ผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์ บริษัทที่วอเร็น บัฟเฟตต์ ใช้ในการลงทุนซื้อกิจการและถือหุ้นต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์มักจะถามบัฟเฟตต์ว่า ถ้าบัฟเฟตต์ตาย ใครจะมาดูแลบริษัทต่อ เพราะคุณค่าของบริษัทนี้ผู้ถือหุ้นเชื่อว่ามีมหาศาลเพราะมีบัฟเฟตต์เป็น CEO และเป็นคนเลือกหุ้นลงทุน ขาดบัฟเฟตต์เสียแล้วบริษัทก็จะเป็นแค่บริษัทโฮลดิ้งธรรมดาที่ไม่ควรมีค่าเกินหุ้นที่มีอยู่
บัฟเฟตต์เองคำนึงถึงเรื่องเกี่ยวกับทายาทที่จะมาสืบทอดงานการลงทุนของเขาเนื่องจากตนเองก็อายุมากแล้ว ดังนั้นในปี 1995 เขาจึงส่งจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่าหากเขาและชาลี มังเจอร์ เพื่อนและหุ้นส่วนสำคัญเป็นอะไรไป คนที่จะมาดูแลการลงทุนของบริษัทต่อไปก็คือ ลู ซิมสัน ผู้จัดการเงินลงทุนของบริษัทประกันภัยรถยนต์ GEICO ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเบอร์กไชร์
ลู ซิมสัน น่าจะเป็นยอดฝีมือในการลงทุนไม่แพ้สุดยอดนักลงทุนเอกของโลกคนหนึ่ง เพราะผลงานการลงทุนของเขานั้นสูงลิ่ว ในช่วงปี 1980 ถึง 1996 พอร์ตของ GEICO ที่ ลู บริหารให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึงประมาณ 25% ซึ่งน้อยกว่าผลงานของบัฟเฟตต์เพียง 1% ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ชื่อของลูนั้นเงียบกว่าผลงานมาก เพราะลูเองเป็นคนที่เก็บตัว ที่ทำงานก็อยู่บนภูเขาห่างไกลผู้คน เงินที่บริหารก็เป็นเงินของบริษัทที่ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านทั้งหลาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่ว่าลูมีหลักการและวิธีบริหารเงินลงทุนคล้ายคลึงกับบัฟเฟตต์มากแทบจะถอดแบบออกมา ทุกอย่างของลูจึงถูก “คลุม” โดย “เงา” ของบัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นนายและมีขนาดใหญ่กว่ามาก
ลู มีคุณสมบัติและวิธีการลงทุนคล้ายๆ กับบัฟเฟตต์ในหลายๆ เรื่อง เริ่มตั้งแต่พื้นฐานการเรียนที่จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยระดับไอวีลีคของอเมริกาคือ พรินซ์ตัน ในขณะที่บัฟเฟตต์จบจากโคลัมเบีย ทั้งคู่เป็นนักคิด ประสบความสำเร็จด้วยสมองและจิตใจมากกว่าการปฎิบัติ แบบนักบริหาร ทั้งคู่มีความคิดที่เป็นอิสระมากและไม่หวั่นไหวกับความผันผวนของตลาดและสิ่งที่ไม่มีเหตุผลทั้งหลาย ทั้งคู่เป็นนักอ่านตัวยง การอ่านโดยเฉพาะรายงานประจำปีของบริษัทต่างๆ ที่เขาลงทุนดูเหมือนจะเป็นงานหลักในชีวิตประจำวัน และแน่นอนทั้งคู่เป็น Value Investor โดยจิตวิญญาณ
การลงทุนของคนทั้งสองนั้นมีพื้นฐานแบบเดียวกันเริ่มตั้งแต่การถือหุ้นลงทุนระยะยาวมาก เขาไม่ต้องขายหุ้นเพื่อหาเงินมาลงทุนเพิ่มแต่ใช้เงิน “ฟรี” ที่ได้มาจากเบี้ยประกันมหาศาลที่ไหลเข้ามาให้เขาลงทุน ทั้งสองเน้นลงทุนในหุ้นน้อยตัว พอร์ตของลูประมาณ 1 แสนล้านบาท ลงทุนในหุ้นหลักๆ เพียงไม่เกิน 10 ตัว เช่นเดียวกับวอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ถือหุ้นน้อยตัวพอๆ กันแม้ว่าเม็ดเงินจะมากกว่าเป็น 10 เท่า
ความแตกต่างของการลงทุนระหว่างวอเร็น บัฟเฟตต์ กับ ลู อยู่ที่ว่าการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นส่วนใหญ่เขาลงทุนซื้อทั้งบริษัท ดังนั้น เขาจึงเป็นเจ้าของและสามารถกำหนดกลยุทธ์โดยเฉพาะทางด้านของการใช้เงินของบริษัทนั้นๆ ได้ ในขณะที่ลูเองซื้อหุ้นเพียงบางส่วนในตลาดหลักทรัพย์แบบนักลงทุนทั่วๆ ไป แต่ความแตกต่างในข้อนี้อาจจะเป็นเพราะขนาดของเม็ดเงินที่แตกต่างกันมาก แต่ไม่ว่าในกรณีใด หลักการเลือกหุ้นลงทุนดูเหมือนว่าจะไม่แตกต่างกัน นั่นคือ กิจการต้องเป็นกิจการที่ดีเลิศสร้างกระแสเงินสดมหาศาล บริหารงานโดยมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์สุจริตสูงและในราคาหุ้นที่ยุติธรรมหรือถูกกว่าพื้นฐาน
