กลยุทธ์การฝากเงิน : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

A332_saving

เดี๋ยวนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากถือเป็นเรื่องใหญ่ (ซึ่งสะท้อนว่าโอกาสทางธุรกิจของชาวบ้านสมัยนี้มีน้อยลงกว่าแต่ก่อน) ในการบริหารเงินฝากให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดมีเรื่องที่ต้องขบคิดอยู่ไม่น้อย การดูแค่เพียงว่าที่ไหนให้ดอกเบี้ยสูงที่สุดก็เอาเงินไปฝากที่นั่น ไม่ใช่กลยุทธ์การฝากเงินที่ดี

เวลาเปรียบเทียบดอกเบี้ยเงินฝาก มีประเด็นที่สำคัญสองประเด็นที่จะต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วย ประเด็นแรกคือ ความมั่นคงของผู้รับฝาก การฝากเงินไว้กับธนาคารขนาดใหญ่ที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า ย่อมปลอดภัยกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารขนาดเล็ก ดังนั้น ถ้าเงื่อนไขอื่นๆเหมือนกัน การฝากเงินไว้กับธนาคารขนาดเล็กก็ควรได้ดอกเบี้ยมากกว่า เพราะชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของบ้านเรานั้น สถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นผู้ค้ำประกันเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ดังนั้น ถ้าเงินฝากต่อหนึ่งบัญชีของคุณยังไม่เกินวงเงินที่คุ้มครอง การฝากเงินไว้กับแบงก์พาณิชย์ทุกแห่งถือได้ว่า มีความมั่นคงเท่ากัน ทุกวันนี้แบงก์เล็กยังคงให้ดอกเบี้ยสูงกว่าแบงก์ใหญ่อยู่เพราะคนทั่วไปยัง นิยมฝากเงินกับแบงก์ใหญ่มากกว่า ดังนั้น การเปลี่ยนไปฝากแบงก์เล็กเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยสูงขึ้นถือเป็นกลยุทธ์การฝากเงินที่ดี เพราะความมั่นคงเท่ากันแต่ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนรูปแบบของการฝากเงินจากเงินฝากไปเป็นรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้เรียกว่าเงินฝากเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยมากขึ้นนั้น อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีหรือไม่ก็ได้ เพราะสถาบันประกันเงินฝากไม่ได้คุ้มครองตราสารรูปแบบอื่นของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ใช่เงินฝาก ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านั้นจึงไม่เท่ากับเงินฝาก และขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของแต่ละธนาคารแต่ละแห่งซึ่งไม่เท่ากันด้วย

นอกจากความมั่นคงของผู้รับฝากแล้ว ประเด็นที่สองที่ต้องพิจารณาคือ ระยะเวลาที่ต้องฝากเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยในอัตรานั้น ระยะเวลาที่ยาวขึ้นย่อมหมายถึงความคล่องตัวที่ลดลงของผู้ฝากเงินเอง เพราะเงินจะต้องจมอยู่ในบัญชีเงินฝากนั้นตลอดระยะเวลาที่ฝาก ไม่สามารถถอนไปใช้กะทันหัน หรือเปลี่ยนไปฝากที่อื่นก่อนกำหนดได้ (โดยไม่โดนปรับ) ดังนั้น เงินฝากระยะยาวควรให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากระยะสั้นของธนาคารเดียวกัน เพื่อเป็นการชดเชยความคล่องตัวที่ลดลงของผู้ฝากเงิน เช่น เงินฝากประจำแบบเก้าเดือนก็ควรได้ดอกเบี้ยมากกว่าเงินฝากประจำแบบสามเดือน เป็นต้น ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ถือว่าเป็นของฟรี เพราะเป็นการชดเชยความคล่องตัวที่ลดลงของผู้ฝากมากกว่า

