“เติ้งเสี่ยวผิง” สุดยอดนักปฏิรูป ผู้นำจีนสู่ความมั่งคั่ง [ชีวประวัติ]

head

ข้อมูลจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/china/china_100years.aspx

teng1

ผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง ผู้มีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจนำพาประเทศจีนสู่ความทันสมัย
      

       เติ้งเสี่ยวผิง (ค.ศ.1904 – 1997 ) เป็นทั้งนักทฤษฎีมาร์กซิสม์ นักปฏิวัติ นักการเมือง นักการทหาร นักการทูต เป็นผู้วางรากฐานเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นผู้ริเริ่มแนวทางเศรษฐกิจและการปกครองแบบฉบับเติ้งเสี่ยวผิง ที่ยังคุณูปการแก่ประเทศจีนจวบจนถึงปัจจุบัน และด้วยคุณงามความดีที่ท่านปฏิบัติสั่งสมมาตลอดชั่วชีวิต ทำให้เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำที่อยู่ในใจชาวจีนตลอดมา
 
       เติ้งเสี่ยวผิง เป็นชาวซื่อชวน (เสฉวน) มีภูมิลำเนาเดิมที่เมืองกว่างอัน เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 1904 ชื่อเดิม เติ้งเซียนเซิ่ง เป็นบุตรชายคนโต มีพี่สาว 1 คน น้องชาย 3 คน และน้องสาว 2 คน หนูน้อยเติ้ง เริ่มเข้าเรียนหนังสือเมื่ออายุได้ 5 ขวบ เวลานั้นใช้ชื่อว่า เติ้งซีเสียน
      
       เมื่อจบชั้นประถมและมัธยมในเมืองกว่างอัน ในปี 1920 เติ้งซีเสียนวัย 16 ปี สอบได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาปี 1922 ได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาติเยาวชนลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนในยุโรป (ปัจจุบันคือสันนิบาติเยาวชนสังคมนิยมแห่งประเทศจีนในยุโรป) กลางปี 1924 ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ประเทศฝรั่งเศส เติ้ง เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยจนถึงอายุ 21 ปี ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อที่มอสโค เมืองหลวงอดีตสหภาพโซเวียต เมื่อต้นปี 1926
      
       เติ้งซีเสียน เดินทางกลับมาตุภูมิในฤดูใบไม้ผลิปี 1927 เป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งอยู่ในภาวะตึงเครียด เติ้งได้รับมอบหมายจากพรรคฯให้ไปซีอันและทำงานในสถาบันการทหารและการเมืองซุนยัดเซน ที่นี่เติ้งได้เริ่มทำงานด้านการปฏิวัติเป็นครั้งแรกในจีน โดยมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่จัดตั้งขึ้นภายในสถาบัน
 
       เมื่อความร่วมมือระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งสิ้นสุดลง เติ้งซีเสียน ในขณะนั้น ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เติ้งเสี่ยวผิง เพื่อปกปิดชื่อจริง ปลายปีได้ย้ายตามหน่วยงานของคณะกรรมาธิการกลางพรรคฯไปเซี่ยงไฮ้ เติ้งเสี่ยวผิงวัย 23 ปีในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการใหญ่คณะกรรมาธิการกลางพรรคฯจนถึงปี 1929
      
       ฤดูร้อนปี 1929 เป็นตัวแทนของคณะกรรมาธิการกลางพรรคฯ นำการปฏิวัติในมณฑลกว่างซี โดยใช้ชื่อว่าเติ้งปิน ฤดูร้อนปี 1931 ย้ายไปยังฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในมณฑลเจียงซี เป็นเลขาธิการพรรคฯประจำอำเภอรุ่ยจินและศูนย์ฮุ่ยชั่ง ต่อมาเป็นหัวหน้าหน่วยเผยแพร่อุดมการณ์ ของมณฑลเจียงซี ต่อมาถูกพวกซ้ายจัดถอดถอนตำแหน่ง ก่อนจะมาเป็นเลขาธิการใหญ่องค์การบริหารส่วนกลางในกองทัพแดง และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ‘หงซิง’ หรือดาวแดง ซึ่งเป็นของหนังสือพิมพ์ขององค์การบริหารส่วนกลาง
      
       เดือนตุลาคม 1934 ได้เข้าร่วมออกเดินทางหมื่นลี้ ปลายปีเดียวกัน ขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการกลางพรรคฯ เมื่อเหมาเจ๋อตงขึ้นเป็นผู้นำคณะรัฐบาลกลางอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 1935 เติ้งเสี่ยวผิงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหน่วยเผยแพร่อุดมการณ์ ของฝ่ายบริหารประจำกองทัพแดงที่ 1 รองหัวหน้าและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ตามลำดับ
 
       เมื่อสงครามต่อต้านญี่ปุ่นปะทุขึ้น รับหน้าที่เป็นรองหัวหน้าฝ่ายบริหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนที่ 8 ต่อมาปี 1943 เป็นตัวแทนเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือ ปี 1945 ในการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 7 ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการกลาง
      
       ระหว่างสงครามปลดปล่อยประชาชน เติ้งร่วมรบในสมรภูมิบนที่ราบจงหยวน ซึ่งได้แก่ พื้นที่ใต้เขตแม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง) มณฑลเหอหนัน ตะวันตกของมณฑลซันตง และภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยและซันซี เป็นกรรมาธิการฝ่ายบริหารสนามรบที่ 2 เลขาธิการของรัฐบาลกลางเขตจงหยวนและหัวตง (ตะวันออก)
      
       ในช่วงสุดท้ายของสงคราม เป็นผู้บัญชาการในสมรภูมิรบทั้งเขตจงหยวน และหัวตง ( อาณาเขตทางภาคตะวันออกของประเทศ อาทิ มณฑลซันตง เจียงซู เจ้อเจียง อันฮุย เป็นต้น) สามารถยึดฐานที่มั่นของก๊กมินตั๋งเป็นบริเวณกว้าง อาทิ หนันจิง (นานกิง) ศูนย์บัญชาการของก๊กมินตั๋ง เซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง อันฮุย เจียงซี เป็นต้น
 
