เงินออมถือเป็นเงินทุนที่สำคัญต่อการลงทุนของประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานและปัจจัยสำคัญที่กำหนดการลงทุนให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต สร้างเสถียรภาพและลดความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากการออมในระดับสูงจะทำให้การลงทุนในประเทศไม่ต้องอาศัยเงินทุนจากต่างประเทศมากนัก แม้เศรษฐกิจจะถดถอยก็สามารถพึ่งพาการออมในประเทศได้ ทำให้พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
หากเปรียบเทียบการออมของประเทศไทยกับประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน โดยวัดจากสัดส่วนการออมของประเทศต่อ GDP เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนิเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก เป็นต้น ก็พบว่าการออมของประเทศไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 31.6 เมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งสูงกว่าประเทศเหล่านี้ ยกเว้นมาเลเซีย ขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนา เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่าประเทศเหล่านี้มีอัตราการออมเทียบกับ GDP ที่ต่ำกว่าประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ บางประเทศ สามารถอธิบายได้จากหลายสาเหตุ เช่น การที่ประเทศพัฒนาเหล่านี้มีการจัดเก็บภาษีในระดับที่สูงมากทำให้เงินได้สุทธิและเงินออมจึงต่ำลง อีกทั้งการมีระบบสวัสดิการที่ดีทำให้ประชาชนเล็งเห็นถึงสวัสดิการที่รัฐบาลจะดูแลเมื่อยามชราภาพในอนาคต จึงไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจการออมเมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีระบบสวัสดิการที่ยังไม่เด่นชัดและมั่นคงเพียงพอ ประชาชนจึงเล็งเห็นความสำคัญของการเก็บออมเพื่อการใช้จ่ายและดูแลตนเองเมื่อยามชรา ประกอบกับประเทศพัฒนาแล้วสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายโดยต้องการใช้เงินเมื่อไหร่ก็สามารถใช้ได้รวดเร็ว ทันใจ ทำให้คนจึงไม่จำเป็นต้องออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน กอปรกับวัฒนธรรมการบริโภคนิยมของประเทศเหล่านี้ จึงทำให้มีการออมเมื่อเทียบกับ GDP น้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย
เมื่อพิจารณาสถานการณ์การออมของไทย พบว่า การออมรวมและการลงทุนรวมของประเทศในปี 2549 มีสัดส่วนเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 30.7 และ 29.2 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการออมของประเทศมีสูงกว่าการลงทุน เมื่อพิจารณาส่วนต่างระหว่างการออมและการลงทุน พบว่า ในอดีตก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ระดับการออมน้อยกว่าการลงทุนเนื่องจากความต้องการในการลงทุนสูงทำให้การออมตามไม่ทันการลงทุน หลังจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจระดับการออมนั้นสูงกว่าการลงทุนมาตลอดแต่มีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากการกระตุ้นทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการขยายการลงทุนและการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่เมื่อพิจารณาการออมแยกเป็นรายประเภทในปัจจุบัน พบว่า ภาครัฐซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนการออมสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ กลุ่มธุรกิจ และครัวเรือนตามลำดับ โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่เป็นเศรษฐกิจพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ มีอัตราการออมที่ต่ำเมื่อเทียบกับ GDP จากเดิมร้อยละ 10.5 โดยเฉลี่ยก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4-5 หลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายและบริโภคในช่วงที่ผ่านมา โดยที่การออมของครัวเรือนจะอยู่ในรูปของเงินสดและสินทรัพย์ของการสะสมทุน เช่น บ้าน ที่ดิน พันธบัตร หุ้น ทองคำ เป็นต้น ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 อัตราการขยายตัวของค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ ส่งผลให้อัตราการออมภาคครัวเรือนเฉลี่ยหดตัวลงจากปี 2547 ถึงร้อยละ 6.90 อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2549 การออมภาคครัวเรือนคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความผันผวนทางการเมืองและเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้ครัวเรือนไม่มั่นใจในสภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจ จึงชะลอการใช้จ่าย ประกอบกับทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลงซึ่งน่าจะส่งผลให้ครัวเรือนมีการออมเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นปี 2549 แล้วการออมในภาคครัวเรือนจะมีสัดส่วนประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับ GDP
