เริ่มก่อนได้เปรียบ : สันติ สิงหวังชา

begin_today

มีคนอยู่ 2 คน ชื่อ พล กับ บอย ทั้งคู่เล่นหุ้นมามาเป็นเวลา 2 ปีเท่าๆกัน ที่ผ่านมาก็มีทั้งกำไรและขาดทุนสลับกันไป แต่จะหนักไปทางขาดทุนซะมากกว่า มีคนแนะนำให้ทั้งคู่หันมาศึกษาการลงทุนแบบ VI เพราะทำผลตอบแทนได้ดี ทั้งคู่รู้มาว่าการจะเป็น VI ที่เก่งได้ จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาเรียนรู้มากพอสมควร

นายพลมีเงินอยู่ประมาณ 1 แสนบาท และคิดว่าตัวเองมีเงินไม่มาก จึงคิดว่าการเรียนรู้การเป็น VI นั้นไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เค้าจะต้องเสียไป เพราะต่อให้เป็น VI ที่เก่งมากอย่างไร ได้ผลตอบแทนซัก 30% เค้าก็จะกำไรเพียง 3 หมื่นบาทเท่านั้น พลตัดสินใจว่าถ้าเค้ามีเงินถึง 5 แสนเมื่อไหร่ เค้าจึงจะหันมาศึกษาการลงทุนแบบเน้นคุณค่าอย่างจริงจัง

นายบอยมีเงินเท่ากับพล 1 แสนบาท และคิดว่าตัวเองมีเงินไม่มากเช่นกัน แต่บอยมองระยะยาวกว่า เค้ามองว่าถ้าเค้าไม่เริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ โอกาสที่เค้าจะมีเงินมากพอที่จะคุ้มค่ากับการศึกษา VI คงเป็นไปได้ยาก และถ้าเค้าทำผลตอบแทนได้ซัก 30% ต่อปี เค้าจะมีเงิน 5 แสนภายใน 6 ปี

เวลาผ่านไป 6 ปี นายพลยังคงเป็นนักเก็งกำไรรายวัน เล่นหุ้นไปตามข่าว ตามโวลุ่ม port ของพลมีมูลค่าประมาณ 1 แสนบาทเหมือนเดิม ใขขณะที่นายบอยใช้เวลาศึกษา VI มานานถึง 6 ปี เค้ากลายเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าฝีมือดีคนหนึ่ง และมีพอร์ทประมาณ 5 แสนบาท และถ้าเค้ายังรักษาระดับผลตอบแทนใกล้เคียงกับ 6 ปีที่ผ่านมาของเค้าได้ อีก 6 ปีข้างหน้าเค้าจะมีพอร์ทใหญ่ถึง 2.3 ล้าน

ในมุมมองของผม ความสำเร็จของ VI วัดกันที่ 2 ปัจจัยหลักๆคือ

ฝีมือ (ผลตอบแทนที่ทำได้)
ระยะเวลาในการลงทุน

นักลงทุนมือใหม่ที่อาจจะมีผลตอบแทนต่อปีไม่มาก ก็สามารถแซงนักลงทุนที่ทำผลตอบแทนดีได้ ถ้ามีระยะเวลาลงทุนที่นานกว่า เพราะฉะนั้นถ้ารู้แล้วว่าตัวเองยังฝีมือไม่ดี อย่างน้อยเริ่มก่อนก็ได้เปรียบนะครับ

####

เริ่มก่อนได้เปรียบ 2

อยากจะขยายความเรื่องนี้ต่ออีกทีเพราะผมมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆในการลงทุน หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของผลตอบแทนแบบทบต้นมาบ้างแล้ว ลองมาทบทวนกันอีกทีนะว่ามันมหัศจรรย์ขนาดไหน (มีนักลงทุนชื่อดังมากซักคน บอกว่าดอกเบี้นทบต้นนี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งที่ 8 ของโลกได้เลย)

สูตรในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นก็มีง่ายๆดังนี้ (เป็นสูตรที่ผมจำขึ้นใจมาก)

FV = PV (1+r)^t (ยกกำลัง t)
FV = เงินในอนาคตที่เราคาดว่าจะมี (บาท)
PV = เงินลงทุนวันนี้ (บาท)
r ผลตอบแทนต่อปี (%)
t ระยะเวลาการลงทุน (ปี)

