โลกในยุคโลกาภิวัตน์ มนุษยชาติผิวสี กำลังก้าวย่างเข้าสู่ยุคทองของพวกเขาหลังจากที่อดทนและรอคอยมาอย่างยาวนาน นับได้เป็นหลายศตวรรษ ชนชั้นนำผิวสีมากมายต้องสังเวยชีวิตให้กับอคติที่มาจากการประเมินค่าแห่งความเป็นมนุษย์กันอย่างผิวเผินเพียงเพราะมองกันแค่ “ผิวสี” ที่เกิดจาก “สีผิว” อันเป็นเพียง “เปลือกของความเป็นมนุษย์” ภายนอกอย่างตื้นเขิน แต่พลันที่บารัค ฮุสเซน โอ บามา ผู้ชายผิวสี จากรัฐอิลลินอยส์ ชายหนุ่มผู้มีบิดาเป็นชาวเคนยา มารดาเป็นอเมริกันผิวขาว ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์แห่งอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกได้สำเร็จ ก็ดูเหมือนว่า นับจากนาทีนี้เป็นต้นไป ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติผิวสีจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
แต่ก่อนหน้าที่ บารัค โอบามา จะได้เสวยโอชารสของอิสรภาพและความเสมอภาคอันหอมหวานเช่นวันนี้ เส้นทางของเขาล้วนปูด้วยรอยเลือดและหยาดน้ำตาของชนผิวสีชั้นนำอย่าง โรซาร์ พาร์คส, มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์,มหาตมะ คานธี,อับราฮัม ลินคอร์น (ปธน.ผู้ปลดปล่อยทาสผิวดำให้เป็นไท) จนเกิดเป็นกวีนิพนธ์ที่เกริกก้องทั่วไปในอเมริกาเวลานี้ว่า
“เพราะ โรซาร์ พาร์ค นั่ง มาร์ติน จึงได้เดิน, โอบามา จึงได้วิ่ง, และลูกหลานของอเมริกันจึงได้บิน”
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการต่อสู้ของชนผิวดำผู้ปรารถนาจะลิ้มรสเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างเสมอหน้ากับชนผิวขาวนั้น ไม่ได้มีอยู่แต่ในอเมริกาเท่านั้น แต่เมื่อว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพและสมภาพเช่นนี้เกิดขึ้นกระจายอยู่ และดำเนินไปในทุกภูมิภาคของโลก และที่เข้มข้นยิ่งกว่าอเมริกาก็คือ แอฟริกาทั้งทวีป เพราะที่นั่นคือบ้านของคนผิวดำที่ถูกพวกยุโรปผิวขาวในยุคล่าอาณานิคมเข้าไปยึดครอง กดขี่ และเหยียดคนผิวดำลงเป็นมนุษย์ชั้นสอง ผู้ปราศจากสิทธิพลเมือง (Civil Right) หรือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง คนผิวสีในแอฟริกาช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกกระทำจากพวกนักล่าอาณานิคมผิวขาวดังหนึ่งพวกเขาเป็นสัตว์ดิรัจฉานที่บังเอิญมีสภาวะทางกายภาพเป็นมนุษย์เท่านั้น
และที่ทวีปแอฟริกาซึ่งมากด้วย คนผิวดำนี่เอง
ที่แอฟริกาซึ่งมากด้วย การเหยียดสีผิวนี่เอง
ที่แอฟริกาซึ่งมากด้วย การกดขี่นี่เอง
ที่ผู้ชายผิวสีคนหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นมา พร้อมกับที่ได้รับมรดกเป็นผิวสีที่มีการเหยียดหยาม กดขี่ ย่ำยี ดูหมิ่นถิ่นแคลนมาเป็นของแถม
และที่แอฟริกานี่เอง ที่ผู้ชายผิวสีคนนั้น ได้เปลี่ยนอุปสรรคทั้งมวลให้กลายเป็นนั่งร้านแห่งการประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างงดงาม เลอค่า จนตัวเขาได้กลายเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลกไปอย่างคาดไม่ถึง
ผู้ชายคนนั้นชื่อ “เนลสัน แมนเดลา”
อดีตประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาใต้ ผู้ที่นิตยสารไทม์ยกย่องให้เป็น บุคคลแห่งปี ประจำ ค.ศ. ๑๙๙๓ และ ผู้เป็นเจ้าของ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปีเดียวกัน และเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นทูตแห่งสันติภาพ ที่มีเกียรติมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ที่ไม่ว่าในเวลานี้เขาจะย่างกรายไปเยือนประเทศใดในโลกนี้ รัฐบาล และประชาชนแห่งประเทศนั้น ล้วนยินดีต้อนรับเขาอย่างสมเกียรติ เพราะเขาคือชายผู้มีเกียรติมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกนี้เคยมี วันเกิดของเขาในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีประชาชนหลายประเทศจัดงานเฉลิมฉลองให้เขาเสมือนหนึ่งว่า เขาเป็นพลเมืองของประเทศนั้นเสียเอง
