Muhammad Yunus ศาสตราจารย์นักเศรษฐศาสตร์ ชาวบังกลาเทศ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ และบิดาแห่ง “ธนาคารคนจน” เผยความคิดใหม่ที่ยิ่งใหญ่สะท้านโลกยิ่งกว่าเดิม
โรงงานโยเกิร์ตเล็กๆ ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างธนาคาร Grameen Bank ของ Muhammad Yunus ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศกับ Danone บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ซึ่งค่อยๆ ผุดขึ้นทีละแห่งตามเมืองต่างๆ ในบังกลาเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างให้ได้ทั้งหมดประมาณ 50 แห่ง คือตัวแทนของแนวคิดใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมของ Yunus หลังจากที่แนวคิด “สินเชื่อเพื่อคนยากจน” (Microcredit) ของเขา ซึ่งเขาบุกเบิกจนประสบความสำเร็จอย่างสูงในบังกลาเทศและได้รับการเลียนแบบไปทั่วทุกมุมโลกไปจนถึงแอฟริกาและ ละตินอเมริกา ทำให้เขาสามารถพิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอันทรงเกียรติมาครอบครองเมื่อปี 2549
Yunus หวังว่าความคิดใหม่ของเขานี้จะได้รับการบันทึกเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของธุรกิจ
Yunus เรียกความคิดใหม่ของเขาว่า “Social Business Enterprise” เขาเชื่อว่าเป็นความคิดที่วิวัฒนาการต่อมาจากความคิดเดิม “สินเชื่อเพื่อคนจน” เพียงแต่เป็นการเดินไปในทิศทางใหม่
โครงการสินเชื่อเพื่อคนจน หรือ Microcredit ของ Yunus เริ่มต้นด้วยเงินส่วนตัวเพียง 27 ดอลลาร์ กับความเชื่อที่ว่า คนจน โดยเฉพาะผู้หญิง สามารถจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการได้ ถ้าหากพวกเธอได้รับเงินทุนสำหรับเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆของตนเอง
“Grameen Bank” คือธนาคารที่ Yunus ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้สินเชื่อแก่คนจนโดยเฉพาะ Grameen ใช้เวลา 30 ปีสร้างชื่อไปทั่วโลก และขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในโลกแห่งการธนาคารการพัฒนาและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ธนาคารเพื่อคนจนแห่งนี้ทำให้ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาต่างก็ต้องทึ่งในผลงานของ Grameen ในขณะที่ฝ่ายซ้ายต้องทึ่งกับวิธีการลดความยากจนที่ได้ผล ฝ่ายขวาก็ต้องทึ่งกับความจริงที่ว่า การส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการต่างหาก หาใช่การบริจาคเงิน จึงจะเป็นวิธีขจัดความยากจนของโลกที่ได้ผล
แต่ก่อนที่จะได้รับรางวัลโนเบล Yunus ก็เป็นคนดังราวกับซูเปอร์สตาร์เพลงร็อกอยู่แล้ว เพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขามีชื่อว่า Bill Clinton อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ Yunus เคยได้รับเชิญให้เข้าเฝ้าเจ้าชายและพระราชินีหลายพระองค์ของประเทศในยุโรป ครั้งหนึ่ง รายการทอล์กโชว์ชื่อดังของสหรัฐฯ The Oprah Winfrey Show ถึงกับส่งเครื่องบินส่วนตัวจากชิคาโก เพื่อมารับเขาไปปรากฏตัวในรายการโดยเฉพาะ
แนวคิดธนาคารเพื่อคนจนของ Yunus ถูกนำไปปฏิบัติตามเกือบทั่วทุกมุมโลก ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อคนยากจนที่มีมูลค่าถึง 9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีธนาคารและองค์กรกุศลยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามามีชื่อเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่น Citigroup, Deutsche Bank และมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation และเป็นอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้คนรู้สึกกลัวว่าจะต้องถูกยึดทรัพย์สิน จึงจะสามารถกระตุ้นให้พวกเขาจ่ายคืนหนี้