เคยลองตั้งเป้าหมายในชีวิตกันบ้างมั๊ยครับ ผมเองตอนที่เข้าตลาดใหม่ๆ (อายุประมาณ 22) ผมคิดไว้ว่าอยากจะมีเงินล้านในได้ก่อนอายุ 30 ปี เพราะฉะนั้นผมมีเวลาเหลืออยู่ 8 ปี และมีเงินลงทุนเริ่มต้น 2 แสนบาท คำนวณจากสูตรข้างต้นโดยใช้วิธีลองผิดลองถูก กำหนด pv = 2 แสน t=8 แล้วเปลี่ยน r ไปเรื่อยๆจนได้ fv = 1 ล้าน แสดงว่าผมจะต้องทำผลตอบแทนให้ได้ประมาณ 23% ต่อปีติดต่อกัน 8 ปี อาจจะฟังดูยาก แต่ถ้าเพิ่มผมแบ่งรายได้จากเงินเดือนลงทุนเพิ่มเดือนละ 3,000 บาท หรือปีละ 36,000 บาท ผมจะต้องลงทุนให้ได้ปีละ 13.5% ซึ่งผมว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้นน่าจะทำได้ไม่ยาก

ลองตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองดูนะครับ ในตัวอย่างผมกำหนดเวลาไว้ 8 ปีจะมีเงินให้ได้ 1 ล้านบาท ลองคิดต่อเล่นๆถ้าผมลงทุนด้วย rate นี้ต่อไปเรื่อยๆจนอยาก 40 ปี ผมจะมีเงิน 4.2 ล้าน อายุ 50 ปี 15.9 ล้าน อายุ 60 ปีผมจะมีเงินถึง 57 ล้านบาท…

ถ้าลองเปลี่ยนผลตอบแทนเป็น 15% จะเกิดอะไรขึ้น อายุ 60 ผมจะมีเงิน 89 ล้าน

แล้วถ้าผมแบ่งเงินเดือนที่จะลงทุนเพิ่ม จาก 3000 เป็น 5000 ต่อเดือน ที่ผลตอบแทน 15% อายุ 60 ปี port ผมจะพุ่งไปถึง 121 ล้านเลยทีเดียว สูงไม่ใช่ย่อยเลยนะครับ

เห็นมั๊ยครับว่าการลงทุนนี่ ปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้นมี 2 ประการ (การเปลี่ยนค่า 2 ตัวนี้ทำให้ผลลัพธ์ต่างกันจนน่าตกใจ)

1. ระยะเวลาการลงทุน (เริ่มก่อนได้เปรียบ)
2. ผลตอบแทน (เก่งกว่าได้เปรียบ)
3. เงินออมที่ลงทุนเพิ่มในแต่ละปี (ออมเยอะก็ได้เยอะ) ข้อนี้ผมเพิ่มมาจากบทความก่อน

– ใครยังไม่เริ่มมาลงทุน รีบๆซะนะ อย่าลืม เริ่มก่อนได้เปรียบ
– ส่วนใครเริ่มต้นช้า อย่าเพิ่งเสียใจ รีบๆหาความรู้ด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้เยอะซะ แล้วเอาเวลาที่นั่งจ้องราคาหุ้นบนคอมพิวเตอร์มานั่งศึกษาธุรกิจต่างๆให้มาก ผลตอบแทนจะพุ่งขึ้นตามความขยันของเราเอง
– อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น คือการออมเงินมาลงทุนเพิ่มให้สูงขึ้น
– ลองตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองดู แล้วลองคำนวณตามผมเล่นๆดูว่า ต้องใช้เวลาลงทุนนานเท่าไหร่ หรือต้องมีผลตอบแทนกี่ % เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของตัวเองได้

ใครสามารถทำได้ครบทั้ง เริ่มลงทุนเร็ว ทำผลตอบแทนได้ดี และแบ่งรายได้มาลงทุนเพิ่ม อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะรู้ได้เลยว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้มันไม่ไกลเกินเอื้อมเลยจริงๆ ..

ตอนเข้าตลาดหุ้นใหม่ๆผมตั้งเป้าไว้ว่าจะมีเงิน 1 ล้านบาทก่อนอายุ 30 ที่ผ่านมาการลงทุนแบบเน้นคุณค่า บวกกับการออมเงินทำให้ผมบรรลุเป้าหมายมาได้พักใหญ่แล้ว เป้าหมายใหม่ของผมสูงกว่าเดิมมาก แล้วถ้าผมบรรลุเป้าหมายใหม่ของผมได้แล้วผมจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้งครับ

ปล. ใครอ่านเรื่องการคำนวณผลตอบแทนไม่รู้เรื่อง ลองไปหาหนังสือพวก Foundation Finance มาอ่านดูนะครับ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แบบว่าขี้เกียจอธิบายยาว ^__^

เริ่มก่อนได้เปรียบ
Yoyo’s Value Investing Way
สันติ สิงหวังชา

Author: admin

1 thought on “เริ่มก่อนได้เปรียบ : สันติ สิงหวังชา

  1. เป็นบทความที่ให้แง่คิดและสร้างแรงบันดาลใจครับ
    พูนศักดิ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.