รวมบทความที่ให้ความรู้ด้านการลงทุน โดยพี่โจ๊ก – นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ อีกครั้งครับ
####
ทุกธุรกิจต้องมีเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนเพิ่มทุกปีเพื่อสร้างกำไรให้เติบโต ต่อให้ธุรกิจไม่ต้องการจะเติบโตเลย ก็ยังต้องมีเงินทุนส่วนหนึ่งไว้ใช้สำหรับการบำรุงรักษาสินทรัพย์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพเดิมเป็นอย่างน้อย เว้นแต่ต้องการจะเลิกทำธุรกิจแล้วเท่านั้น
บริษัทมีทางเลือก 3 ทางที่จะหาเงินมาลงทุน ดังนี้
1. เก็บกำไรสะสมไว้ลงทุนส่วนหนึ่งแทนที่จะจ่ายเป็นเงินปันผลออกมาทั้งหมด
2. กู้เงินมาลงทุน โดยชำระดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ตามกำหนด
3. เพิ่มทุน
บริษัทมักจะเลือกทางเลือกที่หนึ่งก่อน ถ้าไม่ได้ก็สอง ถ้าไม่ได้ก็สาม ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ก็ชอบแบบนั้น
นักลงทุนมักเข้าใจผิดว่า กำไรสะสม เป็นแหล่งเงินที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด เพราะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเหมือนอย่างเงินกู้ และไม่ทำให้เกิด dilution effect (EPS ลดลง) เหมือนการเพิ่มทุน
แต่ความจริงแล้ว กำไรสะสมจัดเป็น Equity อย่างหนึ่ง จึงมีต้นทุนสูงกว่าเงินกู้ ถึงแม้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแต่ก็ต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงกว่าเงินกู้เพื่อชดเชยความเสี่ยงของการใช้ Equity ลงทุน มิฉะนั้นจะส่งผลต่อ ROE ของบริษัทและราคาหุ้นในที่สุด ถ้าบริษัทหาวิธีสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าต้นทุนการเงินของกำไรสะสมไม่ได้ บริษัทควรปันผลออกมาให้หมด เพราะนักลงทุนจะได้มีทางเลือกที่จะนำเงินก้อนนั้นไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่สร้างผลตอบแทนได้มากกว่า ที่จริงแล้ว เงินกู้ต่างหากที่มีต้นทุนการเงินน้อยที่สุด
ทฤษฏีทางการเงินบอกว่า สาเหตุที่บริษัทเลือกใช้กำไรสะสมก่อนกู้เงินเป็นเพราะ “ความสะดวก” ในการระดมทุน (หลักของ Pecking Order) เพราะ กำไรสะสมเอาไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหนี้หรือผู้ถือหุ้นให้ยุ่งยาก บริษัทจึงชอบใช้กำไรสะสมมากกว่าเงินกู้ ทั้งที่ต้นทุนการเงินสูงกว่า ส่วนการเพิ่มทุนนั้นสะดวกน้อยที่สุด เพราะต้องฝ่าแรงคัดค้านจากผู้ถือหุ้นในที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้ได้ บริษัทจึงนิยมเก็บการเพิ่มทุนไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย
บริษัทที่ต้องการรักษาระดับการเติบโตให้สูงอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถอาศัยกำไรสะสมเป็นแหล่งเงินทุนตลอดไปได้ ถึงจุดหนึ่งจะต้องมีการเพิ่มทุนในที่สุด ในทางทฤษฏีแล้ว บริษัทที่ต้องการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาวให้ได้เกิน ROE จะต้องมีการเพิ่มทุน เช่น ถ้าบริษัทมี ROE เท่ากับ 10% ถ้าบริษัทต้องการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาวเกิน 10% จะต้องมีการเพิ่มทุนด้วย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไม ROE เป็นตัวเลขตัวหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการลงทุนด้วย เพราะ ROE ที่สูงจะช่วยลดความจำเป็นในเพิ่มทุนได้นั่นเอง
ดังนั้น การเพิ่มทุนไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีเลวร้ายเสมอไป การที่นักลงทุนค้านเสมอเมื่อเห็นบริษัทเพิ่มทุน ก็เหมือนกับนักลงทุนไม่อยากเห็นผู้บริหารมีความกล้าคิดกล้าทำเพื่อทำให้กิจการเติบโต ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือว่า บริษัทเพิ่มทุนไปโดยมีโอกาสในการเติบโตที่มีศักยภาพรองรับอยู่หรือไม่ เพราะถ้ามี การเพิ่มทุนก็จะทำให้กำไรเติบโตขึ้นในอัตราที่สูงกว่าจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นรวยกว่าเดิมนั่นเอง แต่ถ้าขาดโอกาสในการเติบโตเสียแล้ว การเพิ่มทุนก็จะส่งผลเสียต่อผู้ถือหุ้นแน่นอน
เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่บริษัทจะเพิ่มทุน นักลงทุนควรให้ความสนใจกับรายละเอียดของการใช้เงินให้มาก ว่าบริษัทเอาเงินไปใช้ลงทุนอะไรกันแน่ อย่ามัวแต่สนใจว่าบริษัทควรเพิ่มทุนหรือก่อหนี้มากกว่ากัน จนละทิ้งประเด็นนี้ที่สำคัญยิ่งกว่า ถ้าโครงการไม่ดี ใช้เงินกู้หรือเงินกูก็ไม่ดีทั้งนั้น
เพิ่มทุน (ตอนที่ 1)
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
Wednesday, 16 April 2008
####
เพิ่มทุน (ตอนที่ 2)
Wednesday, 23 April 2008
โดยปกติแล้ว บริษัทมักเพิ่มทุนโดยให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นก่อน (ซื้อได้ตามสัดส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมถืออยู่) ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเดิมได้รักษาสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองไว้ไม่ให้ลดลง (อันจะส่งผลต่อเสียงโหวต)
ในบางกรณี บริษัทจงใจขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ (Private Placement : PP) โดยไม่ให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนก่อน เหตุผลก็คือ บริษัทนั้นสามารถเอื้อประโยชน์บางอย่างให้กับธุรกิจของบริษัทได้ เช่น อาจจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีบางอย่างที่บริษัทอยากได้ หรือมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าที่แข็งแกร่ง เป็นต้น บริษัทจึงจำเป็นต้องยอมให้บริษัทนั้นเข้ามาถือหุ้นเพื่อให้บริษัทนั้นยอมเปิดเผยเทคโนโลยีหรือยอมจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทให้ เราเรียกผู้ถือหุ้นแบบนี้ว่าเป็น Strategic shareholders ของบริษัท ในบางกรณี บริษัทถึงกับต้องยอมขายหุ้นเพิ่มทุนในราคาที่มีส่วนลดจากราคาตลาดให้อีกด้วย ขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองของ Strategic shareholders
ในบางกรณี บริษัทจงใจขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering : PO) โดยไม่ได้ให้สิทธิพิเศษใดๆกับผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ก่อน ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มทุนที่ผู้ถือหุ้นเดิมเสียสิทธิ์
กรณีเช่นนี้ บริษัทมักจะอ้างว่าเป็นเพราะหุ้นเก่ามีจำนวนผู้ถือหุ้นน้อยเกินไป เลยถือโอกาสกระจายหุ้นให้คนใหม่ๆบ้าง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องไปในตัว เหตุผลนี้โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าฟังไม่ขึ้น ผมมักจะคิดในใจว่า น่าจะเป็นเหตุผลส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่บางคนมากกว่า ที่ไม่อยากซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่มาตัดสิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนไม่ให้มีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นก่อนซะงั้น หรือว่ารู้ตัวว่าเคยหักหลังผู้ถือหุ้นเก่ามาก่อน ก็เลยกลัวผู้ถือหุ้นเก่าไม่ซื้อ
ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านท่านใดมองเห็นเหตุผลอย่างอื่นที่ดีๆของ PO ที่ผมอาจจะมองข้ามไปหรือเปล่า ถ้าหากคิดออกช่วยแชร์ด้วย ผมคิดไม่ออกจริงๆ โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่าการออก PO ถือเป็นสัญญาณลบอย่างหนึ่งเกี่ยวกับธรรมภิบาลของบริษัท
กลับมาที่กรณีปกติอีกครั้ง ที่บริษัทให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อน ปกติแล้วบริษัทจะประกาศให้ทราบว่า ผู้ถือหุ้นเก่ากี่หุ้นจะมีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่กี่หุ้น ในราคาหุ้นละกี่บาท ตัวอย่างเช่น หุ้นเก่า 2 หุ้นซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ 1 หุ้น อย่างนี้ก็แสดงว่า หุ้นเพิ่มทุนมีจำนวน 50% ของหุ้นที่มีอยู่เดิม เช่น ถ้าเดิมบริษัทมีหุ้นทั้งหมด 100 ล้านหุ้น ก็แสดงว่าออกหุ้นเพิ่มทุน 50 ล้านหุ้น ผู้ถือหุ้นเดิม 2 หุ้นจึงซื้อหุ้นใหม่ได้ 1 หุ้น เป็นต้น
ปกติแล้ว บริษัทจะกำหนดราคาใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนขึ้นมาซึ่งแตกต่างจากราคาตลาดได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทต้องการเงินเท่าไรจากการเพิ่มทุนครั้งนั้น เช่น บริษัทมีแผนจะใช้เงิน 50 ล้านบาท ก็ต้องขายหุ้นเพิ่มทุนที่ราคาหุ้นละ 1 บาท เป็นต้น
สมมติว่า ราคาหุ้นเก่าในตลาดขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 1 บาทด้วย อย่างนี้หุ้นเพิ่มทุนกับหุ้นเดิมก็มีราคาใกล้เคียงกัน แต่ถ้าลองคิดดูให้ดี ถ้าบริษัทต้องการระดมทุน 50 ล้านบาท บริษัทมีวิธีออกแบบหุ้นเพิ่มทุนได้หลายแบบ เช่น ออกหุ้นเพิ่มทุน 50 ล้านหุ้น หุ้นละ 1 บาท หรือ ออกหุ้นเพิ่มทุน 100 ล้านหุ้น หุ้นละ 0.50 บาทก็ได้เหมือนกัน แล้วสองวิธีนี้มันมีข้อแตกต่างกันยังไง?
ในแง่จำนวนเงินที่ระดมได้นั้นไม่แตกต่าง แต่ในแง่ของความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ถือหุ้นนั้นต่างกันมาก การออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนมากๆ และขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากๆนั้น เป็นการบีบให้ผู้ถือหุ้นเดิมต้องเพิ่มทุน มิฉะนั้นแล้วสัดส่วนการถือหุ้นของตนเองจะลดลงอย่างมหาศาล เพราะถ้าไม่เพิ่มทุน ก็เหมือนกับทิ้งสิทธิ์ในการซื้อหุ้นในราคาต่ำๆไปเฉยๆ บริษัทที่มี outlook ที่ไม่ดี แต่ต้องการบีบบังคับให้ผู้ถือหุ้นเดิมใส่เงินเข้ามาเพิ่ม อาจใช้กลวิธีแบบนี้ ดังนั้นการกำหนดราคาหุ้นเพิ่มทุนก็เป็นอะไรที่สะท้อนถึงธรรมภิบาลของบริษัทได้เหมือนกัน
เพื่อแก้ปัญหาผู้ถือหุ้นบางคนที่ไม่ต้องการจะเพิ่มทุน บางบริษัทนิยมแจกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน (หรือที่เรียกว่าวอร์แรนต์) ให้แทนที่จะเพิ่มทุนเฉยๆ วิธีนี้ก็ดีเหมือนกัน เอาไว้จะอธิบายถึงอีกครั้งว่าเป็นอย่างไรตอนที่เขียนถึงวอร์แรนต์นะครับ
ประเด็นเรื่องเพิ่มทุนยังไม่จบครับ ไว้มาต่อคราวหน้า
####
ในกรณีที่บริษัทให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัทจะกำหนดวันหนึ่งขึ้นมาเป็นวัน cut off เรียกว่าใครที่เข้าไปซื้อหุ้นหลังวันนั้นจะถือว่า “มาช้า” หมดสิทธิ์ได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน วิธีดูง่ายๆก็คือ ต้องซื้อหุ้นของบริษัทก่อนที่จะขึ้นเครื่องหมาย XR (eXcluding Rights) นั่นเอง
ในวันแรกที่หุ้นขึ้นเครื่องหมาย XR ราคาหุ้นในกระดานจะร่วงลงอย่างมีนัยสำคัญ (นี่แสดงให้เห็นว่า “สิทธิ์ในการได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน” เป็นสิ่งที่มีมูลค่า ผู้ถือหุ้นเดิมจึงเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ถ้าบริษัทเลือกเพิ่มทุนแบบ PO)
นักลงทุนควรจะหัดคำนวณราคาใหม่ในทางทฤษฎีหลังวัน XR ให้เป็น เพื่อจะได้รู้ว่าราคาที่ร่วงลงไปนั้นถูกหรือแพงเกินไป เรื่องนี้บางคนบอกว่างงทุกที จริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่น่างง ถ้าหากนักลงทุนยึดหลักการที่ว่า “กลทางการเงินใดๆ ต้องไม่สามารถทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นได้” เรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องง่าย หมายความว่า ถ้าบริษัทไหนคิดเล่นตลกด้วยการจัดโครงสร้างของหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนเข้าใจผิดคิดว่าหุ้นเพิ่มทุนมีราคาถูก ลูกไม้นั้นจะต้องหลอกนักลงทุนไม่ได้ มูลค่าบริษัทหลังเพิ่มทุนจะต้องมีค่าเท่าเดิมอยู่ มาดูตัวอย่างกันดีกว่า
สมมติว่าเดิมบริษัทมี 100 ล้านหุ้น ราคาในกระดานหุ้นละ 10 บาท (แสดงว่าบริษัทมีมูลค่าเท่ากับ 1,000 ล้านบาท) ต่อมาบริษัทเพิ่มทุนในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ โดยให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 3 บาท (มัดมือชกกันสุดๆ) เท่ากับว่าออกหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น และบริษัทจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนทั้งสิ้น 600 ล้านบาท และหลังเพิ่มทุนแล้วบริษัทจะมีหุ้นทั้งหมด 300 ล้านหุ้น อย่างนี้ ราคาหุ้นหลังขึ้นเครื่องหมาย XR ควรเป็นเท่าไร?
ก่อนเพิ่มทุนบริษัทมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท เมื่อบวกกับเงินเพิ่มทุนที่จะใส่เข้ามาในบริษัทอีก 600 ล้านบาท หลังวัน XR บริษัทก็ควรมีค่าเท่ากับ 1,600 ล้านบาท ไม่ควรจะมากไปกว่านี้ (กลใช้ไม่ได้ผล) แต่เนื่องจากหลัง XR บริษัทมีหุ้นเพิ่มเป็น 300 ล้านหุ้น ดังนั้นมูลค่าบริษัทต่อหุ้นก็ควรจะเป็น 1600/300 หรือเท่ากับ 5.33 บาทต่อหุ้นในวันแรกที่ XM นั่นเอง
ถ้าวันนั้นตลาดไม่ได้มีข่าวสำคัญอย่างอื่นเข้ามา หุ้นก็ควรมีราคาเหลือแค่ 5.33 บาทตั้งแต่เปิดตลาด ถ้าสูงกว่านั้นก็ยังแพงเกินไป ถ้านักลงทุนคำนวณล่วงหน้าไม่เป็น เห็นราคาหุ้นเปิดมาเหลือแค่ 7 บาทอาจเข้าใจผิดคิดว่าหุ้นถูก เข้าไปรับ สิบนาทีต่อมาร่วงต่อเหลือแค่ 5.33 บาท น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า
