ถึงเวลาแก้ความไม่สมดุลของการลงทุนที่ผ่านมา : ดร.ไสว บุญมา

ข่าวความรกร้างว่างเปล่าของสนามบินในต่างจังหวัดสะท้อนปรากฏการณ์หนึ่ง ซึ่งน่าจะชี้ให้เห็นว่า วิธีพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเราเท่าที่ผ่านมาขาดความสมดุลอย่างร้ายแรง นั่นคือ การจะทำอะไรสักอย่างจะต้องมีการก่อสร้างเป็นส่วนประกอบหลัก สิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นตามมาจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าของเงินทุนที่หายากหรือไม่ เราไม่ค่อยใส่ใจเท่าไรนัก

นอกจากสนามบินที่รกร้างว่างเปล่าเพราะเลิกใช้ไปแล้ว ยังมีสนามบินอีกมากที่โดยทั่วไปถูกใช้เพียงจำกัดอีกด้วย สนามบินเป็นสิ่งปลูกสร้างเพียงอย่างเดียวที่เป็นข่าว ทั้งนี้คงเพราะมันมีขนาดใหญ่ที่ใช้เงินทุนจำนวนมากและอาจมีการขัดแย้งของผู้มีประโยชน์ส่วนตัวแฝงอยู่ด้วย ยังมีสิ่งก่อสร้างอีกสารพัดอย่างซึ่งตกอยู่ในสภาพเดียวกัน

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดจำนวนมากในภาคกลางของประเทศ ปรากฏการณ์ในแนวเดียวกันมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในเกือบทุกวัด แต่ละวัดมีอาคารขนาดใหญ่หลากหลายอาคาร นอกจากกุฏิที่มีพระไม่กี่รูปอยู่ประจำแล้ว อาคารเหล่านั้นถูกปิดไว้ และจะเปิดใช้ก็ต่อเมื่อมีงานเทศกาลซึ่งก็นานๆครั้ง อาคารส่วนใหญ่จึงดูจะสร้างขึ้นไว้สำหรับให้นกพิราบถ่ายรด บางวัดมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างไว้นอกอาคาร พระพุทธรูปเหล่านั้นจึงกรำแดดกรำฝนตลอดเวลา คนท้องถิ่นโอ้อวดว่าบางองค์มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย บางองค์มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ผมไม่แตกฉานในคำสอนของศาสนาจึงไม่รู้ว่าองค์ศาสดาได้ทรงบัญญัติไว้ที่ไหนหรือไม่ว่า สิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นคือทางสู่นิพพานของพุทธศาสนิกชน จากการศึกษาเพียงจำกัด ผมสรุปว่าไม่น่าจะมีบทบัญญัติเช่นนั้นอยู่

การก่อสร้างอาคารและพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้ทุกหนทุกแห่ง ตรงข้ามกับแนวคิดของชาวอามิชในอเมริกาซึ่งตีความหมายหลักศาสนาของพวกเขาว่า ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งปลูกสร้าง เพราะแก่นของศาสนาขึ้นอยู่กับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามคำสอนของศาสดา ฉะนั้น ชาวอามิชจึงไม่มีวัดและอาคาร หากอาศัยโรงนาเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเมื่อจำเป็น

นอกจากนั้น พวกเขายังไม่สร้างรูปปั้นขององค์ศาสดาและไม้กางเขนอีกด้วย พวกเขาเห็นว่าการสร้างสิ่งเหล่านั้นเป็นการผลาญเงินโดยเปล่าประโยชน์ ยิ่งกว่านั้น พวกเขามุ่งดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายอยู่ตามทุ่งไร่ทุ่งนามากกว่าจะโลดแล่นไปตามกระแสโลกแนวบริโภคนิยม พวกเขาจึงไม่ใช้แม้กระทั่งไฟฟ้า รถยนต์ หรือรถไถ หากยังใช้ม้าไถนา เทียมเกวียนและลากรถ

ในวัดขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ผมสังเกตแต่ไกลว่ามีอาคารอันสง่างามตั้งอยู่ และมีป้ายเขียนด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ไว้ว่า “ห้องสมุดชุมชน” ผมมองว่าการสร้างห้องสมุดชุมชนไว้ในเขตวัดวางอยู่บนฐานของการคิดอันก้าวหน้า เนื่องจากว่าทั้งนักเรียนของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ข้างวัด สมาชิกในชุมชนและพระ จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายและใช้หนังสือร่วมกันอย่างคุ้มค่า เมื่อผมเดินเข้าไปใกล้จึงรู้ว่าอาคารนั้นร้างและเมื่อผมมองผ่านหน้าต่างเข้าไป ก็เห็นว่าข้างในไม่มีหนังสือแม้แต่เล่มเดียว ภายในอาคารขนาดกลางนั้น นอกจากตู้หนังสือสองสามตู้ซึ่งอยู่ในสภาพหักพังแล้ว มีเศษวัสดุก่อสร้างเก่าๆกองไว้หลายกอง ผมประเมินว่าอาคารนั้นคงใช้เงินหลายล้านบาทก่อสร้าง

แต่ห้องสมุดร้างก็ยังมีเพื่อนอยู่ทั่วไป เนื่องจากอาคารซึ่งก่อสร้างขึ้นในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จำนวนมากก็อยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า หรือกึ่งรกร้างเช่นกัน เมื่อผมปรึกษาผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการรัฐบาล ท่านก็บอกผมว่า สิ่งที่ผมเล่ามาเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลมีอาคารมากมายซึ่งแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นอาคารแสดงสินค้า สนามกีฬา อาคารสำนักงาน ห้องสมุดชุมชนไปจนถึงหอประชุมจังหวัดและเทศบาลพร้อมกับอาคารอเนกประสงค์อื่นๆ

การมีสิ่งปลูกสร้างมากมายซึ่งถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าดังกล่าวนั้น น่าจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า วิธีพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเราขาดสมดุลเพราะถูกครอบงำโดยบริษัทก่อสร้าง ที่ส่วนหนึ่งนักเลือกตั้งกับนักการเมืองและญาติมิตรเป็นเจ้าของ องค์กรของรัฐจำพวกสภาพัฒน์และสำนักงบประมาณ ถูกก่อตั้งขึ้นมาให้เป็นเพียงตรา ยางของบริษัทก่อสร้างและนักการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ตำแหน่งเพื่อทำมาหากิน

จริงอยู่เมื่อมองดูสิ่งปลูกสร้างอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของปัจจัยพื้นฐานแล้ว ประเทศของเราก้าวหน้ากว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน แต่การพัฒนาแบบที่ทำกันมานี้จะไม่มีวันทำให้เราก้าวหน้าจนตามประเทศที่พัฒนาสูงแล้วทันได้ นอกจากเราจะเปลี่ยนวิธีเสียใหม่โดยเลิกมุ่งเน้นการก่อสร้าง แล้วเพิ่มการมุ่งเน้นการใช้สอยสิ่งต่างๆให้คุ้มทุนยิ่งขึ้น ในภาษาคอมพิวเตอร์ ประเด็นนี้มีค่าเท่ากับการหันมาเน้น ซอฟต์แวร์ แทนการเน้นตัวเครื่อง หรือ ฮาร์ดแวร์ ที่เราพยายามทำกันมานมนาน

วันนี้จึงขอเสนอต่อรัฐบาลและชนชั้นผู้นำ ทั้งในส่วนของศาสนาและส่วนของทางโลกว่า เนื่องจากเราเสียเวลาและทุนมามากแล้ว จากวันนี้เป็นต้นไป เราจะเริ่มวิธีพัฒนาใหม่ที่ไม่เน้นการก่อสร้างแบบทิ้งๆขว้างๆอย่างในอดีต เราจะก่อสร้างเพียงสิ่งจำเป็นและหันไปเน้นการใช้สอยสิ่งปลูกสร้างอย่างเข้มข้นสุดๆ

……

ถึงเวลาแก้ความไม่สมดุลของการลงทุนที่ผ่านมา

ดร.ไสว บุญมา

พิมพ์ในคอลัมน์ บ้านเขาเมืองเรา

หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.