การจดปากกาของ “เจ้อเจียง จีลี่ โฮลดิง” ซื้อแบรนด์รถเก่าแก่อย่าง “วอลโว่” ด้วยสนนดีลราคา 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6 หมื่นล้านบาท) อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งที่ 2 ในหน้าประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ ที่บริษัทสัญชาติจีนขนาดใหญ่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และเป็นของภาคเอกชนอย่างแท้จริง ได้ตบเท้าเข้าซื้อแบรนด์ธุรกิจระดับโลก
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีทีแล้ว “เลอโนโว”บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ในจีน ก็ได้ประกาศศักดาซื้อธุรกิจคอมพิวเตอร์พีซีจากยักษ์อเมริกัน “ไอบีเอ็ม” และได้พยายามเข้าไปควบคุมบริษัทหลังจากนั้น ซึ่งซีเอ็นเอ็น มันนี่ มองว่า นอกจากบรรดาสื่อต่างชาติจะสนอกสนใจดีลใหญ่ที่จีนเป็นผู้ซื้อในวันนี้แล้ว ก็ยังเข้าใจถึงสถานการณ์ในวันนี้ได้เป็นอย่างดี
เหมือนอย่างที่หนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ลงบทความระบุว่า “เหตุใดการเข้าซื้อแบรนด์ค่ายรถสวีเดนของจีลี่ จึงเป็นตัวอย่างล่าสุดที่สะท้อนว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าบรรดาธุรกิจทั่วโลก” ตลาดขนาดใหญ่โตมหาศาลในจีน และบริษัทเอกชนที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างน่าจับตา กำลังกลายเป็นผู้เล่นหลักที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมทั่วโลกวันนี้ ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติ
พูดให้ง่ายเข้าก็คือ “จีนกำลังซื้อโลก” (China is buying the world)
ความปรารถนาของจีนที่จะครอบครองสินทรัพย์ทั่วโลก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ซีกโลกตะวันตกโดยมีแค่การซื้อธุรกิจไอทีสหรัฐ หรือบริษัทรถยนต์สวีเดนเท่านั้น แต่ยังกระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งน้ำมันในทวีปแอฟริกา และแร่ทองแดงในเปรู
บริษัทสัญญาติจีนเหล่านี้ทั้งที่เป็นของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นของภาคเอกชน ล้วนแล้วแต่ถูกมองรวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันว่า “บรรษัทจีน” (China Inc.) โดยมีขนาดใหญ่ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินเป็นอย่างดีจากธนาคารของรัฐ และส่วนหนึ่งของเหตุผลอันหลังนี้เอง ที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ทำให้บรรษัทจีนสามารถ “จ่ายไม่อั้น” เพื่อให้ได้ดีลที่ตัวเองต้องการ
เมื่อครั้งที่บริษัทน้ำมัน “ซีนุก” (CNOOC) ของรัฐบาลจีน เตรียมทุ่มซื้อน้ำมันจากไนจีเรีย เมื่อปีที่แล้ว ซีนุกทุ่มข้อเสนอด้วยเงินก้อนโตมากกว่าคู่แข่งอย่าง เอ็กซ์ซอน โมบิล หรือรอยัล ดัตช์ เชลล์ “หลายเท่าตัว” จนเจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งถึงกับอุทานว่าชอบข้อเสนอแบบนี้เหลือเกิน
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเหล่าบรรษัทจีนจะกระตือรือร้น หรือทะเยอทะยานอยากครอบครองบริษัททั่วโลกมากเกินไปหรือไม่ ที่ผ่านมาก็ยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น และยังมีดีลอีกมหาศาลหลังจากนี้ที่จีนจะยังคงเข้าไปเป็นผู้ลงทุนโดยตรงรายใหญ่ทั่วโลก และโลกก็อาจหลงลืมปัจจัยสำคัญไปอย่างหนึ่งว่า การที่จีนผลักดันให้ทัพบรรษัทของตนเข้าไปแข่งขันในตลาดของโลกที่พัฒนาแล้วในวันนี้ ยังเป็นความพยายามผลักดันแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของพญามังกรได้บูมถึงขีดสุดในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
เอ็ดเวิร์ด เซียะ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการในจีนของบริษัทที่ปรึกษาบูซ แอนด์ โค เปิดเผยกับฟอร์จูน ว่า หลังจากผ่านเคสวอลโว่กับจีลี่ไปแล้ว เชื่อว่าจะมีคลื่นแรงซื้อและการลงทุนมหาศาลของจีนในต่างประเทศตามมาอีก
อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่เสมอไปว่าการตกลงดีลใหญ่เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายๆอีก เพราะหากพิจารณาถึงเคสเก่าที่ผ่านๆมา จะเห็นว่ามีหลายครั้งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในจีน แม้จะมีเงิน แต่ก็ไม่สามารถซื้อกิจการในต่างชาติได้ เนื่องจากปัญหาความคลางแคลงใจ อาทิ กรณีที่หัวเหว่ย พยายามเข้าซื้อบริษัท 3COM ในสหรัฐ เมื่อปี 2551
จีนในวันนี้อาจมีสภาพไม่ต่างจากญี่ปุ่นเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s เมื่อเงินเยนที่แข็งค่ากระตุ้นให้ตัวเลขการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของญี่ปุ่นขยายตัวสูงขึ้น ท่ามกลางการตบเท้าของเหล่าบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นที่เข้าไปซื้อกิจการในต่าง ประเทศ
ทว่า แม้จีนจะเห็นประโยชน์ในข้อนี้จนยอมลอยค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นเหนือเงินเหรียญสหรัฐในปีนี้ ทว่าจีนก็ยังต่างจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความไว้วางใจ ซึ่งจีนอาจต้องใช้เวลาอีกราวถึง 10 ปี
ขณะเดียวกันแม้ทุกวันนี้จีนจะตะลุยซื้อกิจการทั่วโลกมหาศาล ทว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในโซนของประเทศกำลังพัฒนาเสียเป็นส่วนมาก ขณะที่การซื้อกิจการในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น จีนต้องเผชิญการตรวจสอบอย่างมาก ทั้งจากรัฐบาล ภาคเอกชน และสื่อ เช่น เมื่อครั้งที่ซีนุก พยายามเข้าไปซื้อยูโนแคล ในสหรัฐเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อกังขาถึงเงินของซีนุกที่ได้รับการอุ้มจากรัฐบาล และอาจทำให้เป็นดีลที่ไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งรายอื่นๆ
หากมีเงิน แต่ไร้ซึ่งความไว้วางใจกันและกัน ท่ามกลางความกังขาของการแข่งขันบนโลกทุนนิยมที่ไม่เป็นธรรม กระแสทุนของจีนคงยังไม่สามารถครองโลกได้ในเร็ววันนี้
ก้าวต่อไปของจีน ทุ่มซื้อทั้งโลก
31 มีนาคม 2553 เวลา 11:37 น.
โดย ทีมข่าวต่างประเทศ Posttoday
ชอบอ่านบทความแนวนี้มากๆเลยค่ะ
ขอบคุณที่เอามาแบ่งปันนะคะ 🙂