Grameen รายงานว่า อัตราการจ่ายคืนหนี้ของธนาคารอยู่ที่ ร้อยละ 98 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรมอย่างมากสำหรับหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
อย่างไรก็ตาม Microcredit เป็นเพียงครึ่งเดียวของสิ่งที่ Yunus ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ Social Business Enterprise คืออีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ แนวคิดใหม่ของเขาคือการรวมผลประโยชน์ของบริษัท เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยวิธีการที่ยังไม่เคยมีใครลองทำมาก่อน กล่าวคือ การให้บริษัทรวมโมเดลธุรกิจแบบไม่แสวงหากำไรเข้าไว้ในผลกำไรขาดทุนของบริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทไม่เพียงแต่ยังคงสามารถสร้างรายได้ แต่ยังทำความดีกลับคืนสู่สังคม รวมทั้งคืนผลกำไรที่ได้รับกลับคืนสู่ชุมชนที่บริษัททำมาหากินอยู่ด้วย Yunus เชื่อว่า ถ้าสามารถสร้าง “บริษัทเพื่อสังคม” แบบนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ คงจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นอีกมาก
Yunus ไม่ได้คิดว่าแนวคิดทุนนิยมตลาดเสรี ซึ่งมีกำไรเป็นแรงจูงใจของ Adam Smith เป็นแนวคิดที่บกพร่อง แต่เขาคิดว่าปัญหาคือ มันถูกตีความแคบเกินไป วิธีคิดแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับระบบทุนนิยมคือ ทุนนิยมจะก่อให้เกิดผู้สร้างความมั่งคั่ง และผู้แข่งขันเป็นผู้กระจายความมั่งคั่งนั้น ด้วยการสร้างงานและโอกาสเพื่อผลดีของสังคม แต่ Yunus ชี้ว่า ดูเหมือนว่าแนวคิดนี้จะใช้ไม่ได้ผลในภูมิภาคส่วนใหญ่ของโลก
เห็นได้จากผลการศึกษาของสหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งพบว่า คนร่ำรวยที่สุดในโลกซึ่งมีอยู่เพียงหยิบมือเดียว คือร้อยละ 2 ของประชากรโลกและส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งทั้งหมดในโลก ในขณะที่ประชากรโลกอีก 3 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมดยังคงยากจน ซึ่งแสดงว่าแนวคิดดั้งเดิมของทุนนิยมใช้ไม่ได้ผล
อย่างไรก็ตาม Yunus เห็นว่า นี่ไม่อาจโทษตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ การคอร์รัปชันและการปกครองแบบเผด็จการได้เพียงอย่างเดียว เพราะแม้แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และมีระบบตลาดที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งไม่ได้ปกครองแบบเผด็จการ แต่ก็ยังคงมีประชากรถึง 36 ล้านคน ที่มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
Yunus ชี้ว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเรามักจะตีความความหมายของทุนนิยมคับแคบเกินไป จึงทำให้ปัญหาหลายอย่างในโลกนี้ยังคงแก้ไขไม่ได้ เพราะเรามัวแต่หลงใหลได้ปลื้มไปกับความสำเร็จของตลาดเสรี จนไม่เคยกล้าที่จะตั้งคำถามกับระบบทุนนิยม
อย่างไรก็ตาม Yunus ไม่ได้กำลังทำตัวเป็น Karl Marx คนที่สองแต่อย่างใด เขาไม่ได้ต้องการล้มล้างระบบทุนนิยม แต่เขากำลังเรียกร้องให้ทุกคนหันมาทำความเข้าใจ กับระบบทุนนิยมอย่างถ่องแท้และรู้แจ้งเห็นจริง