สำหรับทิศทางการออมของไทยในอนาคตน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่การลงทุนก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา อัตราการออมรวมของประเทศขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.92 ต่อปี ขณะที่การลงทุนขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.13 ต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราการขยายตัวของการออมมีน้อยกว่าการลงทุนแม้ว่ามูลค่าการออมรวมของประเทศจะมีมากกว่าการลงทุน แต่แนวโน้มการออมน่าจะไม่เพียงพอต่อการลงทุนในอนาคต จนอาจทำให้เกิดการขาดดุลการออมขึ้นอีกได้ดังเช่นในอดีตซึ่งการขาดดุลการออมนี้ตามหลักเศรษฐศาสตร์จะส่งผลให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในมูลค่าที่เท่ากับการขาดดุลเงินออมได้ อย่างไรก็ดีคาดว่าการลงทุนในระยะสั้นนี้จะชะลอตัวลงบ้างไม่มากก็น้อยด้วยเหตุผลของมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทยและการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตลอดจนการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ไม่ว่าปริมาณการลงทุนจะมีมากหรือน้อย ทุกๆฝ่ายสมควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาการออมของประเทศอย่างจริงจัง ได้แก่ การปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างค่านิยมการสร้างจิตสำนึกในการออมเพื่อประโยชน์ในอนาคต การสร้างกลไกลการออมในระดับชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นให้มีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์การออม โดยเน้นการออมเป็นประจำสม่ำเสมอติดต่อกันนานๆ (Contractual Savings) และการสร้างเครื่องมือการออมเพื่อวัยชราซึ่งประเทศไทยควรจะต้องมีหลักประกันรายได้สำหรับแรงงานไว้ในวัยชรา โดยการผลักดันให้เกิดกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่ครอบคลุมแรงงานทั้งในและนอกระบบ เพื่อช่วยลดภาระของภาครัฐในระยะยาวในการที่จะต้องอุ้มคนวัยชราซึ่งจะมีมากขึ้นตามลักษณะโครงสร้างประชากรของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งเป็นการสร้างพื้นฐานการออมให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน สร้างเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพบนหลักการที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ที่มา : http://www.fpo.go.th/bosip/ShowInfo.php?info_id=65
####
ปัญหาการถดถอยของการออมภาคครัวเรือน
“เงินน่ะ…ออมหนึ่งส่วน ใช้สามส่วน เก็บเงินไว้ให้ลูกเถอะ…เฮีย”
โฆษณาปลุกจิตสำนึกการออมชิ้นนี้ ชี้แนะให้ประชาชนจัดสรรเงินหรือรายได้ในแต่ละเดือน ให้กับการใช้จ่ายและการออมเป็นสัดส่วนตายตัว โดยมีหลักง่ายๆ ว่า การใช้จ่ายของบุคคลนั้นควรมีสัดส่วนเท่ากับ 3 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือซึ่งเท่ากับ 1 ใน 4 ของรายได้ ควรจัดสรรไว้เป็นเงินเก็บออม
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือให้ออมเงินเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของรายได้เสมอ
หากทุกคนในประเทศปฏิบัติตามกฎนี้ เราจะพบว่าอัตราการออมต่อรายได้ประชาชาติ (saving to GDP ratio หรือ saving rate) ของประเทศไทยควรจะเท่ากับ 25%
จากงานวิจัยเรื่อง long-term saving in Thailand โดยคณะเศรษฐกรประจำธนาคารแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา และนายธรรมนูญ สดศรีชัย ที่ได้นำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2548 ที่ผ่านมานั้น ชี้ให้เห็นว่า อัตราการออมของประเทศไทยในขณะนี้สูงเกินกว่าอัตราร้อยละ 25 ตามเกณฑ์ของงานโฆษณาส่งเสริมการออมชิ้นนั้นไปแล้ว โดยอัตราการออมในปี 2546 นี้อยู่ที่ร้อยละ 30.5 ของรายได้ประชาชาติ
แม้ว่าอัตราการออมในระดับร้อยละ 30 นี้จะถูกจัดว่าเป็นอัตราการออมในระดับสูง เมื่อเทียบกับอัตราการออมในประเทศอื่นๆ แล้ว แต่คณะเศรษฐกรของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า อัตราการออมของประเทศอยู่ในช่วง “ขาลง” เพราะประเทศไทยเคยมีอัตราการออมสูงสุดอยู่ที่ระดับร้อยละ 35.2 ของรายได้ประชาชาติ ในปี 2534 และนับจากปีนั้นเรื่อยมา อัตราการออมก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงโดยตลอด
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบอันเป็นที่มาของการออมมวลรวมของประเทศนี้ จะให้ภาพที่แตกต่างไป และช่วยให้เราเข้าใจถึงสาเหตุของการรณรงค์สนับสนุนการออมได้มากขึ้น
เราสามารถจำแนกองค์ประกอบของการออมมวลรวมนี้อย่างง่ายๆ ออกเป็น หนึ่ง การออมของภาคครัวเรือน สอง การออมสุทธิของรัฐบาล และสุดท้าย การออมของภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ
การออมของภาคครัวเรือนเคยมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในการออมมวลรวม เพราะเคยมีสัดส่วนมากที่สุดถึงครึ่งหนึ่งของการออมมวลรวม
ในช่วงทศวรรษที่ 90 การออมภาคครัวเรือนมีสัดส่วนในรายได้ประชาชาติสูงถึงร้อยละ 14.4 ในปี 2532 แต่ทว่าอัตราการออมภาคครัวเรือนถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา จนในปี 2546 นี้ อัตราการออมภาคครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้นเอง
ภาครัฐบาลก็ประสบกับความถดถอยในอัตราการออมเช่นเดียวกันกับภาคเอกชน หลังจากที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 จนรัฐบาลในยุคสมัยนั้นต้องมีมาตรการรัดเข็มขัด ลดการใช้จ่ายและสร้างวินัยทางการคลัง อันมีผลให้รัฐบาลยุคสมัยต่อมา คือในช่วงทศวรรษที่ 90 มีการเกินดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และทำให้อัตราการออมของภาครัฐต่อรายได้ประชาชาติมีสัดส่วนในการออมมวลรวมไม่น้อยไปกว่าการออมภาคครัวเรือน
อย่างไรก็ดี นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา ภาครัฐมีการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้อัตราการออมในปีงบประมาณ 2545-2546 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 18 ของรายได้ประชาชาติเท่านั้น
ภาคเศรษฐกิจที่มีอัตราการออมสูงที่สุด และเป็นตัวผลักดันให้อัตราการออมของประเทศสูงถึงร้อยละ 30 ได้คือ ภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ โดยในปี 2546 นั้น วิสาหกิจโดยรวมมีการออมคิดเป็นสัดส่วนของรายได้ประชาชาติถึงเกือบร้อยละ 80 โดยส่วนหนึ่งของการออมในภาคธุรกิจนี้เป็นการออมในรูปการสำรองค่าเสื่อมของทุนกายภาพที่ถูกสั่งสมมาในยุคเศรษฐกิจบูม ช่วงก่อนวิกฤตปี 2540
ข้อเท็จจริงนี้ชวนให้เกิดความกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคตยิ่งนัก เพราะภาคครัวเรือนซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักของประเทศ กลายมาเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีอัตราการออมต่ำที่สุดในระบบไปเสียแล้ว
ในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ การออมของภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพราะเป็นที่ยอมรับกันในทางทฤษฎีว่า การออมของภาคเอกชนคือตัวจักรสำคัญที่จะช่วยให้ยกระดับรายได้ต่อหัวของประชากรในระยะยาว และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจมีอัตราการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนอีกด้วย
ดังนั้นการรณรงค์สร้างวินัยในการออมให้กับภาคครัวเรือน ด้วยเกณฑ์การออม 1 ใน 4 ของรายได้ ดูจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการยุติภาวะถดถอยในการออมภาคครัวเรือน
หากแต่…การแก้ปัญหาใหญ่ระดับมหภาคเช่นนี้มิอาจสัมฤทธิ์ได้ด้วยกลยุทธ์การโหมแคมเปญ รณรงค์ให้คนออมเงินมากขึ้นเพียงถ่ายเดียว
หากต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง สมควรที่รัฐบาลจะหยิบเอางานศึกษาชิ้นดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทยมาใช้ประกอบการวางนโยบาย
เพราะงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยชิ้นนี้ ได้ศึกษาเจาะลึกลงไปในระดับครัวเรือน โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจรายได้และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน (หรือ socio-economic survey) ที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และใช้ข้อมูลจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง เพื่อทำความเข้าใจกับพฤติกรรมการออมของภาคครัวเรือนอย่างละเอียด
จากการจำแนกกลุ่มครัวเรือนในปี 2546 ตามระดับรายได้ ไล่จากน้อยไปมาก ดร.กอบศักดิ์และคณะได้พบถึงความแตกต่างในพฤติกรรมการออมระหว่างกลุ่มรายได้ โดยครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ระดับล่างนั้น มีอัตราการออมต่ำกว่าครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ขั้นสูง
ไม่เพียงเท่านั้น จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบพฤติกรรมการออมของครัวเรือนในปี 2546 เทียบกับครัวเรือนในกลุ่มรายได้ระดับเดียวกันในปี 2539 นั้น ปรากฏว่าในปี 2546 ครัวเรือนในกลุ่มรายได้ระดับล่างนั้นมีอัตราการออมที่ลดลงกว่าในอดีตอีกด้วย
ข้อมูลที่สำรวจนั้นยังแสดงให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการออม ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯและภาคกลาง ซึ่งเมื่อคิดเทียบเป็นสัดส่วนกับการออมทั้งประเทศแล้ว จะพบว่าร้อยละ 63 ของการออมทั้งประเทศจะมาจากครัวเรือนที่มีถิ่นฐานในพื้นที่กรุงเทพฯและภาคกลาง
ข้อค้นพบนี้ชี้ช่องให้เห็นว่า การออมที่ถดถอยลงนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และอยู่ในพื้นที่ไกลจากความเจริญ ในขณะที่ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้สูงนั้น ยังคงมีอัตราการออมอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากในอดีตเท่าใดนัก
หากจะพิจารณาให้ลึกลงไปอีกว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีอัตราการออมต่ำนั้น มีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขา “เลือก” ออมหรือใช้จ่ายเช่นนี้ คณะผู้วิจัยได้พบว่ามีปัจจัยที่หลากหลาย ผสมผสานกัน
สาเหตุหนึ่งนั้นอาจมาจากการที่พวกเขามีรายได้น้อยไม่พอกิน จึงทำให้พวกเขาไม่มีเงินเหลือเก็บสำหรับการออม หรืออาจมีสาเหตุมาจากที่พวกเขาขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงทำให้พวกเขาไม่อาจวางแผนการเงินสำหรับวันข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ครัวเรือนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญอาจประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เช่น สถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น เมื่อครัวเรือนมีต้นทุนในการติดต่อกับแหล่งเงินทุนในระบบ พวกเขาจึงถูกผลักเข้าสู่วงจรความยากจน ที่เริ่มต้นจากการขอกู้จากแหล่งเงินทุนนอกระบบ ที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดเงินทุนในระบบเป็นอย่างมาก
การแก้ปัญหาความถดถอยในการออมภาคครัวเรือน อาจต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาความยากจน เพราะงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยชิ้นดังกล่าวค้นพบว่า รายได้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการออมของครัวเรือน ครัวเรือนที่มีรายได้สูงจะออมมากกว่าครัวเรือนรายได้ต่ำ
ข้อค้นพบนี้ยิ่งทำให้เรารู้สึกถึงความสำคัญอันยิ่งยวดของการยกระดับรายได้ให้กับครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ระดับล่าง เพราะเพียงแก้ปัญหาความยากจนได้แล้วไซร้ ปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ ก็จะคลี่คลายตามไปเอง
…อนิจจา ที่การแก้ปัญหาความยากจนในวันนี้ ได้ถูกนำไปผูกโยงกับกลยุทธ์ทางการตลาด และใช้เป็นสตอรี่ สำหรับการทำเรียลิตี้โชว์การเมือง ที่ต้องการเพียงเพื่อหลบกระแสต่อต้านของคนกรุง หากยังเล่นกันแบบนี้ต่อไปอีก ต่อให้ถึงชาติหน้าตอนบ่ายๆ คนจนคงไม่หมดไปจากประเทศไทยหรอกครับ
รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
23 ม.ค. 2549 คอลัมน์ ระดมสมอง ประชาชาติธุรกิจ
ดี๋ดีๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ดีมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆเลยก่ะ
แล้วสรุปว่า ปัญหาที่เกิดจากการไม่ออมเงิน คืออะไรกันคะ งงเว้ยยย !!! 🙁
มีงานส่งครูแล้วคับ
ขอคุนมากคับ