และดูแลลูกอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้ความใส่ใจกับลูกที่พิการมากกว่าคนอื่นๆ เป็นต้น ที่สำคัญพ่อแม่ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น
รัฐ ก็เหมือนกับพ่อแม่ที่ดูแลครอบครัวขนาดยักษ์ใหญ่ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อป้องกันปัญหาสังคม การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทำได้ด้วยการเก็บภาษีจากคนที่ “มี” คนมีมากก็ควรเสียภาษีมาก คนมีน้อยก็ควรเสียภาษีน้อย และรัฐควรจัดสวัสดิการสังคมเพื่อให้คนทุกคนไม่ว่าจะ “มี” หรือ “ไม่มี” ได้รับความมั่นใจในการอยู่ในสังคม โดยปราศจากความกลัวว่าจะอดตาย จะไม่ได้เรียนหนังสือ จะตกงาน จะเจ็บตายโดยไม่มีโอกาสรับการรักษาพยาบาล จะแก่อย่างอดๆอยากๆ จะตายอย่างโดดเดี่ยว หรือจะถูกคนดูถูกรังเกียจเหยียดหยาม
รัฐไทยไม่ว่าจะยุคไหน ได้ทำหน้าที่ในการเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม หรือจัดสวัสดิการสังคมให้คนไทยอย่างเป็นธรรมแล้วหรือยัง
ลองดูที่การจัดเก็บภาษี ทุกวันนี้คนไทยทุกคนที่ใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า 100 บาท เงินจำนวน 22 บาทนั้น เข้ากระเป๋ารัฐเป็นภาษีทางอ้อม เราอาจจะคิดว่าภาษีมูลค่าเพิ่มแค่ 7 บาทเท่านั้น ส่วนที่เกินมาเป็นอะไร เรามีภาษีทางอ้อมหลายประเภทรวมๆกันในราคาสินค้า ซึ่งมันสูงกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยซ้ำ ภาษีทางอ้อมนี้คนรวยหรือคนจนต้องจ่ายเหมือนๆกัน ซื้อมากจ่ายมาก ซื้อน้อยจ่ายน้อย การจ่ายภาษีไม่ได้ขึ้นกับว่ามีมากจ่ายมาก หรือมีน้อยจ่ายน้อย
มาดูที่ภาษีทางตรง ซึ่งก็คือภาษีรายได้ที่เก็บจากประชาชนและจากผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ข้อมูลภาษีรายได้จากการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรในปี 2551 พบว่า จากคนไทยที่มีงานทำทั้งหมด 37 ล้านคน มีเพียง 9 ล้านคนที่ยื่นแบบเสียภาษีรายได้ โดยที่ 1.9 ล้านคน เป็นแบบ ภ.ง.ด. 90 (คนที่มีรายได้หลายแหล่ง) และ 7.1 ล้านคนเป็นแบบ ภ.ง.ด. 91 (คนที่มีรายได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง หรือบำนาญเท่านั้น) คนที่หายไป 28 ล้านคน มีจำนวนหนึ่งที่เข้าข่ายร่ำรวย แต่รัฐไม่มีความสามารถไม่พยายามเอื้อมมือไปเก็บภาษีได้
ความเป็นธรรมของภาษีรายได้มีหรือไม่ ถ้าภาษีเป็นธรรมแล้ว ตำแหน่งของคนมีรายได้น้อยที่ยืนอยู่ในสังคมไม่ควรแย่ลงไปกว่าเดิม หลังจากถูกหักภาษี เช่น ถ้าคนจนที่สุดครึ่งหนึ่งของประเทศมีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ หลังจากหักภาษีทั้งคนรวยคนจนเสร็จแล้ว ส่วนแบ่งรายได้ของคนเหล่านั้น ต้องไม่แย่ไปกว่าเดิม คือต้องมีส่วนแบ่งที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด
ในปี 2551 ครึ่งหนึ่งของผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 มีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเพียงร้อยละ 11 เปรียบได้กับลูกที่จนที่สุด 5 คนแรกมีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเพียงร้อยละ 11 ลูกคนที่รวยที่สุด (หรือคนรวยที่สุดร้อยละ 10) มีส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ 51 และหลังจากรัฐได้หักภาษีเรียบร้อยแล้ว กลับทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของลูกคนที่จนที่สุด 5 คนแรกลดลงเหลือร้อยละ 6 แต่ส่วนแบ่งของลูกคนที่ 6-9 กลับเพิ่มขึ้น ภาษีทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทั้งกรณี ภ.ง.ด. 90 และ 91 โดยเฉพาะกรณี ภ.ง.ด. 91 กลุ่มคนที่รวยที่สุดกลับได้รับประโยชน์มากที่สุดจากโครงสร้างภาษีแบบบิดเบือน
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆที่อัตราภาษีของไทยเป็นแบบก้าวหน้า คือยิ่งรายได้สูงก็เสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เพราะรัฐอัดนโยบายอื่นๆมากเกินไปใส่ลงไปในโครงสร้างภาษีรายได้ จนมันหมดความสามารถในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม ดังตัวอย่างเหล่านี้