       เดือนกันยายน 1949 ได้รับเลือกเป็นกรรมการรัฐบาลประชาชน เข้าร่วมในการพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน หนึ่งเดือนต่อมา ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งชาติ นำทัพบุกภาคใต้และภาคตะวันตก ตั้งแต่มณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) กุ้ยโจว จนถึงซื่อชวน (เสฉวน) และร่วมนำทัพในการรบปลดปล่อยทิเบต ระหว่างนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการอันดับหนึ่งของกรรมาธิการกลางพรรคฯภาคตะวันตกเฉียงใต้ รองประธานกรรมาธิการทหารภาคตะวันตกเฉียงใต้ กรรมาธิการทหารฝ่ายบริหารภาคตะวันตกเฉียงใต้
      
       เดือนกรกฎาคม 1952 ได้เข้ากลับเข้ามาทำงานที่ส่วนกลาง ดำรงตำแหน่งสำคัญๆในรัฐบาล อาทิ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานคณะกรรมาธิการการคลัง ต่อมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ปี 1954 ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมาธิการฝ่ายป้องกันประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 8 ครั้งที่ 1 ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการประจำฝ่ายบริหารคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคฯ
 
       ปี 1959 เป็นกรรมการประจำคณะกรรมการกลางการทหารพรรคคอมมิวนิสต์ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคฯเป็นเวลา 10 ปี มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและพัฒนาระบบสังคมนิยมตามแนวที่เหมาะสมกับประเทศจีน ระหว่างปี 1956 – 1963 เดินทางไปเยือนมอสโคหลายครั้ง เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำอดีตสหภาพโซเวียตในขณะนั้น โดยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในความเป็นอิสระด้านการบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
       
       ปี 1966 การปฏิวัติวัฒนธรรมระเบิดขึ้น เติ้งเสี่ยวผิงประสบกับมรสุมทางการเมือง ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำทางการเมืองทั้งหมด และได้รับคำสั่งให้ไปทำงานในโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ในมณฑลเจียงซี
      
       มีนาคม 1973 ได้กลับมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมษายน 1974 เป็นผู้แทนรัฐบาลจีนในการประชุมวิสามัญสมัยที่ 6 ขององค์การสหประชาชาติ มกราคม 1975 ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ รองนายกรัฐมนตรี รองประธานคณะกรรมการกลางการทหาร และหัวหน้าเสนาธิการกองทัพปลดแอกประชาชน
      
       เมื่อโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ป่วยหนัก เติ้งเสี่ยวผิงภายใต้การสนับสนุนของผู้นำเหมาเจ๋อตง รับหน้าที่ฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม กอปรกับความร่วมมือของประชาชน ทำให้ได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ แต่ต่อมาก็ถูกแก๊ง 4 คน ใส่ร้ายป้ายสี จนต้องออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งในเดือนเมษายน ปี 1976 เป็นครั้งที่ 2
      
       ตุลาคม 1976 แก๊ง 4 คนถูกล้มล้างลง พร้อมกับการสิ้นสุดของปฏิวัติวัฒนธรรม เดือนกรกฎาคม 1977 ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 10 เต็มคณะครั้งที่ 3 มีมติให้เติ้งเสี่ยวผิงกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำในรัฐบาลอีกครั้ง สิงหาคม 1977 ในที่ประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 11 เติ้งเสี่ยวผิงได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์ เดือนมีนาคม 1978 ได้รับเลือกเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมือง ท่านเสนอให้มีการทบทวนนโยบายที่ผิดพลาดในอดีต และให้พรรคหันมามุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก
 
       ธันวาคม 1978 ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 เต็มคณะครั้งที่ 3 เป็นการเปิดศักราชใหม่ของประเทศ ทั้งในด้านการปฎิรูประบบเศรษฐกิจและการพัฒนาระบอบสังคมนิยมพิเศษหรือสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบจำเพาะของจีน ภายใต้การนำของคณะกรรมการบริหารพรรครุ่นที่สอง ซึ่งมีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นแกนนำ
      
       กลางปี 1981 ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 เต็มคณะครั้งที่ 6 ได้มีการทบทวนแนวคิดของเหมาเจ๋อตงตามหลักเหตุผล และมีมติให้คงไว้ซึ่งความสำคัญของอดีตผู้นำเหมาในทางประวัติศาสตร์ ในการประชุมครั้งนั้น เติ้งเสี่ยวผิงได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการกลางการทหาร
      
       พฤศจิกายน 1989 ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 13 เต็มคณะครั้งที่ 5 เติ้งเสี่ยวผิง ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางการทหาร และได้ส่งมอบตำแหน่งผู้นำประเทศแก่เจียงเจ๋อหมิน ผู้นำประเทศรุ่นที่ 3
      
       แม้จะพ้นจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดแล้วก็ตาม แต่เติ้งเสี่ยวผิง ก็ยังคงทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง เช่นในปี 1992 ได้เดินไปแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ หลังจากจีนปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่ ตามเมืองต่างๆทางใต้ เช่น อู๋ซาง จูไห่ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของจีนในหลายๆด้าน ปี 1997 ที่ประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 15 ได้มีมติให้ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบจีนเป็น ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ ที่มีคุณค่าต่อพรรคฯและประเทศชาติ
 
       วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1997 เติ้งเสี่ยวผิงในวัย 93 ปี ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ในกรุงปักกิ่ง แม้ว่าเติ้งเสี่ยวผิงจะไม่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรีเลย ตลอดชั่วชีวิตทางการเมืองของท่าน ทว่าภารกิจที่ท่านรับผิดชอบต่อการบริหารประเทศนั้นยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าตำแหน่งทางการเมืองใดใด คุณูปการทั้งหลายที่ท่านได้กระทำไว้แก่ประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนแนวคิดในการพัฒนาประเทศที่ตกทอดมาสู่ผู้นำรุ่นหลังแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้เติ้งเสี่ยวผิงได้ชื่อว่าเป็น นักปกครองผู้นำความมั่งคั่งมาสู่ชีวิตชาวจีนในวันนี้

