Sham Gad นักศึกษา MBA ที่กำลังจะจบของมหาวิทยาลัย จอร์เจีย ได้มีโอกาสพาเพื่อนนักศึกษาเข้าพบและพูด คุยกับ วอเร็น บัฟเฟตต์ และต่อไปนี้ คือสาระบางส่วนของการตอบคำถามที่ถูกนำมาขึ้นใน BLOG ส่วนตัวของเขาที่เวบ buffettspeak.blogspot.com
1. ถามว่าทำไมบัฟเฟตต์จึงซื้อหุ้นเบิร์กไชร์ซึ่งเป็นบริษัทสิ่งทอที่กำลังตกต่ำ ในปี 1962
บัฟเฟตต์ ตอบว่า ราคาหุ้นในขณะนั้นอยู่ที่ 7 3/8 เหรียญ แต่บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียน 10 – 11 เหรียญต่อหุ้น ขณะเดียวกันถึงบริษัทจะขาดทุน แต่ก็ได้ทยอยปิดโรงงานจาก 12 โรงเหลือเพียง 2 โรงทำให้มีกระแสเงินสดออกมาใช้ได้มาก นี่เป็นกรณีของการลงทุนในบริษัทที่มีกิจการย่ำแย่แต่มีทรัพย์สินมากซึ่งถือ เป็นการลงทุนแบบ “ก้นบุหรี่” ในช่วงแรกๆ ของการลงทุนของเขา ต่อมาบัฟเฟตต์ได้ซื้อหุ้นตัวนี้เพิ่มจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และใช้มันเป็น บริษัท Holding ที่ถือหุ้นอื่นๆ มาจนถึงทุกวันนี้ที่หุ้นเบิร์กไชร์มีราคาหุ้นละหลายหมื่นเหรียญ และทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็นคนที่รวยเป็นอันดับสองของโลก
2. กรณีการซื้อหุ้นของ See’s Candy ในปี 1972 เป็นกรณีของการซื้อธุรกิจที่มียี่ห้อที่แข็งแกร่งของ See’s ซึ่งขายลูกกวาดและช็อคโกแล็ต ซึ่งสามารถขึ้นราคาสินค้าได้บ่อยๆ โดยลูกค้าไม่หันไปซื้อยี่ห้ออื่น บัฟเฟตต์บอกว่า เมื่อเขาจะลงทุน เขาจะถามคำถามข้อหนึ่ง นั่นคือ “คุณจะต้องรอนานแค่ไหนถึงจะสามารถขึ้นราคาสินค้าได้” และนี่คือกรณีแรกๆ ที่บัฟเฟตต์เริ่มเปลี่ยนแนวการลงทุนจากแบบก้นบุหรี่มาเป็นการลงทุนในหุ้นของ กิจการที่มียี่ห้อโดดเด่น กิจการมีคุณภาพดีมากในราคาหุ้นที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับการลงทุนก่อนหน้านั้น
3. เมื่อถูกถามว่า 50 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นอเมริกันมีหุ้นราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากมาย เขาคิดว่าเหตุการณ์แบบนั้นจะเกิดขึ้นอีกไหม
คำตอบก็คือ โอกาสที่น่าสนใจมากๆนั้น มาจากการสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ มนุษย์นั้นจะตกใจจนตัวสั่นด้วยความกลัว และตื่นเต้นด้วยความโลภ และสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับว่าพวกเขาจะมี IQ เท่าไร ตัวบัฟเฟตต์เองนั้น ร่ำรวยขึ้นได้โดยการมองหากำไรที่แข็งแกร่งของบริษัท
50 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่ช่วงเวลาที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะ มันเป็นเพียงเรื่องของการฉกฉวยประโยชน์จากพฤติกรรมมนุษย์ มันเป็นเรื่องของคนที่มองหาโอกาสขณะที่คนอื่นกำลังตื่นตกใจจากความกลัวหรือ ตื่นเต้นจากความโลภ สรุปง่ายๆน่าจะเป็นว่า บัฟเฟตต์มองว่าโอกาสในการทำกำไรมากมายจากตลาดหุ้นยังมีอยู่เสมอ ถ้าเราสามารถแยกตัวเองออกมาจากอารมณ์ต่างๆ
4. เรื่องของการลงทุนในต่างประเทศ คำถามคือ บัฟเฟตต์สนใจสถานการณ์ของประเทศที่เขาจะลงทุนหรือไม่นอกจากเรื่องของบริษัทเอง