บางคนอาจแย้งว่า แล้วไม่ให้มูลค่าการเติบโตเลยหรือ บริษัทเพิ่มทุนเพราะมีโครงการขยายกิจการ มูลค่าของบริษัทหลังเพิ่มทุนจึงน่าจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเงินสดที่ใส่เข้ามา คำตอบก็คือ “ไม่” ครับ เพราะโดยมากแล้ว ก่อนที่จะถึงวัน XR บริษัทมักมีการสื่อสารกับนักลงทุนเรื่องแผนการเติบโตมาก่อนแล้ว ราคาหุ้นก่อนวัน XR จึงมักรวมความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับแผนการเติบโตไว้ในราคาเรียบร้อยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้พรีเมี่ยมเพิ่มอีกในวัน XR ครับ
การเพิ่มทุนที่ดีไม่ควรเป็นการเพิ่มทุนที่เซอร์ไพรส์ตลาด บริษัทที่ดีควรมีการสื่อสารกับนักลงทุนเรื่องแผนการเติบโตมาก่อนที่จะประกาศเพิ่มทุน (แม้ว่าจะยังบอกรายละเอียดของหุ้นเพิ่มทุนไม่ได้ก็ตาม) บริษัทที่เพิ่มทุนแบบเซอร์ไพร์ส ผมถือว่าเป็นสัญญาณเชิงลบครับ
ปกติแล้ว บริษัทที่คิดจะเพิ่มทุนจะมีการวางแผนล่วงหน้ามาก่อน คือต้องพยายามขายแผนการเติบโตให้นักลงทุนตื่นเต้นให้ได้ ก่อนที่จะประกาศเพิ่มทุนเพื่อให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปรอล่วงหน้า เมื่อก่อนนี้ ผมมักรู้สึกไม่ดีกับบริษัทที่พยายาม “ตีปี๊บ” อย่างหนักก่อนเพิ่มทุน แต่ตอนหลัง ผมเข้าใจได้ว่า นั่นเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปกป้อง wealth ของผู้ถือหุ้น “เดิม” ที่ถือหุ้นของบริษัทมานานซึ่งรวมถึงรายย่อยเดิมด้วย
เนื่องจากการเพิ่มทุนมักจะทำให้ EPS ลดลงในระยะสั้น ถ้าบริษัทไม่มีการสื่อสารใดๆทั้งสิ้นกับตลาดเลย เมื่อประกาศเพิ่มทุน ราคาหุ้นจะร่วงลง ทำให้คนที่เข้ามาทีหลังสามารถซื้อได้ถูกกว่าเดิมมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับรายย่อยที่เป็นแฟนพันธ์แท้ที่เหนียวแน่นของบริษัทมาแต่เดิม
เช่น ถ้าแต่เดิมหุ้นของบริษัทมีราคาอยู่แถวๆ 6 บาทมาตลอด ถ้าไม่สื่อสารแต่เพิ่มทุนเฉยๆเลย หุ้นอาจตกเหลือ 3 บาท ผู้ถือหุ้นเดิมก็เจ็บปวด แต่ถ้าตีปี๊บให้หุ้นขึ้นไปที่ 18 บาทก่อน เมื่อเพิ่มทุนแล้ว หุ้นอาจตกลงมาเหลือแค่ 10 บาท อย่างนี้แม้จะตกลงมา ผู้ถือหุ้นเดิมก็ยังมีกำไรอยู่ เป็นต้น บริษัทควรปกป้อง wealth ของผู้ถือหุ้นเดิมก่อนด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ได้ราคาสูงสุด once ที่ผู้ถือหุ้นใหม่ยอมจ่ายแพงเพื่อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว ในอนาคตจึงค่อย treat พวกเขาเหล่านั้นให้ดีเท่าๆกับผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่น จึงจะถือว่าปกป้องผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า หุ้นที่เพิ่มทุนส่วนใหญ่มักจะวิ่งกันก่อนที่จะเพิ่มทุน และพุ่งสู่จุดสูงสุดในช่วงที่ใกล้จะเพิ่มทุนหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ต่อจากนั้น ราคาหุ้นก็จะมักจะร่วงลง เพราะเมื่อเพิ่มทุนเสร็จแล้วบริษัทก็มักจะเลิกตีปี๊บทำให้หุ้นขาดข่าวกระตุ้น ประกอบกับ EPS ก็กำลังจะลดลงชั่วคราวเพราะตัวหารเพิ่มขึ้นด้วย การซื้อหุ้นในช่วงที่เพิ่มทุนหรือหลังเพิ่มทุนใหม่ๆ จึงมีโอกาสขาดทุนในระยะสั้นได้มาก
ส่วนใหญ่แล้ว คนที่ฟังบริษัทตีปี๊บแล้วรู้สึกตื่นเต้นได้ง่าย มักเป็นคนที่ติดดอยในเกมนี้เสมอ เรื่องนี้โทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเองที่ “เคลิ้ม” ง่าย
ถ้าอยากเล่นเกมนี้ให้ได้ตังค์ ต้องหันมาเป็นนักลงทุนที่มีความคิดที่เป็นอิสระ กล่าวคือ ตัดสินใจได้เองว่า บริษัทมีอนาคตหรือไม่ โดยไม่เกี่ยวกับว่า ช่วงนั้นจะต้องมีใครมาตีปี๊บให้ฟังบ่อยๆหรือเปล่า
เพิ่มทุน (1-3)
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
April 2008
บทความน่าจะแยกเป็นคนละกรณีระหว่างต้นทุนทางการเงินกับอัตราผลตอบแทน
แต่ถ้าหากนำมาผสมกันอาจทำให้สับสนได้ เช่น
“ทุกธุรกิจต้องมีเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับลงทุนเพิ่มทุกปีเพื่อสร้าง กำไรให้เติบโต ต่อให้ธุรกิจไม่ต้องการจะเติบโตเลย
ก็ยังต้องมีเงินทุนส่วนหนึ่งไว้ใช้สำหรับการบำรุงรักษาสินทรัพย์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพเดิมเป็นอย่างน้อย
ถ้าบริษัทหาวิธีสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าต้นทุนการเงินของกำไรสะสมไม่ได้
นักลงทุนมักเข้าใจผิดว่า กำไรสะสม เป็นแหล่งเงินที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด
ที่จริงแล้ว เงินกู้ต่างหากที่มีต้นทุนการเงินน้อยที่สุด”
กรณีแรก สมมุติว่าบริษัทมีโครงการลงทุน 100 บาท
และมีเงินในกระเป๋า (กำไรสะสม) อยู่แล้ว 100 บาท
บริษัทจะพิจารณาว่า ต้นทุนทางการเงินแบบใดต่ำสุดระหว่างใช้เงินในกระเป๋าที่มีอยู่แล้ว 100 บาท
หรือกู้เงิน 100 บาท กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องของต้นทุนทางการเงิน
เพราะเป็นโครงการลงทุนที่จำเป็นตามตอนแรกของบทความ
มิใช่กรณี “ถ้าบริษัทหาวิธีสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าต้นทุนการเงินของกำไรสะสมไม่ได้”
ซึ่งเหตุผลในการระดมทุนเพราะมีต้นทุนการเงินถูกกว่าการกู้ยืม
กรณีที่สอง คือ บริษัทมีเงินในกระเป๋า 100 บาท ยังไม่มีโครงการใช้เงินลงทุน
บริษัทจะต้องพิจารณาว่า วิธีใดจะให้ผลตอบแทนมากที่สุด เช่น ลงทุน ปันผล ซื้อหุ้นคืน
ซึ่งเป็นเรื่องของอัตราผลตอบแทน
โดยทั่วไป ผู้ถือหุ้นนำเงินมาลงทุนในบริษัทเพราะคาดว่าจะได้ผลตอบมากกว่าการลงทุนอื่น
ถ้าเขาไม่คิดว่าบริษัทจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ เขาคงไม่ลงทุนตั้งแต่แรกแล้ว
กำไรสะสมก็เปรียบเสมือนเงินของผู้ถือหุ้นเช่นกัน เพียงแต่อยู่คนละกระเป๋าซ้ายกับขวา
ส่วนมากจะเปรียบเทียบผลตอบแทนกับอัตราเงินฝากมากกว่าเงินกู้
เพราะมักจะเป็นเงินเย็นไม่ได้กู้มาลงทุน แต่ก็มีที่ใช้เงินกู้หรือมาร์จิ้น
บางคนอาจถามว่า ทำไมบริษัทต้องจ่ายเงินปันผลเพราะทำให้ผู้ถือหุ้นพอใจเหมือนเป็นรางวัล
แต่ Buffet เขาไม่จ่ายเงินปันผล เพราะเขามั่นใจว่าบริษัทจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้
และหุ้นของเขาก็มีมูลค่าสูงลิ่วเลย
หรือถ้าเขาไม่สามารถหาผลตอบแทนที่ดีได้ เขาจะใช้เงินทำ treasury stock แทนปันผล
ขอบคุณมากครับ สำหรับความเห็นที่น่าสนใจ
น่าจะเป็นมุมมองที่แตกต่างกันระหว่าง นักลงทุน กับ นักธุรกิจ นะครับ
ขอบคุณที่นำมาให้อ่านนะคะ
วีธีอาจจะแตกต่าง แต่ทำไมไม่รู้ อ่านแล้วนึกถึงหุ้น global house :'(
อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้นดีจริงๆชอบจริงๆครับ ขอบคุณครับ