Yunus ไม่ใช่เจ้าของแนวคิดกิจการที่ไม่หวังผลกำไร หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม แต่เขากำลังนำโมเดลธุรกิจแบบนี้มาใช้ในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แนวคิดการทำธุรกิจแบบ Social Business Enterprise ของเขาเสนอความคิดว่า จะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ใช้แต่เพียงตัวเลขรายได้และผลกำไรเท่านั้น มาเป็นตัววัดผลประกอบการของบริษัท จะเป็นอย่างไร หากบริษัทยาจะรายงานผลกำไรขาดทุน พร้อมกับจำนวนชีวิตของคนที่ได้รับการช่วยชีวิตจากยาที่บริษัทขาย และบริษัทอาหารรายงานจำนวนเด็กที่รอดพ้นจากสภาวะทุพโภชนาการจากอาหารที่บริษัทขาย
จะเป็นอย่างไร หากบริษัทสามารถออกหุ้นที่มีพื้นฐานอยู่บนการตอบแทนคืนแก่สังคม และนักลงทุนจะเลือกซื้อหุ้นของบริษัทที่ช่วยชีวิตคนได้มากกว่าบริษัทอื่นๆ และขายทิ้งหุ้นของบริษัทที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าบริษัทอื่น
และด้วยการที่บริษัทสามารถระดม “ทุนทางสังคม” (Social Capital) เพื่อนำมาลงทุนสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ได้สร้างขึ้นโดยมีผลกำไรเป็นแรงจูงใจแต่เพียงอย่างเดียว บริษัทก็อาจสามารถรุกเข้าสู่ตลาดใหม่และสามารถขยายธุรกิจหลักของตน ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับปรุงชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมกันได้
โรงงานโยเกิร์ตเล็กๆ ในบังกลาเทศ ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของ Danone บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส กับ Grameen Bank ของ Yunus นับเป็นรูปธรรมแห่งแรก ที่เป็นตัวแทนความคิดใหม่ Social Business Enterprise ของ Yunus
โยเกิร์ตที่ผลิตได้จากโรงงานเล็กๆ นี้จะช่วยขจัดการขาดสารอาหารของเด็กๆ บังกลาเทศ โดยจะขายในราคาที่พอซื้อหาได้ (ถ้วยละ 7 เซ็นต์) ส่วนรายได้ทั้งหมดของโรงงานจะนำกลับไปลงทุนใหม่ โดย Danone จะได้รับเงินทุนจำนวน 500,000 ดอลลาร์คืนหลังจาก 3 ปี นมที่โรงงานนำมาใช้ผลิตโยเกิร์ต ได้มาจากวัวของลูกค้าสินเชื่อของ Grameen ซึ่งจะกู้เงินจาก Grameen มาซื้อวัว เพื่อรีดนมส่งโรงงานโยเกิร์ต ส่วนพ่อค้าแม่ค้าซึ่งก็เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อคนจนของ Grameen เช่นกัน จะนำโยเกิร์ตไปขายแบบเคาะประตูบ้าน และลูกค้าของ Grameen ทั้งหมด 6.6 ล้าน คน คือผู้ซื้อโยเกิร์ตให้ลูกๆ ของพวกเขารับประทาน โรงงานจะจ้างคนงานหญิงประมาณ 15-20 คน ในขณะที่ Danone คาดว่าโรงงานแห่งหนึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่คน ถึง 1,600 คน ภายในรัศมี 20 ไมล์รอบโรงงาน
ถ้วยโยเกิร์ตซึ่งทำจากแป้งข้าวโพดซึ่งย่อยสลายได้ การใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้น้ำฝนในการผลิตทำให้โรงงานโยเกิร์ตแห่งนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ Unicef เชื่อว่า โรงงานโยเกิร์ตตามแนวคิดของ Yunus นี้ อาจจะเป็นการปฏิวัติวิธีขจัดปัญหาการขาด อาหาร ผ่านการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนตามแนวคิด Social Business Enterprise ของ Yunus ขณะนี้ Unicef กำลังจับตาความสำเร็จของโรงงานโยเกิร์ตบุกเบิกของ Yunus อย่างใกล้ชิด และหากประสบความสำเร็จ Unicef ก็อาจจะนำแนวคิดของ Yunus ไปใช้ทั่วโลก
ในส่วนของ Franck Riboud CEO ของ Danone มองว่าการร่วมทุนตั้งโรงงาน โยเกิร์ตในบังกลาเทศกับ Grameen ตามแนวคิด social business enterprise ของ Yunus ครั้งนี้เป็นการขยายเข้าไปสู่ตลาดใหม่ด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรับปรุงโภชนาการ และนับเป็นกลยุทธ์การเติบโตอย่างหนึ่งสำหรับ Danone หาใช่เป็นการทำการกุศลไม่
Riboud ยังเห็นว่า นี่คือจุดแข็งของแนวคิด Social Business Enterprise ของ Yunus การที่มันเป็นทำธุรกิจไม่ใช่การกุศล จึงสามารถจะอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ผู้ถือหุ้นก็ชอบใจ เพราะนอกจากจะได้รับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว บริษัทยังทำให้ผู้ถือหุ้น รู้สึกว่า ได้ทำดีต่อสังคมและ Danone อาจจะรายงานผลตอบแทนที่สังคมได้รับจากโรงงานโยเกิร์ตในบังกลาเทศ ในการรายงานผลกำไรขาดทุนของ Danone พร้อมไปกับรายได้ที่ได้จากผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ของบริษัท คือโยเกิร์ต Dannon และ Stonyfield รวมทั้งน้ำแร่ Evian และ Volvic
Global Alliance for Improved Nutrition ในเจนีวาชี้ว่า แนวคิดที่ว่า การสร้างผลกำไรสูงสุด หาใช่วิธีเดียวที่จะวัดคุณค่าของธุรกิจ กำลังเป็นที่ถกกันอย่างกว้างขวางในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง GE , Unilever , Coca-Cola , PepsiCo. และ Cargill การพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท หรือการทำการกุศล กลายเป็นสิ่งที่ตกเทรนด์ไปแล้ว แต่กระแสใหม่ในโลกธุรกิจขณะนี้ คือการถกกันว่า ทำอย่างไรบริษัทจึงจะสามารถรวมโมเดลธุรกิจแบบไม่หวังผลกำไร และทำความดีเพื่อสังคม ให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธุรกิจหลักของบริษัทได้ และแนวคิดของ Danone ที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นรู้สึกว่า ตนได้ทำความดีให้แก่สังคม ถือเป็นแนวคิดที่เฉียบคมอย่างมาก
HEC School of Management ในกรุงปารีส ซึ่งบรรจุวิชาเรียน Social Business Enterprise ในหลักสูตร MBA ด้วย ชี้ว่า แนวคิดนี้จะเปลี่ยนวิธีคิดในโลกธุรกิจ และแม้กระทั่งอาจจะมาแทนที่การบริจาคเงินเพื่อการกุศลของบริษัท ขณะนี้ทุกคนเริ่มหันกลับมาคิดทบทวนใหม่เกี่ยวกับเส้นแบ่งระหว่างแรงจูงใจจากผลกำไรสูงสุด กับการทำความดีเพื่อสังคม และ Yunus คือผู้นำความคิดนี้
เช่นเดียวกับที่เขาเคยบุกเบิกแนวคิดสินเชื่อเพื่อคนจนในบังกลาเทศ ผ่านธนาคาร Grameen ซึ่งได้ช่วยให้ลูกค้าคนจนของตน หลุดพ้นจากความยากจนได้ถึงร้อยละ 5 ต่อปี และทำให้อัตราการลดความยากจนของบังกลาเทศดีขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นเกือบร้อยละ 2
แต่ Yunus ต้องเผชิญการต่อต้านตำหนิติเตียนอย่างหนักในบังกลาเทศ ซึ่งแนวคิดการให้อำนาจทางเศรษฐกิจแก่ผู้หญิงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก และทำให้ Grameen ต้องตกเป็นเป้าการวางระเบิดหลายครั้ง ประเด็นหนึ่งที่ Grameen ถูกโจมตีมากที่สุดคือ จำนวนเงินที่ให้คนจนกู้นั้นน้อยเกินกว่าที่จะสร้างความแตกต่างใดได้ เพียงแค่ต่อชีวิตคนจนไปวันๆ โดยไม่ได้ส่งผลดีที่แท้จริงอะไรกับการขจัดความยากจน
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เริ่มต้นด้วยการปล่อยกู้เงินก้อนจิ๋วขนาด 10-20 ดอลลาร์ ขณะนี้ Grameen เริ่มยอมให้ลูกค้าที่มีประวัติการชำระคืนหนี้ดี สามารถกู้เงินได้ก้อนใหญ่ขึ้นและกู้ได้สูงถึง 18,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้การปล่อยกู้เงินก้อนเล็กจิ๋ว ยังช่วยให้หลายครอบครัวในบังกลาเทศ สามารถเขยิบฐานะขึ้นเป็นชนชั้นกลาง มีเงินพอจะซื้อที่ดิน สร้างบ้าน และส่งลูกไปโรงเรียน รวมทั้งซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้
ลูกค้า Grameen ส่วนใหญ่เป็นหญิงชาวบังกลาเทศที่ยากจน จะช่วยกันควบคุมกันเองให้จ่ายหนี้ตรงเวลา และแทบไม่มีลูกค้าผู้หญิงรายใดที่ผิดนัดชำระหนี้เลย ถ้าหากว่าใครยังไม่มีเงินจ่ายคืนหนี้เมื่อครบกำหนดชำระ ก็จะขอหยิบยืมจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนเพื่อไปจ่ายคืนหนี้ก่อน หรือถ้าหากเดือดร้อนจริงๆ อย่างเช่นประสบภัยธรรมชาติ จนไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด Grameen ก็ยอมยืดเวลาชำระหนี้ให้หรือปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนกรณีที่ลูกหนี้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ บริษัทประกันซึ่งลูกหนี้ทุกคนของ Grameen จะต้องจ่ายเบี้ยซื้อประกันดังกล่าวตั้งแต่แรกกู้เงิน จะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายคืนหนี้ในส่วนนี้ให้แก่ Grameen
