ความสำคัญของการพัฒนาตลาดทุน : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประเทศไทยได้จัดทำแผนพัฒนาตลาดทุน 5 ปี (2553-2557) และได้นำเสนอต่อสาธารณชนเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา

โดยได้จัดสัมมนาเจาะลึก 8 มาตรการ ที่ได้นำเสนอเพื่อเป็นกลไกหลักในการผลักดันการพัฒนาและปฏิรูปตลาดทุนไทย ซึ่งกำลังมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้ อาทิเช่น การยกเลิกการผูกขาด และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการเปิดสิทธิการซื้อขายให้แก่ผู้ร่วมตลาดที่ไม่ใช่สมาชิก และเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนนอกตลาดได้ แต่ที่กำลังจะเห็นผลทันทีในปีนี้คงจะเป็น การเปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจหลักทรัพย์ คือ การเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชั่น) ตลอดจนการเปิดเสรีใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ นอกจากนั้น ก็ยังมีข้อเสนอแนะให้ปฏิรูปกฎหมายสำหรับพัฒนาตลาดทุน ทั้งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม และการเสนอกฎหมายใหม่ เพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการปรับระบบภาษี เพื่อขจัดอุปสรรคทางภาษีต่อการทำธุรกรรมในตลาดทุน และการขจัดปัญหาภาวะภาษีซ้ำซ้อนต่างๆ เป็นต้น

อีกส่วนสำคัญของแผนพัฒนาตลาดทุน คือ การจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มการเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อลดภาระของภาครัฐในการตั้งงบประมาณ การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ โดยจะครอบคลุมแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ยังไม่มีระบบการออมเพื่อการชราภาพอีก 70% ของผู้ที่มีงานทำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการออมระยะยาว เพื่อให้ผู้ชรามีรายได้หลังเกษียณซึ่งจะสร้างความมั่นคงในชีวิตวัยชราอย่างทั่วถึง เงินจากกองทุนดังกล่าวส่วนหนึ่งจะนำไปลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ทำให้เป็นประโยชน์ในทางอ้อมในการเพิ่มขนาดของนักลงทุนสถาบัน ที่ช่วยให้ตลาดทุนของไทยมีเสถียรภาพ และความมั่นคงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อความเจริญทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของคนไทย เพราะตลาดทุนเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจ ซึ่งบางคนอาจรู้สึกว่าเป็นการกล่าวอ้างและให้ความสำคัญกับตลาดทุนมากเกินจริง ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าคนหลายกลุ่มมีความรู้สึกในเชิงลบต่อตลาดทุน กล่าวคือ มีความเข้าใจว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นการ “เล่นหุ้น” เพื่อเก็งกำไรมิได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคม (โดยเป็นการเก็งกำไรและสร้างรายได้ให้กับโบรกเกอร์เป็นหลัก) และเมื่อมีการนำรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดทุนก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการ “ขายชาติ” นอกจากนั้น ตลาดหุ้นยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโยกย้ายทรัพย์สินผ่านนอมินี เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ความไม่เข้าใจตลาดทุนนั้นมีมาก จนกระทั่งนักการเมืองเคยกล่าวอ้างว่าหากมีตลาดหุ้นได้ก็ต้องมีบ่อนชนไก่เสรีได้เช่นกัน

ดังนั้น จึงควรมาตั้งต้นกันใหม่ว่า ตลาดทุนนั้นสำคัญอย่างไร จึงทำให้ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับการทำแผน (และปฏิบัติตามแผนพัฒนา) ระยะยาว จุดตั้งต้นของผมคือความจำเป็นที่ประเทศกำลังพัฒนา อาทิเช่น ไทยยังต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บางคนอาจแย้งว่าควรจะเน้นการกระจายรายได้ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ผมเชื่อว่าการทำให้เค้กมีขนาดใหญ่ขึ้น จะช่วยให้การแบ่งเค้กง่ายขึ้น อาทิเช่น หากนาย ก. มีรายได้ 100 บาท และนาย ข. มีรายได้ 1,000 บาท หากทั้งสองคนมีรายได้เพิ่ม 2% การจะทำให้นาย ก. มีรายได้ 120 บาท ซึ่งเป็นรายได้ขั้นต่ำที่เพียงพอนั้น จะต้องเก็บภาษีนาย ข. มาให้นาย ก. 18 บาท จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น 20 บาท แต่หากสามารถทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 8% ก็จะเก็บภาษีนาย ข. 20 บาท จาก 80 บาท มาให้นาย ก. ซึ่งจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 108 บาท บวกกับเงินอุดหนุนผ่านการเก็บภาษีนาย ข. อีก 20 บาท ทำให้มีรายได้สุทธิเป็น 128 บาท มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้

การขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นได้จาก 4 ปัจจัยหลัก คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรซึ่งจะทำให้แรงงานเพิ่ม แต่แนวทางนี้ไม่สอดคล้องกับความต้องการยกระดับความมั่งคั่งของประชาชน เพราะเมื่อจำนวนแรงงานเพิ่มค่าจ้างแรงงานก็ต้องปรับลดลง ปัจจัยที่ 2 คือ การนำเอาทรัพยากรมาใช้ (อาทิเช่น ขุดน้ำมัน) แต่ทรัพยากรของประเทศไทยก็ลดลงไปมากแล้ว และการนำเอาทรัพยากรมาใช้ก็ต้องลงทุนเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ ซึ่งนำไปสู่ ปัจจัยที่ 3 คือ การนำเอาเทคโนโลยีมาเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจ ทั้งนี้ โดยจะทำควบคู่ไปกับ ปัจจัยที่ 4 คือ การสะสมทุน ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น ต้องอาศัยการระดมทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาครัฐไม่เคยสามารถมีบทบาทในการขับเคลื่อนได้ กล่าวคือ ภาครัฐไม่ได้เป็นแกนนำในการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและความเจริญทางเศรษฐกิจ เว้นแต่การทำสงครามโลก ซึ่งเทคโนโลยีในการทำสงครามส่วนหนึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ (อาทิเช่น การบิน เป็นต้น)

กล่าวโดยสรุปคือหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรวม คือ การเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตสินค้าทุน (ตั้งโรงงานและซื้อเครื่องจักร) เพื่อให้ประชาชนสามารถหางานทำได้โดยง่ายและได้เงินเดือนสูง เพราะการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและการระดมทุนย่อม จะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของแรงงานปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้อย่างดีที่สุด

ในการกล่าวถึง “ทุน” ข้างต้นนั้น จะเป็นการกล่าวสลับกันไปมาระหว่างทุนที่เป็นตัวเงินทุนและทุนที่เป็นสินค้า ทุนหรือเครื่องจักร โรงงาน ฯลฯ แต่หากพิจารณาในรายละเอียดโดยนึกถึงงบดุลของบริษัทต่างๆแล้วก็จะเห็นภาพว่า สินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทนั้น จะต้องได้มาจากการลงเงินทุนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและการกู้เงินมาจากที่อื่น ซึ่งส่วนใหญ่คือการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ดังนั้น ที่มาของการขับเคลื่อนบริษัท (ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) ก็คือ เงินทุนและเงินกู้นั่นเอง

นักธุรกิจย่อมจะทราบดีว่า การกู้เงินจากธนาคารนั้นเป็นเรื่องยาก และหากพลาดพลั้งไปก็จะถูกธนาคารยึดกิจการ เพราะธนาคารเป็นเจ้าหนี้เมื่อธุรกิจไปได้ดีธนาคารได้เพียงเงินต้นคืนบวก ดอกเบี้ยโดยไม่ได้มีส่วนแบ่งจากกำไร ดังนั้น เมื่อธุรกิจตกต่ำและขาดทุนธนาคารก็ย่อมไม่ต้องการร่วมรับความเสียหาย แต่ต้องการเงินต้นคืนทั้งหมด เพราะธนาคารก็ต้องไประดมเงินฝากจากประชาชน ที่ต้องการให้เงินฝากของตนปลอดภัยและมั่นคงมากที่สุด

กล่าวโดยสรุป คือ หากไม่มีตลาดทุนหรือขาดความสะดวกในการเพิ่มทุน การขยายตัวของธุรกิจก็จะกระทำได้ด้วยความยากลำบากและด้วยความเสี่ยงสูง กล่าวคือ การขยายตัวของธุรกิจจะต้องรอเอาเงินกำไรมาลงทุน หรือเสริมโดยการกู้เงินธนาคาร ทำให้ส่วนของทุนลดลงและสัดส่วนของหนี้เพิ่มขึ้น ประสบการณ์จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการสร้างหนี้สินเป็นจำนวนมาก (ในขณะที่มีทุนเพียงเล็กน้อย) เป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่ความหายนะทางเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้าม เรากำลังเห็นการเพิ่มทุนเกือบวันเว้นวันในตลาดทุนหลักๆ ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และจีน เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้กับบริษัทที่ต้องลดสัดส่วนของหนี้สินในสหรัฐและยุโรป สำหรับจีนนั้นยังมีความต้องการที่จะเพิ่มการลงทุนเพื่อขยายกิจการในอนาคต จึงจะไม่น่าแปลกใจเลยว่าหากเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ ก็จะต้องเป็นเพราะบริษัทและสถาบันการเงินต่างๆทั่วโลกสามารถเพิ่มทุนและลดหนี้ของตนได้ เช่นที่ประเทศไทยเองก็ได้เคยทำมาแล้วในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997 ครับ

ความสำคัญของการพัฒนาตลาดทุน
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.