หลักการลงทุนของลูสรุปอย่างสั้นที่สุด 5 ข้อได้ดังต่อไปนี้คือ
ข้อแรก คิดอย่างเป็นอิสระ ไม่เชื่อหรือคิดตามกระแสของคนส่วนใหญ่ พยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไร้เหตุผลของคนในตลาด
ข้อสอง ลงทุนในกิจการที่ทำกำไรได้ดีที่บริหารเพื่อผู้ถือหุ้น เขาเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นจะสะท้อนผลตอบแทนที่บริษัททำได้จากเงินลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น ในด้านของ
การบริหารเพื่อผู้ถือหุ้นนั้น ลู จะมองในหลายเรื่อง เช่น ดูว่าผู้บริหารถือหุ้นในบริษัทมากน้อยแค่ไหน ผู้บริหารซิกแซกกับผู้ถือหุ้นหรือไม่ ผู้บริหารพร้อมและเต็มใจที่จะขายกิจการที่ไม่ทำกำไรทิ้งไหม และประเด็นสำคัญมากที่สุดอีกข้อหนึ่งก็คือ ผู้บริหารใช้เงินที่เหลืออยู่ไปซื้อหุ้นคืนหรือไม่ เพราะลูเห็นว่าผู้บริหารจำนวนมากชอบนำเงินไปขยายงานในสิ่งที่ไม่ทำกำไรแทนที่จะซื้อหุ้นคืน ซึ่งสามารถสร้างคุณค่าให้กับบริษัทมากกว่า
ข้อสาม ซื้อเฉพาะหุ้นที่มีราคาเหมาะสมเท่านั้น ลูบอกว่า “แม้แต่ธุรกิจที่ดีที่สุดในโลกก็ไม่ใช่การลงทุนที่ดีถ้าราคาหุ้นสูงเกินไป” ข้อมูลที่ลูใช้เพื่อดูว่าหุ้นแพงเกินไปหรือไม่ก็คือกำไรต่อราคาหุ้นของบริษัทหรือค่า EP เปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยงเลยนั่นคือผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ข้อสี่ ลงทุนระยะยาว ลูเห็นว่าในระยะสั้นการคาดการณ์เป็นเรื่องยาก ดังนั้นไม่ควรซื้อๆ ขายๆ หุ้นซึ่งจะทำให้เสียค่าคอมมิชชั่นและภาษี วิธีที่ดีที่สุดก็คือถือหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยม บริหารโดยคนที่ดีในราคาหุ้นที่ยุติธรรม โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยจะมีมาก
ข้อห้า อย่ากระจายความเสี่ยงมากเกินไป นักลงทุนจะไม่สามารถทำผลตอบแทนที่งดงามได้โดยการกระจายการถือหุ้นไปมากๆ ยิ่งกระจายมากผลตอบแทนก็จะลดลง ลูเห็นว่าหุ้นหรือกิจการที่ดีเยี่ยมนั้นหายากมาก ดังนั้นถ้าเขาเชื่อว่าเขาพบเขาจะทุ่มซื้อหุ้นตัวนั้นจำนวนมาก หุ้นในพอร์ตของลูที่ใหญ่ที่สุด 5 ตัวนั้นมีค่ามากกว่า 50% ของพอร์ตรวมของเขา
ลู ซิมสัน คงจะเป็นทายาทของวอเร็น บัฟเฟตต์แน่หากบัฟเฟตต์และมังเจอร์ตาย ดูจากผลงานและวิธีการคิดของเขาแล้วคงไม่มีใครเหมาะสมเท่า แต่ปัญหาของเบิร์กไชร์นั้นน่าจะอยู่ที่หลังจากลูแล้วใครจะเป็นคนต่อไป เพราะลูเองนั้นอายุน้อยกว่าบัฟเฟตต์เพียง 6 ปี
ณ วันนี้ดูเหมือนว่าผู้ถือหุ้นของเบอร์กไชร์คงจะไม่กังวลเท่าไรกับเรื่องของทายาทบัฟเฟตต์มองจากราคาหุ้นและการเปลี่ยนมือของหุ้นเบอร์กไชร์ เหตุผลอาจจะเป็นว่าบัฟเฟตต์เองยังแข็งแรงมากเช่นเดียวกับมังเจอร์ที่แก่กว่าบัฟเฟตต์เกือบ 10 ปี และถึงแม้ว่าทุกคนที่กล่าวถึงจะจากไปหมด กิจการของเบิร์กไชร์ก็อาจจะดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะหลักการ วิธีการ และวัฒนธรรมของการลงทุนแบบของวอเร็น บัฟเฟตต์นั้นอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่ชื่อว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ ดังนั้นคนใหม่ที่เข้ามาก็สามารถบริหารการลงทุนนี้ได้เช่นเดียวกัน
คุณเองก็อาจจะทำตัวเป็นทายาทบัฟเฟตต์ “ทางจิตใจ” ได้เช่นเดียวกัน
“ทายาทบัฟเฟตต์”
โลกในมุมมอง Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร