อุปนิสัยบางอย่างของตัวเราเองนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดกระบวนบั่นทอนพลังชีวิต และนำมาซึ่งการหมดความหวังและกำลังใจ
ก่อนลงมือเขียนและวางโครงเรื่องคร่าวๆในใจ คิดจะตั้งชื่อเรื่องว่า “อย่าไปเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง” เพราะเพิ่งได้อ่านหนังสือชื่อ Don’t Sweat The Small Stuff…and it’s all Small Stuff แล้วเห็นบางมุมของความคิดจากหนังสือเล่มนี้
แต่ด้วยการที่ผมเข้าไปอยู่ในเครือข่ายชุมชนออนไลน์ หรือ Social Networking ช่วยให้ผมสามารถ “เข้าถึง” เวทีความคิดของผู้คน เกิดการสื่อสารและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆอย่างสะดวกและรวดเร็ว ได้ความรู้ทั้งในทางกว้างและลึกมากขึ้น
และทำให้ผมได้อ่านข้อความสั้นๆ ของท่านติช นัช ฮันท์ ผมคงไม่ต้องบอกว่าท่านเป็นใคร เพราะแนวคิดและคำสอนของท่านถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
เป็นจุด “หักเห” ทำให้ผมเปลี่ยนใจ และ “กลับขั้ว” ความคิดของตัวเอง เลือกหัวข้อใหม่ แม้จะยังใช้มุมมองจากเรื่องเดิมที่คิดไว้
ท่านติช นัช ฮันท์ บอกอะไร และเพราะอะไร ทำให้ผมถึงต้องปรับเปลี่ยนชื่อเรื่อง อ่านต่อไป แล้วลองคิดตาม หรือคิดด้วยมุมมองของท่านเองดูซิครับ
Don’t sweat the small staff ไม่ใช่หนังสือใหม่ เป็นหนังสือดังมากเล่มหนึ่ง ผมเคยเห็นมานานหลายปี จนจำไม่ได้แล้วว่าเห็นครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่ก็ไม่ได้อ่านจนเพิ่งซื้อ และหยิบมาอ่านช่วงหยุดปีใหม่นี้เอง
ผู้แต่งหนังสือชื่อ Richard Carlson นอกจากเขียนเล่มนี้แล้ว เขายังมีผลงานหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ขึ้นด้วยว่า Don’t sweat the small stuff ในเรื่องต่างๆอีกมากมาย
สิ่งที่ผมเรียนรู้ด้วยตัวเองจากหนังสือเล่มนี้ และลองค้นข้อมูลใน Internet เพื่อศึกษาความคิดเห็นของใครต่อใครหลายคน ที่เขียนถึงมุมมองของพวกเขาที่มีต่อเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมาร่วมแลกเปลี่ยน และแบ่งปันความคิดกัน ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ผมเชื่อว่าจุดที่มัน “กระแทก” และ “โดนใจ” ผู้อ่าน คือประเด็นของการนำเสนอความจริงข้อหนึ่งของการใช้ชีวิต และการทำงานของคนอย่างผมและท่านผู้อ่านคือ การที่ต้องเจอกับเรื่องราวต่างๆนานามากมาย มีทั้งดีใจ มีเสียใจ ผิดหวัง ทุกข์ และสุขหมุนเวียนเปลี่ยนไปมาทุกวัน
และหลายคนที่เคยอ่านเรื่องนี้ เห็นตรงกันว่า อุปนิสัยบางอย่างของตัวเราเองนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดกระบวนบั่นทอนพลังชีวิต และนำมาซึ่งการหมดความหวังและกำลังใจ
เพราะบางครั้งเราก็เสียเวลา หรือไปให้ “ให้ราคา” ไปกลับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือเอาเวลาไปคิดวนเวียนกับเรื่องเล็กๆ ซึ่งบางคนถึงกับเรียกว่าเรื่องว่า “ไร้สาระ”
มากกว่าการมองที่ปัญหา ที่เป็นภาพใหญ่
Richard Carlson เขียนช่วงหนึ่งของคำนำว่า When we are immobilized by little things—when we are irritated, annoyed, and easily bothered-Our (Over) reactions not only make us frustrated but actually get in the way of getting what we want.
และเขายังบอกต่ออีกว่า We lose sight of the bigger picture, focus on the negative, and annoy other people who might otherwise help us.
ข้อคิดของ Richard Carlson คือ บางครั้งการ “ปรับโฟกัส” ของปัญหา ไปอยู่ที่เรื่องเล็กๆ นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาในภาพใหญ่ได้แล้ว บางครั้งพฤติกรรมและการตอบสนองกับเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรให้ความสนใจมากนักนั้น อาจส่งผลกระทบไปถึงบุคคลอื่นๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือเราได้ในเรื่องที่สำคัญกว่า
เสียมัน “สองเด้ง” ทั้งเวลาและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือคนใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ผมนั่งคิดทบทวนประเด็นนี้อีกครั้ง แล้วถามตัวเองว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องเล็ก เรื่องไหนเป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดต่อไปถึงคำถามอีกข้อว่า “ของใคร?”