ผู้ฝากเงินบางคนเลือกฝากประจำแบบระยะยาวที่สุดเสมอ เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด โดยคิดว่าตนเองไม่ได้มีเรื่องต้องใช้เงินอะไร น่าจะฝากยาวที่สุดเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยสูงสุดจะดีกว่า ที่จริงแล้ว คิดเช่นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการฝากระยะยาวยังมีข้อเสียอย่างอื่นอีกหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวกับความ คล่องตัวของผู้ฝากเงินด้วย

ประการแรก การฝากระยะยาวๆ จะทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่าในอนาคต ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับขึ้นไปก่อนถึงวันที่ครบกำหนดฝาก เช่น ตัดสินใจฝากประจำแบบหนึ่งปีไปแล้ว สามเดือนผ่านไป ดอกเบี้ยในตลาดปรับขึ้น คนอื่นที่ฝากแบบสามเดือนจะสามารถถอนเงินออกมาฝากใหม่ให้ได้ดอกเบี้ยสูงขึ้นได้แล้ว แต่เรายังต้องรอไปอีกเก้าเดือนกว่าจะถอนเงินนั้นออกมารับดอกเบี้ยอัตราใหม่ได้ ทำให้สูญโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้นไปถึงเก้าเดือนเต็มๆ คิดแล้วอาจไม่คุ้มกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอีกเล็กน้อยก็ได้

ในช่วงปี 2548 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก การฝากประจำแบบ 3 เดือนให้ดอกเบี้ยเพียง 1.00% ต่อปีเท่านั้น ผู้ฝากเงินจำนวนมากที่รู้สึกไม่พอใจต่างพากันไปฝากเงินแบบ 24 เดือนแทนเพื่อให้ได้ดอกเบี้ย 1.25% ต่อปี การ “ล็อก” เงินของเราไว้ในเงินฝากระยะยาวในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำผิดปกติ เป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงมาก เพราะหลังจากนั้นดอกเบี้ยในตลาดก็ถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี อัตราดอกเบี้ยฝากประจำแบบ 3 เดือนกลายเป็น 2.00% ต่อปี ผู้ที่หันไปฝากแบบ 24 เดือนจึงต้องช้ำใจไปตามๆกัน

ประการที่สอง ถ้าในอนาคตเศรษฐกิจต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง การฝากเงินระยะยาวจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อรุนแรงกว่าการฝากระยะสั้น เนื่องจากอำนาจซื้อ (Purchasing Power) ของเงินต้นจะถูกทำลายด้วยเงินเฟ้อเป็นระยะเวลาที่นานกว่าก่อนที่ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินต้นนั้นคืน ในขณะที่คนที่ฝากระยะสั้นแล้วฝากใหม่อีกทุกครั้งที่ครบกำหนด มักจะได้รับอัตราดอกเบี้ยอัตราใหม่ที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยผลของเงินเฟ้ออยู่เสมอ ทำให้สามารถชดเชยอำนาจซื้อของเงินต้นที่ลดลงได้ดีกว่า

จากสถิติในสหรัฐ พบว่า ผลตอบแทนที่แท้จริงในระยะยาวของตราสารหนี้ระยะยาวมากๆ มักต่ำกว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นเนื่องจากเงินเฟ้อ ดังนั้น ถ้าต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อ การฝากแบบระยะสั้น (เช่น 3-6 เดือน) และเมื่อครบกำหนดก็ฝากใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ดูจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าการฝากแบบระยะยาว

ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเปรียบเทียบดอกเบี้ยเงินฝากก็คือ จะต้องเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันด้วย บางคนสงสัยว่าทำไมเงินฝากประจำแบบหกเดือนที่เพิ่งออกใหม่ของธนาคารแห่งหนึ่ง ถึงให้ดอกเบี้ยน้อยกว่าเงินฝากประจำแบบสามเดือนของธนาคารอีกแห่งหนึ่งที่ออกเมื่อห้าเดือนที่แล้ว ที่จริงแล้วเปรียบเทียบกันอย่างนี้ไม่ได้ เพราะดอกเบี้ยในตลาดแต่ละช่วงเวลาเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปครับ

กลยุทธ์การฝากเงิน

นรินทร์  โอฬารกิจอนันต์

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.