ตอน (1) พูดถึงที่มาของระบบตลาดเสรีและเรื่องทุนซึ่งมักเข้าใจกันไม่ค่อยครบถ้วน ตอนนี้จะพูดถึงเรื่องแนวคิดและการดำเนินชีวิตของ อะดัม สมิธ คร่าวๆว่า ถ้าเรายึดหลักเกณฑ์ของระบบตลาดเสรีที่แท้จริง และปฏิบัติตัวในแนวของเขา เราคงไม่ประสบวิกฤติร้ายแรงและการพัฒนาจะมีโอกาสยั่งยืนสูง
อะดัม สมิธ เสนอว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งมีอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ เสรีภาพในการประกอบอาชีพ การแบ่งงานกันทำและทุน การมีเสรีภาพยังผลให้คนเราสามารถเลือกทำสิ่งที่ตรงกับความถนัดของตนได้ จึงทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำซึ่งส่งผลให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพ อันเป็นต้นตอของการก่อให้เกิดความมั่งคั่ง แต่ อะดัม สมิธ ไม่ได้หยุดคิดเพียงแค่นั้น หากมองต่อไปว่าการผลิตที่นำไปสู่ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ เป็นการผลิตที่มีผลเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะจากแรงงานในภาคเกษตรและหัตถกรรม เขามองว่า งานที่มีลักษณะเป็นนามธรรมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีค่า อาทิ งานของตำรวจ ของกระบวนการยุติธรรม และของนักวิชาการเช่นตัวเขา
ในบริบทของโลกปัจจุบัน ซึ่งวัดค่าของผลผลิตด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ “จีดีพี” (การคิดค่าของผลผลิตเป็นจีดีพีเกิดขึ้นหลัง อะดัม สมิธ เสียชีวิตไปกว่าร้อยปีแล้ว) มุมมองของ อะดัม สมิธ หมายความว่า ที่มาของจีดีพี มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าระดับของมันแม้แต่น้อย
ในกรณีของตำรวจและกระบวนการยุติธรรม สังคมที่ไม่ค่อยมีอาชญากรรมย่อมมีจีดีพีที่เกิดจากงานของตำรวจและกระบวนการยุติธรรมต่ำกว่าของสังคมที่มีอาชญากรรมสูง ทั้งที่สังคมที่มีอาชญากรรมต่ำย่อมมีความสงบสุขมากกว่าสังคมที่มีอาชญากรรมสูง อีกตัวอย่างหนึ่ง การผลิตนมและเหล้าต่างก็ทำให้เกิดจีดีพี แต่นมมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าเหล้า ฉะนั้น ในกรณีรัฐบาลแจกเงินคนละ 2,000 บาท การนำไปใช้ซื้อนมหรือซื้อเหล้าทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นทั้งคู่ แต่จีดีพีที่เกิดจากภรรยานำเงินไปซื้อนมให้ลูกย่อมมีคุณค่าสูงกว่าจีดีพีที่สามีนำไปซื้อเหล้า
ปัจจัยที่สามที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งได้แก่ ทุน ดังที่พูดถึงในตอน (1) ทุนมีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและส่วนที่เป็นนามธรรม อะดัม สมิธ มองส่วนที่เป็นรูปธรรมว่า ต้องเกิดจากการออมของสมาชิกในสังคม ในสมัยที่ อะดัม สมิธ มีชีวิตอยู่ มีการใช้เงินเป็นตัวกลางอย่างกว้างขวางแล้ว ฉะนั้น การออมส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นในรูปของเงิน จากมุมมองของเขา สังคมต้องมีการออมสูงพอสำหรับให้ผู้ประกอบการกู้ยืมไปลงทุนเพื่อผลิตสิ่งต่างๆออกมา สังคมจะมีเงินออมเพียงพอก็ต่อเมื่อการบริโภคอยู่ในระดับพอประมาณ
ฉะนั้น อะดัม สมิธ จึงต่อต้านการบริโภคแบบสุดโต่ง จากมุมมองของ อะดัม สมิธ วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจึงสามารถทำนายได้ล่วงหน้า จากการที่ชาวอเมริกันบริโภคแบบสุดโต่งติดต่อกันมาเป็นเวลานานยังผลให้ไม่มีการออมจนต้องกู้ยืมจากต่างประเทศ