#####

วิสัยทัศน์ผู้นำจีนรุ่นที่ 2 ยุคปลดปล่อยทางความคิด

teng2

เติ้งเสี่ยวผิงในวันครบรอบ 25 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 1984

       มวลชนชาวจีนในยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐ ระหว่างค.ศ.1921-1949 สามารถลุกขึ้นยืน และเกิดประเทศจีนใหม่ได้ ด้วยพลังขับเคลื่อนจากแนวคิดชี้นำของท่านประธานเหมา ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ เพื่อปลดปล่อยประเทศจากการครอบงำของมหาอำนาจตะวันตก และระบบศักดินา โดยมี ‘ทฤษฎีความคิดเหมาเจ๋อตง’ ซึ่งเน้นการต่อสู้ในการปฏิวัติประชาชาติ และนำความเป็นไทมาสู่ประชาชนจีน เป็นธงชัย
      
       เมื่อมาถึงยุคของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 2 ประเทศจีนหลุดพ้นจากยุคของการต่อสู้ทางชนชั้น เข้าสู่ยุคของการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย พยายามบุกเบิกแผ้วถางเพื่อการสร้างสรรค์สังคมนิยมลักษณะเฉพาะของจีน
      
       ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง
       เติ้งเสี่ยวผิงได้นำเสนอแนวคิด การปลดปล่อยทางความคิด และค้นหาสัจจะจากความเป็นจริง ซึ่งกลายมาเป็น ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ ที่เน้นการทำลายกรอบทางความคิด มุ่งเรียนรู้จากการปฏิบัติ จากสภาพที่เป็นจริง และพิสูจน์กันที่ ‘ผลของการกระทำ’ ได้ชักจูงให้ทุกฝ่ายเริ่มปฏิบัติจาก ‘ความเป็นจริง’ และยุติการถกเถียงที่ยึดถือแต่ ‘แนวทฤษฎี’
      
       สาระสำคัญของ ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ โดยสรุปคือ ปลดปล่อยความคิด ใช้การปฏิบัติเป็นเครื่องวัดความถูกต้องของสัจธรรม มองว่าสังคมจีนเป็นสังคมนิยมขั้นปฐม ที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีภารกิจในการสร้างสรรค์สังคมนิยม คือการปลดปล่อยกำลังการผลิต รวมไปถึง การรวมเกาะฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันเข้ากับแผ่นดินใหญ่ โดยใช้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’
      
       ปี 1997 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ สมัยที่ 15 ได้ยอมรับ ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ เป็นทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติของพรรค ที่บรรจุไว้ในธรรมนูญของพรรค พรรคคอมมิวนิสต์ได้ถือเป็นภารกิจสำคัญของชาติ ในการเป็นแกนนำสร้างสรรค์สังคมนิยมที่ทันสมัย ตามแนวทางของเติ้ง นับเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ผลักดันแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ
      
       การพัฒนาเศรษฐกิจ
       เติ้งใคร่ครวญบทเรียนเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่แล้วมา ที่ยึดการวางแผนจากส่วนกลางเป็น ‘แม่แบบ’ ซึ่งดำเนินรอยตามแนวทางของอดีตสหภาพโซเวียต และได้เรียนรู้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสรรค์รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง
      
       นโยบายที่เด่นชัดที่สุดในยุคเติ้งเสี่ยวผิง ที่เป็นส่วนหนึ่งใน ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ คงหนีไม่พ้น การปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการปลดปล่อยกำลังการผลิต และ ‘เปิดประเทศ’ ดูดซับทรัพยากรการผลิตจากภายนอก ซึ่งเติ้งเชื่อว่า จะเป็นวิถีทางสร้างสรรค์สังคมนิยมของจีนให้ทันสมัย ในเบื้องต้นแนวทางดังกล่าวนำมาซึ่งข้อโต้แย้งจากหลายฝ่าย ด้วยเห็นว่า ประเทศจีนที่ยึดถือระบบสังคมนิยมกำลังเดินเข้าสู่ปากทางของระบบทุนนิยมมากกว่า
      
       ประเทศจีนภายใต้ผู้นำร่างเล็ก มีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจโดยกำหนดเป้าหมาย ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีน ที่เริ่มต้นจาก ‘ขจัดความยากจน’ ไปจากสังคมจีน และค่อยๆพัฒนาไปสู่สังคม ‘พอมีพอกิน’ และ ‘กินดีอยู่ดี’โดยถ้วนหน้า จนกระทั่งเจริญขึ้นเป็น ‘สังคมที่รุ่งเรืองมั่งคั่ง’ ในที่สุด ที่เรียกว่า ‘ยุทธศาสตร์ 3 ก้าว’ 

       ก้าวที่หนึ่ง ตั้งเป้าในปี ค.ศ.1990 เศรษฐกิจจีนจะโตเป็น 2 เท่าของปี 1980 สังคมพ้นจากสภาพความยากจน ก้าวที่สอง ปีค.ศ.2000 เศรษฐกิจจีนจะโตเป็น 2 เท่าของปี 1990 ประชาชนกินดีอยู่ดีโดยพื้นฐาน และก้าวที่สาม เมื่อถึงกลางศตวรรษที่ 21 จีนจะเจริญรุ่งเรืองระดับโลก สังคมโดยรวมมีความมั่งคั่งร่ำรวยถ้วนหน้า
      
       นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ถือเป็นแนวทางหลักของประเทศแล้ว ผู้นำเติ้งยังเล็งเห็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นพลังการผลิตอันดับหนึ่ง ที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพผู้ใช้แรงงานด้วย
      
       ‘การปลดปล่อยทางความคิด’ ตามทฤษฎีของเติ้ง ช่วยเปิดกว้างแนวทางต่างๆที่เป็นไปได้ ในอันที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งบทพิสูจน์จากแนวคิดดังกล่าว ได้เกิดผลในทางปฏิบัติกับประเทศที่ยากจนในอดีต ซึ่งกลายเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงในปัจจุบันแล้ว.
      
       สรุปความจาก : ‘ยุทธศาสตร์ 3 ก้าว หนทางสู่ความสำเร็จแบบจีน’ ‘อะเมซิ่งจูหรงจี’ และ ‘จากเจียงเจ๋อหมิน สู่หูจิ่นเทา’ โดย สันติ ตั้งรพีพาก

#####

‘เปิดประเทศ’ ก้าวย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ 
 
teng3 
เติ้งเสี่ยวผิงชูแนวคิดนโยบาย ”เปิดประเทศ” ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นหนทางของการพัฒนาและปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น
  
       26 สิงหาคม ค.ศ.1980 ที่ประชุมคณะกรรมการประจำ สมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ผ่านระเบียบว่าด้วย ข้อกำหนดการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งมณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ คือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นผลพวงมาจากแนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ที่ริเริ่มโดยผู้นำจีนรุ่นที่ 2 นายเติ้งเสี่ยวผิง
      
       ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีค.ศ.1978 หลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน(1949)ดำเนินมาจนถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 11 เต็มคณะครั้งที่ 3 ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ ‘เปิดประเทศ’ และทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นในการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ ทำให้แนวคิดการเปิดประเทศ และปฏิรูปอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม ราวกับการมาเยือนของลมต้นฤดูใบไม้ผลิ
      
       การเปลี่ยนแนวทาง จากประเทศสังคมนิยมที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิด ‘ซ้าย’ ซึ่งจำกัดระบบเศรษฐกิจแบบยึดนโยบายของรัฐมายาวนาน มาเปิดกว้างให้กับแนวทางใหม่ที่อยู่คนละขั้ว ย่อมเกิดการปะทะทางความคิด และความหวาดระแวงนานาประการ จากกลุ่มผู้บริหารประเทศทั้งหลาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ‘เศรษฐกิจกลไกตลาด’ เป็นทุนนิยมหรือสังคมนิยมกันแน่ ? คือหัวข้อถกเถียงสำคัญ
      
       ‘นักออกแบบใหญ่’ อย่างเติ้งเสี่ยวผิง กระตือรือร้นอย่างมากในการหาหนทางขจัดอุปสรรคแนวคิดจากระบบเก่าให้พ้นทาง เพื่อปลดปล่อยกำลังการผลิต ตามความคิดเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่เขานำเสนอ

        มกราคม ค.ศ.1979 เติ้งเสี่ยวผิง ได้ฉวยโอกาสจากกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อมีจดหมายจากผู้ประกอบการโรงงานแห่งหนึ่งในฮ่องกง ยื่นเรื่องขอกลับมาตั้งโรงงานในกว่างโจว(กวางเจา) เติ้งเสี่ยวผิงจึงสั่งการอย่างเฉียบไวว่า ‘เรื่องนี้กว่างตงสามารถปล่อยให้ทางผู้ประกอบการจัดการได้เต็มที่’ เรื่องดังกล่าวจึงเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะหลังจากนั้น รัฐบาลกลางก็อนุมัติ ให้ฝ่ายคมนาคมของสำนักงานส่งเสริมการค้าฮ่องกง จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมเสอโข่ว ขึ้นที่เมืองเซินเจิ้นทันที
      
       ด้านคณะกรรมการมณฑลกวางตุ้งก็เดินเครื่อง เสนอแผนส่งเสริมการเปิดสัมพันธ์ทางการค้ากับฮ่องกงและมาเก๊า ต่อที่ประชุมคณะทำงานของรัฐบาลกลางในวันที่ 5 เมษายน ปีนั้น เลขาธิการที่หนึ่งแห่งมณฑลกวางตุ้ง(ในขณะนั้น) สีจ้งซวิน ได้เสนอต่อเติ้งเสี่ยวผิงในที่ประชุมว่า ขอให้ส่วนกลางอนุญาตให้ทางการมณฑลกวางตุ้ง เปิดเขตแปรรูปสินค้าส่งออกที่ เซินเจิ้น จูไห่ และซั่นโถว(ซัวเถา) เพื่อดึงดูดนักธุรกิจจากฮ่องกงและมาเก๊า เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในจีน
      
       ผู้นำเติ้งสนับสนุนอย่างมาก เขากล่าวว่า ส่วนกลางไม่มีงบประมาณในการสนับสนุน สามารถแนะนำได้แต่เพียงนโยบายเท่านั้น และได้อนุญาตให้ทางมณฑลกว่างตงไปดำเนินการเอง ทั้งยังกำชับให้หาหนทางจัดการก่อตั้งให้สำเร็จจงได้ และให้เรียกเขตดังกล่าวว่า ‘เขตพิเศษ’
 
       คำว่า ‘เขตพิเศษ’ ที่เติ้งเสนอขึ้นมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของหนทางการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ใช้เป็นแหล่งดึงดูดเงินทุน เทคโนโลยี และระบบการบริหารจัดการต่างๆจากต่างประเทศ และยังเป็นเสมือนห้องทดลองของประเทศ ในการคลำหากฎเกณฑ์และสำรวจแนวทางการดำเนินธุรกิจในเศรษฐกิจระบบตลาด ซึ่งคำว่า ‘เขตส่งออกพิเศษ’ ได้ถูกเปลี่ยนเป็น ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ ในที่ประชุมคณะทำงานของมณฑลกว่างตงและฝูเจี้ยน(ฮกเกี๊ยน) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 1980
      
       ภายหลังจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการประจำ สมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ได้ผ่าน ข้อกำหนดการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งมณฑลกว่างตง ทำให้การก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น จูไห่ และซัวเถาในมณฑลกว่างตง และเซี่ยเหมิน ในมณฑลฝูเจี้ยน เป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา

       คำครหาต่อเซินเจิ้น
      
       ริมทะเลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเปล่งรัศมีน่าจับตาขึ้นมาทันที หลังกำเนิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 เขตแรกของประเทศ เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงตระหนักว่า ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ ได้ดำเนินการมาครบ 5 ปี ก็ได้เสนอโอกาสในการขยายขอบข่ายการเปิดเสรีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นจังหวะก้าวที่ส่งเสริมให้ ‘การเพาะเลี้ยงไข่มุกทั้งสี่’ คืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง
      
       ในฐานะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นทั้ง ‘ช่องหน้าต่าง’และ‘เขตทดลอง’ ของการเปิดประเทศ ในจำนวน ‘ไข่มุกทั้งสี่’ เมืองเซินเจิ้นเป็นเมืองที่กล้าออกมานำหน้าเมืองอื่นๆ ด้วยบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยคำขวัญที่ว่า ‘เวลาคือเงิน ผลกำไรคือชีวิต’ อาคารห้างสรรพสินค้าเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ในเมืองเซินเจิ้น ได้ทำลายสถิติ ‘สร้างเสร็จ 1 ชั้น ภายใน 3 วัน’ จนเกิดเป็นคำสแลงว่า ‘อัตราความเร็วเซินเจิ้น’
      
       นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นอีก เมื่อมีการล้มล้างระบบการเข้าทำงานแบบ ‘หม้อข้าวเหล็ก’ อันสื่อถึง ตำแหน่งการงานที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนมาใช้รูปแบบการถือหุ้นเปิดบริษัท…. เมื่อถลำลึกเข้าสู่วงจรการเปิดประเทศ นานวันเข้าแรงทัดทานก็ยิ่งทวีกำลังมากขึ้น หลายคนเริ่มสงสัยว่า วิธีการของเซินเจิ้นนี้ ทำได้จริงหรือ ?
      
       มกราคม ค.ศ.1984 หลังรัฐบาลจีนเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษผ่านไป 5 ปี เติ้งเสี่ยวผิง ได้เดินทางไปสำรวจในพื้นที่เป็นครั้งแรก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาที่มีต่อ เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น
      
       จุดหมายปลายทางแห่งแรกในการล่องใต้ของท่านผู้นำครั้งนี้คือ เซินเจิ้น เติ้งเสี่ยวผิงได้รับฟังรายงานจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และยังเดินทางไปสังเกตการณ์งานก่อสร้าง และเยี่ยมชมสถานการณ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจู่ไห่ ซึ่งที่นี่ท่านถึงกับเอ่ยปากชมว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่ดี หลังเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสองแห่ง และได้กลับถึงเมืองกว่างโจว ท่านได้ใช้เวลาพินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ จนมีความเห็นออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งท่านเขียนด้วยพู่กันจีนและมอบไว้เป็นรางวัลแก่เมืองเซินเจิ้น ความว่า
      
       ‘ความก้าวหน้าและประสบการณ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ได้พิสูจน์แล้วว่า นโยบายการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นแนวทางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง’

       บทสรุปของการเดินทางครั้งนี้ เป็นประจักษ์พยานชิ้นสำคัญของ‘ดอกผล’อันเกิดจากดำริของท่านเมื่อ 5 ปีก่อน เป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของยุทธศาสตร์การเปิดประเทศ อีกทั้งยังช่วยลบคำครหาต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย
      
       คำพูดของเติ้งหลังเดินทางกลับสู่กรุงปักกิ่ง ที่ว่า “ พวกเราตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดำเนินนโยบายเปิดประเทศ ย่อมต้องมีหลักการที่ชัดเจน ซึ่งมิใช่การ ‘ควบคุม’ แต่เป็นการ ‘ปลดปล่อย’ ” แสดงถึงการขยายช่องทางความคิด ตามวิถีพัฒนาดังกล่าวให้เปิดกว้างยิ่งขึ้น
      
       มีนาคม 1984 คณะกรรมการกลางพรรคฯและคณะรัฐมนตรีมีมติร่วมกัน อนุมัติ ‘เปิด’ เมืองท่าอุตสาหกรรมใหญ่ ริมทะเลฝั่งตะวันออก 14 เมือง อาทิ เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ต้าเหลียน ฯลฯ อย่างเป็นทางการ…
      
       เมษายน 1988 คณะกรรมการสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ อนุมัติ ‘เปิด’ มณฑลไห่หนัน(ไหหลำ) และกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษไห่หนัน …เมษายน 1990 รัฐบาลจีนประกาศบุกเบิกและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเขตพู่ตงในนครเซี่ยงไฮ้ และอนุมัติก่อตั้งเขตพู่ตงใหม่อย่างเป็นทางการในอีก 2 เดือนต่อมา
      
       เขตเศรษฐกิจพิเศษเรียงแถวกันผุดขึ้น ตามหลักการเปิดกว้างและปลดปล่อยทางความคิดเพื่อหนทางไปสู่การเปิดประเทศอย่างแท้จริง ได้นำนโยบายดังกล่าวเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง การเกิดเขตเศรษฐกิจในท้องที่หนึ่ง เสมือนได้เขตทดลองสาธิต ที่ทุกฝ่ายต้องศึกษาเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ประสบการณ์ดังกล่าวมีส่วนช่วยนำทางประเทศ ก่อนเข้าสู่เส้นทางเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดอย่างเต็มตัวในอนาคต

open2

การเปลี่ยนชนบทให้เป็นเมือง คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศสู่สังคมกินดีอยู่ดี ในยุคเติ้งเสี่ยวผิง

       ‘ร้อยปีไม่หวั่นไหว’
      
       เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 3- 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 ทำให้เกิดช่องว่างทางการเมืองระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ส่งผลให้นโยบายเปิดประเทศ ที่ดำเนินมาจนถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ถึงต้นทศวรรษที่ 90 ของศตวรรษที่แล้ว ต้องหยุดชะงักลง
      
       หลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองสงบ มีนาคม 1990 เติ้งถอยลงจากตำแหน่งทางการเมือง แต่ยังคงมีอำนาจและบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ เขาทบทวนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเสนอให้ปัดฝุ่นนโยบายเปิดประเทศอีกครั้ง
      
       สาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ ขานรับแนวคิดดังกล่าวของผู้นำสูงสุด และตั้งหลักใหม่ด้วยการชูคำขวัญปลุกใจของเติ้งเสี่ยวผิง ให้ร่วมกันสนับสนุนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ ‘ร้อยปีไม่หวั่นไหว’ โดยยืนหยัดในนโยบายเปิดประเทศ และปฏิรูปอุตสาหกรรมต่อไป ทั้งนี้เพื่อสร้างฐานของเศรษฐกิจกลไกตลาดภายใต้ระบบการเมืองแบบสังคมนิยม

       มกราคม – กุมภาพันธ์ 1992 เติ้งเสี่ยวผิงในวัย 88 ปี เดินทางไปตรวจงานทางภาคใต้ และอีกครั้งที่ไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษจูไห่ และเซี่ยงไฮ้ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่เขาจะปลุกกระแสการปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาด ซึ่งมีเขตเศรษฐกิจเซินเจิ้นเป็นบททดสอบที่ชัดเจน ผลสำเร็จของการพัฒนา ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’ ในแนวทางของระบบสังคมนิยม ได้ตอกย้ำว่า ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถดำเนินเศรษฐกิจระบบกลไกตลาดได้ โดยมิได้เบี่ยงเบนไปสู่แนวทางทุนนิยม อย่างที่หลายคนกังวล
      
       …จากเมืองเล็กริมชายแดน ที่มีประชากรไม่ถึง 20,000 คน เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เซินเจิ้นได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองทันสมัย ที่เป็นแหล่งที่อยู่และทำกินของประชากรกว่าล้านคนในปัจจุบัน ถูกขนานนามจากสื่อต่างชาติว่าเป็น ‘เมืองชั่วข้ามคืน’ คือ ภาพย่อส่วนที่เต็มไปด้วยสีสันของความสำเร็จ จากอัจฉริยภาพในการผันแนวคิดทฤษฎี มาสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง ของผู้นำเติ้งเสี่ยวผิงในยุคนั้น

open

ชีวิตทันสมัยในวันนี้ ที่แลกมาด้วยความพยายามของผู้นำเติ้ง ในการฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการจากการชูนโยบาย ”เปิดประเทศ” ในยุคปี 80

#####

เติ้งเสี่ยวผิงกับการเจรจาปัญหาเกาะฮ่องกง
 
       ต้นทศวรรษที่ 80 ทั่วประเทศจีนไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ วิถีทางที่เป็นไปได้ในการรวมประเทศนอกเขตแผ่นดินใหญ่ อันมีเป้าหมายรวมถึง เกาะฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ที่แฝงนัยของความรู้สึกรักชาติของชายร่างเล็ก เติ้งเสี่ยวผิง
      
       กลางค.ศ.1982 เติ้งเสี่ยวผิง ประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองในขณะนั้น เรียกประชุมตัวแทนจากทุกหน่วยงานในฮ่องกง ทั้งด้านเศรษฐกิจการค้า วัฒนธรรม การศึกษา สื่อมวลชน กลุ่มสตรี แรงงาน และภาพยนตร์ เข้าร่วมหารือถึงแผนการคืนเอกราชของเกาะฮ่องกง ซึ่งมีกำหนดในปี 1997 การพบปะระหว่างตัวแทนจากแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงในครั้งนั้น เป็นการประชุมครั้งแรกเฉพาะการภายในประเทศเท่านั้น
      
       ในที่ประชุม เติ้งเสี่ยวผิงได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ ถึงประเด็นการบริหารงานภายในเกาะฮ่องกง ภายหลังการคืนเอกราช ซึ่งจะปล่อยให้บริหารกันเอง รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ พื้นฐานทางกฎหมาย ฯลฯ ก็ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพื่อเสถียรภาพของความมั่นคงภายใน และความมีเสรีภาพของศูนย์กลางเศรษฐกิจการเงิน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งมวล
      
       เกาะฮ่องกง อยู่ภายใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักร มาตั้งแต่ปีค.ศ.1842 (สมัยราชวงศ์ชิง ค.ศ.1644-1911) หลังจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น(ค.ศ.1840-1842) ตามสนธิสัญญานานกิง ที่ราชสำนักชิงทำกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรแห่งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย (ผลของสงครามฝิ่น จีนยังสูญเสียเกาะเกาลูนให้แก่รัฐบาลอังกฤษในปี 1860 และสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ผู้ถือสัญชาติต่างประเทศ โดยชาวต่างชาติในจีนสามารถอยู่เหนือกฎหมายจีนมาจนถึงปี 1949 ด้วย)

hong1
“หญิงเหล็ก”แห่งอังกฤษ นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เข้าพบนายเติ้งเสี่ยวผิง เจรจาปัญหาเกาะฮ่องกง ในปี 1982
 
       การเจรจาคืนเกาะฮ่องกงระหว่างจีนและอังกฤษเปิดฉากขึ้น เมื่อ ‘หญิงเหล็ก’ นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายอังกฤษ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกันยายน 1982
      
       จางจวิ่นเซิง อดีตรองประธานและโฆษกแห่งสำนักข่าวซินหัว ประจำเกาะฮ่องกง ผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ก่อนและหลังการคืนเอกราชแก่ฮ่องกงในปีค.ศ.1997 ย้อนความทรงจำว่า ปัญหาการคืนเอกราชให้กับฮ่องกง เป็นเรื่องที่เติ้งเสี่ยวผิงใส่ใจมาตลอด เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้แทนคนแรกในการเจรจากับอังกฤษ
      
       ‘หญิงเหล็ก’ แห่งเกาะอังกฤษมาเยือนกรุงปักกิ่งด้วยความเชื่อมั่นและลำพอง ทันทีที่อังกฤษมีชัยเหนืออาร์เจนติน่าในสงครามแย่งชิงหมู่เกาะฟอร์คแลนด์(สงครามกินเวลายาวนาน มายุติในปี 1982 ปัจจุบันเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ใช้ชื่อหมู่เกาะMalvinas) โดยก่อนหน้าการเดินทางมาจีน นางมาร์กาเร็ตได้ศึกษาพื้นฐานทางกฎหมายของประเทศจีนมาอย่างดี รวมถึงประวัติศาสตร์การสูญเสียเกาะฮ่องกง จากสนธิสัญญา 3 ฉบับ ซึ่งได้แก่ ‘สนธิสัญญานานกิง’ ซึ่งว่าด้วย ราชสำนักชิงยินยอมยกเกาะฮ่องกงให้แก่เกรตบริเทนอย่างเด็ดขาด ‘สนธิสัญญาปักกิ่ง’ ที่ว่าด้วยการยกเกาะจิ่วหลง(เกาลูน)แก่มหาอำนาจเกรตบริเทนอย่างเด็ดขาด และ‘ข้อตกลงพิเศษว่าด้วย การขยายอาณาเขตเกาะฮ่องกง’ เป็นสัญญาเช่า‘ดินแดนใหม่’ ซึ่งหมายถึงเกาะเกาลูนและหมู่เกาะโดยรอบอีกกว่า 200 เกาะเป็นเวลา 99 ปี สัญญาทั้งหมดทำกันในสมัยราชวงศ์ชิงซึ่งจีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งสามฉบับ

       และนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ก็ได้อ้างเนื้อหาในสัญญาดังกล่าว เปิดการเจรจาปัญหาฮ่องกงกับรัฐบาลจีนในเบื้องต้น และยืนยันใน ‘ความชอบธรรมทางกฎหมายของสัญญา’ แต่การตอบโต้ของนายเติ้งเสี่ยวผิงนั้น กลับเกินความคาดหมายของมหาอำนาจอังกฤษ
      
       เติ้งยืนกรานอย่างเด็ดเดี่ยว ในการประกาศเอกราชของเกาะฮ่องกงในปี 1997 โดยไม่สนใจในข้อเสนอของนางมาร์กาเร็ต และกล่าวอย่างเคร่งขรึมว่า อาจเกิดปัญหาภายใน หากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ทวงเอกราชเหนือเกาะฮ่องกงคืน และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนการบริหารงานในเกาะฮ่องกงอย่างสันติ ภายหลังได้รับเอกราช ซึ่งนั่นถือเป็นภารกิจสำคัญ ที่ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมกันหารือในอนาคต
      
       ถ้อยคำทางการทูตที่เปี่ยมไปด้วยความสุขุมคัมภีรภาพของนายเติ้งเสี่ยวผิง ทำให้นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ถึงกับเดินสะดุดล้มลงไปคุกเข่าอยู่ที่พื้น เมื่อปะหน้านักข่าวสาวชาวเนเธอร์แลนด์ ขณะลงจากบันไดของมหาศาลาประชาคม ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ภายหลังการเจรจาไม่ถึง 3 ชั่วโมง…

hong2  
บรรยากาศในพิธีถ่ายโอนอธิปไตยเหนือเกาะฮ่องกง จากอังกฤษสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997
 
       หลังจากนั้นการเจรจาอีกหลายระลอกก็ดำเนินไปตามลำดับขั้นตอน นับตั้งแต่จีนเสนอแผน ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ใช้ในการบริหารงานภายในฮ่องกงหลังการคืนเกาะ การร่วมลงนามบันทึกช่วยจำในประเด็นต่างๆ และการคงรักษาระบบเศรษฐกิจ สังคม และกฏหมายของฮ่องกงต่อไป เป็นเวลา 50 ปี ตลอดจนการตั้งฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษ การตรากฎหมายใหม่บางฉบับ จนมาถึงการเลือกผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งขั้นตอนการเตรียมการต้อนรับเอกราชใหม่นี้ใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี
      
       และก้าวย่างที่ถือเป็นชัยชนะของมวลชนชาวจีน คือวันที่ 19 ธันวาคม 1984 เมื่อนายเจ้าจื่อหยาง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ร่วมลงนามใน ‘แถลงการณ์ร่วมปัญหาฮ่องกง’ กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 เป็นวันเริ่มต้น ฟื้นฟูอธิปไตยแห่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเหนือเกาะฮ่องกงอย่างเป็นทางการ …แถลงการณ์ที่เปิดหน้าใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ฮ่องกง…
      
       แม้ว่าเติ้งเสี่ยวผิงจะจากไปอย่างสงบ ก่อนการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่อ้อมอกแผ่นดินใหญ่ ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 ไม่ถึง 5 เดือน โดยไม่มีโอกาสได้เห็นผลของความพยายามที่รอคอยมานานนับศตวรรษนั้นก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ชาวจีนทั้งประเทศก็ไม่เคยลืมว่า พวกเขาได้ฮ่องกงกลับคืนมาอย่างสันติเพราะใคร

#####

คมคิดเติ้งเสี่ยวผิง

       ชาวจีนต่างสรรเสริญเชิดชูเติ้งเสี่ยวผิงว่า เป็น ‘ผู้นำที่ประเสริฐยิ่ง’ โดยมีความเป็นอัจฉริยะบุรุษทั้งในฐานะ ‘นักทฤษฎีลัทธิมาร์กซิสม์’ ‘นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่ยิ่งใหญ่’ ‘นักปกครอง’ ‘นักการทหาร’ ‘นักการต่างประเทศ’ และ ‘สถาปนิกใหญ่ผู้ออกแบบความทันสมัยให้ชาติและปฏิรูประบบสังคมนิยมจีน’
      
       คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของเติ้งเสี่ยวผิงที่อุทิศเพื่อแผ่นดินมังกรนั้น มีอยู่ 2 ด้านหลักๆ
      
       ประการแรก คือสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ยุคสาธารณรัฐ และแก้ไขก้าวย่างที่พลาดพลั้งจากการปฏิวัติวัฒนธรรม วิพากษ์แนวคิดและฐานะทางประวัติศาสตร์ของท่านประธานเหมาเจ๋อตงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
      
       ประการที่สอง คือสร้างแนวคิดสังคมนิยมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบบจีน(ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง) เป็นผู้ออกแบบนโยบายปฏิรูปที่นำพาประเทศสู่ความเป็นสังคมนิยมอันทันสมัย
      
       ภูมิความคิดของเติ้งเสี่ยวผิง รัฐบุรุษผู้มีชีวิตปฏิวัติโชกโชนตลอด 70 ปี จึงควรค่าแก่การเรียนรู้และเข้าใจ
      
       ***********************************************************
       “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”

sew1  
 
       ประโยคยอดนิยมของท่านผู้นำเติ้งที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดีนี้ ท่านได้กล่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1962 ซึ่งขณะนั้น จีนกำลังประสบกับปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และบรรดาผู้บริหารของประเทศต่างระดมความคิดเพื่อแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น
      