คำตอบคือ เขาสนใจ และยกตัวอย่างเมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่เขากำลังดูหุ้นพลังงาน 2 ตัว คือ PetroChina ของจีนกับ Yucos ของรัสเซีย ซึ่งบัฟเฟตต์เลือก PetroChina เขาบอกว่าราคาหุ้นตัวนี้ถูกมาก ทั้งบริษัทมีมูลค่าตลาดเพียง 35 พันล้านเหรียญสหรัฐ คือประมาณ 1 ใน 4 ของหุ้น Exxon แต่มีกำไรเท่ากับ 80 % ของ Exxon แต่สิ่งที่ทำให้บัฟเฟตต์ตัดสินใจซื้อก็คือเมื่อเขาอ่านรายงานประจำปี และพบว่าประธานของ PetroChina สัญญาว่าจะจ่ายปันผล 45% ของกำไรซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากในธุรกิจนี้ เขาบอกว่า ถ้าเป็นในสหรัฐ บริษัทควรมีมูลค่าตลาดถึง 85 พันล้านเหรียญ ดังนั้น เขาเลือก PetroChina หลังจากนั้น ในเดือนกรกฎาคม ก็ปรากฏว่า เจ้าของ Yucos ซึ่งเป็นคนที่รวยที่สุดในรัสเซียก็ถูกประธานาธิบดีปูตินสั่งจับ โทษฐานที่ไปคิดแข่งกับปูติน บัฟเฟตต์บอกต่อว่า PetroChina รักษาคำพูดโดยการจ่ายปันผล 45% โดยคิดละเอียดเป็นทศนิยมหลายตำแหน่ง ในขณะที่ในรัสเซียนั้น สถานการณ์การเมืองย่ำแย่มาก
5. บัฟเฟตต์ได้พูดถึงกลยุทธ์การเลือกการลงทุนในกิจการว่า เขาจะแบ่งบริษัทออกเป็น 3 กลุ่ม โดยจะมีถาดใส่เอกสาร 3 ใบ ใบแรกคือ ถาด In ซึ่งจะเป็นบริษัทที่มีความน่าสนใจ มีอนาคตที่สดใส ใบที่สองคือ Out หรือบริษัทที่ไม่ดี ไม่น่าสนใจลงทุน และถาดที่สามคือ Too hard ซึ่งแปลว่ายากเกินไปที่เขาจะเข้าใจ ซึ่งในกลุ่มหลังนี้มีมากเสียจนเขาพูดเล่นๆว่า ต้องมีถังขยะใบใหญ่ๆเอาไว้ทิ้ง
นั่นคือ เขาแนะนำว่า เราควรเลือกหุ้นลงทุนน้อยตัวมาก เช่นในชีวิตนี้ ควรคิดว่าเรามีโอกาสที่จะลงทุนในหุ้นเพียง 20 ตัว ซึ่งจะทำให้เราระมัดระวังและศึกษาอย่างละเอียดก่อนที่จะลงทุน
6. สุดท้าย คำถามที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่งก็คือ นอกจากความสามารถของผู้บริหาร และเรื่องของการดูข้อมูลทางด้านการเงินแล้ว ปัจจัยอะไรที่ทำให้บัฟเฟตต์ตัดสินใจได้เร็วมากในการลงทุน
คำตอบก็คือ เขามีเครื่องกรองในการลงทุน 4 ข้อ
เครื่องกรองที่ 1 : เราสามารถเข้าใจธุรกิจที่จะลงทุนไหม มันจะเป็นอย่างไรในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น Intel กับ หมากฝรั่ง และบัฟเฟตต์บอกว่า เขาจะลงทุนเฉพาะในสิ่งที่เขารู้จักดี เช่น โค้ก
เครื่องกรองที่ 2 : บริษัทมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนหรือไม่ นั่นเป็นเหตุให้เขาไม่ซื้อกิจการที่เป็นแฟชั่น เช่น ของเล่นเด็ก แต่จะซื้อน้ำอัดลมและหมากฝรั่งที่มียี่ห้อและมีความได้เปรียบที่คนอื่นแข่งไม่ได้
เครื่องกรองที่ 3 : บริษัทมีฝ่ายจัดการที่เราสามารถไว้วางใจได้หรือไม่
เครื่องกรองที่ 4 : ราคาหุ้นสมเหตุผลไหม
และนั่นก็คือความคิดเห็นบางส่วนที่บัฟเฟตต์พูดกับนักศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำเป็นครั้งคราว และเป็นกลยุทธ์ที่ออกจากปากบัฟเฟตต์เอง ดังนั้น มันจึงเป็นของแท้
บัฟเฟตต์พูด
โลกในมุมมอง Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร