ผมรวมมา 5 ตอน เลยนะครับ ขอบคุณพี่โจ๊ก – นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ที่เขียนวิธีอ่านงบให้เข้าใจง่ายขึ้นครับ สุดยอดจริงๆ
####
ที่ผ่านมามีหลายท่านอยากให้ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์งบการเงินบ้าง เพราะหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่อ่านง่ายๆไม่ได้เลย แต่ผมเองนั้นมิใช่นักบัญชี ความรู้บัญชีที่มีอยู่ก็เป็นเพียงแค่ความรู้ที่สะสมมาเพื่อใช้เอาตัวรอดในตลาดหุ้นเท่านั้น หลายปีผ่านไป ก็ยังมีคนถามเรื่องนี้อยู่ ไม่ทราบจะทำอย่างไรเหมือนกัน เอาเป็นว่าผมจะใช้บล็อกเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้สักพักก็แล้วกัน เป็นแค่การเล่าให้ฟังว่าตัวผมเองดูอะไรในงบการเงินบ้างเวลาลงทุน
.
เรื่องงบการเงินนั้น ผมยอมรับว่า ผมเองไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก เพราะผมตัดสินใจลงทุนจากเหตุผลเชิงคุณภาพเป็นหลัก (ธุรกิจมีอนาคตที่สดใส บริษัทมีกลยุทธ์การเติบโตที่ดี บริษัทมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจน ฯลฯ) ผมจะใช้งบการเงินเป็นแค่การตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่า ตัวเลขต่างๆสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดหรือไม่ และใช้ดูว่าบริษัทยังมีอะไรอย่างอื่นที่เราต้องกังวลอีกหรือเปล่า ผมถือว่า ผมเน้นลงทุนแต่ในบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น และอาศัยการกระจายการลงทุน แทนการวิเคราะห์งบการเงินแบบเจาะลึก นักลงทุนบางคนอาจใช้งบการเงินเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น เช่น คนที่ลงทุนในแนว Asset Play แต่ผมก็ไม่เคยลงทุนในแนวนั้นเลย ผมคิดว่าผมคงไม่ได้รู้บัญชีลึกซึ้งมากขนาดที่จะขุดพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ในงบการเงินที่คนทั่วไปมองไม่เห็นออกมาได้ งบการเงินเป็นสิ่งที่บอกอดีตและปัจจุบันของบริษัทได้ดี แต่บอกอนาคตได้น้อย ผมจึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพมากกว่า
.
สาระสำคัญของงบการเงินของบริษัทมหาชนนั้นอยู่ในงบสามตัวใหญ่ ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด ส่วนหมายเหตุประกอบงบการเงิน และงบแสดงส่วนเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นนั้น เป็นส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติม ถ้าจะให้ดีเวลาอ่านงบการเงินควรพลิกไปอ่านความเห็นของผู้สอบบัญชีด้วยสักนิด งบการเงินที่ดีควรเป็นงบที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข ถ้าหากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น หรือแสดงความเห็นอย่างมีเงิ่อนไข มักทำให้ผมไม่ค่อยอยากอ่านงบการเงินของบริษัทนั้นต่อแล้ว เพราะไม่รู้ว่า สิ่งที่แสดงอยู่ในงบการเงินนั้นจะเชื่อถือได้มากแค่ไหน และพาลให้อยากเลิกคิดลงทุนในบริษัทนั้นไปด้วยเลย เพราะไม่รู้ว่าเราจะเสี่ยงลงทุนกับบริษัทที่ไม่สามารถแสดงงบการเงินในแบบที่เรียบร้อยตามหลักบัญชีให้นักลงทุนดูได้ไปทำไม ในเมื่อเรายังมีตัวเลือกอื่นดีๆอีกมากมายในตลาด
.
และเช่นเดียวกัน การเป็นนักลงทุนนั้น ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเก่งบัญชีมากๆ แต่ควรเข้าใจภาพใหญ่ๆของการดูงบการเงิน เวลาที่เจองบการเงินของบริษัทที่ซ้บซ้อนมากๆ มีรายการพิเศษเยอะๆ แทนที่เราจะต้องพยายามแกะให้ได้ เราสามารถเปลี่ยนไปลงทุนในบริษัทอื่นที่มีงบการเงินที่เข้าใจได้ง่ายกว่าแทนก็ได้ มีให้เลือกอีกเยอะแยะในตลาด วอเรน บัฟเฟต กล่าวว่า บริษัทที่เขียนงบการเงินให้คนอ่านเข้าใจยากๆ เหมือนไม่อยากให้คนเข้าใจนั้น แสดงว่าอาจมีอะไรบางอย่างที่ไม่ดีที่เขาจะต้องแอบซ่อนเอาไว้ ถ้าธุรกิจดีจริงๆ เขามักจะอยากโชว์
.
แนวคิดอย่างแรกที่อยากให้นักลงทุนมองเวลาที่เริ่มต้นอ่านงบการเงินคือ งบดุลเป็นบัญชีที่แสดง “ฐานะการเงินของบริษัท” ณ วันสิ้นงวด พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สมมติว่าหยุดกิจกรรมทุกอย่างไว้ชั่วคราว ณ วันสิ้นงวด แล้วลองนับดูว่าบริษัทมีสมบัติอะไรติดตัวบ้าง มีหนี้เท่าไร (เอาสินทรัพย์หักหนี้สินจะเหลือเป็นส่วนที่เป็นของบริษัทจริงๆ) ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นคือบัญชีที่แสดง ผลงานของบริษัท “ตลอด” งวดบัญชีนั้น กล่าวคือ ตลอดช่วงเวลาของรอบบัญชีนั้น บริษัททำรายได้ไปได้เท่าไร หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรเท่าไร (รายได้หักค่าใช้จ่ายเท่ากับกำไร) งบดุลจึงเป็นเหมือนภาพนิ่งเมื่อวันจบงวด ส่วนงบกำไรขาดทุนนั้นเป็นผลงานรวมตลอดระยะเวลาทั้งหมดเฉพาะในรอบบัญชีนั้น
.
ส่วนงบกระแสเงินสดนั้น เป็นบัญชีที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินสดระหว่างรอบบัญชีนั้น นักบัญชีบังคับให้บริษัทมหาชนต้องแสดงการไหลเข้าออกของเงินสดด้วยเพื่อ “กันเหนียว” กล่าวคือ เวลาคิดกำไรขาดทุนตามหลักบัญชีนั้นอาจมีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้บริษัทฉายภาพว่าธุรกิจไปได้ดี ทั้งที่จริงๆแล้วมีปัญหา การบังคับให้ต้องแสดงงบกระแสเงินสดด้วยนั้น จะช่วยทำให้บริษัทหาช่องว่างได้ยากขึ้น บางคนบอกว่างบกระแสเงินสดสำคัญ งบกำไรขาดทุนไม่สำคัญ บางคนบอกว่างบกำไรขาดทุนสำคัญ งบกระแสเงินสดไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้ว เวลาดูงบการเงินควรดูทั้งสามงบประกอบกันว่าสอดคล้องกันหรือไม่ถึงจะชัวร์ สรุปก็คือสำคัญทั้งสามงบ
.
นอกจากนี้ ในแต่ละงบยังแยกออกเป็นสองชุดคือ งบการเงินเฉพาะบริษัท และงบการเงินรวม ด้วย เพราะบริษัทหนึ่งๆ อาจประกอบด้วยบริษัทร่วมและบริษัทย่อยหลายบริษัท เช่น พวกโฮลดิ้งคอมปะนี งบการเงินรวมคืองบที่รวมงบการเงินของบริษัทร่วมและบริษัทย่อยเข้าด้วยกันให้เหมือนเป็นบริษัทเดียวกัน จะได้เห็นสถานะการเงินทั้งหมดของบริษัท มีคำถามเสมอว่า เราควรดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทหรืองบการเงินรวมดี บ่อยครั้งที่บริษัทมหาชนต้องการให้แต่ละหน่วยธุรกิจบริหารจัดการตัวอย่างแบบเป็นเอกเทศ จึงทำให้ต้องมีโครงสร้างเป็นบริษัทร่วมและบริษัทย่อย แต่ในมุมของผู้ถือหุ้นแล้ว ไม่ว่าจะซอยยังไงก็เป็นสมบัติของผู้ถือหุ้นเหมือนกัน การที่ต้องจัดทำงบการเงินรวมก็เป็นวิธีการทางบัญชีที่จะช่วยทำให้กลุ่มธุรกิจดูเหมือนเป็นก้อนเดียวกัน โดยปกติแล้ว ผมจึงดูแต่งบการเงินรวมเป็นหลัก มีบางกรณีเหมือนกันที่เราควรจะดูงบการเงินเฉพาะของบริษัทมากกว่างบการเงินรวม แต่เป็นกรณีที่น้อยมากครับ ไม่อยากขยายความให้ชวนปวดหัว
.
เอาแค่นี้ก่อนนะครับสำหรับการ overview เอาไว้ตอนหน้าจะมาลงรายละเอียดทีละงบว่า เราควรดูอะไรในงบเหล่านั้นบ้าง
.
Friday, 29 October 2010
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (1/5) : overview
.
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
####
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (2/5) : งบกำไรขาดทุน
.
Friday, 5 November 2010
.
ในฐานะ growth investor ถ้าผมเปิดงบกำไรขาดทุนขึ้นมาดู สิ่งแรกที่ผมมักจะดูก่อนเสมอคือการเติบโตของรายได้ครับ บริษัทที่ปกติดีควรมีรายได้เพิ่มขึ้นเสมอเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจะเพิ่มมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่ไม่ควรจะลดลงอย่างยิ่ง ที่ต้องเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แทนที่จะเทียบกับงวดที่แล้ว ก็เพราะธุรกิจมักมีเรื่องของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงควรเทียบผลงานในช่วงเดียวกันของทุกปี และผมมักจะสนใจเฉพาะการเติบโตของรายได้ที่มาจากธุรกิจหลัก ไม่ใช่รายได้รวม เพราะรายได้อื่นๆ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและมักไม่ใช่แก่นของธุรกิจของบริษัท จึงไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องเวลาประเมินสภาวะของกิจการ
.
ที่จริงผมให้ความสำคัญกับการเติบโตของรายได้หลักมากกว่ากำไรเสียอีก เพราะการทำธุรกิจนั้นกำไรย่อมต้องมีความผันผวนบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจที่ต้องมีความไม่แน่นอน บริษัทที่กำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอเป็นเส้นตรง คงมีแต่บริษัทที่แต่งบัญชีเองเท่านั้น ดังนั้น ถ้ากำไรของบริษัทลดลงบ้างในบางช่วง ผมไม่ถือว่าคอขาดบาดตาย และไม่มีความจำเป็นต้องรีบขายหุ้นหนี ซึ่งจะต่างกับคนที่เล่นหุ้นระยะสั้นด้วยวิธีการเก็ง EPS เป็นรายไตรมาส กลุ่มนี้ถ้าเขารู้ว่า EPS ไตรมาสหน้ากำลังจะลดลง ปกติเขาจะรีบหนีทันที แต่สำหรับผม ถ้ารายได้ยังเติบโตได้อยู่ สุดท้ายแล้วกำไรก็จะกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้อีก
.
แต่ถ้าหากรายได้ลดลงนั้น น่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะปกติแล้วถ้าธุรกิจแย่ลงชั่วคราว บริษัทมักเลือกที่จะรักษารายได้เอาไว้ แล้วยอมลดกำไรลง มากกว่าที่จะปล่อยให้รายได้ลดลง เพราะถ้าโวลู่มขายลดลง ต้นทุนต่อหน่วยมักจะเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทแข่งขันไม่ได้ด้วย รักษาโวลุ่มไว้ก่อนดีกว่า ดังนั้น ถ้าหากรายได้ถึงขั้นลดลง แสดงว่าปัญหาของบริษัทน่าจะไม่ธรรมดา ธุรกิจอาจจะกำลังหมดยุค หรือบริษัทกำลังเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างถาวร
.
เว้นแต่พวกที่ขายสินค้าคอมโมฯ ที่ราคาตลาดผันผวนสูงๆ เช่น ถ่านหิน โรงกลั่น ฯลฯ พวกนี้บางทีราคาตลาดผันผวนแรงมากๆ ก็อาจทำให้รายได้ลดลงได้โดยที่ปริมาณการขายไม่ได้ลด ดังนั้น ถ้าหากบริษัทเหล่านี้มีรายได้ลดลง ควรรีบตรวจสอบดูว่า ปริมาณการขายลดลงด้วยหรือไม่
.
ถัดจากการเติบโตของรายได้ ผมจะตรวจสอบดูว่า Gross Margin ของบริษัทเปลี่ยนไปอย่างไร Gross Margin ก็คือ (รายได้-ต้นทุนขาย) หารด้วย รายได้ หรืออาจจะตรวจดูว่าต้นทุนขายเพิ่มขึ้นมากกว่าหรือน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นก็ได้ (ความหมายจะเหมือนกัน) ถ้า Gross Margin ไม่ต่ำลง แสดงว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ ถ้าหากต่ำลง แสดงว่า ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น หรือมิฉะนั้น อาจเกิดจากบริษัทยอม dump ราคาลงมา เพื่อดึงยอดขายเอาไว้ ก็ได้
.
นอกจากนี้ ถ้าอยู่ดีๆ Gross Margin ของบริษัทเพิ่มขึ้น อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่าพื้นฐานของบริษัทกำลังจะดีขึ้นได้ด้วย เช่น ตลาดอยู่ในช่วงเติบโตสูง หรือสินค้าใหม่ของบริษัทอาจสร้างความแตกต่างได้มากกว่าเดิมทำให้บริษัทมี market power มากขึ้น สามารถ command pricing ได้มากกว่าเดิม มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ครับว่า หุ้นที่กำลังจะทะยาน Gross Margin มักกระตุ้นขึ้นให้เห็นก่อน
.
ถัดจาก Gross Margin ผมจะดู Operating Margin ซึ่งได้แก่ EBIT หารด้วย รายได้ ครับ ถ้า Operating Margin ดีขึ้น แสดงว่าบริษัทอาจบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจเป็นรายได้สูงขึ้น ทำให้ค่าโสหุ้ยต่อหน่วยลดลง ซึ่งเป็นเรื่องดีทั้งนั้น
.
สังเกตว่าผมจะสนใจ Operating Margin มากกว่า Net Profit Margin เพราะ Net Income นั้นนับรวมภาษีและดอกเบี้ยด้วย ทั้งสองรายการนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทและการบริหารภาษี ฉะนั้นจึงไม่ค่อยเกี่ยวกับพื้นฐานของธุรกิจที่เปลี่ยนไปเท่าไร ทำให้เมื่อนำมารวมแล้ว อาจให้ภาพที่บิดเบื่อนเกี่ยวกับพื้นฐานของบริษัทได้ครับ วัดกันแฟร์ๆ เฉพาะรายการที่เกี่ยวกับ operation ไปเลยแมนกว่าครับ
.
อีกเรื่องที่ต้องระวังคือ เราไม่สามารถสรุปได้ว่าธุรกิจไหนดีด้วยการดูว่า Margin สูงหรือต่ำ เพราะขึ้นอยู่กับ economic ของแต่ละธุรกิจด้วย อย่างธุรกิจค้าปลีกนั้นมี Net Margin แค่ 3% เท่านั้น แต่อาจเป็นธุรกิจที่ดีกว่าธุรกิจผลิตเครื่องสำอางค์ที่มี Net Margin 10% เพราะว่า Turnover มันสูงกว่ากันมาก ในการเปรียบเทียบ Margin ข้ามบริษัทนั้น เราเปรียบเทียบได้แค่กับบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจที่เหมือนกันเปี๊ยบ หาก Margin สูงกว่าก็แสดงว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าคู่แข่ง แต่ปกติแล้ว แม้แต่ธุรกิจแบบเดียวกัน ก็ยังไม่เหมือนกันเปี๊ยบเลย อย่างเช่น บริษัทบ้านบางบริษัทเน้นทำบ้านหรู บางบริษัทเน้นทำบ้านตลาดล่าง การที่บริษัทเน้นทำบ้านหรูมี Margin สูงกว่าอาจไม่ได้แปลว่าดีกว่าเสมอไป เพราะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่บ้านหรูควรจะมีมาร์จิ้นสูงกว่าบ้านตลาดล่าง การเปรียบเทียบ Margin ข้ามบริษัทจึงเป็นสิ่งที่ควรระวัง แค่เปรียบเทียบกับตัวเองในอดีตน่าจะดีกว่า
.
####
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (3/5) : งบดุล
.
Wednesday, 10 November 2010
.
งบดุลคือบัญชีแสดง “ฐานะทางการเงิน” ของบริษัท กล่าวคือ สมมติว่าหยุดกิจกรรมทั้งหมดเอาไว้ชั่วคราว ณ วันปิดบัญชี บริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์อะไรบ้าง มีหนี้สินอยู่เท่าไร ส่วนต่างระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สินทั้งหมดของบริษัทนั้นเรียกว่า ส่วนของเจ้าของ ซึ่งหมายถึงส่วนของสินทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของจริงๆ ถ้าหากหักหนี้ออกหมดแล้ว ตามสมการ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
.
ในการตรวจสอบงบดุลตามปกติ ผมมักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจดูลูกหนี้การค้าก่อน ลูกหนี้การค้าควรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเท่ากับรายได้ที่โตขึ้น เพราะถ้าเพิ่มขึ้นมากกว่า อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่า บริษัทเร่งยอดขายด้วยการปล่อยเครดิตให้แก่ลูกค้ามากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อ ซึ่งเป็นการเร่งยอดขายในระยะสั้น ที่อาจนำมาซึ่งปัญหาหนี้เสียในระยะยาวได้ ถ้าหากเห็นว่าไม่ปกติให้เปิดไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อดูว่าจำนวนลูกหนี้การค้าแบ่งแยกตามระยะเวลาค้างจ่ายทอดยาวออกไปมากขึ้นหรือไม่ มีลูกหนี้การค้าที่สงสัยว่าจะเก็บเงินไม่ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามี บริษัทได้มี่การตั้งสำรองไว้แล้วเพียงพอหรือไม่ ลูกหนี้การค้าเป็นรายการที่สำคัญมากในธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป บ่อยครั้งที่บริษัทเหล่านี้ทำยอดขายให้ดูดีด้วยการผ่อนคลายเรื่องเครดิต แต่สุดท้ายแล้วรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นตามเก็บเงินไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย
.
ถัดจากลูกหนี้การค้าก็คือ สินค้าคงคลัง ที่ควรเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วในสัดส่วนที่น้อยกว่าหรือเท่ากับต้นทุนขาย (การค้าใหญ่ขึ้นก็ต้องสต๊อกสินค้ามากขึ้นได้แต่ควรจะไม่มากกว่า)
.
การทำบัญชีสินค้าคงคลังนั้น หลักบัญชียอมให้บริษัทเลือกวิธีลงบัญชีได้หลายแบบ (LIFO, LIFO, average cost) เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงได้มากที่สุด แต่ในทางตรงกันข้ามก็เป็นช่องโหว่ที่บริษัทอาจใช้เพื่อบริหารงบให้ดูดีได้ด้วย ถ้าหากเป็นธุรกิจที่ขายสินค้าที่ราคาเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น สินค้าไอที หรือราคาเปลี่ยนแปลงช้า แต่สินค้ามักสต็อกไว้นานกว่าจะขายออกไปจนทำให้ราคาทุนต่างกับราคาปัจจุบันมากๆ อย่างเช่น ที่ดิน วิธีตัดสินค้าคงคลังเวลาเกิดยอดขายที่แตกต่างกันนั้นจะทำให้ต้นทุนขายแตกต่างกันได้อย่างมาก ยิ่งถ้ามีการปรับเปลี่ยนวิธีระหว่างงวด หรือมี LIFO Liquation ตัวเลขต้นทุนขายในงวดนั้นอาจสื่ออะไรไม่ได้เลย ตัวเลขกำไรของธุรกิจที่ขายสินค้าที่มีราคาต้นทุนเปลี่ยนแปลงได้บ่อยจึงใช้วัดอะไรได้น้อยเหมื่อนกัน การเปรียบเทียบผลงานระหว่างคู่แข่งยิ่งต้องระวังเข้าไปใหญ่ เพราะไม่รู้ว่าวิธีการตัดจ่ายสินค้าคงคลังของสองบริษัทต่างกันมากแค่ไหน
.
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนของบริษัทที่สำคัญได้แก่ เครื่องจักร อาคารและที่ดิน สินทรัพย์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะลงบัญชีที่ราคาทุนและตัดจ่ายค่าเสื่อมไปเรื่อยๆ ระยะเวลา (ถ้ามี) ซึ่งอาจไม่ได้สื่อความหมายอะไรมากนัก เพราะมูลค่าตลาดที่แท้จริงของสินทรัพย์เหล่านี้มักต่างกับมูลค่าทางบัญชีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อมานานแล้ว โดยมากแล้วผมไม่ได้สนใจรายการเหล่านี้มากนักครับ
.
ลองตรวจดูว่าบริษัทมีสินทรัพย์อื่นๆอะไรบ้าง กิจการที่ดีไม่ควรจะมีสินทรัพย์อื่นๆมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากไม่ได้แจงไว้ด้วยว่าสินทรัพย์เหล่านั้นคืออะไร เพราะสินทรัพย์อื่นๆ คือบรรทัดที่บริษัทสามารถซุก non-productive assets ทั้งหลายเอาไว้ รวมทั้งพวกรายการสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น เงินกู้กรรมการบริษัท/ผู้ถือหุ้นใหญ่บางคน รายการทำนองนี้ไม่ควรจะมีเลยเพราะอาจบ่งชี้ถึงความไม่โปร่งใส ธรรมภิบาลที่ไม่ดี และการมี conflict of interest ของบริษัทมหาชน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรายการเหล่านี้มีมูลค่าน้อยกว่า 5% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ก็พอจะยอมรับได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นก็อาจเป็นเรื่องที่เราต้องกังวล
.
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเวลาดูงบดุลก็คือ การตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท เวลามองเรื่องหนี้นั้นเรามักสนใจแค่ว่าบริษัทมีหนี้มากหนี้น้อยเมื่อเทียบกับทุน แต่ที่จริงแล้วเรื่องที่สำคัญกว่านั้นมากคือ เรื่องสภาพคล่อง บริษัทจะมีหนี้มากหรือน้อยแต่ถ้าขาดสภาพคล่องที่จะจ่ายหนี้ในระยะอันใกล้ก็น่ากลัวเท่ากัน ลองดูว่าบริษัทมีเงินสดมากเท่าไรเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ในแต่ละปีรวมทั้งเงินต้นส่วนที่มีกำหนดจะต้องชำระคืนภายในไม่เกินหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทจะต้องแยกไว้ให้เห็นในงบดุล ถ้าหากบริษั่ทมีเงินสดน้อยเมื่อเทียบกับภาระหนี้ในระยะสั้น บริษัทอาจหวังใช้ลูกหนี้การค้าที่กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นเงินในอนาคตในการชำระหนี้ก็ได้ (หมุนเงินเอา) ลองเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างภาระหนี้ในระยะสั้นกับสินทรัพย์หมุนเวียนเหล่านี้ดูก็แล้วกัน เรื่องพวกนี้เอาไว้ผมจะพูดถึงอีกทีตอนที่พูดถึงเรื่อง ratio analysis ก็แล้วกันครับ
.
สุดท้ายควรเช็คดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่า บริษัทมีหนี้สินที่อยู่นอกงบดุลอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ที่สำคัญได้แก่ ความเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้องในอนาคต สัญญาที่มีภาระผูกผันทางการเงินต่างๆ และพวก lease obligation ทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ที่จริงแล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินของบริษัทด้วย แต่ไม่ได้รวมไว้ในงบดุลตามหลักบัญชี ซึ่งเราก็ไม่ควรจะมองข้าม อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบตรวจดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วยคือ บริษัทยังมีวงเงินเหลืออยู่กับสถาบันการเงินอีกเท่าไรที่ยังไม่ได้กู้จริง ตรงนี้ถือว่าเป็น buffer ที่สำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจ บริษัทที่ทำธุรกิจด้วยกู้จนเต็มวงเงินตลอดเวลาย่อมแสดงถือวัฒนธรรมการบริหารงานที่ค่อนข้าง aggressive เกินไป เวลาเกิด market shock มักกระทบรุนแรง อีกทั้งเวลาเจอโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจก็อาจไม่สามารถ take opportunity ได้ทันท่วงที เพราะไม่มีสภาพคล่องส่วนเกินที่จะนำมาใช้ลงทุนได้ทันทีครับ.
.
####
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (4/5) : งบกระแสเงินสด
.
Tuesday, 16 November 2010
.
งบกระแสเงินสดเป็นบัญชีที่แสดงการไหลเข้าออกของเงินสดที่เกิดขึ้นสะสมในกิจการระหว่างรอบบัญชีนั้น ในทางบัญชีเราแบ่งกระแสเงินสดออกเป็นสามจำพวกคือ กระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน กระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการลงทุน และกระแสเงินสดด้านการเงิน โดยที่เมื่อนำกระแสเงินสดทั้งสามจำพวกมารวมกัน จะต้องเท่ากับเงินสดที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบบัญชีนั้นพอดี เพราะกระแสเงินสดมีแค่สามอย่าง ถ้านำมาบวกกันก็ต้องเท่ากับเงินสดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในบริษัทระหว่างงวดนั้นนั่นเอง
.
ในงบกระแสเงินสด จะแสดงกระแสเงินสดทั้งสามประเภทให้ดูทีละประเภท ถ้าลองนำกระแสเงินสดทั้งสามประเภทมาบวกกันจะพบว่าต้องเท่ากับผลต่างระหว่างเงินสดตอนปลายงวดกับต้นงวดที่โชว์อยู่ในงบดุลของบริษัทนั้นพอดีด้วย
.
ในหมวดกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานนั้น จะดูแล้วงงๆนิดหน่อย เพราะปกติแล้วการทำบัญชีเพื่อโชว์กระแสเงินสดรับหรือจ่ายของกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินงานให้ดูเป็นอย่างๆ (เช่น เงินสดรับจ่ายจากลูกค้า เงินสดรับจ่ายจากซัพพลายเออร์) นั้นค่อนข้างจะยุ่งยาก หลักบัญชีจึงยอมให้บริษัทแสดงกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานทางอ้อม (INDIRECT METHOD) โดยเริ่มต้นจากกำไรสุทธิ แล้ว reconcile กลับด้วยรายการที่ไม่เกี่ยวกับเงินสดต่างๆ จนกระทั้งกลายเป็นกระแสเงินสดเกี่ยวกับดำเนินงาน
.
คนที่ไม่ใช่นักบัญชีเวลาอ่านรายการในกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงานแล้วพยายามจะนึกภาพตาม ว่าจริงๆแล้วแต่ละบรรทัดมันเกิดขึ้นอย่างไรเลยมักจะงง เพราะจริงๆแล้ว รายการพวกนี้เป็นเพียงแค่ item ที่มา reconcile ทางบัญชีให้กำไรสุทธิถอยกลับมาเป็นกระแสเงินสดเท่านั้น สรุปก็คือ เห็นแล้วก็ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เหลือบไปดูบรรทัดสุดท้ายที่เขียนว่า เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน เลยดีกว่า ตัวนี้เป็นเสมือนตัวเลขที่บอกว่า ธุรกิจนี้ผลิตเงินสดไปได้เท่าไรตลอดรอบบัญชีนั้น ซึ่งควรจะเป็นบวก (ถ้าเป็นลบแสดงว่ายิ่งขยันยิ่งขาดทุน) และจะให้ดีควรมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากงวดที่แล้วไปในทิศทางเดียวกันกับกำไรสุทธิในงบกำไรขาดทุนของบริษัทด้วย ถ้าหากกำไรวิ่งไปทาง กระแสเงินสดวิ่งไปอีกทาง อาจเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจกำลังสร้างภาพอะไรบางอย่างอยู่รึเปล่า
.
บางบริษัทชอบ capitalize ค่าใช้จ่ายต่างๆเอาไว้ในงบดุล แทนที่จะตัดจ่ายออกมาเพื่อทำให้กำไรที่โชว์ออกมาดูสูง (ค่าใช้จ่ายน้อย) เช่น พวกค่าสิทธิ์ต่างๆ ค่าพัฒนาซอฟต์แวร์ ค่าซื้อกิจการ หรือแม้แต่ค่าโฆษณา บริษัทชอบอ้างว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเหล่านี้ที่มี future benefit เลยขอตั้งเป็นสินทรัพย์เอาไว้ก่อนแล้วค่อยทยอยตัดจ่ายออกมาทีหลัง เพื่อให้กำไรในระยะสั้นดูดี พอนานๆไป ก็ค่อยตัดด้อยค่าเป็นรายการใหญ่ๆออกมา แล้วบอกว่านักลงทุนไม่ต้องไปสนใจ เพราะเป็นรายการพิเศษเกิดขึ้นครั้งเดียว แต่ทำเช่นนี้อยู่เนื่องๆ ทำให้กำไรในยามปกติดูสูงกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าหากเราดูแต่งบกำไรขาดทุนอย่างเดียว ไม่ตรวจกระแสเงินสดด้วยว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า ก็จะถูกบริษัทตบตาด้วยวิธีการแบบนี้ได้
.
กระแสเงินสดกลุ่มถัดมาคือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน อันนี้หมายถึง บริษัทได้จ่ายเงินออกไปเพื่อสร้างอนาคตอะไรบ้างระหว่างงวด เช่น ลงทุนซื้อที่ดิน เครื่องจักร อาคาร หรือกิจการต่างๆ กระแสเงินสดในกลุ่มนี้เราแยกออกมาจากกระแสเงินสดเกี่ยวกับการดำเนินงาน เพราะเป็นรายการที่จ่ายไปเพื่ออนาคต รายได้ยังไม่ได้เข้ามาจริงในงวดปัจจุบัน ถ้านำมารวมกันจะทำให้ดูเหมือนธุรกิจมีรายจ่ายสูงเกินจริง เพราะที่จริงแล้วพวกนี้เป็นรายจ่ายเพื่อสร้างอนาคต โดยปกติแล้วเงินสดสุทธิในกิจกรรมการลงทุนมักเป็นเลขติดลบ เพราะเป็นการจ่ายเงินออกไปเพื่อลงทุนซื้อสิ่งของต่างๆ
.
กลุ่มสุดท้ายในงบกระแสเงินสดคือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน ได้แก่ รายรับรายจ่ายทั้งหลายที่เกี่ยวกับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นของบริษัท เช่น เงินกู้รับ เงินจ่ายคืนหนี้ เงินปันผล เงินเพิ่มทุนรับ เป็นต้น รายการเหล่านี้ถูกแยกออกมาอีกหมวดหนึ่งต่างหากก็เพราะไม่ได้เกิดจากการทำธุรกิจ บางบริษัทอาจมีกระแสเงินสดดีเยี่ยม เพราะว่ากู้แหลก หรือเจ้าของรวยใส่เงินอุดตัวแดงเข้ามาเรื่อยๆ แต่ที่จริงแล้วตัวธุรกิจเองขาดทุนย่อยยับไม่ทำเงิน
.
โดยมากแล้วเวลาดูงบกระแสเงินสด ผมก็เพียงแต่ดูกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานว่าเป็นบวกและไปในทิศทางเดียวกันกับกำไรสุทธิในวบกำไรขาดทุนหรือไม่ บางคนบอกว่า กระแสเงินสดดำเนินงานบวกกระแสเงินสดลงทุนจะต้องเป็นบวกด้วย แต่สำหรับผมคิดว่าไม่จำเป็น เพราะถ้าหากธุรกิจมีโอกาสในการเติบโตสูง บริษัทอาจลงทุนมากกว่ากระแสเงินสดที่ผลิตได้เอง ทำให้กระแสเงินสดติดลบ (ต้องอาศัยกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินช่วย) แต่ไม่น่าห่วง เพราะเป็นการลงทุนเพิ่มการเติบโตในอนาคต (รายได้ของบริษัทควรเติบโตสูงด้วยจึงจะน่าเชื่อถือ) เว้นแต่ว่า เราไม่เชื่อว่าธุรกิจนี้จะเติบโตได้อีกและควรที่จะจ่ายเงินสดออกมาตอบแทนผู้ถือหุ้น (ปันผล) มากกว่าที่จะนำเงินกลับไปลงทุนเพิ่มในธุรกิจอีก
.
ตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่มีประโยชน์กับเราในงบกระแสเงินสดคือ “ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่าย” เพราะเป็นตัวเลขที่ทำให้เรารู้ว่า ในรอบบัญชีนั้นบริษัทได้ตัดจ่ายค่าเสื่อมไปเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไร ส่วนใหญ่แล้วตัวเลขนี้มักอยู่ในบรรทัดต่อจากกำไรสุทธิในกลุ่มกระแสเงินสดดำเนินงาน ถ้าเราเอา EBIT ในงบกำไรขาดทุนมาบวกกลับด้วยตัวเลขนี้จะได้เป็นสิ่งที่เรียกว่า EBITDA ซึ่งนักวิเคราะห์นิยมนำมาใช้เป็นตัวแทนของ “กำไรที่เป็นเงินสด” ของบริษัท บางคนนิยมมอง EBITDA มากกว่า EBIT เพราะค่าเสื่อมเป็นอะไรที่เกี่ยวกับนโยบายทางบัญชีมาก อาจเป็นช่องโหว่ของการตบตานักลงทุนได้ ทำให้ได้ภาพที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประกอบการในงวดปัจจุบัน การเอาค่าเสื่อมออกไปแล้วดูเฉพาะ EBITDA แทนอาจได้ภาพที่ดูสะอาดกว่า บางคนเรียก EBITDA ว่า Earnings before I tricked dumb analysts (แต่จริงๆ EBITDA ก็มีข้อเสียในแง่อื่นด้วย ดูประกอบไปทั้งสองอย่างนั้นแหละชัวร์กว่า)
.
นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยที่ทำให้ผมสนใจตัวเลขรายได้ในงบการเงินมากกว่าตัวเลขอื่นเพราะมันเป็นตัวเลขในบรรทัดเริ่มต้น (topline) ที่ยังไม่ได้ผ่านการถูกบิดเบือนโดยนโยบายบัญชีมากนัก ยิ่งตัวเลขที่อยู่ต่ำลงมาในงบการเงินเท่าไรมันก็ยิ่งถูกบิดเบือนได้ง่ายด้วยนโยบายทางบัญชีต่างๆ กำไรสุทธิที่เราสนใจกันมากที่สุดนั้นอยู่ในบรรทัดสุดท้าย (bottom line) ของงบการเงินเลย จึงไม่รู้ว่าตลอดทางที่ผ่านมาในแต่ละบรรทัดมันถูกบิดเบือนโดยตัวเลขในบรรทัดบนๆ ไปมากขนาดไหนแล้ว
.
####
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน (5/5) : ratio analysis
.
Thursday, 25 November 2010
.
วิธีตรวจงบการเงินที่ง่ายที่สุดคือ การวัดอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ หรือที่เรียกว่า Ratio Analysis อัตราส่วนทางการเงินนั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายตัวมาก เราอาจตรวจดูอัตราส่วนหลายๆตัวพร้อมกัน เพื่อเป็นการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปของบริษัทก็ได้ ต่อไปนี้เป็นอัตราส่วนสำคัญ 6 ตัว ที่ผมแนะนำให้ลองตรวจสอบดูก็จะได้ภาพของธุรกิจที่ครอบคลุมพอสมควร
.
1. Quick Ratio = (เงินสดและเทียบเท่า + ลูกหนี้การค้า + ตราสารการเงินระยะสั้น) / หนี้สินหมุนเวียน
.
Quick Ratio ใช้เช็ค “สภาพคล่อง” ของบริษัท โดยลองสมมติว่าถ้าเจ้าหนี้ระยะสั้น (หนี้สินหมุนเวียน) ทั้งหมดมาทวงหนี้พร้อมกัน บริษัทจะยังสามารถหมุนเงินสด (จากสินทรัพย์หมุนเวียนที่หมุนได้เร็ว) มาใช้คืนได้หรือไม่ โดยสามัญสำนึก Quick Ratio ก็ควรมากกว่า 1.0 และยิ่งมากก็ยิ่งดี ที่จริงแล้วมีอัตราส่วนอีกตัวที่คล้ายกันชื่อ Current Ratio ซึ่งนับรวมสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดของบริษัทว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว แต่ผมไม่ชอบ เพราะไม่รู้ว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ คืออะไรบ้าง และเวลาบริษัทขาดสภาพคล่องส่วนใหญ่แล้วสินค้าคงคลังมักจะหมุนไม่ค่อยออก เลยชอบดู Quick Ratio มากกว่าครับ
.
2. Return on Assets (ROA) = EBIT * (1-Taxrate) / สินทรัพย์เฉลี่ย
.
สินทรัพย์เฉลี่ย ROA ใช้วัดผลตอบแทนของธุรกิจ เพราะวัดกำไร(EBIT)ที่ทำได้ เทียบกับเงินทุนที่จมอยู่ในสินทรัพย์ทั้งหลายของกิจการ (ต้องเฉลี่ยต้นปีกับท้ายปีเอา เพราะว่าไม่เท่ากัน) โปรดสังเกตว่า ผลตอบแทนของธุรกิจที่แท้จริงนั้นต้องวัดเทียบกับสินทรัพย์มิใช่รายได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ต้นทุนจริงๆของผู้ถือหุ้นคือเงินทุนที่จมอยู่ในรูปของสินทรัพย์ของบริษัทแทนที่จะเอาเงินนั้นไปหาผลตอบแทนอย่างอื่น บางคนใช้ Net Income แทนกำไร แต่ผมคิดว่าควรใช้ EBIT มากกว่า เพราะสินทรัพย์เป็นของเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นรวมกัน แต่ Net Income เป็นผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเท่านั้น เพราะหักดอกเบี้ยออกไปแล้ว ส่วนเหตุที่ต้องคูณด้วย 1-TaxRate เป็นเพราะ EBIT นั้นยังไม่ได้หักภาษีซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทออก มีอัตราส่วนอีกตัวหนึ่งที่คล้ายกันคือ ROE ซึ่งวัดผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แต่ผมเห็นว่า ROA นั้นดีกว่า ROE เพราะธุรกิจอย่างเดียวกัน อาจมี ROE ต่างกันได้ด้วยการกู้เงิน ถ้าอยากวัดศักยภาพของธุรกิจจริงๆ โดยไม่เกี่ยวกับการกู้เงิน ต้องดูกันที่ ROA ธุรกิจทั่วไปควรมี ROA อย่างน้อย 10% เฉลี่ยในระยะยาว ยกเว้นพวกสถาบันการเงินซึ่งไม่มีทางทำ ROA สูงเท่ากับ Real Sector ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี
.
3. Debt to equity Ratio = (หนี้สิน) / ส่วนของทุน
.
ส่วนของทุน D/E ratio คือ อัตราส่วนมาตรฐานที่ใช้ตรวจดู Leverage ของบริษัท หมายความว่า บริษัทใช้หนี้มากขนาดไหนในการเร่งผลตอบแทน เพราะบริษัทสองบริษัทที่ทำผลตอบแทนทางธุรกิจได้เท่ากัน บริษัทที่มีหนี้มากกว่าจะทำผลตอบแทนกลับสู่ผู้ถือหุ้นได้สูงกว่า (ROE มากกว่า) เนื่องจากใช้เงินทุนของผู้ถือหุ้นน้อย แล้วอาศัยการกู้เงินมาทุนแทน การที่บริษัทมี D/E ratio ที่สูงเกินไป จึงแสดงถึงความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในผลตอบแทนที่มากกว่า เพราะถ้าธุรกิจสะดุด บริษัทที่มีหนี้มากกว่าย่อมเดือดร้อนมากกว่า อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทไม่มีหนี้เลยไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป บริษัทที่มีธุรกิจมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว และมีสินทรัพย์ถาวรที่สามารถใช้ค้ำประกันหนี้ได้ การมีหนี้น้อยเกินไปเท่ากับเป็นการละทิ้งโอกาสที่จะประหยัดภาษี เพราะหนี้เป็น Tax-shield อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการมีหนี้บ้างไม่ใช่เรื่องเสียหาย อาจเป็นเรื่องที่ควรกระทำเสียด้วยซ้ำ แต่ที่เราต้องระวังคือการมีหนี้มากจนเกินไปจนทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงมากกว่าที่จะช่วยทำให้ประหยัดภาษี สำหรับธุรกิจทั่วไปควรมี D/E ไม่เกิน 1.0 ถ้าเป็นธุรกิจซื้อมาขายไปอาจมี D/E ได้ถึง 3.0 ยกเว้นพวกสถาบันการเงินที่จะต้องมี D/E ที่สูงกว่านั้นมากครับ
.
4. Interest Coverage Ratio = (EBIT) / ดอกเบี้ยจ่าย
.
ดอกเบี้ยจ่าย Interest Coverage Ratio ใช้ประมาณความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินภายนอกบริษัท เพราะถ้าบริษัทมีภาระจ่ายดอกเบี้ยต่อปีน้อยกว่ากำไรที่ได้จากธุรกิจมากๆ บริษัทก็สามารถรับผิดชอบภาระดอกเบี้ยได้ด้วยผลกำไรจากธุรกิจเอง นับว่าเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งของธุรกิจในแง่ของสภาพคล่อง บริษัทที่มีค่านี้น้อยกว่า 2.0 แสดงว่าผลตอบแทนส่วนใหญ่ของธุรกิจตกอยู่ในมือเจ้าหนี้ แทนที่จะเป็นของผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจแสดงถึงการกู้เงินที่มากเกินไปด้วย
.
5. Asset Turnover = (รายได้) / สินทรัพย์
.
สินทรัพย์ Asset Turnover ใช้วัด “ประสิทธิภาพ” ของธุรกิจ เพราะวัดว่าภายใต้สินทรัพย์ที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง บริษัทสามารถสร้างรายได้ได้มากแค่ไหน ยิ่งสร้างรายได้ได้มากแสดงว่าสินทรัพย์ของบริษัทถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า เพราะนำไปหมุนให้เปลี่ยนเป็นเงินได้เร็ว บางบริษัทขายของกำไรน้อยมาก แต่สินค้าหมุนเวียนเร็ว ก็สามารถสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงกว่าได้เหมือนกัน Asset Turnover จึงเป็นตัวเลขที่ไม่ควรมองข้าม ครั้งหนึ่งผมเคยเปรียบเทียบมาร์จิ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วเห็นว่าเหมือนๆกันหมด แต่พอลองดู Asset Turnover ก็เห็นว่าแตกต่างกันมาก ทำให้ผมเกิดความสนใจบริษัทที่มี Asset Turnover สูงกว่าเพื่อน เพราะแสดงว่าจริงๆ แล้วบริษัทนี้ใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่เวลาดูมาร์จิ้นแล้วไม่เห็นความแตกต่างเป็นเพราะลูกค้าของอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างมีการเปรียบเทียบราคาสูงมาก ทำให้ไม่มีบริษัทไหนสามารถเอากำไรเกินตลาดได้ แล้วในที่สุดก็ทำให้ผมได้ค้นพบหุ้นชั้นยอดในเวลาต่อมา ถ้าเราดูแต่มาร์จิ้นเราจะไม่พบความแตกต่างตรงนี้ครับ
.
6. Inventory Turnover = (ต้นทุนสินค้าขาย) / สินค้าคงคลังเฉลี่ย
.
สินค้าคงคลังเฉลี่ย อันนี้เหมือน Asset Turnover แต่วัดกันที่การหมุนสินค้าคงคลังอย่างเดียวเลย เป็นการเช็คว่าสินค้าของบริษัทหมุนเวียนดีหรือไม่ มี dead stock ที่อาจเสื่อมค่าในอนาคตได้เยอะหรือไม่ เป็นตัวเลขที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจที่ขายสินค้าที่แตกต่าง เพราะแม้ว่าสินค้าที่แตกต่างมักจะทำมาร์จิ้นได้สูง แต่ถ้ามีส่วนที่ขายไม่ออกเยอะมาก (ซึ่งปกติต้องมีส่วนหนึ่งอยู่แล้ว) ถึงเวลาต้องมาตัดขาดทุนทิ้ง ทำให้สรุปแล้วอาจทำกำไรได้น้อยหรือขาดทุนเลยก็ได้ ถ้าเอา 365 ตั้งหารด้วย Inventory Turnover จะได้อัตราส่วนใหม่ที่เรียกว่า Days Inventory Turnover มีหน่วยเป็น วัน ซึ่งหมายถึงระยะเวลาโดยประมาณที่สินค้าของบริษัทจะค้างอยู่ในคลังก่อนที่จะทำยอดขายให้บริษัทได้ ถ้ายิ่งมีค่าน้อยก็แสดงว่าสินค้าซื้อง่ายขายคล่อง ขายได้แบบแทบไม่ต้องขนขึ้นบ้านเลย เป็นต้น
.
งบการเงินสำหรับนักลงทุน
.
โดย นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
ขอบคุณมากครับ สำหรับคำแนะนำ
สงสัยค่ะ หัวข้อ ratio analysis ข้อ ROA ค่ะ “แต่ผมเห็นว่า ROA นั้นดีกว่า ROE เพราะธุรกิจอย่างเดียวกัน อาจมี ROE ต่างกันได้ด้วยการกู้เงิน” ในเมื่อตัวหารเป็น Equity ทำไมการกู้เงินจึงส่งผลกระทบกับ ROE รบกวนช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
คุณ สงสัย ลองอ่านบทความนี้ดูครับ
‘ROE และส่วนที่ควรระวัง’
http://www.thaivi.com/2010/02/414/
ROA และ Asset Turnover = (รายได้) / สินทรัพย์
ดูเหมือนจะเป็นแนวเดียวกัน ไม่ทราบว่า 2 ตัวนี้ จะบอกความนัยต่างกันยังไงครับ