       ทัศนะของเติ้งขณะนั้นคือ “ในการจะฟื้นคืนอุตสาหกรรมเกษตร มวลชนจำนวนมากเรียกร้องขอได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกินของตนเอง และผลการสำรวจยังได้สนับสนุนแนวคิดนี้ ซึ่งในช่วงระยะก้าวผ่านของแต่ละยุคสมัย หากวิธีการใดเป็นผลดีแก่อุตสาหกรรมการเกษตร ก็ให้ใช้วิธีการนั้น กล่าวคือ ควรยึดแนวทางการปฏิบัติตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่คิดหรือปฏิบัติกันอย่างสูตรตายตัว”
      
       ************************************************************
       “ ปลดปล่อยความคิด ยึดติดความจริง ”
      
       ในบรรดาทฤษฎีด้านสังคมนิยมแบบฉบับจีนของเติ้งเสี่ยวผิง “การปลดปล่อยความคิด ยึดติดความจริง” ถือเป็นแก่นแกนความคิดสูงสุด ที่สะท้อนทัศนะการพัฒนาและปรัชญาองค์รวมของเติ้ง
      
       การจะนำพาประเทศจีนสู่ความทันสมัยนั้น เติ้งมองว่า ต้องก่อเกิดจากความคิดที่ทันสมัยก่อน นั้นคือต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เคารพกฎแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง ตลอดจนยึดมั่นแนวคิดการพัฒนาที่เป็นจริงเชิงปฏิบัติ เป็นไปอย่างรอบด้าน และมีความเป็นมหาชน
      
       รัฐบุรุษเติ้งยังเห็นว่า เนื่องจากจีนปิดประเทศไปนาน บวกกับความบอบช้ำภายในจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ดังนั้น ยิ่งความคิดถูกปลดปล่อยจากพันธนาการต่างๆ มากเท่าไร การปฏิรูปประเทศก็จะยิ่งก้าวหน้ามากเท่านั้น การเพิ่มกำลังการผลิตของชาติ จำเป็นต้องอาศัยนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้าง บนแนวทางการปฏิบัติที่เป็นจริง ดังคำกล่าวของจีนที่ว่า ‘การปฏิบัติคือมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียวที่จะทดสอบสัจธรรม’

sew2 
แนวคิด 4 ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง ที่เน้นการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และการป้องกันประเทศ
 
       ************************************************************
       “ เคารพความรู้ เคารพความสามารถของบุคคล ”

sew3

 
       เติ้งเสี่ยวผิงเสนอทัศนะว่า กุญแจดอกสำคัญที่จะพาประเทศจีนก้าวสู่ความทันสมัยได้สำเร็จนั้น คือ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งอาศัยพัฒนาการด้านการศึกษาเป็นรากฐาน การพูดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความทันสมัยได้ จำเป็นจะต้องมีความรู้ ความสามารถ หากไม่มีความรู้ ความสามารถของคนก็ไม่เกิด
      
       ดังนั้น จึงต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์ควบคู่กับการศึกษา อีกทั้งต้องส่งเสริมให้อุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆ สร้างหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น พร้อมๆ กับส่งเสริมให้มีบุคลากรด้านนี้ด้วย
      
       นอกจากนั้น ควรให้ความสำคัญและเคารพความสามารถของคนทุกคน โดยไม่จำกัดว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ใช้กำลังกายหรือกำลังสมอง เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
      
       ************************************************************
       “ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน ”
      
       “ ข้าพเจ้าภูมิใจในฐานะชาวจีน ที่เป็นประชากรคนหนึ่งของโลก ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน และมีความรักอันลึกซึ้งให้กับมวลชนและมาตุภูมิ” เติ้งเสี่ยวผิง เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่อง <รวมรวบผลงานวรรณกรรมของเติ้งเสี่ยวผิง> ซึ่งออกโดยสำนักพิมพ์ Pergamon ของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1981
      
       นี่คือความในใจของวีรบุรุษผู้เติบโตภายใต้การกล่อมเกลาด้วยจิตวิญญาณแห่งวัฒนธรรมจีน แสดงออกซึ่งความรู้สึกและจิตสำนึกรักชาติ
  
sew4
 
       เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและสภาวะความเป็นจริงแล้ว เติ้งเสี่ยวผิงจึงคิดหลักการ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ มาใช้แก้ปัญหาการรวบรวมเกาะฮ่องกง อ้าวเหมิน(มาเก๊า) และไต้หวัน โดย 1 ประเทศที่ว่า คือความเป็นจีนเดียวโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษชาวจีนต้องสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อพิทักษ์มาตุภูมิไว้ ส่วน 2 ระบบ คือความปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างการปกครองด้วยระบบสังคมนิยมของแผ่นดินใหญ่ กับระบบทุนนิยมของฮ่องกง อ้าวเหมิน และไต้หวัน ที่ถึงแตกต่าง แต่ก็เป็นชาติเดียวกัน
       
       แม้ ณ วันนี้ เติ้งเสี่ยวผิงจะไม่มีโอกาสอยู่ดูความสำเร็จที่เกาะฮ่องกง และอ้าวเหมิน ได้กลับคือสู่แผ่นดินแม่ แต่ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านมีความหวังกับเรื่องนี้เสมอ ดังคำกล่าวกินใจของเติ้งที่ว่า
      
       “การบรรลุความเป็นจีนเดียว คือความปรารถนาของชนทั้งชาติ แม้ผ่านไป 100 ปียังไม่สำเร็จ จะใช้เวลา 1,000 ปีก็ไม่สายที่จะรวมกันเป็นหนึ่ง”
      
       ************************************************************
      
       คมคิดเติ้งเสี่ยวผิง ตกผลึกจากความเป็นนักปฏิวัติและนักปฏิรูปเกือบทั้งชีวิต ผ่านบททดสอบทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาติ แม้ท่านจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ภูมิความคิดหลายอย่างยังก้องกังวาน น่าศึกษาและสามารถนำมาปรับใช้ได้ในปัจจุบัน

 
ข้อมูลจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/china/china_100years.aspx

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.