นักลงทุนส่วนใหญ่มักซื้อหุ้น เพราะเห็น “ราคา” วิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าซื้อตาม
วิธีนี้ทำให้ “ขาดทุน” ได้ง่าย เพราะไม่รู้ว่า “มูลค่าหุ้น” ที่แท้จริงของหุ้นเป็นเท่าไร เป็นเพียงการตัดสินใจ ซื้อ หรือ ขาย ตามอารมณ์ของตลาดที่พาไป
การค้นหา “มูลค่าหุ้น” จึงจำเป็นสำหรับผู้ลงทุน เพราะจะทำให้เรารู้ว่า เมื่อไรควร “ซื้อ” และเมื่อไรควร “ขาย” ถึงจะได้กำไรที่ดีที่สุด..
“นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์” หรือนามแฝง “สุมาอี้” นักลงทุนรายย่อยแนวลงทุนหุ้นมูลค่า และผู้เขียนหนังสือ “วัดมูลค่าหุ้น ด้วยตัวคุณเอง” ตลอดจนผู้เขียนหนังสือ “ทฤษฎีเกม” (Game Theory) บอกว่า นักลงทุนที่ลงทุนโดยอาศัยการวัดมูลค่าหุ้น จะไม่ยอมซื้อหุ้นที่มีราคาในกระดาน “สูงกว่า” มูลค่าหุ้นที่ประเมินได้เด็ดขาด
ไม่ว่าหุ้นนั้นจะมีปัจจัยพื้นฐานดีเพียงใดก็ตาม
การลงทุนด้วยวิธีนี้ “ต่างจาก” การเก็งกำไรหุ้นอย่างสิ้นเชิง เพราะการเก็งกำไรจะเป็นการหากำไรจากการ “คาดเดา” ทิศทางของราคาเป็นหลักเท่านั้น
ดังนั้น หุ้นที่ดีจึงอาจไม่ใช่หุ้นที่ดีก็ได้ ถ้าหากราคาหุ้นสูงเกินไป
นักลงทุนเอกของโลกที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะไม่ซื้อหุ้นที่มีราคาสูงเกินกว่าราคาที่พวกเขาคิดว่าเป็นมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้น ไม่ว่าหุ้นนั้นจะเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเพียงใด
“ผมจะเคร่งครัดกับการซื้อหุ้นที่ต้องมีราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่วัดได้ หลายๆครั้งที่นั่งมองหุ้นยอดนิยมบางตัวที่มีราคาในกระดานพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ โดยทำอะไรไม่ได้เลย แต่ก็มักรู้ซึ้งถึงคุณค่าของการมีวินัยลงทุนอย่างเคร่งครัด เมื่อราคาหุ้นนั้นได้ดิ่งลงอย่างหนัก”
ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีก่อน นรินทร์เป็นนักลงทุนอีกคนหนึ่งที่เคยประสบ “ผลขาดทุน” จากการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ เมื่อครั้งเขาไปเรียนต่อระดับปริญญาโท
..หรือแม้แต่กลับมาลงทุนหุ้นไทยเมื่อปี 2546 ก็ลงทุนในลักษณะเดิม คือ “เก็งกำไร” ทำให้ซ้ำรอยเดิมคือ “ขาดทุน”
“หุ้นตัวแรกในชีวิตที่ผมซื้อ คือ หุ้นแมคโดนัลด์ (MCD) เหตุที่ผมซื้อก็เพราะอยากเป็นเจ้าของแมคโดนัลด์ หลังจากซื้อไปได้แค่สองสามวัน ราคาพุ่งขึ้นไปประมาณ 5% กว่า กำไรกว่า 300 เหรียญ ตอนนั้นเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องเลย กลัวว่าตอนนั่งเรียนอยู่ราคามันจะลงแล้วกำไร 300 กว่าเหรียญนั้น มันจะหายไปหมด แล้วมันก็หายจริงๆ จากกำไรกลายเป็นขาดทุนประมาณ 100 กว่าเหรียญ หน้าซีดเลย เป็นการขาดทุนหุ้นครั้งแรกในชีวิต พอวันต่อมาราคามันขึ้นไปใหม่ พอเท่าทุนก็เลยรีบขายทิ้งทันที ล่าสุดกลับไปดูราคาหุ้นแมคโดนัลด์ใหม่ ราคา ณ วันนี้สูงจากตอนที่ซื้อประมาณ 2 เท่ากว่าๆ ผมโง่มั้ยที่ขายทิ้ง แต่ก็ยังดีที่การซื้อหุ้นครั้งแรกในชีวิตไม่ได้ขาดทุน แต่ก็ไม่ได้กำไร..”
หลังจากเปลี่ยนแนวทางการลงทุน เป็นแนวปัจจัยพื้นฐาน สไตล์ลงทุน “หุ้นมูลค่า” เพราะต้องมาทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน(บลจ.) แห่งหนึ่ง ทำให้เขาต้องเปลี่ยนสไตล์การลงทุน จากเล่นสั้นเป็นลงทุนระยะยาว
ด้วยวิธีลงทุนค้นหา “มูลค่าหุ้น” ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น..
“คนส่วนใหญ่จะมองการลงทุนสั้นๆ แต่เราจะมองยาว อย่างหุ้นปตท.สผ. ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กำไรโต 5-6 เท่า เมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขึ้นมา 100% คนก็จะรีบขายออก แต่ถ้าวัดมูลค่าหุ้นจะพบว่า กำไรของบริษัทจะโตเรื่อยๆ และราคาหุ้นยังไปได้อีก ควรจะถือต่อไปอีก เพราะราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่าจริง แต่อย่างหุ้นเรือ ก่อนหน้านั้นค่าพีอี 2-3 เท่า คนก็จะคิดว่าราคาถูก ซึ่งจริงๆแล้ว กำไรบริษัทไม่ได้ต่อเนื่อง ทำให้มีราคาแพง จะเห็นว่า วันนี้ราคาหุ้นร่วงลงมา 40-50% และค่าพีอีสูง ”
นรินทร์ หรือ “สุมาอี้” บอกว่า วิธีการค้นหามูลค่าหุ้นหรือโมเดลวัดมูลค่าหุ้นมีหลายวิธี ไม่ว่า จะเป็นการหามูลค่าหุ้นจากเงินปันผล (Dividend Discount Model) การคิดมูลค่าแบบการใช้ส่วนลดของกระแสเงินสดอิสระ (DCF – Discount Cashflow Model) การวัดมูลค่าหุ้นที่กำลังเติบโต (Growth Stock Valuation) การหามูลค่าหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) รวมทั้ง การหามูลค่าของวอร์แรนท์ (Warrant)
แต่วิธีการที่ดีที่สุดในมุมมองของเขา ก็คือ โมเดลคิดมูลค่าหุ้นแบบการใช้ “ส่วนลดของกระแสเงินสดอิสระ” (DCF – Discount Cashflow Model) เพราะเป็นวิธีที่คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อมูลค่าหุ้นไว้อย่างครบถ้วน
วิธีวัดมูลค่าแบบนี้จะเป็นการตีมูลค่าบริษัทจาก “กระแสเงินสดอิสระของบริษัท”
สุมาอี้บอกว่า ค่าของบริษัทจะขึ้นอยู่กับการสร้างกระแสเงินสด โดยผู้ลงทุนจะต้องประมาณการกระแสเงินสดของบริษัท หักด้วยต้นทุน จะเท่ากับมูลค่า เมื่อนำมาเทียบกับราคาหุ้นในตลาด ถ้ามูลค่าหุ้นมากกว่าราคา ก็ควรซื้อและถือไว้ โดยยึดหลักว่า ให้ซื้อคุณค่าของกิจการ ไม่ต้องสนใจราคาหุ้นในตลาด
“หุ้นของบริษัทจะมีค่า ก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถผลิตเงินสดได้ แม้ว่าจะมีกำไรมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าไม่สามารถสร้างเงินสดได้ หุ้นบริษัทนั้นก็จะไม่มีค่าใดสำหรับนักลงทุนเลย”
แม้วิธีวัดมูลค่าแบบ DCF จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่เหมาะกับการวัดมูลค่าในธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้แยกไม่ออกระหว่างกระแสเงินสดของบริษัทกับสินค้าของบริษัท
อย่างไรก็ตาม การหาดูค่า P/E , P/BV ก็มีประโยชน์ เหมือนเป็น “ตะแกรงร่อนหุ้น” ชั้นแรกได้
“หุ้นบางตัวทำให้เราตัดทิ้งไปได้เลย แต่ตัวไหนที่คิดจะซื้อจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วผมจะทำ DCF เสมอในขั้นตอนสุดท้าย เพราะต้องคิดเสมอว่า ถ้าเราต้องถือหุ้นตัวนี้ตลอดไปแม้ภาวะตลาดไม่ดี เงินปันผลในอนาคตที่เราจะได้ ก็คุ้มกับเงินลงทุนของเราด้วย”
นรินทร์ ให้ “ระวัง” การวัดมูลค่าหุ้นว่า อย่าละทิ้งการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพราะทั้งสองอย่างต้องประกอบกัน ห้ามนำผลประกอบการในอดีตมาตั้งสมมติฐานว่า ผลประกอบการในอนาคตจะแนวโน้มเดียวกันกับอดีต ต้องพยายามศึกษาด้วยว่า บริษัทกำลังมีแผนงานอะไรบ้างในอนาคต เพื่อให้รู้ว่าอนาคตจะแตกต่างจากอดีตแค่ไหน
ส่วนเคล็ดลับในการวัดมูลค่าหุ้นให้ประสบสำเร็จนั้น นรินทร์ ให้คำแนะนำนักลงทุนว่า หนึ่ง..ต้องทำการบ้านมาก่อน เพราะนอกเหนือจากวิธีวัดมูลค่าหุ้นที่แท้จริงแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของนักลงทุนในการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับอนาคตของบริษัทได้ใกล้เคียงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงด้วย
“นักลงทุนต้องรวบรวมข้อมูลบริษัทก่อนที่จะนำมาประเมินมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้บริหาร ธุรกิจบริษัท ผลกำไร แผนการลงทุนในอนาคต เพื่อให้เห็นภาพของบริษัทเบื้องต้นก่อน”
สอง.. วัดมูลค่าหุ้น อาจเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งก็ได้
สาม.. ทดสอบความไวของมูลค่าต่อการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานที่มีความมั่นใจน้อย
สี่..ลงทุนที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่วัดได้
“อย่าซื้อหุ้นที่ราคาเท่ากับมูลค่าหุ้นพอดี เพราะนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเท่ากับต้นทุนเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น รวมถึงเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการคลาดเคลื่อนในการวัดมูลค่าหรือเหตุการณ์ร้ายในอนาคตที่บริษัทคาดไม่ถึง นักลงทุนจึงควรลงทุนราคาในกระดานต่ำกว่ามูลค่าพอควร”
สุดท้าย ห้า..มั่นใจในตัวเอง สุมาอี้บอกว่า ถ้าพบว่ามูลค่าหุ้นที่วัดได้ต่ำกว่าราคาในกระดานอย่างมาก นักลงทุนควรมั่นใจในราคานั้น อย่ากลัวที่ทำอะไรไม่เหมือนคนส่วนใหญ่
ชีวิตการลงทุนของ “นรินทร์” วันนี้จึงพูดได้ว่า เดินมา “ถูกทาง” และถือว่า ประสบความสำเร็จในแนวการลงทุนระดับหนึ่งในวัย 30 ต้นๆ ..
ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของนรินทร์ มีอยู่เพียง 3-4บริษัท โดยเขาจะซื้อเฉพาะหุ้นที่สามารถมองแนวโน้มการเติบโต 3-5 ปีได้ ซึ่งมีอยู่ไม่มากในตลาดแต่ไม่ใช่ปัญหา
“ผมถือคติในตลาดมีหุ้น 500 ตัว เราสนใจแค่ 10 ตัวก็รวยได้เหมือนกัน ถ้าเราทุ่มเทใช้เวลาศึกษาหุ้น 10 ตัวให้รู้ลึกซึ้งกว่าคนอื่น ผมมีหุ้นในพอร์ตแค่ 3-4 ตัวเท่านั้น และมีหุ้นที่ติดตามอยู่แต่ยังไม่ซื้อเพราะราคาแพงเกินไปอีกประมาณไม่เกิน 10 ตัว หุ้นที่มีประวัติไม่ดีผมไม่เคยมองเลย”
สุมาอี้ บอกว่า เป้าหมายผลตอบแทนของเขาจะอยู่ราว 15% ต่อปี จะไม่เน้นกำไรมาก แต่เน้นรักษากำไรให้ได้ทุกปี การไม่ซื้อของแพงช่วยทำให้ไม่เคยขาดทุนหนักๆ ผลตอบแทนในระยะยาวอาจจะดีกว่าคนที่หวังกำไรอย่าง aggressive ซึ่งที่ผ่านมากำไรเกินเป้า 15% ทุกปี แต่ถือว่าส่วนที่เกินมาเป็นเสบียง เพราะในอนาคตจะต้องมีปีที่เราทำผลงานได้ไม่ดีด้วย
ฉะนั้น กฎในการลงทุนของสุมาอี้ จึงต้องซื้อหุ้นต่อเมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลจนมั่นใจว่ามูลค่าตลาดของหุ้นต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคตทั้งหมด ซื้อมาแล้วไม่ต้องขายก็ยังได้กำไร อย่าเทรดหุ้นทุกวัน ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์บริษัทและอุตสาหกรรมให้มากที่สุด
ควรเน้นหุ้นเติบโตสูง จะเป็นหุ้นที่น่าลงทุนมากกว่า เพราะแม้ downside จะสูงถึง 100% แต่ upside ไม่มีขีดจำกัด เพราะพอร์ตที่มีหุ้นเติบโตสูงหลายๆตัว แม้จะผันผวนมากแต่จะวิ่งไกลกว่าพอร์ตหุ้นที่เต็มไปด้วยบลูชิพในระยะยาวๆ
“ถ้าคุณจอดรถรอไฟแดงอยู่ที่สี่แยก แต่รถคันหลังรุมกดดันด้วยการบีบแตรไล่ให้คุณวิ่งออกไปเลย ถ้าคุณไม่สนใจแรงกดดันนั้น และรอจนไฟเขียวจึงค่อยออกไป คุณก็มีแนวโน้มที่จะลงทุนในหุ้นแล้วประสบความสำเร็จ” นรินทร์ กล่าว
‘นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์’ พลิกตำราหา ‘มูลค่าหุ้น’ ตะแกรงร่อน “ของดี” ราคาถูก
นาฏยา ปานเฟือง
เรียน คุณนรินทร์
หากต้องการเรียนเชิญคุณนรินทร์เป็นเกียรติบรรยาย
เศรษฐศาสตร์ให้กับทาง SCG จะสามารถติดต่ออาจารย์
ได้ทางไหนบ้างไหมค่ะ
ศรัญญา กลำพบุตร
ผมเอาบทความของพี่นรินทร์มาลงครับ
ติดต่อพี่เค้าได้ที่ http://dekisugi.net ครับ
สุดยอดครับ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลย