.
ระหว่างการติดดอยกับการตกรถไฟ อะไรน่ากลัวกว่ากัน?
นี่เป็นปัญหาโลกแตกที่นักลงทุนพูดถึงกันมานานแล้ว…
ในหนังสือ The Snowball บัฟเฟต อธิบายว่า มีอยู่เพียงสามกรณีเท่านั้นที่ภาคธุรกิจโดยรวมจะสามารถให้ผลตอบแทนกับเจ้าของได้มากกว่า 10% ต่อปีได้อย่างยั่งยืน
หนึ่งคือ อัตราดอกเบี้ยต้องลดต่ำลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง
สองคือ ผลตอบแทนของธุรกิจจะต้องถูกปันส่วนให้กับผู้ถือหุ้นเมื่อเทียบกับลูกจ้างและกรมสรรพากรเพิ่มขึ้นกว่าปกติได้อย่างต่อเนื่อง
และสามคือ เศรษฐกิจจะต้องเติบโตได้สูงกว่าศักยภาพที่แท้จริงของมันเป็นเวลานานๆ
บัฟเฟตกล่าวว่า การที่นักลงทุนจะคาดหวังกับสามสิ่งนี้ว่าจะเกิดขึ้นนั้น เป็นความคาดหวังที่มีโอกาสเป็นไปได้น้อย
เช่นนี้แล้ว เวลาที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่า 10% ต่อเนื่องกันหลายปี สุดท้ายแล้วความต่อเนื่องนั้นมักจะไม่ยั่งยืนในที่สุด
ถึงจุดหนึ่ง ตลาดหุ้นจะต้องถอยกลับลงมาใหม่ จนทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวของมันยังคงเป็นไปตามศักยภาพที่แท้จริงที่เป็นไปได้คือ 10% ต่อปี
ดังนั้น เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องกลัวตกรถไฟ เพราะที่สุดแล้ว รถไฟจะกลับมาหาเราเสมอ
แต่บ่อยครั้งที่การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นอย่างต่อเนื่องทั้งที่หุ้นมีราคาแพงอยู่แล้วทำให้เราหวั่นไหว
ในที่สุดเราก็ซื้อแพงจนได้เพราะกลัวจะไม่มีโอกาสได้ซื้ออีก
สุดท้ายเมื่อ Market Correction มาถึงโดยไม่คาดฝัน เราก็พลาดโอกาสที่จะได้ซื้อหุ้นในราคาที่ถูกกว่าเดิม เพราะเราไม่มีเงินเหลือแล้วทุกที
สิ่งที่ยากคือ โดยมากกว่าที่ตลาดจะเกิด Correction นั้นมักกินเวลานานมาก จนยากที่ปุถุชนคนไหนจะอดทนรอได้ไหว
ใครที่ซื้อไม่ทันก็ยากที่จะอดใจไม่กระโดดเข้าไปซื้อในที่สุด เพราะราคาที่แพงขึ้นให้เห็นอีกเรื่อยๆปีแล้วปีเล่านั้นเกินห้ามใจเหลือเกิน
เมื่อทุกคนค่อยๆยอมกัดฟันซื้อของแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ราคาหุ้นก็ยิ่งปรับตัวขึ้นได้อีกอย่างไม่น่าเชื่อ
แต่สุดท้ายแล้ว ฟองสบู่ก็ต้องแตกในที่สุด
เมื่อฟองสบู่แตกแล้ว หุ้นกลับมีราคาถูกกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างมาก และรอให้ทุกคนซื้ออยู่
แต่ทุกคนก็ไม่มีเงินเหลือแล้ว
ใครที่ยังมีเงินเหลืออยู่ตอนนั้นก็ได้ของถูกไปในที่สุด
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
21 January 2009
1 thought on “‘อย่ากลัวตกรถไฟ’ : โดย นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์”