“คิดถึงอะดัม สมิธ (1)” : ดร.ไสว บุญมา

adamsmith

ท่ามกลางการโหมกระหน่ำของวิกฤติเศรษฐกิจ แนวคิดระบบตลาดเสรี ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่า ระบบทุนนิยม ถูกประณามว่าสามานย์และเป็นต้นตอของเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ พร้อมทั้งครั้งที่ผ่านๆมาด้วย เนื่องจาก อะดัม สมิธ ได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นตำรับของแนวคิด บ่อยครั้งชื่อของเขาจึงถูกอ้างถึง แต่ผู้อ้างส่วนใหญ่ดูจะไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า อะดัม สมิธ คิดอย่างไร และดำเนินชีวิตอย่างไร ถ้าคนไทยเข้าใจและปฏิบัติตามแนวคิด และการดำเนินชีวิตของเขา เมืองไทยจะไม่ประสบวิกฤติในหลากหลายด้าน ซึ่งแสดงอาการออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบัน

เนื่องจาก อะดัม สมิธ เสียชีวิตตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงไม่มีผู้ใดที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันรู้จักเขาโดยตรง ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดและการดำเนินชีวิตของเขามาจากการค้นคว้าของผู้สนใจในเวลาต่อมา โดยเฉพาะจากตำรับตำราที่เขาเขียนขึ้น ในบรรดาตำราของเขา นักเศรษฐศาสตร์มักอ้างถึงเพียงเรื่องเดียว คือ The Wealth of Nations ซึ่งเป็นชื่อย่อของหนังสือที่มีชื่อเต็มว่า An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations ส่วนอีกเล่มหนึ่งซึ่งเขาเขียนขึ้นก่อน 17 ปี และมีความสำคัญมาก เนื่องจากเนื้อหาเป็นเรื่องจริยธรรมอันเป็นฐานของระบบตลาดเสรี ดูจะไม่มีใครพูดถึง นั่นคือ เรื่อง The Theory of Moral Sentiments

หลังจากศึกษาแนวคิดของ อะดัม สมิธ และชีวิตของเขา ผมสรุปว่า ระบบทุนนิยมหรือตลาดเสรี แม้จะมีความบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงกับขั้นสามานย์ มนุษย์ที่ไม่มีจริยธรรมและความสามารถเนื่องจากขาดปัญญาต่างหาก ที่ทำให้ความสามานย์เกิดขึ้น

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่า ทำไมระบบตลาดเสรีจึงเกิดขึ้น และ ทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของมันหมายถึงอะไร เนื่องจากดูจะมีผู้ไม่เข้าใจเป็นจำนวนมาก

ระบบตลาดเสรีมีมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่นำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน กระบวนการแลกเปลี่ยนเริ่มด้วยการแลกของกันโดยตรง แล้วค่อยๆวิวัฒน์มาเป็นการแลกผ่านเครื่องมือ หรือกลไกชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า ตลาด ที่มักใช้เงินเป็นตัวกลาง ข้อความในศิลาจารึกที่ว่า “ใครใคร่ค้าช้างค้า …” ชี้บ่งว่า เมืองไทยใช้ระบบตลาดเสรีมาตั้งแต่ต้น

อะดัม สมิธ เป็นผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความมั่งคั่งเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะทำอย่างไรระบบตลาดเสรีจึงจะมีประสิทธิภาพในการผลิตสิ่งต่างๆขึ้นมาสนองความต้องการอันหลากหลายของมวลมนุษย์ ระบบตลาดเสรีอยู่คู่กับมนุษย์มายาวนาน เพราะมันสะท้อนธรรมชาติ 2 ด้านของมนุษย์เรา นั่นคือ ความต้องการแลกเปลี่ยนกันและการมีเสรีภาพ ในทางตรงข้าม ระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งใช้การบังคับเป็นเครื่องมือถูกเลิกใช้ ยกเว้นใน คิวบา และ เกาหลีเหนือ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ เพราะมันขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ คิวบากำลังจะเลิกใช้ ส่วนเกาหลีเหนือยากจนถึงขั้นมีคนอดตาย ต่างกับเกาหลีใต้ ซึ่งพัฒนาหนีเกาหลีเหนือไปแบบไม่เห็นฝุ่น

