ผมชอบเล่าเรื่องต่อไปนี้ให้หลายคนฟัง เพราะเห็นว่าเป็นกรณีบริหารจัดการที่คลาสสิกดี เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง มาร์โคโปโล ถาม กุปไลข่าน จักรพรรดิเมืองจีนว่า ท่านข่านคาดหวังอะไรจากนายทหาร
“ข้าพเจ้า คาดหวังให้นายทหารของข้าพเจ้าดูแลทหารชั้นผู้น้อยให้ดีก่อนดูแลตัวเอง ส่วนนายพล จะต้องให้ดูแลม้าของตนให้ดีกว่าทหารทั่วไปที่ดูแลม้าของตนเอง”
แน่นอนว่า พ่อค้าชาวเวนิส ต้องขอให้ขยายความสิ่งที่พูด
“นายทหารมีความชอบด้วยการปฏิบัติ นายพลมีความชอบด้วยการเป็นแบบอย่าง” คือคำเฉลย จากท่านข่าน
ผู้นำเรื่องนี้มาเล่าคือ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่คราวหนึ่ง ท่านเล่าเพราะถูกถามว่า “ท่านมองว่าสิ่งที่บริษัทใน Fortune 500 ได้ทำความน่าอับอายในเชิงบริหารมีอะไรบ้าง”
“สิ่งที่น่าอัปยศในขณะนี้คือ เมื่อฝ่ายบริหารได้รายรับเป็นเงินล้านๆเหรียญ แต่ปลดคนงานเป็นจำนวนนับหมื่นออกไป….พวกเขาไม่คิดน้อยใจหรอกที่ผู้บริหารระดับสูงได้เงินเป็นล้านๆ ตราบใดที่ไม่ไปเปลี่ยนอะไรต่ออะไรอย่างถอนรากถอนโคน…ประธานบริษัทต่างๆควรจะอยู่ชอบด้วยการเป็นตัวอย่าง แต่เขาเหล่านั้นได้ทำลายหลักการนั้น โดยตั้งเงินเดือนตัวเองสูงเสียจนคนข้างล่างอยู่กันไม่ได้” ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กล่าวก่อนจะสรุปว่า
“ความน้อยเนื้อต่ำใจเป็นราคาที่สูงมาก”
เสียดายที่คนสัมภาษณ์ไม่ได้ถามดรักเกอร์ต่อว่า ราคาที่สูงมากนักนั้นสำแดงออกมาในรูปใด แต่เท่านี้ก็คงเพียงพอจะบอกอะไรบางอย่างกับบริษัทไทย คนไทย และสังคมได้บ้าง นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่บนยอดพีระมิดขององค์กร หรือสังคมกับคนที่อยู่ตรงฐานพีระมิด
ดรักเกอร์ อาจจะเป็นนักคิดในวงการบริหารคนเดียวที่พูดถึง “ความน้อยเนื้อต่ำใจ” ในขณะที่คนอื่นไม่สนใจที่จะกล่าวถึง เพราะเป็นการยากที่คนที่มีการศึกษา มีฐานะทางสังคมสูง มีเงินทองจะเข้าใจความรู้สึกนี้
หากเราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้ด้อยโอกาส ยากจน ความรู้น้อย อยู่ในต่างจังหวัด หรือเป็นพนักงานระดับล่าง ก็เป็นการยากที่เราจะสัมผัสถึงความรู้สึกเหล่านี้
คนที่อยู่ตรงฐานของพีระมิดสังคม ไม่ว่าจะในระดับใดมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบตามธรรมชาติอยู่แล้ว นับตั้งแต่เกิดมา ก็พบกับคุณภาพที่ต่ำกว่าของบริการด้านสาธารณสุข คุณภาพการศึกษา โภชนาการ หรือแม้จะถึงขั้นฝ่าฟันพิสูจน์ตนเองด้วยความรู้ความสามารถขึ้นมาได้ แต่หากไปอยู่ในสังคมที่ให้ค่าของ “ชาติวุฒิ” มากกว่า “คุณวุฒิ” (ชาติวุฒิ เช่น ความเด่นดัง เลอเลิศของนามสกุล) โอกาสที่ได้รับก็ย่อมไม่มีวันเท่าเทียม ซึ่งก็คือรูปแบบการเอารัดเอาเปรียบที่เห็นอยู่ตำตา
แต่ส่วนใหญ่พวกเขาคงไม่มีแรงไต่ขั้นบันไดพีระมิด เพียงเพื่อจะไปพบกับความเจ็บปวดในขั้นที่ว่านั้น แทบทั้งหมดจะมีโอกาสเพียงน้อยนิด จึงต้องจมดักดานอยู่ตามท้องไร่ ท้องนา โรงงานอุตสาหกรรมสวัสดิการต่ำ และสลัม
ดังนั้น เวลาที่เราพูดถึงผู้ที่ “เสียเปรียบ” และ “ผู้ได้เปรียบ” เราไม่จำเป็นต้องหมายถึง คนที่เป็นซีอีโอกับลูกจ้าง แต่ย่อมกินความที่กว้างกว่านั้นในระดับสังคม เช่น คนในชนบท คนในกรุงเทพฯ ชนชั้นกลาง-สูง และคนระดับล่างในเมืองหลวง
ดูเหมือนสิ่งที่ ดรักเกอร์ จะบอกก็คือ ความได้เปรียบเสียเปรียบนี้ สามารถยอมรับให้ดำรงอยู่ต่อไป ตราบใดที่ความรู้สึกของคนระดับล่าง ไม่ถูกเหยียบย่ำจนเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ กล่าวอีกอย่างคือ คนที่จะมีคุณสมบัติที่เหยียบย่ำคนระดับล่างได้ ก็คือคนที่อยู่ข้างบน
รูปแบบของการเหยียบย่ำ ไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของการขึ้นเงินเดือนแบบโอเวอร์ของซีอีโอก็ได้ แต่สามารถมาได้หลายรูปแบบ
ยกตัวอย่างเช่น หากซีอีโอคนหนึ่ง หรือทีมบริหารต้องการผลตอบแทนและสวัสดิการที่สูงขึ้น พวกเขาย่อมมีสารพัดยุทธวิธีในการต่อรองกับบอร์ด นับตั้งแต่ขู่ลาออก (เพราะชีวิตย่อมมีโอกาสและทางเลือกที่ดีอยู่แล้ว) หรือยื่นข้อเสนอเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน การเพิ่มยอดขาย ซึ่งคือการไปไล่เบี้ยกับคนระดับล่างลงไป
แต่ในกรณีของคนงาน หรือพนักงานระดับล่างที่ต้องการจะเรียกร้องค่าตอบแทนและสวัสดิการ ซึ่งในสายตาของพวกเขาคือการเรียกร้องสิทธิ์และความเท่าเทียมกัน (ซีอีโอทำได้ ฉันก็ทำได้) แต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจะน้อยกว่ามาก เพราะอย่างน้อยที่สุดคือการสร้างภาระต้นทุนให้กับกิจการ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดที่การขึ้นเงินเดือนให้ประธานบริษัท จะไม่ถูกข้อกล่าวหาเดียวกันนี้
เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล (ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้น) คนงานจึงเหลือทางเลือกในการต่อรองไม่กี่วิธี เช่น การหยุดงานชุมนุมเรียกร้อง แต่ในจุดนั้น รูปแบบของการเหยียบย่ำครั้งใหม่ก็จะเกิดขึ้น นั่นคือ ข้อกล่าวหาการสร้างความเสียหายให้กับกิจการ การสร้างความแตกแยกขึ้นในองค์กร ถูกจูงจมูก หรือการเตรียมการใช้ความรุนแรงของคนระดับล่าง
ยุคนี้คนที่อยู่ข้างบน มีโอกาสมากขึ้น ที่จะใช้ข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างได้ผล ตราบใดที่เขาสามารถควบคุมระบบการสื่อสารภายในองค์กร หรือภายในสังคมได้ ที่สุดประเด็นแห่งการเรียกร้องความเท่าเทียม ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ก็จะถูกปฏิเสธที่จะรายงาน เพราะพวกเขาถูกตีตราเป็นพวกสร้างความแตกแยก และใช้ความรุนแรงไปเรียบร้อยแล้ว
ในที่สุดชัยชนะก็จะตกเป็นของคนที่อยู่บนยอดพีระมิด แต่ก็อย่างที่ ดรักเกอร์ บอกว่า “ความน้อยเนื้อต่ำใจเป็นราคาที่สูงมาก” และการที่ท่านไม่ยอมบอกว่ามันสูงแค่ไหน ก็อาจจะหมายถึงว่า
มันสูงเสียจนในที่สุด สังคมไม่มีพอจะจ่ายนั่นเอง
ราคาแห่งความน้อยเนื้อต่ำใจ
ทุนมนุษย์ 2020
จุมพฏ สายหยุด
กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553