ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงปัญหาเงินดอลลาร์โดยสรุปว่าสหรัฐต้องการสร้างความมั่นใจว่าเงินดอลลาร์จะมีเสถียรภาพ (strong dollar policy) เพราะความเชื่อมั่นดังกล่าวทำให้เงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก ทำให้สหรัฐได้ประโยชน์อย่างมาก 2 ประการ คือ
1. เมื่อประเทศอื่นๆ สมัครใจที่จะนำเงินดอลลาร์ไปใช้และเก็บตุนเอาไว้อย่างถาวรในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นเสมือนการที่สหรัฐพิมพ์กระดาษเปล่ามาแลกกับสินค้าและบริการ เช่นปัจจุบันเงินดอลลาร์ที่ประเทศต่างๆ ถืออยู่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น น่าจะมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์เท่ากับ 30% ของจีดีพีสหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าไม่ใช่น้อยที่สหรัฐสามารถใช้เป็นอำนาจซื้อโดยใช้ต้นทุนต่ำเท่ากับค่าซื้อกระดาษและหมึกพิมพ์ให้ออกมาเป็นธนบัตรดอลลาร์ ที่เรานิยมใช้กันอยู่ในขณะนี้
2. รัฐบาลสหรัฐจะต้องสร้างหนี้สินอีกหลายสิบล้านล้านดอลลาร์ใน 4-5 ปีข้างหน้า เพื่อนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ การเป็นหนี้มากขึ้นนั้น อาจทำให้ประเทศเจ้าหนี้หวั่นไหวและขายเงินดอลลาร์ออกมา รวมทั้งไม่ยอมซื้อพันธบัตรอเมริกันซึ่งจะยิ่งทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และรัฐบาลสหรัฐต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ดังนั้น การสร้างความมั่นใจในเงินดอลลาร์จึงมีความสำคัญต่อเนื่องในการชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตร โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง
แต่ในอีกด้านหนึ่งสหรัฐก็ต้องการให้เงินของตนอ่อนค่าลง เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มการส่งออก และลดการนำเข้าเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ คือ ลดการใช้จ่ายเกินตัวซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการนำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ทั้งนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ
1. สหรัฐใช้กำลังการผลิตเพียง 69% ในขณะนี้ ดังนั้น ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่ แต่ผู้บริโภคมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว จึงไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารมาซื้อสินค้าและบริการได้เช่นเดิม ดังนั้น ทางออกของสหรัฐ คือ การส่งเสริมการส่งออก โดยอาศัยการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์
2. หากไม่พึ่งพาการส่งออกก็จะเกิดวัฏจักรในเชิงลบ ที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐยุบตัวได้ คือ ปัจจุบันผู้ผลิตสหรัฐรักษาสถานะของธุรกิจและกำไรโดยการปลดคนงานเพื่อลดต้นทุน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในอนาคตเมื่อรัฐบาลต้องลดแรงกระตุ้น แต่บริษัทไม่ยอมจ้างงานเพิ่มก็จะเกิดปัญหาขาดกำลังซื้อ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งการส่งออกเพื่อทดแทนการพึ่งพาความต้องการภายในประเทศ จะเป็นการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของสหรัฐได้อย่างมาก
ความขัดแย้งดังกล่าวย่อมทำให้การกำหนดทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ทำได้ยากลำบากขึ้น เพราะสหรัฐอาจแสดงความต้องการทั้งสองอย่าง คือ ทั้งต้องการให้เงินดอลลาร์แข็ง และต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อน ซึ่งหากจะพยายามสร้างความชัดเจน ก็จะต้องกล่าวเป็นความจำเพาะเจาะจงว่าสหรัฐต้องการให้เงินของตนมีเสถียรภาพเพียงพอที่ประเทศต่างๆ ไม่ทิ้งเงินดอลลาร์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็คงต้องการให้ประเทศเอเชียปล่อยให้เงินของตนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แปลว่าเอเชียจะต้องรับภาระหลักในอนาคต คือ
1. กระตุ้นเศรษฐกิจภายในของตนเองให้เพียงพอกับการฟื้นตัวของภาคการผลิตของตัวเองพร้อมกับแบ่งตลาดให้กับการส่งออกของสหรัฐเพิ่มขึ้น
2. ยอมให้เงินของตนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แต่ก็ยังต้องเก็บเงินดอลลาร์เอาไว้ (ไม่ขายทิ้งออกมา) แปลว่าธนาคารกลางของเอเชียน่าจะต้องรับภาระการขาดทุน เพราะสินทรัพย์ที่ถืออยู่ส่วนใหญ่ (เงินดอลลาร์) จะเสื่อมค่าลงเมื่อเทียบกับเงินของตนเอง
3. ยังต้องเป็นเจ้าหนี้ที่ดีของสหรัฐ กล่าวคือ ต้องทยอยซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่จะมีออกมาขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่จะต้องยอมเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐนั้นใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มลง (too big too fail)
หากสถานการณ์ไม่เป็นไปดังที่กล่าวข้างต้นเศรษฐกิจโลกในอนาคต ก็อาจมีปัญหาได้อย่างมาก อาทิเช่น
1. หากสนับสนุนให้สหรัฐกู้ยืมเงินได้มากอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด แต่ไม่ยอมให้เงินเอเชียแข็งค่า สิ่งที่น่าจะตามมา คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ คือ การใช้จ่ายเกินตัวของสหรัฐกลับมาอีก แต่ครั้งนี้ผู้ที่สร้างหนี้คือรัฐบาลสหรัฐและปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อในที่สุดต้องสรุปว่ารัฐบาลสหรัฐมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว
2. หากไม่สนับสนุนรัฐบาลสหรัฐเพียงพอ แต่ก็ไม่ยอมให้เงินของเอเชียแข็งค่า ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวช้าเพราะกำลังซื้อไม่มี ในขณะที่ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียง คือ การกีดกันทางการค้าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
สิ่งที่อาจเป็นไปได้มากที่สุด คือ การค่อยๆ เดินไปสู่ข้อ 2 คือ ในช่วงแรกเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการเงินการคลัง แต่เนื่องจากมิได้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกให้มีความสมดุลขึ้น โดยเฉพาะความเชื่องช้าของธนาคารกลางเอเชีย ในการยอมให้เงินของตนแข็งค่าขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการส่งเสริมให้รัฐบาลสหรัฐกู้เงินมากเกินไป ทำให้ในที่สุดกำลังซื้อของโลกขยายตัวในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่จำกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกใน 4-5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี สถานะของเงินดอลลาร์นั้นหวั่นไหวได้มาก ดังนั้น ความมั่นใจในเงินดอลลาร์ก็จะสามารถหวั่นไหวได้มากเช่นกัน แปลว่าค่าเงินดอลลาร์น่าจะผันผวนมากในระยะสั้น แต่อ่อนตัวลงในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินสกุลของประเทศเอเชีย ซึ่งเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและมีความสมดุลมากขึ้น เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจสหรัฐ ดังนั้น การบริหารค่าเงินเพื่อมิให้ผันผวนมากเกินไป ตลอดจนการเร่งการปรับตัวตามปัจจัยพื้นฐาน (มากกว่าการฝืนตลาด) จึงจะเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ดำเนินนโยบายของประเทศเอเชียใน 2-3 ปีข้างหน้าครับ
“ปัญหาค่าเงินดอลลาร์ (2)”
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
กรุงเทพธุรกิจ 16 ตุลาคม 2552