เพราะผมเชื่อว่าแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน ในเรื่องบางเรื่องที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน และคงยากที่จะสร้างกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานในการกำหนด และตัดสินให้เรื่องไหนใหญ่และเล็ก เพราะคนเรามีพื้นฐานทางความคิดต่างกัน
ผมเลยปรับมุมมองใหม่ ปล่อยให้ข้อคิดของ Richard Carlson เป็นโจทย์ที่ท่านผู้อ่านลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในการทำงานและการใช้ชีวิตแต่ละวันนั้น ได้ใช้เวลาไปกับเรื่องราวต่างๆ มากน้อยแค่ไหน คุ้มค่ากับมันหรือไม่ด้วยตัวท่านเอง เช่นเดียวกับที่ผมต้องตั้งคำถามนี้กับตัวเอง
ขณะเดียวกัน ผมขอกลับไปเฉลยข้อคิดของท่าน ติช นัช ฮันท์ ที่พูดถึงช่วงต้นท่านบอกว่า Breathing In I smile, breathing out I relax that is a wonderful moment. คำสอนฉบับเต็มๆนั้นยาวกว่านี้ แต่ใน Facebook ของท่าน ว.วิชรเมธี ที่ผมอนุญาตนำใช้อ้างอิงตัดตอนมาเฉพาะส่วนนี้
ประโยคสั้นๆนี้เอง ทำให้ผมรู้สึกว่า การหาสิ่งดีๆให้กับตัวเองนั้น เป็นเรื่องง่ายๆ และเกิดขึ้นได้ในทุกลมหายใจเข้าออก
แทนที่จะเอาเวลาไป “เสีย” กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมเอาเวลาไปหาเรื่อง “ดีๆ” ให้ตัวเองดีกว่า ซึ่งในปัจจุบันการหาเรื่องดีๆ ให้กับตัวเองนั้น ยิ่งทำได้ง่ายมากขึ้น เพราะโลกในยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า ทำให้เราสามารถรับข้อมูลข่าวสารดีๆ ได้ในหลายรูปแบบ ทั้งนี้ผมไม่ได้เน้นเฉพาะในโลกออนไลน์เท่านั้น
หนังสือดีๆ หนังดีๆ เพลงเพราะๆ เรื่องและข้อคิดที่ถูกถ่ายทอดและแบ่งปันบนโลกไซเบอร์ หรือแม้แต่ Forwarded Mail จากเพื่อนฝูง ฯลฯ หากเราเลือกที่จะเปิดรับ เพื่อทำให้เรารู้สึกดีและมีกำลังใจ ในการต่อสู้และดำเนินต่อไปของชีวิตกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
ควบคู่ไปกับการมองเห็นความสวยงามของโลก และสรรพสิ่งรอบตัว
ทั้งหมดอยู่ที่ตัวท่านแล้วละครับ จะเลือกใช้ชีวิต ด้วยมุมมองแบบไหน และให้เวลากับเรื่องใด เพราะตัวผมก็พยายามอย่างที่สุด ที่จะเลือกเปิดรับสิ่งดีๆ ในรูปแบบที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผม มากกว่าเลือกที่จะ “จม” และ “เสียเวลา” กับเรื่องไม่เป็นเรื่องเหมือนที่ผ่านมา
ขอจบท้ายวันนี้ ด้วยข้อคิดของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 33 ชื่อ Harry S. Truman ที่บอกว่า “I come to the office each morning and stay for long hours doing what has to be done to the best of my ability. And when you’ve done the best you can, you can’t do any better.”
เป็นข้อคิด จาก positive quote of the day ที่ผมได้รับทุกวันจาก website แห่งหนึ่ง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร หากท่านลองอ่านและคิดตามดู จะรู้ว่าท่านอดีตประธานาธิบดี คงใช้เวลาในแต่ละวันอย่างเต็มความสามารถ เพื่อทำการใหญ่ระดับประเทศ และคงไม่ยอมให้ตัวเองเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
วันนี้ลองถามตัวท่านเองนะครับ ว่าจะเสียเวลาหาเรื่องดีๆให้กับตัวเอง ในรูปแบบไหนที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและความชอบท่าน
แต่ถ้าใครยังสนุกกับการเสียเวลาคิดเรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมก็คงไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายความคิด และวิถีชีวิตท่านหรอกครับ
หาเรื่อง(ดีๆ) ใส่ตัว
ประภาส ทองสุข