ทุน หรือ capital วิวัฒน์มาจากคำว่า capita ในภาษาละติน คำนี้มีความหมายว่า “หัว” ซึ่งยังใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิเช่น per capita income ซึ่งหมายถึงรายได้ต่อหัวคน ย้อนไปในสมัยก่อน capital มีความหมายเป็น 2 นัย คือ นัยที่เป็นรูปธรรม และนัยที่เป็นนามธรรม ในด้านนัยที่เป็นรูปธรรม “หัว” หมายถึงหัวของสัตว์เลี้ยงที่ถูกผลิตขึ้นมาในนาในไร่ อาทิเช่น วัว จำนวนหัวของสัตว์ง่ายต่อการนับและแสดงออกถึงระดับของทรัพย์สินของเจ้าของเพราะวัวมีค่าที่ให้ทั้งเนื้อ นม หนัง และแรงงาน แม้แต่ในสมัยนี้ ก็ยังมีประชาชนบางเผ่าในแอฟริกาที่นับทรัพย์สินในรูปของวัว ซึ่งแต่ละครอบครัวมีไว้ในครอบครอง

ผู้ที่มีทรัพย์สินที่ตนผลิตขึ้นได้ โดยเฉพาะในรูปของสัตว์เลี้ยงที่ให้แรงงานจนเหลือใช้ อาจให้ผู้อื่นหยิบยืมไปใช้ชั่วคราว สัตว์ที่ถูกหยิบยืมไป คือ “ทุน” การหยิบยืมแบบนี้ก็มีใช้อยู่ในเมืองไทยในสมัยก่อน นั่นคือ ชาวนาที่ไม่มีควายพอใช้ไปเช่าควายจากผู้ที่มีควายเหลือใช้เพื่อนำมาลากไถ นวดข้าวและลากเกวียน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ผู้เช่าก็นำควายไปคืนพร้อมกับข้าวเปลือกในจำนวนที่ตกลงกันไว้ ต่อมาเมื่อเงินถูกนำมาใช้เป็นตัวกลางอย่างแพร่หลาย ทรัพย์สินที่เหลือกินเหลือใช้ก็ถูกเก็บไว้ในรูปของ “เงินออม” ซึ่งถูกยืม หรือ “เช่า” ไปใช้ชั่วคราวโดยผู้เช่าจ่ายค่าเช่าในรูปของดอกเบี้ย คนส่วนใหญ่ จึงมักคิดว่า “ทุน” คือ เงิน โดยลืมความหมายที่แท้จริงของมัน

ส่วนในด้านนามธรรม “หัว” หมายถึงสติปัญญาที่อยู่ในหัวคน ในปัจจุบันนี้ไม่มีใครนึกถึงความหมายนี้แล้ว ทั้งที่การลืมอาจมีผลร้ายทันตาเห็น อาทิเช่น ในกรณีของกองทุนหมู่บ้านซึ่งรัฐบาลก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 8 ปีก่อน รัฐบาลให้ทุนชาวบ้านไปในรูปของเงินกู้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเหลือใช้ที่ได้มาจากภาคอื่นของสังคม รัฐบาลลืมไปว่า ผู้ยืมเงินทุนจะต้องมีทุนในรูปของปัญญา หรือความสามารถในการทำธุรกิจด้วย เงินทุนที่ให้ยืมไปจึงจะก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า ย่อมเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ผู้ยืมเงินทุนเป็นจำนวนมากไม่มีความสามารถนั้น กิจการจึงล้มเหลว

สภาพแวดล้อมทั้งโดยทั่วไปและในด้านการทำธุรกิจในปัจจุบันนับวันจะสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น สร้างความจำเป็นให้ทุกคนต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นที่มาของเรื่อง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” คนไทยเพิ่งจะเริ่มพูดถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ทั้งที่มันมีมาตั้งแต่ก่อนสมัย อะดัม สมิธ ด้วยซ้ำ การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นวิธีเพิ่มทุนในด้านนามธรรม ที่ อะดัม สมิธ เองปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะจากการอ่านและการฟังปราชญ์

ในระบบตลาดเสรี คนเราต้องมีข่าวสารข้อมูลทัดเทียมกัน ซึ่งได้มาจากการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ตลาดเสรีจึงจะมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านและไม่ชอบฟังผู้อื่น ซ้ำร้ายเมืองไทยยังมีความฉ้อฉลสูง จึงอาจมองได้ว่าความสามานย์ของทุนนิยมในเมืองไทย ซึ่งได้แก่ ความไม่ค่อยมีประสิทธิภาพจนทำให้เมืองไทยยังตกอยู่ในภาวะด้อยพัฒนาเกิดขึ้น เพราะคนไทยโดยทั่วไปไม่ค่อยมีทุนทางด้านมันสมอง พร้อมทั้งขาดจริยธรรมนั่นเอง

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.