แต่กว่าจะมีวันชื่นคืนสุขเช่นทุกวันนี้ ใครเลยจะรู้ว่า ชายผิวดำนาม เนลสัน แมนเดลา เคยมีชีวิตที่ทุกข์ตรมขมไหม้และต้องถูกจองจำอย่างยาวนานโดยไร้ความผิดในเรือนจำมากว่า ๒๗ ปีเต็ม จนเขากลายเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกจองจำนานที่สุดในโลก แต่เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว เขาก็เป็นนักโทษทางการเมืองที่มีชื่อเสียงหอมฟุ้งมากที่สุดในโลกเช่นกัน
๒๗ ปี ในเรือนจำของแมนเดลา จึงเป็น ๒๗ ปีแห่งการอดทนและรอคอยอย่างยาวนานที่สุด เท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงอดทนและรอคอยได้ ทั้งยังเป็น ๒๗ ปี แห่งการบ่มบำเพ็ญบารมีทางความคิดและทางการเมืองที่เข้มข้น แหลมคมที่สุดเช่นเดียวกัน
ไม่น่าเชื่อว่า ๒๗ ปีที่อยู่ในคุก ความหวังและความฝันอันรุ่งโรจน์ของเขา ไม่เคยผุกร่อนหรือมอดไหม้
บนเส้นทางของการรอคอยอันยาวนาน ที่มีความอดทนเป็นน้ำหล่อเลี้ยง มีความหวังเป็นจุดหมาย ในที่สุด เนลสัน แมนเดลา กลับได้รับบำเหน็จรางวัลเลอค่าที่ตัวเขาเองก็คงไม่เคยคาดฝัน
เนลสัน แมนเดลา ต่อสู้มาอย่างไร นี่ย่อมเป็นเรื่องควรพิจารณาอย่างยิ่ง
เนลสัน แมนเดลา เป็นลูกชายของหัวหน้าเผ่าเทมบู ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกาใต้ เมื่อบิดาเสียชีวิตลง เขาจึงทำหน้าที่หัวหน้าเผ่าแทนบิดา โดยมีลุงคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ๆ และด้วยความที่เป็นลูกของชนชั้นนำประจำเผ่า เขาจึงได้เรียนหนังสืออย่างดีที่สุดกับครูที่เป็นมิชชันนารีชาวอังกฤษ การได้เรียนกับครูที่เป็นผู้ดีอังกฤษทำให้เขามีโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากคนในเผ่าอย่างยากที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้อีก เมื่อโตขึ้นเนลสัน แมนเดลา ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำชื่อฟอร์ต แฮร์ คอลเลจ ต่อมา แมนเดลา ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก เพื่อประกอบอาชีพทนายความและศึกษาต่อทางด้านกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัย วิตวอร์เตอร์สแรนด์ หลังสำเร็จการศึกษาเขาก็เริ่มงานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสภาแห่งชาติแอฟริกัน (African National Congress : ANC) ซึ่งตอนนั้นเขามีอายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น เป้าหมายของการทำงานทางการเมืองครั้งแรกก็เพราะต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนผิวดำให้มีสิทธิเสมอภาคเท่ากับคนผิวขาวในการเข้าถึงโอกาส และสิทธิพลเมืองในระดับเดียวกันทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
เนลสัน แมนเดลา เป็นทั้งทนาย เป็นทั้งโฆษกขององค์กรที่เขาสังกัด และที่สำคัญเขาเป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่มี “วาทศิลป์” อย่างยอดเยี่ยม (ควรสังเกตด้วยว่า “วาทศิลป์” ล้วนเป็นองค์ประกอบของผู้นำแทบทุกคน) ต่อมาปี ค.ศ.๑๙๕๖ แมนเดลา ก็ได้ลิ้มรสของชีวิตหลังลูกกรง ด้วยข้อหากระทำการอันผิดกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ พอถึงปี ๑๙๖๐ ประชาชนผิวดำถูกตำรวจกราดยิงเสียชีวิตถึง ๖๙ คน เหตุการณ์นี้สะเทือนขวัญคนไปทั้งโลก หลังถูกจับอยู่หลายปี แมนเดลา ก็ได้รับการปล่อยตัวเพราะไม่มีความผิด แต่ครั้นถึงปี ๑๙๖๒ ก็ถูกจับอีกเป็นครั้งที่สอง ด้วยข้อหายุยงให้มีการสไตรก์และเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทาง
ค.ศ.๑๙๖๓ แมนเดลา ถูกหวยรางวัลใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรัฐบาลแห่งชาติแอฟริกาใต้ค้นพบเอกสารบางชิ้นว่า สภาแอฟริกันแห่งชาติที่เขาสังกัดมีการวางแผนเป็นกบฏต่อต้านอำนาจรัฐด้วยอาวุธสงคราม คราวนี้เขาและผองเพื่อนจึงถูกตีตรวนยาวกลายเป็นนักโทษทางการเมือง “ตลอดชีวิต”
อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะถูกจำขังอยู่ในคุก แต่สำหรับปัญญาชนอย่างเขานั้น คุกขังได้ก็แต่กาย ส่วนจิตวิญญาณและปัญญานั้นยังคงเรืองแสงเจิดจรัสตลอดเวลา ในเรือนจำของนักโทษการเมืองนั้น เนลสันและผองเพื่อน ยังคงแบ่งกลุ่มกันศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ว่ากันว่าการได้อ่านหนังสือพิมพ์จากโลกภายนอกสักฉบับหนึ่ง มีค่ายิ่งกว่าอาหารหลายมื้อ เพราะพวกเขาต้องลักลอบติดตามความเป็นไปของโลกภายนอกอย่างมิดชิดและเงียบเชียบที่สุด ผลของการ “ลาศึกษาต่อ” ในคุก ทำให้เนลสันได้ข้อค้นพบอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นดังหนึ่งปลายทางของงานวิจัยชั้นยอดว่า
“…กล่าวกันว่า ไม่มีใครจะรู้จักประเทศหนึ่งได้อย่างแท้จริง จนกว่าเขาจะได้เข้าไปอยู่ในคุกของประเทศนั้น เราไม่ควรวัดประเทศจากวิธีการที่รัฐบาลปฏิบัติต่อพลเมืองชั้นสูง หากควรดูจากวิธีการที่พวกเขาปฏิบัติต่อพลเมืองที่อยู่ในสถานะต่ำต้อยที่สุด และ(ในทัศะของข้าพเจ้า- – รัฐบาลของ) สหภาพแอฟริกาปฏิบัติต่อพลเมืองแอฟริกันเหมือนกับปฏิบัติต่อสัตว์”
ประโยคสุดท้ายที่ว่า “- – รัฐบาลของสหภาพแอฟริกาปฏิบัติต่อพลเมืองแอฟริกันเหมือนกับปฏิบัติต่อสัตว์” คงชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไม เนลสัน แมนเดลา จึงต้องลุกขึ้นสู้ เป็นการลุกขึ้นสู้เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง มหาตมะ คานธี ซึ่งเคยถูกไล่ลงจากรถไฟที่แอฟริกาใต้เคยลุกขึ้นสู้มาแล้วนั่นเอง
ตลอดเวลาที่ แมนเดลา ถูกจองจำนั้น สายธารแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสมอภาคระหว่างคนผิวดำยังคงไหลเอื่อยไม่ขาดสาย ระหว่างทศวรรษ ๑๙๘๐ มีประชาชนผิวดำบาดเจ็บล้มตายกว่า ๖๐๐ คน แม้ตัวเขาและพวกพ้องไม่สามารถสู้ต่ออย่างเปิดเผยในโลกภายนอกร่วมกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ แต่ทว่า ในโลกแห่งความคิดนั้น เขายังคงต่อ “ท่อน้ำเลี้ยง ทางความคิด” ถึงคนหนุ่มคนสาวอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่คนหนุ่มสาวถูกรัฐบาลล้อมปราบ จับกุมคุมขังอย่างทารุณ และตลอดเวลาดังกล่าวนั้น เนลสัน แมนเดลา และนานาชาติ รู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นที่แอฟริกาใต้ รัฐบาลของสหภาพแอฟริกาใต้จึงถูกกดดันจากนานาชาติอยู่เนืองๆ ให้ยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิว และพยายามเจรจาต่อรองกับกลุ่มของแมนเดลา แต่เสียงตอบกลับออกมาจากปัญญาชนในคุกก็คือ
“ผมไม่อาจ และจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆก็ตาม ในยามที่ผม, พวกคุณ และประชาชนทั้งหลายยังไม่เป็นอิสระ เสรีภาพของพวกคุณและเสรีภาพของพวกผม ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้”
การต่อสู้ของประชาชน คนหนุ่มสาว การบาดเจ็บล้มตายของผู้บริสุทธิ์หลายครั้ง ผนวกกับการกดดันจากนานาชาติ ทำให้รัฐบาลแห่งสหภาพแอฟริกาใต้ไม่อาจต้านทานกระแสธารของความเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป ในที่สุด ค.ศ.๑๙๙๐ เนลสัน แมนเดลา ก็ได้รับเทียบเชิญให้ไปเจรจากับ เฟรเดอริ ดับเบิลยู เดอ คลาร์ก ประธานาธิบดีแห่งสหภาพแอฟริกาใต้ เพื่อแสวงหาทางออกในการที่จะทำให้แอฟริกาใต้มีประชาธิปไตยเต็มใบ นโยบายแบ่งแยกสีผิวถูกยกเลิก ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริงเหมือนนานาอารยประเทศทั้งหลาย ผลของการเจรจาทำให้พรรคแอฟริกันแห่งชาติ (ANC) ซึ่งเคยถูกรัฐตราหน้าว่าเป็นพรรคผิดกฎหมายได้รับการรับรอง และ เนลสัน แมนเดลา ได้รับอิสรภาพ หลังจากรอคอยอย่างยาวนานมาถึง ๒๗ ปีเศษ
ปีที่ได้รับอิสรภาพ เนลสัน แมนเดลา อายุสังขารล่วงมากว่า ๗๑ ปีแล้ว แต่เป็น ๗๑ ปี ที่ไฟในหัวใจยังคงคุโชน กระชุ่มกระชวย และเปี่ยมไปด้วยความหวังถึงรุ่นอรุณแห่งเสรีภาพ พลังแห่งความหวังในตัวเขา และความหอมหวานแห่งเสรีภาพและเสมอภาพ ทำให้เขายังคงแข็งแกร่ง สุขภาพดี ดวงตาทอประกาย สติปัญญาแหลมคมเพราะถูกบ่มมาอย่างยาวนานจนสุกปลั่ง เขา- -ผู้ชายสูงอายุที่ถูกพันธนาการมากว่าครึ่งชีวิต พลันที่ได้รับอิสรภาพก็ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำของประชาชนอย่างชนิดที่ไม่มีใครสงสัยในภาวะผู้นำแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตาม หลังได้รับอิสรภาพ สงครามระหว่างผิวยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้น การบาดเจ็บล้มตายระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาวยังมีอยู่ทั่วไป แต่ เนลสัน แมนเดลา ในฐานะผู้นำของพรรคแอฟริกันแห่งชาติ (African National Congress : ANC) และ เฟรเดอริค ดับเบิลยู เดอ คลาร์ก ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ (NATIONAL PARTY) ได้จับมือกันเจรจาสันติภาพ เพื่อหาวิธีสร้างประชาธิปไตยของคนผิวสีร่วมกันและยุติความรุนแรงทั้งปวงด้วย สันติวิธี
แล้วบำเหน็จสำหรับนักสู้ผู้เรียนรู้ที่จะอดทนและรอคอยก็เดินทางมาถึง นั่นคือ ในปลายปี ๑๙๙๓ เนลสัน แมนเดลา และ เดอ คลาร์ก ได้รับการประกาศให้เป็นผู้คู่ควรแก่รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อันเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับมนุษยชาติทั้งโลก ลุถึงปี ๑๙๙๔ ฟ้าหลังฝนเริ่มสดใส การเมืองใหม่ที่คนผิวดำ คนผิวขาว มีสิทธิเสมอภาคทัดเทียมกันก็เกิดขึ้น เมื่อ เนลสัน แมนเดลา ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ เขาอยู่ในตำแหน่งนี้อย่างยาวนาน และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนถึงจุดอิ่มตัว
ปี ๑๙๙๙ เนลสัน แมนเดลา ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และอุทิศตนให้กับงานการกุศลระดับโลก ทุกวันนี้ แม้เขาไม่ได้นั่งอยู่ในเก้าอี้แห่งอำนาจ ในทำเนียบประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้อีกต่อไปแล้ว แต่เขาได้ยกตัวเองให้สูงขึ้นไปยิ่งกว่านั้น นั่นคือ การเป็นคนของโลกผู้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของใครต่อใครมากมายทั่วโลก ในฐานะทูตสันติภาพโลก และผู้บริหารกองทุน เนลสัน แมนเดลา เพื่อเด็กและเยาวชน
เนลสัน แมนเดลา : บำเหน็จเลอค่า สำหรับผู้รู้จักอดทนและรอคอย
ว.วชิรเมธี
ที่มา : http://www.vimuttayalaya.net/DharmaDaily.aspx?id=76&page=5