ตัวอย่างที่หนึ่ง รัฐต้องการกระตุ้นตลาดทุนโดยให้คนที่มีรายได้สูงสามารถหักค่าลดหย่อนภาษี จากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF ได้มากถึง 700,000 บาท ในปี 2551 มีรายได้ที่ได้รับการลดหย่อนทั้งหมดถึง 16,000 ล้านบาท คนที่มีรายได้สูงมักจะลงทุนใน LTF ประมาณ 12,000 ล้านบาทเป็นยอดรายได้ที่ได้รับการลดหย่อนของกลุ่มคนรวยที่สุด (10% รวยสุด) ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ 91
ตัวอย่างที่สอง รัฐต้องการให้คนบริจาคเงินเพื่อการกุศล ถ้าบริจาคเงินก็สามารถนำหลักฐานมาขอลดหย่อนภาษีได้ ในปี 2551 มีการขอลดหย่อนภาษีจากการบริจาคทั้งหมด 6,000 ล้านบาท รัฐอาจจะไม่รู้เลยว่า หลักฐานการบริจาคเพื่อการลดหย่อนภาษีนั้นหาซื้อกันได้ในที่ต่างๆ มีวัดแห่งหนึ่งขายใบอนุโมทนาบัตรราคา 5,000 บาท อยากให้เขียนว่าบริจาคเงินเท่าไรก็บอกไป เช่น ถ้าเขียนว่าบริจาคเงิน 100,000 บาท ผู้ที่มีรายได้สูงที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ก็จะสามารถประหยัดเงินภาษีไปได้ 25,000 บาท เงินเข้ากระเป๋าวัดและคนรวยแทนที่จะเป็นรัฐ
ตัวอย่างที่สาม รัฐยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ต่ำกว่า 150,000 บาท การยกเว้นอย่างถ้วนหน้าแทนที่จะเป็นเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ทั้งหมด 70,000 ล้านบาทในปี 2551
นอกจากนี้ คนรวยจำนวนมากมีรายได้หลัจากดอกเบี้ยและเงินปันผลซึ่งส่วนใหญ่ก็เสียภาษีในอัตราเดียวร้อยละ 15 และยังมีการลดหย่อนอีกหลายประเภท ที่มีผลให้ภาษีรายได้ของไทยไม่เป็นธรรม
รัฐให้ความเป็นธรรมในการให้สวัสดิการสังคมหรือไม่
ดูตัวอย่าง สวัสดิการรักษาพยาบาล ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2549 แสดงให้เห็นว่า คนมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศต้องใช้สิทธิจากสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนรายได้สูงที่สุดของประเทศมีครึ่งหนึ่งที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม คงไม่ต้องบอกว่าคนไทยอยากได้สวัสดิการรักษาพยาบาลแบบไหนมากกว่ากัน กลุ่มคนรายได้สูงที่มีสิทธิในสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนใหญ่ไม่ใช้สวัสดิการที่ตนมี แต่กลับยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินเองหรือไม่ก็ให้บริษัทประกันเอกชนจ่าย (โดยตนจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเบี้ยประกันก่อน) มีเพียงร้อยละ 40 ของผู้ป่วยกลุ่มรวยที่สุดที่ใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
พฤติกรรมการใช้สวัสดิการของรัฐแบบนี้ น่าจะบ่งชี้ได้ว่าสวัสดิการที่รัฐให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าป่วยด้วยโรคเดียวกันแต่ข้าราชการได้รับการรักษาแบบหนึ่ง คนรายได้น้อยได้รับการรักษาอีกแบบหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่าความเหลื่อมล้ำหรือไม่
เรามักจะได้ยินข้ออ้างว่า ข้าราชการรับเงินเดือนน้อยควรได้รับสวัสดิการอย่างดีเป็นการทดแทน แต่ข้ออ้างที่มีเหตุผลมากกว่าน่าจะเป็นว่า เกิดเป็นคนไทยเหมือนๆกัน ป่วยด้วยโรคเดียวกัน ควรได้รับการดูแลจากรัฐด้วยมาตรฐานเดียวกัน เหตุผลของความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกันน่าจะเหมาะกว่าเรื่องเงินเดือน
ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้เหล่านี้ทำให้เห็นว่า ข้ออ้างเพื่อการเรียกร้องทางการเมืองเป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผล ไม่ว่าการเรียกร้องจะมีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ แต่ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้เหล่านี้ควรที่จะได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้องต่อไป
ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำเพราะยังมีคนรวยกว่า 1 ล้าน 6 แสนครัวเรือน ไม่ยอมจ่ายภาษีให้ถูกต้อง .. เราจะช่วยกันหาทางออกอย่างไรดี ?
แสดงความคิดเห็นและ ร่วมรับข้อมูลที่คุณยังไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
คลิ๊ก LIKE ได้ที่ http://www.facebook.com/pages/ReformThailand/110693348986948
ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา
http://www.youtube.com/watch?v=rG0ZoMCBnKk