Grameen จึงเป็นธนาคารที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานร้อยละ 20 และเงินที่นำมาปล่อยกู้ให้แก่คนจน จะนำมาจากเงินที่ได้รับมาจากการจ่ายคืนหนี้และจากร้อยละ 33 ของผู้ฝากเงินที่ไม่ได้กู้เงินจาก Grameen เท่านั้น ในขณะที่เจ้าหนี้เงินกู้ตามหมู่บ้านในบังกลาเทศ จะคิดดอกเบี้ยที่บางครั้งสูงถึงร้อยละ 10 ต่อวัน
นอกจากนี้ Grameen ยังมีโครงการปล่อยกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ให้แก่ขอทานในบังกลาเทศ และยังไม่จำเป็นต้องจ่ายคืนเงินต้นด้วย แต่ธนาคารจะพยายามกระตุ้นให้คนที่น่าสงสารเหล่านี้ใช้เงินกู้ที่ได้มาซื้อของ หรืออาหารกระจุกกระจิก และนำติดตัวไปในระหว่างที่เที่ยวขอทาน โดยให้พยายามขายของเหล่านั้นและถ้าหากพวกเขาสามารถจ่ายคืนเงินต้นได้ จะได้รับอนุญาตให้กู้เงินก้อนใหม่ได้ทันที
จนถึงขณะนี้โครงการนี้ได้เปลี่ยนขอทาน 78,000 คนในบังกลาเทศ ให้กลายเป็นพ่อค้า และ 2,000 คนในจำนวนนี้บอกว่า พวกเขาเลิกขอทานอย่างเด็ดขาดแล้ว หลังจากที่เป็นขอทานกันมาหลายชั่วอายุคน
Sajeda Begum จากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้กับกรุง Dhaka เมืองหลวงของบังกลาเทศ ได้รับเงินกู้ก้อนแรกจากโครงการเงินกู้สำหรับขอทานของ Grameen เพียง 1,000 taka หรือประมาณ 15 ดอลลาร์ เธอใช้เงินเล็กๆ น้อยๆ นี้ซื้อไข่จากตลาดในตอนเช้า นำกลับบ้านไปต้มแล้วนำไปขายในราคาที่บวกขึ้นไปเพียง 2 เซ็นต์ให้แก่คนงานโรงงานหลังเลิกงาน กำไรเพียง 40 เซ็นต์ต่อวันที่เธอได้รับ เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว และจ่ายคืนหนี้ให้แก่ Grameen ได้ในที่สุด ขณะนี้เธอเลิกขอทานแล้วและยังหวังว่าจะสามารถกู้เงินได้อีก 3-4,000 taka หรือประมาณ 45-60 ดอลลาร์ เพื่อขยายธุรกิจเล็กๆ ของเธอ “มันเป็นธุรกิจที่ทำเงิน” Begum กล่าว
Grameen ยังทำให้หญิงชาวบังกลาเทศอีกจำนวนมากสามารถพึ่งตัวเองได้ทางการเงิน จนสามารถไปจากสามีที่ข่มเหงรังแกภรรยา พวกเธอสามารถเป็นเจ้าของบ้าน ที่มีชื่อของพวกเธอเป็นเจ้าของ ไม่ต้องจ่ายค่าสินสอดให้แก่สามี มีอายุยืนยาวขึ้น ได้รับโภชนาการและมีอนามัยที่ดีขึ้น รวมทั้งสามารถจะดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น พวกเธอสามารถก้าวข้ามสถานภาพทางชนชั้นที่ติดตัวมาแต่กำเนิดได้ ผ่านการเป็นผู้ประกอบการและการได้รับการศึกษา
Yunus ยอมรับว่า เขาเป็นผู้ทำลายวัฒนธรรม แต่เขาเห็นว่า วัฒนธรรมหาใช่สิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และหากเรายังคงอยู่กับสิ่งเก่าๆ ซ้ำๆ ซากๆ เราก็จะไม่ก้าวหน้าไปไหน เช่นเดียวกับหากมัวแต่ยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ ก็จะย่ำอยู่กับที่ เขาจึงไม่ต้องการจะยึดติดอยู่กับเพียงแนวคิดสินเชื่อเพื่อคนจน แต่กำลังเสนอแนวคิดใหม่ Social Business Enterprise ที่ดูเหมือนว่า อาจสามารถส่งผลสั่นสะเทือนโลกได้ เหมือนกับที่ Microcredit เคยทำได้ และมีส่วนช่วยขจัดความยากจนในโลกอย่างได้ผล
กู้โลกด้วยโยเกิร์ต Social Business Enterprise นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2550
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน 5 กุมภาพันธ์ 2550