อะดัม สมิธ ไม่ได้ต่อต้านการบริโภคมากแต่ปากเท่านั้น หากยังยึดการบริโภคพอประมาณเป็นแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ส่วนในด้านนามธรรม อะดัม สมิธ มองว่าการศึกษาคือที่มาหลักของทุนทางมันสมอง ฉะนั้น เขาเน้นย้ำเรื่องการศึกษา ในด้านส่วนตัว เขาพยายามศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา และส่งเสียหลานๆให้เรียนหนังสือเนื่องจากเขาเองไม่มีลูก
ในยุคนี้มักมีการอ้างถึง “ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน” ว่ามีฐานอยู่ที่แนวคิดของ อะดัม สมิธ นั่นคือ รัฐต้องให้อิสระแก่ภาคเอกชนเต็มที่โดยไม่มีการควบคุม แม้กระทั่งกองทุนเพื่อเก็งกำไรซึ่งสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว แต่นั่นเป็นการอ้างผิดๆ เพราะ อะดัม สมิธ เสนอให้รัฐมีบทบาทตามความเหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดภาวะใครมือยาวสาวได้สาวเอา จนยังผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมสูงซึ่งเขาเองต่อต้านเป็นการส่วนตัวด้วย ฉะนั้น การกล่าวหาว่า ทุนนิยมสามานย์ มีความถูกต้องอยู่บ้าง หากผู้กล่าวหาหมายถึงการใช้ระบบทุนนิยมแบบผิดไปจากแนวที่ อะดัม สมิธ คิดไว้
จริงอยู่ อะดัม สมิธ ไม่แย้งแนวคิดของปราชญ์บางคนในยุคนั้นว่า การแสวงหาความร่ำรวยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า แต่เขาเกลียดการบูชาความร่ำรวย เขามองว่าความร่ำรวยเป็นเพียงมายาภาพ ไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง ซึ่งต้องเกิดจากการไม่ยึดติดในวัตถุ
เขาเองเสนอคืนเงินบำนาญให้แก่ขุนนางซึ่งจ้างเขาไปสอนลูกๆ หลังจากที่เขาได้งานนายด่านศุลกากรซึ่งได้ค่าตอบแทนเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ค่าตอบแทนดังกล่าวมาจากเงินเดือนเท่านั้น ไม่ใช่จากการฉ้อฉลเช่นพนักงานศุลกากรจำนวนมากในประเทศด้อยพัฒนาเพราะเขาเห็นว่า การรักษากฎกติกาของตลาดเสรีมีความสำคัญยิ่ง
จากมุมมองนี้ ระบบตลาดเสรี มีความสามานย์เมื่อกรรมการลงไปเล่นด้วย นั่นคือ ข้าราชการและนักการเมืองมีประโยชน์ทับซ้อน ยิ่งในกรณีที่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาสามารถคงความเป็นเจ้าของสัมปทานจำพวกผูกขาดไว้ได้ด้วยแล้ว ความสามานย์ก็มีโอกาสขยายตัวมากยิ่งขึ้น อะดัม สมิธ ต่อต้านการผูกขาดทุกรูปแบบ
เท่าที่เล่ามาจะเห็นว่า ฐานของระบบตลาดเสรีของ อะดัม สมิธ กับฐานของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งเดียวกันอันได้แก่จริยธรรมและความรู้ อะดัม สมิธ ดำเนินชีวิตตามหลักความพอประมาณและต่อต้านการบริโภคแบบสุดโต่ง เขาเองไม่ได้เน้นเรื่องความสำคัญของการมีเหตุผลและภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะในสมัยนั้นเป็นยุคที่มีชื่อว่า “ยุคแห่งเหตุผล” (The Age of Reasons) อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำมาเน้นอีก ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกัน ในสมัยนั้นความเสี่ยงในหลายๆด้านยังต่ำกว่าในสมัยนี้ เพราะโลกมีประชากรเพียง 800 ล้านคนและการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ
ฉะนั้นจึงอาจมองได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงพัฒนาต่อจากแนวคิดของ อะดัม สมิธ จนทำให้มีความทันสมัยมากกว่า การพัฒนาเช่นนี้เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีฐานมั่นคง ซึ่งตรงกับคำพูดของ ไอแซค นิวตัน ที่มีใจความในทำนอง “ปราชญ์ยุคปัจจุบันมองเห็นได้ไกลเพราะยืนอยู่บนไหล่ของปราชญ์ยุคก่อน”
“คิดถึงอะดัม สมิธ”
ดร.ไสว บุญมา